วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

สังคมใด?สังคมไร้ระเบียบ : โลกตำรวจ โดยปนัดดา ชำนาญสุข (๗ มกราคม ๒๕๕๘)

ปีใหม่แล้วไม่คิดทำสิ่งดีๆ บ้างเหรอแทบไม่น่าเชื่อว่าคำพูดดังกล่าวจะเป็นคำพูดของตำรวจจราจร หากไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้ยินกับหู เพราะตำรวจจราจรมักถูกติดป้ายผู้ร้ายที่ไม่ค่อยทำงานอะไรดีๆ เสมอมา

ความแปลกใจเกิดขึ้นนับตั้งแต่เห็นรถที่มีสัญญาณไฟวับวาบอยู่แวดล้อมด้วยฝูงคนและแม่ค้าที่อยู่ในแนวถนนกลางตลาดใหญ่ของชุมชนเมืองแห่งหนึ่ง ย่านปริมณฑลของ กทม. บริเวณโดยรอบมีประชาชนจับกลุ่มยืนดูพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในลักษณะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สักพักเมื่อฝูงคนแตกกระจายก็ปรากฏภาพรถจักรยานยนต์ประมาณ ๗ คันที่มีผู้ขับขี่สวมเครื่องแบบตำรวจจราจรนำฝ่าฝูงแม่ค้าในลักษณะกองกำลังส่วนล่วงหน้าทำหน้าที่กรุยทางเพื่อให้รถปิกอัพที่มีสัญญาณไฟวับวาบขับตามเพื่อใช้ในการยึดผลิตผลทางการเกษตร สินค้า และสิ่งของที่แม่ค้าตั้งวางกีดขวางอยู่บนถนนหากมีการขัดขืนไม่เก็บสิ่งของต่างๆ เหล่านั้นเข้าไปอยู่ในบริเวณที่อนุญาตให้วางของเพื่อค้าขายได้ตามที่ได้ประชุมทำข้อตกลงไว้ก่อนล่วงหน้าช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

สิ่งดีๆ ที่ตำรวจบอกเชิงตำหนิให้แม่ค้ากระทำคือ การงดเว้นการวางของขายในบริเวณพื้นผิวการจราจร ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรสาธารณะของประชาชนเป็นส่วนรวม

การละเมิดกฎหมายในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องของความไม่รู้ เช่นเดียวกับ การขับรถเร็ว การขับรถย้อนศร การฝ่าฝืนสัญญาณจราจร หรือการขับขี่ในลักษณะต่างๆ ที่ผิดกฎหมายจราจรต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่ปฏิเสธว่าไม่รู้จึงฝ่าฝืนกฎหมายไม่ได้เลย อีกทั้งงบประมาณจำนวนมหาศาลถูกใช้ผ่านการรณรงค์เรื่องราวเหล่านี้มาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่หากประเมินกันอย่างจริงจังก็จะพบว่าน่าจะได้ผลน้อยและไม่คุ้มค่า

สิ่งดีๆ ที่ตำรวจพูดนั้น หากปฏิบัติก็จะทำให้แม่ค้าสูญเสียรายได้ หรือมีความยุ่งยากลำบากมากขึ้นกว่าวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่แม่ค้าคุ้นชิน ถึงแม้ว่าจะทำให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมีความสะดวกปลอดภัยมากขึ้นก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าในสถานการณ์เดียวกันนี้มีทั้งคนได้ประโยชน์และคนเสียผลประโยชน์เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ดูเหมือนว่าคนเสียประ โยชน์คือประชาชนซึ่งมีจำนวนที่มากกว่ากันมากด้วย นี่คือตัวอย่างของความขัดแย้งของผลประโยชน์ที่ยังคงดำรงอยู่ในบริบทสังคมไทยที่เป็นเบื้องหลังพฤติกรรมของบุคคลกลุ่ม และประเภทต่างๆ อีกมากมาย

หากวิเคราะห์กันด้วยเหตุด้วยผล

ถนนที่ตัดผ่านกลางตลาดใหญ่ของตัวเมืองแห่งนี้มีความกว้างเพียงแค่ ๒ ช่องทางเดินรถ โดยการจราจรกำหนดให้เดินรถในทิศทางเดียวกัน มีทางเท้าอยู่ตลอดแนวถนนทั้งสองฝั่ง

ทำไมข้าราชการฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น และตำรวจไม่ดำเนินการเข้มงวดกวดขันการกระทำของแม่ค้าที่นำของมาตั้งวางขายกีดขวางอยู่บนพื้นผิวการจราจรในแนวถนนจนเรียกได้ว่ามีช่องทางให้รถสามารถวิ่งผ่านได้เพียงช่องทางเดียวและต้องหลบไปหลบมาเพื่อให้พ้นสิ่งกีดขวางที่อยู่บนถนนนั้นอยู่เป็นเวลานานนับสิบปี

การไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ควรจะปฏิบัติอย่างเข้มแข็งโดยละเลย เพิกเฉย ละเว้นด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ ล้วนมีรากฐานเหตุผลมาจากการสยบยอมต่ออำนาจของผู้ปกครอง ผู้บริหาร หรือนักการเมือง? ข้าราชการฝ่ายปกครอง และตำรวจยอมจำนนอยู่ภายใต้อำนาจของแม่ค้าได้อย่างไร? เพื่ออะไร?

