วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคดีอุบัติเหตุจราจรตอนบิดคดีฆ่าบนถนน (๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙)

'สิ่ง'ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคดีอุบัติเหตุจราจรตอนบิดคดีฆ่าบนถนน : โลกตำรวจ โดยผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข


ความไม่มั่นใจต่อความยุติธรรมในคดีอุบัติเหตุจราจรที่เป็นกระแสสังคมโด่งดังอยู่ในขณะนี้นั้นเกิดขึ้นจากหลายเหตุหลายปัจจัยและเกี่ยวพันกับองค์การต่างๆ จำนวนมาก มิใช่เฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น
“คดีเพิ่มก็โดนจวก เอะอะก็จะสั่งย้ายผู้กำกับ ย้ายหัวหน้าโรงพัก ทีนี้เขาก็บีบเรา กดดันเรามาเป็นลำดับ” เสียงบ่นจากตำรวจผู้ปฏิบัติ
การลงโทษด้วยการโยกย้าย สับเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงานเป็นการแก้ปัญหาที่เพียงพอแล้วหรือ? ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงนิยมใช้วิธีการเช่นนี้มากกว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่รากเหง้าสาเหตุ อาทิเช่น แก้ไขปัญหาที่ระบบการทำงาน ระบบการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามกับฝ่ายกำหนดนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองด้วยว่า “การตั้งเป้าคดีนั้นเป็นเหตุที่มาของการหลอกลวงในโลกของตำรวจหรือไม่?”
การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนไม่สามารถยอมรับความจริงได้ว่าคดีอุบัติเหตุทางถนนมีจำนวนที่สูงมาก และเป็นภาระที่มากเกินกว่าที่คนทำงานระดับไพร่พลระดับล่างจะแบกรับได้โดยปราศจากการสนับสนุนในการแก้ไขและป้องกันปัญหาในเชิงระบบหากแต่มุ่งผลักภาระการลดยอด (ลดคดี) ให้ได้นั้น สิ่งที่ตามมาย่อมเป็นไปอย่างที่เห็น
อุบัติการณ์ของการฆ่าบนถนน (kill on the road) ที่เพิ่มสูงขึ้นจนประเทศไทยติดอันดับสองของโลก รวมถึงการชนแล้วหนี (hit and run) ที่เพิ่มขึ้นด้วยนั้นแสดงให้เห็นถึงจริยธรรมที่ตกต่ำของผู้ขับขี่บนถนนในเมืองพุทธ ในขณะที่ปัญหาเดิมๆ ที่สะสมมาตั้งแต่ในอดีต อาทิเช่น ชนแล้วถอยหลังกลับมาทับให้ตายเพื่อที่จะได้เคลียร์ง่ายๆ ก็ยังคงดำรงอยู่โดยไร้คนใส่ใจที่จะแก้ไขวัฒนธรรมย่อยที่เลวร้ายในกลุ่มผู้ขับขี่รถภายใต้ระบบเถ้าแก่ที่มีการสั่งสอนบอกต่อว่า “ถ้าชนแล้วให้หลบไปก่อน หน้าที่เคลียร์เป็นของเถ้าแก่และบริษัทประกัน”? ส่งผลให้โชเฟอร์ฮึกเหิมและย่ามใจที่จะเป็นโชเฟอร์ตีนผีมากขึ้นโดยไม่สนใจสำนึกแห่งความปลอดภัยบนถนน
“การโยนความผิดให้ตกเป็นของผู้ตาย” หมายความว่า ผู้ตายจะกลายเป็นผู้ประมาทที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน (อบถ.) ผู้กระทำประมาท (ตัวจริง) กลับไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย ไม่มีการบันทึกประวัติความผิดไว้ในสารบบของผู้ประมาทที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น หรืออาจกล่าวว่า การพ้นผิดทางกฎหมายย่อมเกิดขึ้นได้ หากยอมจ่ายแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายจนพอใจเช่นนี้มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มของประชาชนแต่เพียงเท่านั้น หากแต่มีตำรวจจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายกลางถนนและจบลงด้วย “วิธีการเคลียร์ให้ผู้ตายกลายเป็นผู้ประมาท” ด้วยความคิดเพียงว่า “ทำไงได้ ญาตผู้ตายเขาก็ยินยอม ไหนๆ ก็ตายไปแล้ว”?
ปรากฏการณ์เคลียร์ในรูปแบบ “บิดคดี” “ดำคดี” “ไม่ลงเลขคดี” บนวิถีการสมยอมเย้ยกฎหมายเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ใครอยู่เบื้องหลังบ้าง? ทำไมเรื่องเลวร้ายในลักษณะเช่นนี้จึงยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย? และทางออกต้องเป็นอย่างไร?
ต้องติดตามผ่านท่าทีของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า รู้ เข้าใจ และจริงใจ ต่อการแก้ไขปัญหาการฆ่ากันบนถนนที่ดำรงอยู่บนมายาคติที่ว่าอุบัติเหตุจราจรเป็นเพียงคดีเล็กน้อย (ลหุโทษ) เท่านั้น? หรือไม่?
หรือครั้งนี้ก็เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลบกระแสไปวันๆ เพราะ เดี๋ยวคนไทยก็ลืม เหมือนทุกคราวที่ผ่านมา ????

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น