วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตำรวจโดนโบย (๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

สวัสดีทุกท่าน

วันนี้เป็นวันสุดท้ายช่วงการลาพักผ่อนประจำปี พรุ่งนี้ต้องไปทำงานแล้วที่โรงพักใหม่นั่นก็คือโรงพักเวียงเชียงรุ้งตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดเีชียงรายที่ ๓๗๔/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ ก็จะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อพี่น้องประชาชนครับ

ช่วงลาพักผ่อนไม่ได้ทำงานโรงพักเหมือนดังที่เคยปฏิบัติมาจึงไม่มีเรื่องราวบันทึกการทำงานไว้ แต่...ด้วยการที่ตัวเองชอบบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ในบล็อกนี้่จนเรียกได้ว่าเป็นนิสัยไปซะแล้วเพราะฉะนั้นก็จะต้องหาเรื่องราวมาบันทึกไว้หน่อย อย่างน้อยที่สุดตัวเองจะได้อ่านภายหลัีง พี่น้องบางท่านที่สนใจใคร่รู้ก็สามารถอ่านได้ซึ่งวันนี้่ผมจะขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับตำรวจในอดีตที่หลายท่านอาจจะหาอ่านที่ไหนไม่ได้เพราะไม่มีใครเขียนถึงมาเล่าให้ฟัง โดยเรื่องนี้ิเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษของตำรวจไทยเมื่อครั้งก่อนครับว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ท่านที่รักครับ คนเราเมื่ออยู่รวมกันมากก็ต้องมีบ้างที่ใครซักคนสองคนสามคนอาจประพฤตินอกลู่นอกแนวไปจากคนอื่นๆ คนที่ประพฤติแบบนั้นถ้าจะให้หลาบจำก็ต้องมีการลงโทษลงทัณฑ์กันเป็นธรรมดา การลงโทษนั้นก็มีอยู่หลายอย่างหลายสถานด้วยกันตามที่จะมีการกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วทีนี้ตำรวจของเราสมัยก่อนเขาทำการลงโทษกันอย่างไร

ขอบอกก่อนนะครับว่าข้อเขียนของผมนั้นทุกอย่างต้องมีหลักฐาน(ทางราชการ)อ้างอิงด้วยเพราะจะได้ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ว่าเขียนขึ้นมาเอง คิดขึ้นมาเองหรือเปล่า แล้วหลักฐานที่จะนำมาอ้างอิงก็เหมือนเดิม "ราชกิจจานุเบกษา" นั่นแหละ การค้นหาเรื่องราวในราชกิจจาฯ สมัยก่อนค่อนข้างยุ่งยากลำบาก แต่เดี๋ยวนี้สบายมากเพราะเราสามารถ search ทาง Internet ได้ แป๊บเดียวเองเรื่องที่ต้องการถ้ามีก็เจอ นี่ก็เหมือนกันครับการลงโทษตำรวจสมัยก่อนนี่ผมก็หาจากที่นี่นั่นเอง แล้วการลงโทษเนี่ยะัสมัยนั้นเขามีการโบยกันด้วยนะขอรับ เชื่อหรือไม่ ซึ่งก็คือที่มาของจั่วหัวเรื่องวันนี้ "ตำรวจโดนโบย" การโบยเขาโบยแบบไหนและเรื่องราวเป็นอย่างไรตามผมมาเลยครับ

ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๒๐ ซึ่งตีพิมพ์ (ประกาศ) เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ร.ศ.๑๒๒ เรื่อง "ข้อบังคับว่าด้วยอำนาจแลกำหนดสำหรับลงโทษตำรวจภูธร" กำหนดไว้ตอนหนึ่งว่า
"ข้อ ๒ ลักษณ (สะกดตามที่ประกาศ) ความผิดด้วยข้อบังคับของตำรวจภูธรนั้น ดังนี้
(๑) เกียจคร้านแลเลินเล่อต่อน่าที่ราชการ
(๒) เมาสุราแลเครื่องดองของเมาต่างๆ
(๓) ประพฤติกิริยาแลวาจาชั่ว
(๔) กระทำการทุราจาร
(๕) ดื้อต่อผู้ใหญ่"

