วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตำรวจฟังธรรมก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ (๗ สิงหาคม ๒๕๕๔)


วันนี้วันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๙ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๓๗๓ ตรงกัึบวันที่ ๗ สิงหาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๔ ปี ขออำนวยอวยพรมายังทุกท่านซึ่งมีวันคล้ายวันเกิดตรงกับวันนี้ให้อายุมั่น ขวัญยืน เป็นที่รักของทุกคนคิดสิ่งใดให้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ

วันพระในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาวันนี้ช่วงเช้าที่ผ่านมาคงจะมีพี่น้องพุทธศาสนิกชนเข้าวัดทำบุญและน้อมนำคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันกันเป็นจำนวนมาก ขอให้เจริญในธรรมจงทั่วกันนะครับ


พูดถึงวันพระทำให้ผมนึกถึงแนวทางการปฏิบัติเมื่อสมัยผมอยู่ที่ สภ.พาน เชียงรายขึ้นมาได้นั่นก็คือโครงการ "
ตำรวจฟังธรรมก่อนออกปฏิบัติหน้าที่" ที่ทุกๆ วันพุธผมจะนำเจ้าหน้าที่สายตรวจที่่จะเข้าเวรเวลา ๑๖.๐๐-๒๔.๐๐ น.เข้าวัดฟังธรรมจากพระสงฆ์ที่วัดใกล้ๆ โรงพักเพื่อให้นำความรู้และหลักธรรมที่ได้รับนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันทั้งส่วนตัวและการปฏิบัติงานแม้ว่าขณะนี้ผมจะไม่ได้ทำหน้าที่นั้นช่วงระยะเวลาหนึ่งเนื่องจากเขาให้มาปฏิบัติราชการที่โรงพักเวียงป่าเป้าในงานอำนวยการเป็นเวลา ๓ เดือนตั้งแต่ืวันที่ ๒๐ มิถุนายนถึง ๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ นี้ซึ่งเท่ากับหนึ่งพรรษาพอดี ผมคิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งและหลังจากกลับไปโรงพักพานแล้วผมจะนำมาใช้ต่อ เรื่องราวเป็นอย่างไรติดตามได้เลยขอรับ



วันหยุดนี้ผมขอนำเรื่องที่เจ้าหน้าที่สายตรวจ สภ.พานยึดถือและปฏิบัติก่อนออกปฏิบัติช่วงเย็นวันพุธมาเล่าให้ฟังนั่นก็คือการนำเจ้าหน้าที่เข้าน้อมนำและรับฟังธรรมะคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าจากพระสงฆ์ก่อนออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การปฏิบัติมีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พวกเราจะกระทำได้ เรื่องนี้ผมมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ว่าพวกเราทุกคน (ที่ สภ.พานนะครับ) นับถือศาสนาพุทธซึ่งปัจจุบันบางคนแทบไม่ค่อยเข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ฟังธรรมกันนัก อาจจะด้วยไม่มีเวลาหรืออะไรก็แล้วแต่ และลำพังการชี้แจงข้อราชการหรือแนวคิดของผมและผู้บังคับบัญชาท่านอื่นแก่เจ้าหน้าที่ก่อนออกปฏิบัติหน้าที่นั้นอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่นักจึงต้องหาหรือเชิญวิทยากรผู้ทรงความรู้ฝ่ายอื่นๆ เข้ามามีบทบาทและช่วยชี้แนะการปฏิบัติด้วยซึ่งเท่าที่นึกได้และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์พอสมควรก็คือพระสงฆ์นั่นเอง จึงได้จัดทำโครงการ “ตำรวจฟังธรรมก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นมา โดยวัตถุประสงค์คร่าวๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมรวมทั้งน้อมนำหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด




สำหรับการดำเนินการก็คือให้เจ้าหน้าที่สายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ผลัดที่จะปฏิบัติหน้าที่ในวันพุธระหว่างเวลา ๑๖.๐๐-๒๔.๐๐ น.เข้าวัดซึ่งจะอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเมืองพานใกล้ๆ โรงพักนั่นแหละตามที่ผมได้ประสานพระคุณเจ้าไว้แล้วไปพร้อมกันที่วัดก่อนเวลา ๑๕.๓๐ น.เพื่อรับฟังธรรมะตามหัวข้อที่พระคุณเจ้าจะพิจารณาเห็นสมควร (ยกเว้นวันนั้นมีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ก็ให้งด) ใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาทีเสร็จแล้วได้เวลาเข้าเวรพอดี เหตุผลว่าทำไมต้องเป็นวันพุธนั้นเนื่องจากว่าวันพุธเป็นวันที่ไม่ค่อยจะมีภารกิจมากเหมือนวันอื่นๆ (เท่าที่พบที่ สภ.พานนะครับโรงพักอื่นผมไม่แน่ใจ) สำหรับสายตรวจของ สภ.พานที่จะเข้ารับฟังธรรมะนั้นประกอบไปด้วยสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งมีฝ่ายละ ๓ และ ๔ ชุดตามลำดับ ๑ อาทิตย์เข้าฟังธรรมะ ๑ ชุด เมื่อคำนวณดูแล้วใน ๑ เดือนเจ้าหน้าที่สายตรวจของผมจะได้รับฟังธรรมะกันทุกคน




