วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มิติใหม่ : ตำรวจกับการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนน (๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรซึ่งเป็นประธานในการสัมมนาอยู่ร่วมการสัมมนาตลอดกระบวนการตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ ๓ ถึงแม้ว่าจะมีงานด่วนที่จะต้องดำเนินการในระหว่างที่มีการจัดสัมมนานั้น พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบงานจราจรในขณะนั้น (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) เลือกที่จะใช้วิธีการขับรถไปกลับระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับโรงแรมอิมพิเรียลหัวหินเพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมกับการจัดสัมมนาในกลุ่มผู้บริหารตำรวจระดับรองผู้บัญชาการภาคและรองผู้บังคับการทั่วประเทศที่รับผิดชอบงานจราจรเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

เมื่อผู้นำตำรวจเข็มแข็งเอาจริงเอาจังมุ่งมั่นเช่นนี้ทำให้บรรยากาศของที่ประชุมในวันนั้นเป็นบรรยากาศของการจุดประกายในการสร้างแรงบันดาลใจของเหล่าบรรดานายตำรวจใหญ่ให้ร่วมคิดหาแนวทางในการทำงานก้าวต่อไปเพื่อลดจำนวนคนตายบนถนนที่สูงกว่าการตายจากคดีอาชญากรรมถึง ๔ เท่าให้ลดลงให้จงได้ พล.ต.ท.วรพงษ์ฯกล่าวสรุปในที่ประชุมถึงการปรับทิศทางการทำงานใหม่โดยจะตั้งทีมสืบสวนอุบัติเหตุเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้ง (http://www.prachuppost.com/ ค้นหาวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔)

นับตั้งแต่การประชุมสัมมนาครั้งนั้นเป็นต้นมาได้มีการจัดประชุมขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ของผู้บริหารตำรวจอันเป็นผลเนื่องมาจากฤดูการแต่งตั้งโยกย้าย แต่มิได้เป็นอุปสรรคจนทำให้การดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่ถูกจุดประกายขึ้นที่หัวหินโดยมุ่งหวังในการพัฒนาและขับเคลื่อนการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเชิงระบบในส่วนของตำรวจหยุดชะงัก หากแต่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเต็มที่ในทุกๆด้าน

แรงเชียร์จากภาคีภาคส่วนต่างๆเกิดขึ้นเนื่องมาจากความต้องการที่จะเห็น “พลังของตำรวจในบทบาทพี่ใหญ่” ที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้จงได้….ตำรวจไทยสู้ๆ…เชียร์


จุดเปลี่ยนที่ท้าทาย

การร่วมหมุนกงล้อประวัติศาสตร์ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนถูกดำเนินการภายใต้ชื่อโครงการ “การพัฒนาระบบสืบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอย่างบูรณาการ” โดยมีกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑-๙ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และศูนย์ปฏิบัติการชายแดนภาคใต้สมัครใจเข้าร่วมโครงการนำร่องเพื่อทดสอบวิธี คิดที่ถูกตั้งต้นผ่านการประชุมหารือครั้งแล้วครั้งเล่าก่อนที่จะได้ข้อสรุปในการจัดทำร่างโครงการโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากสสส. สอจร.และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

“เราจะเริ่มต้นที่การบริหารจัดการภายในองค์กรตำรวจก่อน จากนั้นต่อด้วยการบริหารจัดการภายนอกหน่วยโดยการเชื่อมภาคีเครือข่ายสร้าง การมีส่วนร่วมเพื่อรวมพลังกัน” นายตำรวจใหญ่ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องตรงกันทำให้เกิดกระบวนการที่สำคัญเปรียบดั่งบันได ๖ ขั้น

ขั้นแรก เปิดพื้นที่ใหม่ให้กลุ่มพนักงานสอบสวน

การวางระบบให้พนักงานสอบสวนทำงานร่วมกับตำรวจจราจรเพื่อสืบสวนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้น นับได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มพนักงานสอบสวนซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายและมีประสบการณ์ที่มากมายเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนหาผู้ขับรถหรือผู้กระทำโดยประมาทในอุบัติเหตุจราจรทั้งที่มีผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตให้ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการร่วมคิด วิเคราะห์สาเหตุและการหาแนวทางในการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้นพื้นที่ของการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในมุมมองของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นพุ่งไปที่ตำรวจจราจรเท่านั้นทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้ศักยภาพที่สูงมากของตำรวจสายงานสอบสวนในการร่วมขับเคลื่อนงานด้านอุบัติเหตุทางถนน

การที่องค์กรตำรวจเปิดพื้นที่ให้กับพนักงานสอบสวนให้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานในส่วนนี้จึงนับได้ว่า “ตำรวจเปิดใจ” อย่างมากกับงานอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นที่ทราบกันอย่างดีว่าพนักงานสอบสวนมีภาระงานที่หนักและมีจำนวนบุคลากรที่อาจเรียกได้ว่าขาดแคลนเมื่อเทียบกับงานที่ต้องทำในสายงาน ฝ่ายอื่นๆ

