วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

หัวแดงแข้งดำ (๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒)

บ่ายวันนี้เหลือตำรวจอยู่โรงพักชั้นล่างเฉพาะผม , พนักงานสอบสวนเวร , สิบเวร , ประจำวันและเจ้าหน้าที่คดีอีกคนหนึ่งเท่านั้นเพราะตำรวจคนอื่นของเราส่วนใหญ่มีภารกิจสำคัญนอกพื้นที่ เงี้ยบเงียบครับ งานก็ไม่มีอะไรให้ทำแล้วได้แต่คุยกันไปคุยกันมาสัพเพเหระเรื่อยเปื่อย คุยได้สักพักชักเบื่อผมก็เลยขอตัวเข้าไปนั่งในห้องทำงาน แต่ก็อย่างว่าแหละเพิ่งกินข้าวมาอิ่มๆ นั่งเฉยๆ รับรองหลับคาโต๊ะแน่ อย่ากระนั้นเลยหาอะไรมาขีดๆ เขียนๆ ฆ่าเวลาเหมือนเมื่อวานดีกว่าโดยเรื่องนี้ผมนำมาจากข้อเขียนของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการตำรวจสมัยโบราณเป็นหลักรวมถึงรวบรมข้อมูลอื่นๆ เท่าที่สามารถสืบค้นได้และปิดท้ายด้วยข้อเขียนของผมเองซึ่งก็คือเรื่อง "หัวแดงแข้งดำ" และขอขอบคุณท่านผู้รู้ทุกท่านมา ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูงด้วยครับ

หัวแดงแข้งดำคืออะไร

คำคำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจของเราสมัยก่อนนั่นน่ะครับซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยเหตุที่เรียกด้วยคำคำนี้เพราะในสมัยนั้นตำรวจที่เรียกว่า “พลตระเวน” ซึ่งต่อมาก็คือตำรวจนครบาลแต่งเครื่องแบบดังที่นำมาลงเป็นภาพประกอบด้านบนนี้ ใช้ผ้าพันแข้งสีดำและสวมหมวกสีดำ ตรงกลางหมวกมีจุกสีแดง ชาวบ้านจึงมักเรียกกันว่าพวกหงอนแดงแข้งดำแล้วเลือนเป็นหัวแดงแข้งดำ


พลตระเวนนี้มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชดำริจัดตั้งกองตำรวจเช่นเดียวกับเมืองสิงคโปร์ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เรียกกันว่าเมืองใหม่ จึงโปรดเกล้าฯให้นายร้อยเอก แซมมวล โยเซฟ เบิร์ด เอมส์ เป็นผู้จัดตั้งกองโปลิศเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศแทนข้าหลวงกองจับและกองตระเวนซ้ายขวา (ตำรวจกรมพระนครบาล กรมพระนครบาลคือเวียง ๑ ในจตุสดมภ์) กองตำรวจที่ตั้งขึ้นใหม่นี้โดยมากจ้างพวกแขกมลายูและแขกอินเดียมาเป็นตำรวจเรียกกองตำรวจนี้ว่ากองโปลิศคอนสเตเบิ้ล

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ จึงได้โปรดฯให้ตั้งกรมกองตระเวนขึ้น มีตราหน้าหมวกติดหน้าหมวกเป็นโลหะสีเงินรูปกลีบบัวหงาย มีรูปช้างสามเศียรอยู่ตรงกลาง ขอบมีอักษรไทยว่ากรมกองตระเวน ส่วนผ้าพันแข้งและหมวกของพลตระเวนก็ยังเป็นหงอนแดงแข้งดำ ไม่สวมรองเท้าอยู่อย่างเดิม เว้นแต่เลิกจ้างแขกมาเป็นพลตระเวนเปลี่ยนเกณฑ์พลเมืองตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารสมัยนั้น เมื่อโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมกองตระเวนขึ้นแล้วก็โปรดฯให้ตั้งโรงพักพลตระเวน มีนายหมวดพลตระเวนเป็นหัวหน้า

พลตระเวนมีหน้าที่ดังนี้คือในเวลากลางวันอยู่ประจำถนนที่เป็นทางแยกซึ่งมีม้า มีรถม้า รถลาก ราษฎรเดินไปมามาก อยู่ประจำตรอก ประจำสถานที่ต่างๆที่มีผู้คนโคจรอยู่เสมอ จับโจรผู้ร้ายระงับการวิวาท ดับเพลิง ฯลฯ สุดแท้แต่จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามถนนหนทางบ้านเรือนในกรุงเทพฯ แล้วยังมีการลาดตระเวนรักษาท้องที่ลำน้ำ โดยใช้เรือสำปั้นเป็นพาหนะ เวลากลางวันมีพลตระเวนลงเรือลำละ ๓-๔ คนพายเลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง เพราะสมัยก่อนยังใช้แม่น้ำลำคลองสัญจรไปมา โรงเรือนแพต่างๆมักอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง จึงมีตลาดท้องน้ำ มีแพบ่อน มีโรงงิ้วโรงเล่นประจำ ตลาดท้องน้ำเหล่านั้นในเวลากลางคืนเรือลาดตระเวนจึงต้องเพิ่มพลตระเวนเป็น ๖-๘ คน นอกจากหน้าที่ลาดตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อย หน้าที่สำคัญของพลตระเวนก็คือจับกุมผู้กระทำผิดต่างๆ เมื่อให้พลตระเวนมีอำนาจกรมกองตระเวนจึงบัญญัติข้อห้ามต่างๆ ให้พลตระเวนเป็นโปลิศหรือตำรวจที่ดี เป็นที่พึ่งของราษฎรได้