ตั้งแต่จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาผมสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่สายตรวจทุกคนมีความตั้งใจ กระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม จากบางคนที่ออกจะเฉื่อยชาสักนิดก็กลับมาว่องไวกระฉับกระเฉงขึ้น รวมถึงบอกว่าเป็นนโยบายที่ดีมากเพราะตัวเองแทบไม่มีเวลาเข้าวัดเข้าวากับเขา เมื่อมาได้เข้าในช่วงก่อนทำงานจึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีและอยากให้ดำเนินการเช่นนี้ตลอดไป ซึ่งผมได้บอกเจ้าหน้าที่แล้วว่าโครงการนี้จะยังคงมีอยู่และดำเนินการอย่างต่อเนื่องตราบใดที่ผมยังอยู่ที่โรงพักเมืองพานแห่งนี้ครับ


สำหรับภาพประกอบด้านล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้ารับฟังธรรมะของพวกเราเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งวันนั้นผมนำเจ้าหน้าที่สายตรวจไปที่วัดพระธาตุจอมแว่ และเพื่อให้บันทึกนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจึงขอนำหลักธรรมะที่พวกเราได้รับจากพระคุณเจ้าคือท่านพระอธิการแสวง กิตติธโร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมแว่ที่แสดงแก่พวกเราในหัวข้อ “ธรรมที่เป็นอุปการะมาก มาเล่าให้ฟังประกอบดังนี้ครับ




ธรรมะที่เป็นอุปการะมาก ๒ อย่าง โดยมีข้อมูลพอสังเขปดังนี้แก่เจ้าหน้าที่
- สติ ความระลึกได้
- สัมปชัญญะ ความรู้ตัว
ธรรม ๒ ประการนี้เป็นอุปการะมาก มีส่วนเกื้อกูลมากต่อการทำงานหรือทำความดีทุกอย่าง ความสามารถที่จะรักษาศีลและวินัยคฤหัสถ์ได้บริบูรณ์หรือไม่ก็ขึ้นกับสติและ สัมปชัญญะ ผู้มีธรรม ๒ ประการนี้ ย่อมเป็นคนรอบคอบ ไม่ประมาท จะคิดจะทำจะพูดอะไรก็จะไม่ผิดพลาดเสียหาย

สติ ความระลึกได้หมายถึงระลึกได้ถึงการกระทำ คำที่พูดและเรื่องที่คิดแม้ที่ล่วงมาแล้วได้หรือระลึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ในอนาคต เช่น กำหนดว่าชั่วโมงต่อไปนี้หรือพรุ่งนี้จะทำอะไรก็นึกขึ้นมาได้ หน้าที่ของสตินั้นเป็นไปได้ ๒ กาล คืออดีตและอนาคต

สัมปชัญญะ ความรู้ตัว หมายถึงความรู้ตัวที่เป็นไปในปัจจุบันในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด หรือทำ พูด คิด อะไรอยู่ก็รู้ตัวในขณะนี้ เช่น เรากำลังอ่านหนังสืออยู่ขณะนี้ก็รู้ว่าเรากำลังอ่านหนังสือ เรากำลังพูดอยู่ก็รู้ตัวว่าเรากำลังพูด เรากำลังจะกระทำในเรื่องผิดศีลก็รู้ว่ากำลังจะกระทำผิด เรากำลังจะเล่นการพนันก็รู้และเร่งรีบเตือนตนว่ากำลังจะกระทำผิด อยู่ฉะนั้น หน้าที่ของสัมปชัญญะ ย่อมเป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น

ลักษณะที่ดีของสัมปชัญญะ สัมปชัญญะที่ถูกต้องตามธรรมและหลักคำสอนของพุทธศาสนามี ๕ ประการ คือ

๑. รู้ตัวว่าการที่ตนกำลังทำอยู่นั้นเป็นประโยชน์หรือไม่

๒. รู้ตัวว่าการที่ตนกำลังทำอยู่นั้นเหมาะกับตนหรือไม่

๓. รู้ตัวว่าการที่ตนกำลังทำอยู่นั้นเป็นความทุกข์หรือสุขอย่างไร

๔. รู้ตัวว่าการที่ตนกำลังทำอยู่นั้นเป็นความงมงายหรือไม่

๕. รู้ตัวว่าการที่ตนกำลังทำอยู่นั้นเลื่อนลอยไร้สาระหรือไม่



ความรู้ตัวในขณะที่ทำนั้น มิใช่เพียงแต่รู้ตัวว่ากำลังทำเฉยๆ หากแต่ต้องเป็นความรู้ตัวซึ่งประกอบด้วยองค์ลักษณะ ๔ ประการ โดยกล่าวสรุปว่า

๑. มีประโยชน์หรือไม่

๒. เหมาะสมกับตนหรือไม่

๓. เป็นความทุกข์หรือความสุข

๔. เป็นความฉลาดหรืองมงาย เลื่อนลอย ไร้สาระ

ความรู้ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นองค์ประกอบสัมปชัญญะที่ถือว่ามีอุปการะมากก็เพราะเมื่อรู้ตัวแล้วจะได้ปรับปรุงแก้ไขในการทำงานให้ดีมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ไม่มัวทำในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ไม่มัวทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเพศภาวะของตน ไม่มัวทำในวิธีการผิดๆ และไม่มัวทำในเรื่องที่งมงายไร้สาระเป็นต้น




หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเขียนในวันนี้คงจะมีประโยชน์ต่อทุกท่านอยู่บ้างตามสมควร และในนามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พานทุกคนขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะตั้งใจประพฤติดี ปฏิบัติดีและทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อความผาสุกของสังคมและพี่น้องประชาชนตลอดไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น