ท้าทายความจริงใจในการบริหารงานตำรวจ : โลกตำรวจ โดยปนัดดา ชำนาญสุข
“ไม่มีใครเข้าใจบ้านของเราได้ดีกว่าพวกเรากันเอง” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งที่รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
คำกล่าวนี้เป็นความจริงอย่างที่สุด
บ้านของไพร่พลตำรวจในห้วงเวลาที่ผ่านมานี้และในช่วงต่อไปด้วยเป็นบ้านที่แสนอบอุ่น...ใช่หรือไม่ ?
ความซับซ้อนย้อนแย้งอย่างไร้ระบบและการไม่สามารถยึดมั่นใน “กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ในการบริหารงานตำรวจ” ได้นั้น กลายเป็นธรรมชาติขององค์กรตำรวจที่ทำให้ “คนนอก” ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะควบคุม แทรกแซง การบริหารงานตำรวจ เพราะอาจเป็นการทำลายโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ดีงามเฉพาะตัวของบ้านหลังนี้ได้ ผลกระทบเชิงลบจะตามมาอย่างมากมายและยาวนาน
เมื่อความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กรตำรวจไม่เคย (และไม่สามารถ?) ถูกทำให้เป็นที่เข้าใจแก่สังคมได้อย่างชัดเจน กระบวนการต่างๆ ภายในองค์กรจึงมีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากการดำเนินงานภายในองค์กรปิดหรือหน่วยงานปิด (close unit) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในหลักการที่ว่า สถานที่แห่งใดเป็นที่ลับตา เข้าถึงได้ยาก ไม่เปิดเผย เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ปกปิด ซ่อนเร้น มีเงื่อนงำอยู่ตลอดเวลา สถานที่แห่งนั้นย่อมเต็มไปด้วยการกระทำรุนแรง กดขี่ ขูดรีด ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ
ในบรรยากาศของการตั้งหลักบริหารประเทศเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยความเชื่อว่า ความยุติธรรมเป็นหนทางในการนำไปสู่ความรู้สึกเป็นสุข มั่นคง และปลอดภัยในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมแล้วนั้น
การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับ “คนทำงานในกระบวนการยุติธรรม” ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อเฝ้ามองอย่างพินิจพิเคราะห์จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าองค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่คนทำงานมีภาระงานที่มากมายโดยที่ภาระงานส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับความสุข สงบ อบอุ่น และคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของคนในสังคม นั่นคือ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ตำรวจถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเสมือน “ต้นธาร” ของกระแสธารของกระบวนการยุติธรรม
ตำรวจถูกตั้งคำถามมานานแสนถึงความโปร่งใสในการทำงานในฐานะของต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว
จนถึงขั้นมีการแสดงความเกลียดชัง ดูถูกดูแคลน ด้วยการแสดงการกระทำอันไม่สมควรอย่างยิ่งต่อสัญลักษณ์แห่งสถาบันตำรวจอันควรได้รับการให้ความหมายและคุณค่าว่าเป็นสถาบันอันทรงเกียรติที่ไม่แตกต่างจากองค์กรอื่นๆในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน !!!!!
มีการเรียกร้องและเห็นชอบในสังคมว่า สังคมไทยควรจะมีการปฏิรูปตำรวจจริงจังได้เสียที !!!!!!!
ส่งผลให้กระแสปฏิรูปตำรวจถูกจุดประกายขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ และบางครั้งบางคราวเกิดประเด็นที่ชวนให้ตื่นตระหนกด้วย
แต่แล้วในที่สุด “ทุกอย่างก็เป็นเช่นนั้นเอง” เงียบหายไปเหมือนพลุที่ถูกจุดขึ้นบนฟ้าและสวยงามเพียงชั่วครู่เดียว
อำนาจ ผลประโยชน์ และวัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่ครอบงำ ยึดโยงจนทำให้องค์กรแห่งนี้ไม่สามารถบริหารงานบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพนับตั้งแต่ยุคสมัยอดีตที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน
ขวัญและกำลังใจของไพร่พลในองค์กรตกต่ำ การไม่ใส่ใจในงานซึ่งเป็นความทุกข์ของประชาชนอันเกิดจากความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนายตำรวจ “เฝ้ารอ” “เฝ้าลุ้น” และ “ครุ่นคิดหาช่องทาง” เพื่อที่จะให้ตนเองและพวกได้ตำแหน่ง ได้อยู่ในจุดที่ชอบ ที่ชอบ ซึ่งหมายถึง การเข้าถึงอำนาจและผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง
การยึดถือทุกข์สุขของประชาชนเป็นศูนย์กลาง หายไปจากความคิดของคนทำงาน นี่คือสัญญาณอันตราย
ทำอย่างไรจึงจะทำให้ “ผู้นำหรือคนในบ้าน” มีอิสระอย่างแท้จริงในการบริหารจัดการบ้านและคนในบ้านของตัวเอง? ทำอย่างไรให้ยึดหลักจัดวางคนให้เหมาะกับงาน (Put the right man on the right job)
ต้องไม่ลืมว่า ที่มา ประวัติศาสตร์และธรรมชาติงานในองค์กรตำรวจจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ตำรวจมืออาชีพบริหารและนำทีม
ตำรวจไม่ใช่นักปกครอง
ตำรวจไม่ใช่นักรบ
ตำรวจไม่ใช่นักเลง
วัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันจำเป็นต้องให้ “คนใน” ได้มีสิทธิ์ มีเสียง มีอิสระ และมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง อย่างแท้จริง อย่างแท้จริง
ลองพิสูจน์ผ่านการสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติงานภายใต้ระบบการประเมินผลงานแบบ 360 องศา พร้อมทั้งมีการเปิดเผยผลงาน เพื่อแสดงให้สังคมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คุณค่าของตำรวจอยู่ที่งานที่ทำเพื่อประชาชนด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมเท่านั้น
ขอท้าพิสูจน์ความจริงใจ !!!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น