ทีนี้ถ้าตำรวจคนไหนกระทำผิดวินัยจะมีการลงโทษกันอย่างไร เรื่องนี้มีประกาศไว้ในราชกิจจาฯฉบับเดียวกันข้อ ๔ ดังนี้

"ข้อ ๔ ตำรวจภูธรคนใดกระทำความผิดด้วยข้อบังคับของตำรวจภูธรดังกล่าวแล้วในข้อ ๒ จะมีโทษได้ตามประเภทดังกล่าวต่อไปนี้
(๑) โบย (คืิอโบยที่ขาด้วยไม้หรือหวาย)
(๒) จำขัง (คือจำตรวน ขังตราง)
(๓) ขังเดี่ยว (คือขังในที่ควบคุมแต่ฉเภาะตัวคนเดียว)
(๔) ขังรวม (คือขังในที่ควบคุมรวมมากคนด้วยกัน)
(๕) กักยาม (คือกักตัวไว้ไม่ให้ออกพ้นไปจากเขตร์ตามที่จะกำหนดให้)
(๖) ภาคทัณฑ์ (คือแสดงความผิดของผู้ที่ทำผิดแลภาคทัณฑ์โทษไว้)"

นี่แหละครับจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าตำรวจสมัยก่อนน่ะมีการลงโทษทางวินัยโดยการโบยด้วยแหละแล้วคงจะโดนหลายคนและหลาบจำไปนานเลยทีเดียวซึ่งก็เป็นการลงโทษลงทัณฑ์ตามยุคตามสมัยน่ะครับแต่ตอนนี้ไม่มีแล้วแม้กระทั่งนักเรียนที่ครูจะโบยจะเฆี่ยนศิษย์ไม่ได้จนทำให้เด็กๆ หลายคนกลายเป็นแบบที่ท่านๆ ได้เห็นได้รู้กันในปัจจุบันนี้

เอ้อ แล้วการโบยตำรวจที่ว่าไม่มีแล้วน่ะเขายกเลิกมาตั้งแต่ตอนไหนผมจะเล่าให้ฟังต่อครับ

การยกเลิกโทษโบยตำรวจนี้มีขึ้นเมื่อสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ครับโดยมีัหลักฐานจากราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๓๗ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

"...บัดนี้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าอาญาโบยเปนอาญาอันต่ำช้าซึ่งไม่ควรใช้ในการรักษาวินัยแก่ตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกอาญาโบยแก่ตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรตามความในกฏว่าด้วยอาญาฐา่นละเมิดวินัยตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรมาตรา ๒ ข้อ ๑๒ , ๑๓ นั้นเสีย..."

ราชกิจจาฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๘ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๓ เป็นต้นไป

แล้วตั้งแต่นั้นจนถึงบัดนี้การลงโทษตำรวจที่กระทำผิดทางวินัยจึงไม่มีการโบยอีกเลย

ครับ นั่นก็คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของตำรวจไทยที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ซึ่งหวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านอยู่บ้างตามสมควร

ภาพตำรวจเก่าๆ ซึ่งเห็นอยู่ด้านซ้ายมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบตำรวจสมัยก่อนซึ่งผมเคยเขียนไว้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ท่านใดสนใจใคร่รู้เรื่องราวมากกว่านี้กรุณาคลิกดูที่นี่ได้เลย

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ




ปิดท้ายวันนี้ด้วยภาพการทำงานของผมที่อำเภอพานเรื่องหนึ่งครับซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเข้าไปเยี่ยมเยียนพบปะคณะครูและนักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งป่าแดด ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔







...ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา
ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป...

สวัสดีึครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น