วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยูเอ็นฯ ร่วมผนึก บช.ก.สร้าง"ตำรวจรับใช้ชุมชน" แก้ปัญหาอาชญากรรม (๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

หลังจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำโดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก.นำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community policing) ที่มีต้นกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกามาร่วมแก้ปัญหาอาชญากรรมในประเทศไทยเราปรากฏว่าที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี

เพราะทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนคือการทำงานแบบคลุกวงใน ส่งตำรวจเข้าไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านและชุมชน เพื่อเรียนรู้วิถีชาวบ้าน รวมทั้งการทำวิจัยเชิงสำรวจและศึกษาข้อมูลอาชญากรรม รวบรวมรายละเอียดสภาพแวดล้อมความเป็นมาของชุมชนเพื่อวางแผนแก้ปัญหาอาชญากรรม

มีการส่งตำรวจเข้าไปกินอยู่กับชาวบ้านเพื่อทำลายกำแพงกั้นระหว่างตำรวจกับประชาชนที่มักเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน เป็นการลดช่องว่างระหว่างตำรวจกับประชาชนเพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของปัญหา

ล่าสุด UNODC องค์กรสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกทำหนังสือเชิญ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์และคณะเข้าร่วมหารือและลงนามในการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจ บช.ก.กับสหประชาชาติเพื่อเดินหน้าโครงการนี้

เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดียึดหลักการทำงานแบบเข้าถึงมวลชนแทนที่จะเน้นปราบปรามจับกุมเพียงอย่างเดียวซึ่งงานตำรวจไม่จำเป็นต้องบู๊ทุกฉาก บางฉากก็ต้องเล่นบทบุ๋นเพื่อเข้าถึงต้นตอของปัญหาอาชญากรรมดังที่ตำรวจ บช.ก.กำลังดำเนินการอยู่

วันที่ ๒๔ เมษายนที่ผ่านมา พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ พล.ต.ต.สรรพวุฒิ พิพัฒพันธุ์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.สุกิจ โคอินทรางกูร รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป., พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ ผบก.ปอศ., พล.ต.ต.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ผบก.ทท., พล.ต.ต.เทพฤทธิ์ พรรณพัฒน์ ผบก.อก., พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผบก.ปอท., พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญพล ผบก.ปคบ., พล.ต.ต.ธนังค์ บุรานนท์ ผบก.รฟ., พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อน ผบก.รน., พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ. บก.ป. เดินทางมาที่สหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอกเพื่อร่วมหารือถึงความร่วมมือในโครงการดังกล่าวกับนายแกรี่ ลิวอิส ผู้แทนสำนักงาน UNODC แห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในการป้องกันและแก้ไขอาชญากรรมและยาเสพติดในประเทศไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

สำหรับที่มาของงานนี้สืบเนื่องจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทางสหประชาชาติโดย UNODC หรือสำนักงานปราบปรามยาเสพติดและป้องกันอาชญากรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ประสานขอความร่วมมือ บช.ก.ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในประเทศไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยลาว กัมพูชา เวียดนามและไทย ซึ่งทาง UNODC เห็นด้วยกับแนวทางของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางภายใต้การนำของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ผู้เผยแพร่และผลักดันทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนในประเทศไทยจนได้รับการยอมรับให้บรรจุในยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๖๔ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวถือเป็นทฤษฎีตำรวจโลกที่หลายประเทศนำไปใช้แล้วประสบผลสำเร็จในการลดความหวาดระแวงภัยของประชาชนและสามารถลดอาชญากรรมได้จริงไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศเด็กและปัญหาการค้ามนุษย์

ในที่ประชุมพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ได้ตอบรับความร่วมมือโครงการดังกล่าวโดยใช้ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อร่วมปฏิบัติงานในโครงการต่างๆ กับ UNODC ดังตัวอย่างที่นานาประเทศเคยทำมาแล้ว อาทิ ประเทศยูกันดานำไปใช้แก้ปัญหาการละเมิดทางเพศเด็ก ประเทศเคนยานำไปใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อ AIDS เป็นต้น

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กล่าวว่า UNODC ได้ติดต่อขอความร่วมมือกับ บช.ก. เพื่อร่วมมือกันในโครงการ กิจกรรมต่างๆ ของ UNODC ในการแก้ปัญหาอาชญากรรมซึ่งเป็นงานในหน้าที่ของ บช.ก.อยู่แล้วจึงยินดีที่จะให้ความร่วมมือ

โดยก่อนหน้านี้ทาง UNODC ได้ติดตามการทำงานในเรื่องตำรวจผู้รับใช้ชุมชนหรือ Community policing ของบช.ก.และเห็นด้วยกับแนวทางของเรา เนื่องจากเป็นแนวทางที่ตำรวจในหลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ ขณะนี้ตนได้พยายามเผยแพร่ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนำไปปฏิบัติในหลายๆ พื้นที่ได้รับความสำเร็จดีมาก โดยพื้นที่ที่ตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ประชาชนรัก อาชญากรรมลด ยาเสพติดหมดไป ซึ่งทาง บช.ก.มีโครงการที่จะขยายพื้นที่การปฏิบัติงานในเรื่องนี้ต่อไป

เพื่อเป็นการสร้างภาพพจน์ให้กับตำรวจไทย

และลดช่องว่างระหว่างตำรวจกับชาวบ้านลงให้ได้ !??

ที่มา : http://www.cibkl.com/index.php/2011-12-09-15-51-05/83--qq-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น