สำหรับข้อห้ามต่างๆ ว่าพลตระเวนหรือ “หัวแดงแข้งดำ” นั้นจะต้องนำไปสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้การทำหน้าที่บริการพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างดีและมีประสิทธิภาพสูงสุดว่ามีอะไรบ้างซึ่งข้อห้ามเหล่านั้นเท่าที่สืบค้นพบจะมีดังนี้

ห้ามรับสินบน ถ้าพลตระเวนคนใดรับสินบนให้ไล่ออกเสียจากกรมกองตระเวนทันที

ห้ามใช้กระบองตีจำเลยในกรณีจำเลยไม่ต่อสู้และยอมให้จับโดยดี และถึงแม้ว่าจำเลยจะด่าว่าหยาบคายต่อพลตระเวน พลตระเวนที่ดีก็ไม่ควรใช้กระบองตีจำเลย เพราะจำเลยก็มีความผิดทางอาญาอยู่แล้ว

ห้ามลั่นกุญแจมือจำเลยที่เป็นหญิง คนชรา และคนพิการ

ห้ามไม่ให้ไถลเชือนแชหรือไปคุยกับราษฎรเวลาอยู่ยาม

ห้ามเดินก้มหน้าหรือหลังค่อมอันจะทำให้เสียความสง่าผึ่งผายของพลตระเวนไป

ห้ามเอาชื่อของผู้แจ้งเหตุ (ผู้กล่าวหาหรือเจ้าทุกข์) และเรื่องที่แจ้งเหตุไปบอกหรือพูดกับผู้หนึ่งผู้ใด ตลอดจนบอกแก่พวกหนังสือพิมพ์และบอกทนายความเป็นอันขาด เพราะหนังสือพิมพถ้ารู้เรื่องก็ย่อมจะตีพิมพ์เรื่องราวเป็นที่เอิกเกริกทำให้คนร้ายรู้ตัวหนีไป ส่วนพวกทนายความรู้ก็จะทำให้เป็นผู้ได้เปรียบในทางคดี

ห้ามไม่ให้พลตระเวนและภริยากู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยซึ่งกันและกันเป็นอันขาด ถ้าห้ามไม่ฟังให้ไล่ออกเสียจากกรมกองตระเวน ซึ่งข้อห้ามสุดท้ายนี้ชอบกลอยู่แต่ก็เป็นเรื่องราวในสมัยนั้นน่ะครับ สมัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมและเศรษฐกิจ

ครับ นี่ก็คือเรื่องราวคร่าวๆ ของ “หัวแดงแข้งดำ” หรือพลตระเวนซึ่งก็คือตำรวจในยุคสมัยก่อนนั้น คิดว่าคงจะมีประโยชน์และเป็นความรู้เสริมแก่ทุกท่านพอสมควร 
.........
เอาละ จบเรื่องหัวแดงแข้งดำหรือ "ตำรวจ" ว่าคืออะไร มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร รวมถึงหน้าที่และข้อห้ามต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างกันไปแล้ว แต่ก่อนที่จะจบข้อเขียนนี้ผมใคร่ขอนำข้อห้ามของ "ตำรวจยุคนี้" หรือที่หลายๆ คนพูดกันว่า "ตำรวจยุค ๔.๐" มาบันทึกไว้เพิ่มเติมอีกหน่อยว่ายุคนี้เขาห้ามตำรวจหรือ "หัวแดงแข้งดำ" สมัยก่อนว่ายังไงมั่งซึ่งคิดว่าพี่น้องหลายๆ คนคงเคยได้ยินผ่านหูผ่านมามามั่งแล้วโดยเรื่องของเรื่องเป็นแบบนี้

เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๐ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นนำไปปฏิบัติ ๒ ข้อดังนี้
๑..อ้างถึงวิทยุ ตร. ด่วนที่สุด ที่ ๐๐๐๗/๐๒ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เรื่องกำชับข้าราชการตำรวจฝ่ายปฏิบัติการพื้นที่ทุกนายต้องแต่งกายและตัดผมสั้นให้เรียบร้อย โดยเฉพาะขณะแต่งเครื่องแบบจะต้องมีทรงผมที่แสดงออกถึงความเป็นผู้มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานทุกระดับปฏิบัติตนให้เป็นระเบียบฯ นั้น
๒.เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงให้ท่านกำชับข้าราชการตำรวจทุกหน่วยในสังกัดให้ประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะแต่งเครื่องแบบ ต้องแต่งกายให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงการแสดงกริยาท่าทางที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เช่น ยืนกอดอก ยืนล้วงกระเป๋า ยืนพิง เท้าแขน เท้าสะเอว หรือนั่งไขว่ห้าง เป็นต้น รวมตลอดถึงการไม่แสดงกริยาวาจาใดๆ ในลักษณะหยาบคาย ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามประชาชน โดยให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างและเข้มงวดกวดขันการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิดหากตรวจพบข้อบกพร่องให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด แล้วรายงานผลให้ ตร.(ผ่าน วน.) ทราบ
เป็นไงครับ ข้อห้ามของตำรวจยุค "หัวแดงแข้งดำ" กับตำรวจยุค "๔.๐" เหมือนหรือแตกต่างกันยังไงพี่น้องลองคิดดูกันเองก็แล้วกัน
รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น