อีกทั้งการเข้ามามีส่วนร่วมของพนักงานสอบสวนในครั้งนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณที่ดีขององค์กรตำรวจที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะทำให้คดีอุบัติเหตุทางถนนเป็นคดีที่สำคัญและต้องควบคุมให้ลดจำนวนลงให้ได้เช่นเดียวกับคดีอาชญากรรม

สาเหตุของการเจ็บการตายจากอุบัติเหตุทางถนนจะถูกนำมาแก้ไขและป้องกันอย่างตรงจุด ตรงเป้าหมายบนพื้นฐานข้อมูลที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “แบบรายงานการสืบสวนอุบัติเหตุจราจร”

ขั้นที่สอง การบริหารจัดการข้อมูล

ทันทีที่ออกเวรข้อมูลจากการสืบสวนอุบัติเหตุจราจรจะถูกส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ธุรการเพื่อบันทึกข้อมูลลง ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลได้ทันทีทั้งในระดับสถานีตำรวจ (อำเภอ) ระดับกองบังคับการ (จังหวัด) ระดับกองบัญชาการ (ภาค) และระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

รูปแบบของการประมวลผลข้อมูลนั้นสามารถประมวลผลได้ทั้งในรูปแบบข้อมูลเชิงปริมาณซึ่งเป็นตัวเลข/สถิติ ข้อมูลเชิงคุณภาพซึ่งเป็นรายละเอียดของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ลักษณะการเกิดเหตุ ความรุนแรงและบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประมวลแผนที่จุดเกิดเหตุและภาพถ่ายต่างๆ

ขั้นที่สาม ชวนผู้บริหารระดับสถานีตำรวจหมกมุ่น ครุ่นคิดเรื่องอุบัติเหตุจราจร

การส่งต่อข้อมูลที่มีประสิทธิภาพจากขั้นที่ ๑ มาจนถึงขั้นที่ ๓ นี้ถือได้ว่าเป็นการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นในระดับสถานีตำรวจ นับเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้อีกเช่นกันสำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เกิดขึ้นในลักษณะของการนำข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมาประชุม พูดคุยปรึกษาหารือกันโดยเริ่มต้นจาก ๔ เสือของสถานีตำรวจซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าสถานีตำรวจ รองผู้กำกับทั้งสายงานสืบสวนสอบสวน สายงานป้องกันปราบปราม/จราจร และสารวัตรจราจร ตลอดจนการนำข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุจราจรในพื้นที่เข้าพิจารณาในที่ประชุมบริหารสถานีตำรวจในแต่ละสัปดาห์หรือในระยะเวลาที่เหมาะสม

การเคลื่อนไหวในการดำเนินการลักษณะนี้สอดคล้องกับการก่อเกิดของวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์การ (Safety culture in organization) ที่ประกอบด้วยกลไกที่สำคัญ ๓ องค์ประกอบคือการนำความรู้มาปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกัน (coaching) การช่วยเหลือสนับสนุนในทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการดำเนินการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุจราจร (caring) และการกำกับติดตามเพื่อให้เกิดพัฒนาการที่ดีของการสร้างความปลอดภัยให้ยั่งยืน (controlling)

ดังนั้น การก้าวครั้งนี้ของตำรวจจึงนับได้ว่าเป็นการก้าวครั้งใหญ่และสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการก้าวตามไปพร้อมๆกันเพื่อร่วมทีม รวมถึงการสนับสนุนให้การก้าวเดินในครั้งนี้เป็นไปอย่างมั่นคง

ขั้นที่สี่ คิดแล้วต้องทำ

คิดแล้วทำ คือหลักการที่สำคัญในขั้นตอนนี้ ทั้งนี้การลงมือทำของตำรวจในโครงการนี้มุ่งเน้นการปฏิบัติการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่บนพื้นฐานข้อมูลที่ได้มาจากการวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้น ดังนั้นทุกการกระทำจึงถูกกำหนดโดยข้อมูลเบื้องต้นจากการสืบสวนอุบัติเหตุ จราจรอาจเรียกได้ว่าเป็นการทำงานอย่างเป็นระบบที่แท้จริง มีเป้าหมายชัดเจน โดยที่เป้าหมายนั้นตรงสาเหตุและมีการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่ชัดเจน เฉพาะเจาะจงเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่มีบริบทที่แตกต่างกันไป การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่ผู้ทำข้อมูลเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นโดยตรง

ขั้นที่ห้า ตำรวจแสวงหาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย

ใน ๔ ขั้นตอนที่ผ่านมาเป็นไปในรูปแบบของการบริหารจัดการความรู้และการดำเนินงานภายในสถานีตำรวจ ส่วนในขั้นตอนนี้เป็นการที่ตำรวจเรียนรู้ที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต่างๆในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนผ่านวิธีการจัดประชุมภาคีเครือข่ายในนาม “คณะกรรมการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับอำเภอ (กปถ.อำเภอ)

