วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ศัพท์เสียงสำเนียงร่ะยองเพื่อพี่น้องไทย : นักเกง (๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗)

เจ้เมียด : เอ้อนี่พี่ทิ่ดหนั่น พรุ่งนี่ตังค์ที่เราไปยื่ม(ยืม) พี่ทิ่ดชัยเค้ามาน่ะจ้ะต้องส่อง(ส่ง)ดอกให้เค้า ๒๕๐ แล่วเราก็ยังไม่มี ไม่รู่(รู้)จ้ะไปหาที่ไหน ผัดไปก่อนจ้ะด๋ายปล่าว(ได้หรือเปล่า)ก็ยังไม่รู่ แช้นล่ะกลุ้มเหลือเกิน
พี่ทิ่ดหนั่น : แช้นว่าจ้ะลองไปขอผัดแกดู คนอย่างพี่ทิ่ดชัยน่ะใจนักเกง คิ่ดว่าไม่น่าจ้ะมีปัญหาเหาะ(หรอก)
"นักเกง" ศัพท์เสียงสำเนียงร่ะยองซึ่งออกเสียง "นั่ก-เกง" ก็คือ "นักเลง" ในภาษากลางนั่นเองครับพี่น้องไม่ว่าจะเป็นนักเลงหัวไม้,คนใจถึง,คนใจคอกว้างขวางฯ แบบนี้ "นั่ก-เกง" ทั้งนั้น
จากสุพจน์ มัจฉา ลูกเพาะเหียน แมะเผือน มัจฉา คนบ้านพังราดไทย หมู่ ๔ ตำบลพังราด อำเภอแกลง จังหวั่ดร่ะยอง 



"พี่ทิ่ดชัย" หรือ "น้าชัย" คนบ้านพังราดไทยอายุน้อยกว่าเพาะเหียน มัจฉาราว ๔-๕ ปี เป็นลูกคนไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะพอสมควรในหมู่บ้าน เวลาใครขัดสนเงินทองมักจะไปหยิบไปยืมแก  "น้าชัย" เป็นคนใจถึง พูดง่าย ใจคอกว้างขวางซึ่งถือว่าเป็น "นั่ก-เกง" คนหนึ่ง ส่วน "พี่ทิ่ดหนั่น" กับ "เจ้เมียด" ๒ คนผัวเมียนั่นอายุอ่อนกว่าเพาะราว ๕-๖ ปี อยู่ใกล้ๆ บ้านเพาะก๊ะแมะ

ตอนผมสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจได้น่ะ "น้าชัย" ให้ตังค์พันหนึ่งซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นเงินที่มากพอสมควรเลยทีเดียว ยังระลึกถึงและขอบคุณน้าชัยจนถึงทุกวันนี้...แหม่ น้าชัยนี่ใจ "นั่ก-เกง" จริงๆ เกี๊ย

สำหรับคำว่า "เจ๊" จริงๆ แล้วต้องสะกดแบบนี้ (วรรณยุกต์ตรี) แต่เหตุที่ผมเขียน "เจ้" (วรรณยุกต์โท) ก็เพื่อให้ตรงหรือใกล้เคียงกับสำเนียงหรือเสียงพูดของคนร่ะยองเราครับ
ฝากศัพท์เสียงสำเนียงร่ะยองไว้ด้วยนะครับ ผมเขียนทุ่กวัน "วันล่ะคำ" อ่านแล่วส้ะหนุกแถมจ้ะรั่กภาษาร่ะยองก๊ะคนร่ะยองเพิ่มขึ้นอีกด้วยหงะ จริงๆ เกี๊ย ไม่ปดเหาะ ๕๕๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น