ไม่มีใครกล้ากับแม่ค้าที่นี่ชาวบ้านในย่านนั้นบอกเล่า และข้อสงสัยนี้ยังคงรอการพิสูจน์มาโดยตลอด เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับวิถีชุมชนแม่ค้าแห่งนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา มิใช่เพียงแต่การวางของขายในแนวถนนเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องของความสกปรก และความไร้ระเบียบจนขาดสุขอนามัยที่ตลาดสดพึงมีพึงเป็น รวมไปถึงการเป็นแหล่งใหญ่ของการพนันหวยในรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นที่รู้โดยทั่วกันไม่แตกต่างจากตลาดใหญ่ในหลายๆ แห่งของเมืองไทย

แม่ค้าก็เป็นชาวบ้านในย่านนี้ เป็นคนเก่าคนแก่ของชุมชน มีเครือญาติ มีพรรคมีพวก อย่านับแค่จำนวนแม่ค้า แต่ต้องนับพรรคพวกและเครือข่ายการเมืองของแม่ค้าด้วย เพราะฉะนั้นคะแนนเสียงของแม่ค้าและพรรคพวกจึงมีความหมาย และมีความสำคัญอย่างมากต่อนักการเมืองทุกระดับ สำคัญขนาดเคยสร้างประวัติศาสตร์ทำให้ ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งมาหลายสมัยสามารถสอบตกได้อย่างทันตาเห็นและคาดไม่ถึงทีเดียว

อิทธิพลของกลุ่มพลังแม่ค้าจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมองข้าม และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะท้าทาย ต่อรอง หรือลดทอนอำนาจลงได้หากไม่ตั้งใจและกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างแท้จริงที่จะพัฒนาชุมชนแห่งนี้ให้เกิดสำนึกเพื่อส่วนรวม

สิ่งดีๆ ที่ตำรวจพูดนั้นไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้ หากนักการเมือง ข้าราชการฝ่ายปกครอง ตำรวจและประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดไม่รวมพลังกันทำให้เหล่าบรรดาแม่ค้าเกิดสำนึกต่อส่วนรวมมากกว่าที่จะรักษาสิทธิประโยชน์แห่งตนเองโดยละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือสาธารณประโยชน์เป็นส่วนรวม และไม่มีทางสำเร็จได้หากนักการเมืองยังสยบยอมต่ออำนาจของแม่ค้าด้วยหวั่นเกรงคะแนนเสียงเพื่อความอยู่รอดของอำนาจและผลประโยชน์แห่งตน

หากข้าราชการฝ่ายปกครองสยบยอมต่ออิทธิพลทั้งจากแม่ค้า และจากการสั่งการของนักการเมืองโดยยอมที่จะละเลย เพิกเฉย และไม่บริหารจัดการเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยของสังคมเพื่อมิให้มีการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือไม่ขัดต่อกฎหมายจนทำให้เป็นปัญหาเรื้อรังสะสมจนเรื่องผิดกลายเป็นเรื่องถูก

หากตำรวจสยบยอมต่ออำนาจและอิทธิพลของทั้งนักการเมือง และข้าราชการฝ่ายปกครอง รวมถึงกังวลในความสัมพันธ์เชิงมวลชนโดยมิได้คิดหาวิธีการที่แยบยลในการจัดการเพื่อควบคุมและบังคับให้แม่ค้าปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่ละเมิดสิทธิประโยชน์ของผู้อื่น หรือสาธารณประโยชน์ หากเป็นเช่นนั้น สังคมไทยจะมีนักการเมือง ข้าราชการฝ่ายปกครอง และตำรวจไว้เพื่ออะไร? ประชาชนที่ถูกข่มเหง รังแก เบียดเบียนจะพึ่งพาใครได้ หรือว่าประชาชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตนเอง และหากต้องรอเวลาจนสุกงอมจนเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น สังคมไทยก็คงไม่มีวันที่จะไร้ม็อบหรือการชุมนุมประท้วงอย่างแน่นอน

ม็อบจะยังคงเป็นวิถีทางออกในการต่อสู้ หรือต่อรองกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมในยามที่ตำรวจไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมได้ต่อไป!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น