วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความล้มเหลวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ : โลกตำรวจ โดยปนัดดา ชำนาญสุข (๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘)

คัดเลือก สรรหา พัฒนา จูงใจ คือหลักการขั้นพื้นฐานของการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อให้องค์กรนั้นมีคนดี คนเก่ง เข้ามาร่วมทีมทำงานเพื่อให้พันธกิจขององค์กรบรรลุเป้าหมายสูงสุด
วิสัยทัศน์ หรือนโยบายอันสวยหรูจะกลายเป็นสิ่งเพ้อฝัน เลื่อนลอย และล้มเหลวทันทีที่ผู้นำในทุกระดับขององค์กรไม่สนใจไยดีกับการบริหารจัดการบุคคลซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทุกตำราเน้นย้ำตรงกันว่ามีคุณค่ามากที่สุดของทุกองค์กร
แต่สังคมส่วนใหญ่และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานตำรวจทั้งหลายก็ยังให้อภัยและพยายามหลับตาลงหนึ่งข้างกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้เพราะรู้อยู่แก่ใจดีว่าองค์กรที่มีทั้งอำนาจและใกล้ชิดกับผลประโยชน์ล่อตาล่อใจอย่างมากแห่งนี้ถูกแทรกแซงอย่างมากจากระบบการเมืองที่เข้ามาทำลายระบบคุณธรรมในการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจนส่งผลกระทบมหาศาลทั้งในส่วนของตำรวจผู้ปฏิบัติงานและประชาชนผู้ที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยความยุติธรรม
น้อยครั้งนักที่สังคมจะเห็นบทบาทและลีลาการนำของผู้นำตำรวจในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจ และหัวหน้าสถานีตำรวจที่ทำให้ทุกคนในสังคมประทับใจและชื่นชม
ผู้นำสำคัญในตำแหน่งเหล่านี้มีสักกี่คนที่ทำให้ผู้คนในสังคมจดจำและประทับใจจากผลงานในภาพลักษณ์ของผู้นำผู้พิทักษ์ หรือที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ใช้คำเรียกสั้นๆ ว่า “มีผลงานที่สร้างตำนาน” ได้
ถ้าระบบการได้มาซึ่งผู้นำล้มเหลว แต่ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงสามารถขับเคลื่อนภารกิจสำคัญๆ ได้ ท่ามกลางการจับจ้องจากสายตาชาวโลก
คำตอบคือ ผลงานสำคัญหลักๆ และจำนวนมากเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่ถูกเรียกขานด้วยตำแหน่ง “รอง” บรรดารองทั้งหลายและไพร่พลคือขุนศึกคนทำงานที่แท้จริงและเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลย อยู่นอกสายตา ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือสนับสนุนพัฒนาหรือจูงใจอย่างที่ควรจะเป็นตลอดมา เพียงเพราะ “มีตอที่ไม่เข้มแข็ง” (๒ ต หมายถึง ตั๋วและตังค์ ที่จะต้องมีหากต้องการความเจริญก้าวหน้าในองค์กรแห่งนี้) สิ่งนี้รอการพิสูจน์ตรวจสอบและออกมายืนยันจากผู้นำทั้งในองค์กรตำรวจและผู้มีอำนาจเหนือองค์กรตำรวจในการปฏิเสธว่า “ยุคนี้ไม่มีเรื่องราวในทำนองนี้อย่างแน่นอน”
กรุงโรมมิได้สร้างเสร็จในวันเดียว การทำให้องค์กรตำรวจหลุดพ้นการแทรกแซงผ่านการใช้ “ตอ” โดยไม่ดูความรู้ ความสามารถ และศักยภาพเช่นนี้มิใช่เรื่องง่าย จึงได้แอบหวังอย่างเสมอมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะกรุณาช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้แก่องค์กรแห่งนี้เพื่อประชาชน(ถึงแม้ว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ยังไม่เห็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมชัดเจน) การไม่สนับสนุนคนทำงาน คนมีความรู้ ความสามารถ ยังไม่น่าสะเทือนใจมากเท่ากับการบริหารจัดการที่ทำลายขวัญและกำลังใจของคนที่ตั้งใจทำงานในระดับสร้างตำนานงานสอบสวนสำคัญระดับโลก (อย่างเช่นกรณีค้ามนุษย์)
ทำไมผู้นำทั้งระดับประเทศและระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงตอบแทนคนทำงานอย่างที่ไม่ควรจะทำเพราะทำให้เกิดข้อกังขาและสงสัยว่า
องค์กรตำรวจและรัฐบาลต้องการเก็บรักษา และจูงใจคนประเภทไหนไว้ในองค์กร...โปรดตอบประชาชน!!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น