วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นายดีที่หายากในโลกของตำรวจ? : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๖)

อำนาจแผ่ซ่านในบริบททุนนิยม ไพร่พลตำรวจมดงานต่างตกอยู่ภายใต้กลไกของอำนาจและวินัยดั่งที่ฟูโกว่าไว้ อีกทั้งอำนาจที่เข้ากดทับ จับจ้องและควบคุมเหล่าไพร่พลตำรวจมดงาน ก็ยากที่จะต่อต้าน ขัดขืน จึงขอเชิญชวนพ่อแม่ พี่น้องโปรดเข้าใจและเห็นใจไพร่พลตำรวจมดงานด้วย"ข้อความนี้ดูสุ่มเสียงที่จะถูกเข้าใจจากผู้อ่านในยุคของการแบ่งขั้วแบ่งข้างจนทำให้ต้องสำทับด้วยประโยคที่ว่า ดิฉันไม่ใช่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โปรดอย่าเข้าใจผิด...

บทบาท ภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของตำรวจในห้วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทำให้กระแสสังคมสะสมความเข้าใจตำรวจในด้านลบๆจำนวนมากและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ควรที่จะเปิดใจยอมรับและหายุทธวิธีในการสื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้จงได้...ในเมื่อตำรวจทำงานหนัก ทำงานเสี่ยง และเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถทางปัญญาสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆจำนวนมากแต่กลับมีต้นทุนทางสังคมที่น้อยมากอย่างน่าเศร้าใจ นี่คือโจทย์ที่ผู้นำตำรวจทุกระดับต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข พัฒนาก่อนที่จะได้แต่คนที่ไม่มีศักยภาพมาเป็นตำรวจ

"เมื่อคืนไปเฝ้ามารึปล่าว" นายตำรวจระดับผู้บังคับการตำรวจถามลูกน้องเกี่ยวกับการติดตามสืบสวนเพื่อจับกุมคนร้ายด้วยน้ำเสียงสบายๆในระหว่างนั่งดื่มกาแฟในช่วงเวลาเช้าตรู่ เมื่อได้รับการตอบรับจากผู้ใต้บังคับบัญชาแทนที่จะหยุดแต่กลับซักถามต่ออย่างละเอียดยิบสมเป็นนายผู้มากด้วยประสบการณ์ และความรู้ความสามารถทั้งในด้านงานสืบสวนและงานปกครองบังคับบัญชา อย่างหวังว่าจะมาลักไก่ไม่ทำงานแต่มาเสนอหน้าคอยรายงานและเอาใจนายจะตบตาปิดบังนายได้ ซักแม้กระทั่ง ถังขยะอยู่ตรงไหนพลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย เล่าถึงพลตำรวจโทวรรณรัตน์ คชรัตน์ผู้เป็นนายและครูที่เหล่าบรรดาตำรวจเคารพนับถือด้วยน้ำเสียงและแววตาชื่นชม ยกย่อง ภาคภูมิใจ

การได้ทำงานร่วมกับนายที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเป็นผู้นำ ใส่ใจในการพัฒนาลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชานั้นกลายเป็นสิ่งที่มีค่าและหาได้ไม่ง่ายนักในสังคมปัจจุบัน เพราะการแทรกแซงระบบการบริหารงานตำรวจจากภายนอกองค์กรตำรวจด้วยประการหนึ่งที่ทำให้"คนที่เติบโตขึ้นมาเป็นนาย"มีคุณสมบัติเหมาะสมเฉพาะในสายตาของผู้ที่มีอำนาจที่จะแต่งตั้งแต่เพียงเท่านั้น แต่หาใช่มีความเหมาะสมสำหรับที่จะมาเป็น"นายและครู" ที่เป็นแบบอย่างที่ดีของเหล่าไพร่พลสีกากีไม่?