เริ่มต้นจากการทำหน้าที่เป็นเลขานุการในที่ประชุม การจัดเตรียมข้อมูลต่างๆเพื่อนำเข้าประชุม และการดำเนินการจัดประชุมโดยการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่าย รวมถึงการสร้างบรรยากาศของความร่วมมือ ร่วมใจในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในระดับอำเภอให้จงได้

เป้าหมายที่สำคัญของขั้นตอนนี้คือการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อ ให้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยโดยปลอดพ้นจากการเพ่งโทษระหว่างองค์กรต่างๆ

จุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในส่วนของตำรวจในขั้นตอนนี้คือการเปลี่ยนแปลงบทบาทของการทำตัวเป็นเพียง “แขก”ที่ถูกเชิญเข้าไป “นั่งฟัง” หน่วยงานต่างๆประชุมปรึกษาหารือกันกลับกลายเป็น “เจ้าภาพหลัก”ในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องจากสถานที่เกิดอุบัติเหตุจราจรในพื้นที่อย่างแท้จริงแล้วชวนคุย ชวนคิดเพื่อแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนร่วมกันของทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งนับเป็นก้าวที่สำคัญของตำรวจในการเลื่อนสถานะจาก Passive agent เป็น Active agent ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ขั้นที่หก ส่งต่อการเรียนรู้สู่ผู้บริหารในระดับจังหวัดและระดับภาค

การดำเนินการในแต่ละขั้นตอนจะถูกส่งต่อตามลำดับขั้นสู่การรับรู้ของผู้บริหารตำรวจ ทั้งนี้มิได้ถูกส่งต่อข้อมูลตามลำดับอย่างเชื่องช้า (Red tape) หากแต่ข้อมูลถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วและทันทีผ่านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน WEB SITE : www.roadsafetyteam.com ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของคนทำงานในโครงการนี้ซึ่งจากเดิมมีเพียง ๖๔ สถานีตำรวจนำร่องและได้ขยายสู่ ๑๓๔ สถานีตำรวจ

ระยะเวลาสั้นๆของการดำเนินโครงการเพียง ๔ เดือนซึ่งหากตัดห้วงเวลาของการเตรียมการแล้วนั้นนับได้ว่ามีการดำเนินกา อย่างเต็มที่จริงเพียง ๓ เดือนเท่านั้นแต่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่น ความทุ่มเท และความเข้มแข็งในการแก้ปัญหาและฝ่าฟันปัญหา อุปสรรคต่างๆที่ถาโถมเข้ามาเป็นระยะๆตลอดการดำเนินโครงการ

ในที่สุดตำรวจไทยก็สามารถแสดงศักยภาพของผู้ที่มีศีล สมาธิ และปัญญาในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบงานการสืบสวนอุบัติเหตุได้อย่างสม ศักดิ์ศรี น่าภาคภูมิใจ

ในห้วงเวลาเพียง ๔ เดือนมีตำรวจในทุกระดับตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงระดับสูงสุดให้ความสำคัญและลงมือกระทำการโดยมีส่วนร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการทำงานประจำซึ่งถ้านับจำนวนของผู้ที่ทำงานในลักษณะนี้เปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆแล้วอาจจะทำให้เห็นได้ว่าตำรวจไทยคือ THE CHAMPION ที่ควรได้รับการปรบมือ! และถือเป็นการเปิดตัวของตำรวจในการก้าวสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนอย่างมืออาชีพ

จุดเปลี่ยนที่ทีมตำรวจร่วมสร้างขึ้นมานี้จะเป็นนวัตกรรมทางการบริหารความปลอดภัยทางถนนที่ได้รับการพัฒนาและสานต่อเพื่อให้กลายเป็นการดำเนินงานในระบบปกติได้หรือไม่นั้นกลายเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่สำคัญของเหล่าบรรดาผู้นำความปลอดภัยทางถนนทั้งหลายว่าจะสามารถรวมพลังเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนซึ่งถือเป็นเสาหลักสำคัญต้นแรกจากเสาทั้ง ๕ ต้นที่สหประชาชาติกำหนดไว้ได้มากน้อยเพียงใด

ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข : เรียบเรียง










ที่มา : http://www.roadsafetyteam.police.go.th/?p=57

หมายเหตุ :

* ดูเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมดได้ที่ http://www.roadsafetyteam.police.go.th/
* การอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ของ ภ.จว.เชียงราย,ภ.จว.พะเยา และตำรวจทางหลวงเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕
* ทุกข์ของตำรวจ : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข
* ดาวน์โหลดคู่มือการบันทึกข้อมูลคดีจราจร

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 พฤษภาคม 2555 เวลา 21:44

    ขอดูแบบรายงาน 55

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ20 กันยายน 2555 เวลา 08:16

    โครงการนี้ดีมาก น่าจะดำเนินการตลอดไป ทุกฝ่ายเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง...ช่วยลดการสูญเสียทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน อุบัติเหตุลดลงแน่นอน

    ตอบลบ