สำหรับวันหยุดนี้ผมขอนำเรื่องราวประวัติความเป็นไปเป็นมาของโล่เขนมาบันทึกไว้หน่อยเผื่อพี่น้องท่านใดต้องการทราบจะได้อ่านเอาไว้เป็นความรู้ต่อไป ติดตามผมมาเลยครับ
ท่านที่รักครับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (หรือเดิมเรียกกรมตำรวจ) มีเครื่องหมายราชการเป็นรูปพระแสงดาบเขนและโล่เป็นรูปวงกลมเส้นคู่สองชั้น วงนอกเป็นลายพรรณพฤกษา วงในเป็นลายใบเทศผูกลายเป็นรูปหน้าสิงห์หรือหน้ายักษ์เรียกว่าจตุรมุข ตามธรรมเนียมโบราณที่แกะสลักรูปหน้ายักษ์จตุรมุขไว้บนหน้าบันประตูทั้งสี่ทิศของปราสาทหิน ด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ทวารเข้าออก ปกป้องคุ้มครองและขจัดสิ่งชั่วร้าย ส่วน "ดาบ" ที่คาดติดอยู่ในปลอกมีลวดลายกนก ทั้งนี้สัญลักษณ์ไม่จำกัดสีและขนาด
นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ กวีโวหารและกวีโบราณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อธิบายความเป็นมาเก็บความได้ดังนี้ ก่อนเป็นดาบเขนและโล่ซึ่งเหมือนรูปวงกลมของฆ้องด้านอัด มีไม้ทแยงตีฆ้องพาด โดยที่โบราณนิยมเขียนลวดลายลงบนฆ้อง เป็นลายรดน้ำบ้าง กนกเปลวบ้าง ก้านขดบ้าง หรือเขียนเป็นหน้าราหู เมื่อหน้าอัดของฆ้องเต็มไปด้วยลวดลายดังกล่าว ครั้นมาแกะเป็นตราอาบครั่งทำให้มีลักษณะคล้ายโล่ ในตรายังมีไม้ตีฆ้องพาดทแยง จึงมีลักษณะคล้ายกับเอาดาบพาดโล่อย่างสมส่วนและใกล้ความเป็นจริง
ความนิยมเขียนลวดลายบนฆ้องหรือบนโล่ให้เป็นภาพ เช่น หน้าราหู หน้ายักษ์มาร หรือรูปหน้าสิงห์ สืบเนื่องมาจากความเชื่อถือผีสางเทวดา เช่นเขียนลายหน้าราหูก็มักจะเป็นรูปอมดวงจันทร์ หมายถึงผู้ถือฆ้องหรือโล่จะสามารถครอบงำสรรพสัตว์หรือต่อสู้อริราชศัตรูได้ทุกเมื่อ ถ้าเป็นหน้ายักษ์ต้องทำเป็นปากแสยะกว้างตาโปน ถ้าเป็นหน้าสิงห์ก็แยกเขี้ยวแสยะปากดูน่ากลัว อันเป็นการข่มศัตรูไปในตัว ล้วนแต่ลักษณะที่น่าเกรงขามทั้งสิ้น โดยต้องทาสีแดงไว้ด้วย
ตำรวจไทยเกิดเป็นรูปแบบองค์กรครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้จัดตั้งองค์กรตำรวจและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยให้เป็นระบบ แสดงความเป็นอารยะทัดเทียมตะวันตก โปรดให้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูป "หนุมานสี่กร" ก่อนเปลี่ยนเป็น "พระแสงดาบเขนและโล่" ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ครั้งพระราชทานกรมตำรวจภูธร พ.ศ.๒๔๔๐ ออกแบบโดย ม.จ.ประวิช ชุมสาย ผู้ผูกลายพระราชลัญจกรแผ่นดิน ถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ดาบเขนและโล่ปรากฏอยู่ในพระธรรมนูญตราที่โปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ให้เป็นตราประจำกรมพลตระเวน (ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ เปลี่ยนเป็นกรมพลตำรวจนครบาล)
โล่และดาบมีนัยแห่งความหมายอันลึกซึ้งที่แสดงถึงความไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่โปรดให้ตำรวจราชองครักษ์เท่านั้นที่จะมีอาวุธ (ดาบ) ติดตัวประจำกายเข้าถึงพระราชฐานชั้นในได้ โล่และดาบจึงแสดงถึงเกียรติภูมิแห่งหน้าที่ เป็นศักดิ์ศรีแห่งอำนาจที่ได้รับพระราชทานเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ และเป็นตำรวจของประชาชน มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ระงับทุกข์และบำรุงความผาสุกให้ประชาชนตามคำ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
ครับ นั่นก็คือประวัติความเป็นมาและความหมายของโล่เขนซึ่งคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์ฺต่อหลา่ยๆ ท่านบ้างตามสมควร
รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ
สวัสดีครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น