ไม่มีวันหยุด ไม่มีคำว่านอกเวลา จัดคิวบริหารเวลาทำงานได้ตลอดพล.ต.ต.ปิยะฯนายใหญ่ของตำรวจจราจรหมวกส้ม(กองบังคับการตำรวจจราจร)พูดถึงการบริหารเวลาและงาน

ส่วนแบ่งค่าปรับจราจรที่มักกลายเป็นข้อสงสัยของประชาชนที่มีต่อการทำหน้าที่ของตำรวจจราจรในการบังคับใช้กกหมายที่แข็งขันนั้นทำให้ดิฉันอดแปลกใจไม่ได้กับสภาพห้องทำงานที่เรียบง่าย ไม่หรูหรา มีเอกสาร ตำราต่างๆวางเรียงอยู่เต็มพื้นอย่างมีระเบียบพร้อมหยิบโชว์ได้อย่างทันทีแสดงให้เห็นชัดเจนว่าได้รับการอ่านและใส่ใจ...หนึ่งในนั้นคือ หนังสือ "การบริหารงานจราจรซึ่งแต่งโดย พล.ต.ต.อดุลย์ แสงสิงแก้ว (สมัยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจจราจร)

อยากให้ตำรวจจราจรมีความรู้ ความสามารถในหลักการที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเขาไม่ใช่โบกรถ ตั้งด่านโดยทำตามๆกันไปอย่างไม่ใช้ความคิด วิเคราะห์ หากตำรวจจราจรกับพนักงานสอบสวนเชื่อมประสานงานกันได้จะเยี่ยมมากจะทำให้เกิดการถ่ายโอนความรู้และประสบการณ์แก่กันและจะทำให้งานจราจรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนายตำรวจใหญ่พูดถึงเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงความต้องการในการจัดทำคู่มือ องค์ความรู้ต่างๆเพื่อให้ตำรวจรุ่นต่อๆไปได้ศึกษาไว้เป็นแนวทางในการพัฒนางานให้ก้าวหน้าต่อไป ถึงแม้ว่าความซับซ้อนของกลไกต่างที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในระบบบริหารงานตำรวจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดใจและสร้างความท้าทายในการศึกษาค้นคว้าและคลี่ปมเงื่อนไขต่างๆออกมาเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้คนในสังคมได้เข้าใจบริบทและการทำงานในโลกของตำรวจ

แต่บ่อยครั้งที่มุมมองแบบคนใน (insider view) ก่อให้เกิดภาวะหดหู่ ผิดหวัง หวั่นไหว และวิตกกังวลไม่แตกต่างจากเหล่าบรรดาตำรวจไพร่พลที่ปฏิบัติงานอยู่ที่สถานีตำรวจต่างๆหรือแม้แต่ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติงานอยู่บนถนนก็ตามเมื่อทราบหรือรู้สึกว่า นายไม่เคยสนใจห่วงใยลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา หากแต่มุ่งหวังเพียงความก้าวหน้า อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนเพียงเท่านั้น ความหรูหราฟุ่มเฟือยของนายที่ดำรงอยู่บนความไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่สนใจในงานพบเห็นได้จำนวนไม่น้อยในโลกของตำรวจซึ่งมักจะพบเห็นภาพที่ควบคู่กันคือไพร่พลตำรวจหิ้วถุงอาหารชั้นเลิศที่เลือกสรรแล้วจากแหล่งต่างๆมาส่งที่สำนักงานของนาย

ดังนั้น หากกลไกใดก็ตามด้วยการบริหารงานบุคคลอย่างชาญฉลาดของผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่าง พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสามารถทำให้ ผู้เป็นนายเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างของการทำงานอย่างใช้กระบวนการทางปัญญาควบคู่ไปกับการสะสมประสบการณ์ทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังและใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย(เอาแค่ในที่ทำงานหรือบริบทของการทำงานก็ยังยอมรับได้)ก็อาจจะช่วยทำให้ไพร่พลผู้ใต้บังคับบัญชาลดเวลาการวิ่งหาของกินที่นายชอบ หรือคอยขายตั๋วต่างๆโดยเอาเวลาไปทำงานและพัฒนาศักยภาพและเมื่อนายไม่นำตนเองไปเป็นภาระของผู้ใต้บังคับบัญชานั้นจะทำให้ศรัทธาของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต่อนายเกิดขึ้นด้วย การที่ลูกน้องพูดถึงว่านายติดตามงานอย่างไร สอนงานอย่างไรดูดีกว่าการที่ลูกน้องพูดถึงนายว่า นายชอบกินอะไร ชอบร้องเพลงที่ไหน ชอบตีก๊อล์ฟสนามไหน...จริงหรือไม่ลองถามไพร่พลตำรวจมดงาน?

ที่มา : http://goo.gl/BrK2Wx

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น