วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ระฆัง สภ.ภูกามยาว (๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐)

“ระฆัง” ของโรงพักภูกามยาวที่เห็นนี่อยู่คู่กับโรงพักมาแต่เนิ่นนานแล้วเรียกว่าพอสร้างโรงพักก็มีระฆังที่เห็นนี้ (ประมาณ ๕๐ ปีเศษ) ปัจจุบันโรงพักแทบทุกแห่งแทบไม่มีการนำระฆังมาแขวนไว้อีกแล้ว ทำให้ตำรวจรุ่นใหม่หรือชาวบ้านทั่วไปในสมัยนี้อาจจะไม่ทราบถึงความสำคัญของระฆังที่ในอดีตโรงพักทุกแห่งจะต้องมีระฆังเอาไว้ประจำโรงพัก เพราะจะใช้สำหรับให้สิบเวรตีบอกเวลาในขณะเข้าเวรยามหรือใช้สำหรับตีระฆังเปลี่ยนเวรยามหรือแจ้งเตือนเหตุร้าย และเป็นกุสโลบายของนายที่จะทำให้ทราบว่าสิบเวรหลับยามขณะปฏิบัติหน้าที่หรือไม่เพราะต้องตีบอกเวลาทุกชั่วโมง แต่เมื่อกาลเวลาได้เปลี่ยนไปการติดต่อสื่อสารทันสมัยขึ้นมีการใช้โทรศัพท์ วิทยุสื่อสารหรือการติดต่อทางโลกไซเบอร์อื่นๆ ระฆังประจำโรงพักจึงหมดความจำเป็นและค่อยๆ หายไป ทั้งที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำโรงพักที่ทุกแห่งจะต้องมี ทาง สภ.ภูกามยาวจึงอนุรักษ์เอาไว้เป็นเพื่อให้ตำรวจรำลึกถึงประวัติความเป็นมาและวิธีการทำงานของตำรวจในอดีต

นายแบบคนที่เห็นนี่ที่โรงพักเขาเรียกกันว่า "ตำรวจรุ่นระฆัง" ครับความหมายก็คือ "แก่" นั่นแหละ ซึ่งนายแบบคนนี้ตุลาคมนี้ก็จะเกษียณแล้ว แต่ไม่ว่าใครจะเกษียณ "ระฆัง" โรงพักภูกามยาวก็ยังคงอยู่ตลอดไปครับ


นี่ครับหน้าที่ยามประจำสถานีตำรวจซึ่งมีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับระฆังด้วย

ข้อ ๑ ตำรวจยามประจำสถานีตำรวจ มีหน้าที่รักษาการณ์อยู่เฉพาะในบริเวณสถานีตำรวจเท่านั้นโดยมีนายสิบตำรวจเวรเป็นผู้ควบคุมและมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณ
(๒) ควบคุมดูแลผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขัง
(๓) รักษาพัสดุของหลวง และสิ่งของที่ยึดมาประกอบคดีต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในเขตที่ยามรักษา อย่าให้ผู้ใดลักเอาไปหรือทำให้เสียหาย
(๔) ตีระฆังอาณัติสัญญาบอกเวลาและอาณัติสัญญาณอื่น 
(๕) ดูแลรักษาความสะอาดเช่น ระมัดระวังมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทิ้งมูลฝอยเศษกระดาษ เศษ บุหรี่ ไม้ขีดไฟ บ้วนน้ำหมาก น้ำลาย หรือทำการสกปรกโสโครกอย่างใด ๆ
(๖) ดูแลห้ามปรามมิให้ตำรวจหรือประชาชนที่แต่งกายไม่เรียบร้อยเข้ามาหรือออกไปจากสถานีตำรวจหรือที่ทำการนั้น เว้นแต่ผู้ที่จำเป็นต้องเข้ามา เช่นผู้ร้องทุกข์ หรือผู้ต้องหาหรือพยานเป็นต้น
(๗) ห้ามปรามมิให้ผู้ที่ไม่มีคดีหรือกิจธุระเกี่ยวข้องกับหน้าที่ราชการเข้ามาคุยกันเล่นใน สถานีตำรวจหากมาหาผู้ใดในสถานีตำรวจเป็นส่วนตัว ให้บอกไปพบปะกันข้างนอก เว้นแต่จะได้รับ อนุญาตจากผู้บังคับบัญชาจึงเข้าไปได้ชั่วคราว


(๘) ห้ามปรามมิให้ตำรวจที่ไม่มีหน้าที่ราชการเกี่ยวข้องอย่างใดเข้าไปนั่งเล่นในสถานี ตำรวจ หรือจับต้องสิ่งของที่วางไว้กับที่เรียบร้อยดีแล้วนั้นให้เคลื่อนจากที่
(๙) ห้ามปรามมิให้ผู้ใดเข้าไปพูดจากับผู้ต้องหาหรือส่งสิ่งของอย่างใดให้แก่ผู้ต้องหาโดย มิได้รับอนุญาตจากนายร้อยเวรประจำการและถ้านายร้อยเวรประจำการอนุญาตให้ผู้ใดเข้าไปพูดกับผู้ต้องหา หรือส่งสิ่งของให้ เป็นหน้าที่ของยามที่จะต้องช่วยเหลือนายสิบตำรวจเวรตรวจตราดูของนั้นให้ถี่ถ้วน อย่า ให้หมกซ่อนอาวุธ สุรา ยา ฝิ่น เครื่องดองของเมา ยาพิษ หรือเอกสารอื่นใดเข้าไปในห้องควบคุมได้ และ เมื่อจะพูดจากกับผู้ต้องหานั้นอย่างไร ก็ให้พูดดัง ๆ ให้ได้ยินทั่วถึงกัน ห้ามมิให้พูดซุบซิบกับผู้ต้องหา
(๑๐) ยามในเวลากลางคืน ให้มีหน้าที่ปลุกยามสายตรวจและยามผลัดต่อไปซึ่งต้องมานอนอยู่บนสถานีตำรวจแล้ว ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น