วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

จับผิดตำรวจ(ชอบ)จับแพะ : โลกตำรวจ โดยผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗)

ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน คำกล่าวนี้ยังเป็นจริงอยู่หรือไม่?

ทำไมการเสียชีวิตของชาวต่างชาติที่เกาะเต่าจึงเป็นที่สนใจอย่างมากมายทั้งในสังคมไทย และต่างชาติ?

การติดตามผลการจับกุมผู้กระทำผิดอย่างเกาะติด ตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดความเที่ยงตรง เป็นธรรม โปร่งใส จนกระทั่งผู้บริหารงานตำรวจในทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับคดีนี้เป็นพิเศษนั้น มิใช่เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

เพียงแต่มีข้อน่าสงสัยที่ว่า ณ ห้วงเวลาเดียวกันนี้ ประเทศไทยมีคดีนี้คดีเดียวหรือที่ตำรวจและสังคมพึงให้ความสำคัญขนาดนี้ ?

ทำไม คดีนี้จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ? มากกว่าคดีอื่นๆ ?



จากจุดเริ่มต้นของ ความเคลือบแคลง ระแวง และความสงสัยที่มีต่อการมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อันเกิดขึ้นจากความทุกข์ของผู้สูญเสีย ความสะเทือนใจต่อการถูกทำร้ายที่ทารุณ หดหู่อย่างไม่สมควรเกิดขึ้นกับแขก (ต่างชาติ) ที่คาดหวังว่าการมาเยือนประเทศไทยจะได้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจกลับไป แต่การณ์กลับตาลปัตรตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงนั้นได้ส่งผลโต้ตอบกลับที่รุนแรง มิใช่เพียงการหวาดกลัว หวาดหวั่นต่อความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินเมื่ออยู่ในสังคมไทยแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการดูถูก ดูแคลนต่อการบริหารจัดการสังคมของผู้นำประเทศด้วย !! มิใช่จำกัดวงอยู่เฉพาะตำรวจแต่เพียงเท่านั้น

ความดูถูก ดูแคลน ที่เกี่ยวโยงด้วยความไม่ไว้วางใจถูกสื่อสารผ่านรูปแบบของการตั้งสมมุติฐาน ตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง ระลอกแล้ว ระลอกเล่า และมีการแพร่หลายอย่างรวดเร็วผ่านโลกโซเชียลมีเดีย มีผลกระทบอย่างมากมายต่อการแยกแยะข้อมูล ความจริง ความเท็จ หรือความคิดเห็นออกจากกัน จนเกิดความสับสนอย่างกว้างขวาง

มีผลกระทบอย่างมากต่อขวัญและกำลังใจทั้งผู้ปฏิบัติงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ช่วงเร่งสืบสวน สอบสวนเพื่อติดตามจับกุมคนร้าย ก็หาว่าล่าช้า พอได้ตัวคนร้ายก็หาว่าจับแพะ ตำรวจทำอะไรก็ถูกตั้งคำถามไปหมดนายตำรวจพูดตัดพ้อต่อกระแสสังคมที่ตั้งคำถามถึงการทำงานของตำรวจในทุกๆ ขั้นตอนด้วยความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ

"ขนาดผมไม่ได้รับผิดชอบคดีนี้ ผมยังอดสะเทือนใจไม่ได้ ถึงความไม่เข้าใจกัน ไม่มั่นใจกัน ไม่ไว้ใจกัน" นายตำรวจผู้พูดสะท้อนความรู้สึกในฐานะตำรวจคนหนึ่งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้

หากคดีอาชญากรรมประทุษร้ายต่อชีวิตทุกคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้รับการปฏิบัติในลักษณะเช่นเดียวกันกับคดีนี้ อะไรจะเกิดขึ้น?

ตำรวจจะทำงานได้หรือ? บนพื้นฐานแห่งความไม่ไว้วางใจของสังคม?

อะไรคือเบื้องหลังที่มาของความไม่ไว้วางใจของสังคมที่มีต่อการทำงานของตำรวจ?

ตำรวจจะต้องหันกลับมาทบทวนตนเองอย่างเข้มข้นว่า ทำไมประชาชนจึงไม่ไว้วางใจตำรวจ?

หากมองว่า โรงพักคือจุดแตกหัก เป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความเชื่อถือ ไว้วางใจของประชาชนให้เกิดขึ้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจได้ คำถามแรกที่ต้องตอบคือ

หัวหน้าสถานีตำรวจทำงานในรูปแบบสายตรวจเดินเท้าบ้างหรือไม่? เดินเข้าหาชาวบ้านทุกหมู่เหล่าในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองจนมั่นใจว่ามีความรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอันจะนำไปสู่การวิเคราะห์สภาพปัญหาอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นอย่างถ่องแท้บ้างหรือไม่?

ถ้าหัวยังไม่ส่าย ก็อย่าได้หวังว่าหางจะกระดิก !!

ถึงแม้ว่าจะมีตำรวจชั้นผู้น้อยจำนวนไม่น้อยที่มีหัวใจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริงจะให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงวิถีชาวบ้าน ชาวเมือง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบจนได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่อย่าลืมว่า ตำรวจผู้น้อยย่อมมีอำนาจและพลังในการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าตำรวจผู้ใหญ่อย่างมหาศาล

วงการตำรวจต่างตระหนักรู้กันเป็นอย่างดีว่า หัวหน้าสถานีตำรวจคือผู้นำที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง

ดังนั้น หากพบว่าประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจแห่งใดไม่ไว้วางใจตำรวจ ย่อมหมายถึงผลการบริหารงานที่ล้มเหลวของหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งนั้นด้วยใช่หรือไม่ ?

การทำงานด้วยการเดินเท้า (ใช้เท้าทำงาน) ในรูปแบบเข้าถึงทุกประตูบ้านของประชาชนในพื้นที่นั้น จะเพิ่มช่องทางการสื่อสาร เพื่อพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์การทำงานในหน้าที่ของตำรวจในทุกๆ มิติให้สังคมได้รับทราบด้วย นั่นหมายความว่า เมื่อตำรวจไปถึงบ้านแล้วต้องพูดคุยกับประชาชนด้วย มิใช่เป็นอย่างที่เรามักเห็นโดยทั่วกันว่า แม้แต่การตรวจตู้แดง ตำรวจก็จะสนใจเฉพาะตู้แดงกับเอกสารที่อยู่ในตู้แดงเท่านั้น ไม่มีการพูดคุยกับใครที่อยู่ในย่านนั้นแต่อย่างใด

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ตำรวจทุกนายในแต่ละสถานีตำรวจจะมีความเข้าใจสภาพพื้นที่ชุมชนในความรับผิดชอบของตนเอง จนมีความรู้สึกผูกพันกับผู้คน ชาวบ้าน ประชาชนในชุมชนจนเกิดความสุขที่จะทำหน้าที่ในการปกป้อง ดูแลชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน มีความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตน

หากตำรวจทุกนายของสถานีตำรวจเกิดความรู้สึกเช่นนี้เมื่อใด เมื่อนั้นประชาชนจึงจะไว้ใจและมั่นใจตำรวจเช่นกัน !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น