วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ตำรวจกับเด็กแว้น (๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙)

ตำรวจกับเด็กแว้น : โลกตำรวจ โดยปนัดดา ชำนาญสุข


ความซับซ้อนของพฤติกรรมการกระทำผิดกฎหมายเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตำรวจเป็นกลุ่มบุคคลที่มีไหวพริบปฏิภาณที่จัดอยู่ในระดับแนวหน้าเมื่อเทียบกับกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ
เพราะกว่าจะก้าวหน้าจนมาถึงขั้นที่ใครยอมรับว่ามีฝีมือในการปราบปรามขั้นเทพนั้น เหล่าบรรดานายตำรวจมือปราบล้วนต้องฝ่าด่านกลยุทธ์เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคพื้นๆ ประเภทร้อยลิ้นปลิ้นปล้อน ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ หรือเทคนิคการเสริมพลังอำนาจจากผู้ที่มากด้วยอำนาจและบารมีทั้งในโลกมืดและสว่างเข้ามาช่วยหนุนเสริมให้เกิดความกล้าหาญที่จะกระทำผิดหรือต่อกรกับการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจแล้วก็ตาม แต่ทำไมเพียงแค่ “เด็ก” แว้น เหล่าบรรดามือปราบขององค์กรตำรวจจึงดูเหมือนไร้ฝีมือ ไม่สามารถทำให้สูญพันธ์ุหรือบรรเทาเบาบางไปจากสังคมได้
การกระทำรุนแรงของเด็กและเยาวชนโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะขยายวงกว้างออกไปทั่วทุกพื้นที่ในสังคมไทย โดยเฉพาะในย่านหัวเมืองที่มีความเจริญ การกระทำที่เริ่มต้นจากการสร้างความสุขสนุกสนานด้วยการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ปรับแต่งทั้งเครื่องยนต์และตัวรถจนก่อเกิดผลกระทบที่นอกเหนือจากความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายเมื่อยามขับขี่แล้วนั้น ยังก่อความหวาดกลัว ความรำคาญ ความทุกข์แก่ผู้คนที่อยู่อาศัยในย่านนั้น
นอกเหนือจากการเลือกที่จะไม่รับรู้ความทุกข์ของชาวบ้านในสังคมเพียงเพราะต้องการแสวงหาความสุขและชดเชยใน “บางสิ่งบางอย่าง” ที่ขาดหายไป การที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ครู พ่อแม่ ผู้นำชุมชน และตำรวจไม่ทุ่มเทความคิด ความสามารถ และแรงใจอย่างจริงจังในการแก้ไขรากเหง้าที่มาของพฤติกรรมก่อกวนความสงบของสังคมเหล่านี้ได้นั้น ทำให้การกระทำของเหล่าบรรดาวัยโจ๋มีระดับของการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธทำร้ายร่างกายกัน การล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้กระทั่งการเสพและค้ายาเสพติด
บริบทที่เอื้อต่อการให้เหล่าบรรดาเด็กและเยาวชนไทยยกระดับการกระทำที่มีระดับความรุนแรงมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ส่วนหนึ่งเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของครอบครัว และส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานแบบพอผ่านของตำรวจในกรณีของการบังคับใช้กฎหมายในกลุ่มเด็กและเยาวชน และยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย
ภาวะการทำงานแบบพอผ่านหรือเกียร์ว่างของตำรวจในกรณีเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องส่วนหนึ่งมาจากข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมายของการบังคับใช้กฎหมายกับ(ผู้ที่มีอายุเป็น)เด็ก “ในเมื่อยุ่งยากมากนักก็มองข้ามๆ ไปบ้างก็ได้ ในเมื่อมีงาน(ที่ผู้กระทำผิดไม่ใช่เด็ก)มากมาย แถมซ้ำดูเหมือนว่าจะทำง่ายกว่า มีขั้นตอนและความยุ่งยากน้อยกว่า มีความเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบ กำกับ ติดตามน้อยกว่าด้วย” ตัวอย่างของวิธีคิดเช่นนี้ของตำรวจกลุ่มหนึ่งนั้น ไม่ควรที่จะถูกอธิบายด้วยสาเหตุเพียงความขี้เกียจไม่อยากทำคดี หรือการไม่มีจิตสำนึกของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เท่านั้น หากแต่ทำให้เราเห็นได้ว่า สาเหตุที่มาของการดำรงอยู่ของการกระทำรุนแรงนั้นมีมากมาย สาเหตุของการที่ตำรวจไม่มุ่งเน้นในการจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนก็มีมากมาย และสาเหตุที่ตำรวจใช้เพียงวิธีการตั้งด่านสกัดจับทั้งๆ ที่ตำรวจเองก็รู้อยู่เต็มอกว่า “ไม่ได้ทำให้การกระทำดังกล่าวหมดสิ้นไป” เพียงแต่เป็นการทุเลาบรรเทากระแสของสังคมที่อาจตั้งคำถามว่า “ทำไมตำรวจถึงปล่อยให้เด็กแว้นเกลื่อนเมืองโดยไม่ทำอะไรเลย” เท่านั้น
ทางออกของการทำให้ตำรวจปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เพื่อให้การกระทำรุนแรงในกลุ่มเยาวชนทุเลาเบาบางไปจากสังคมไทยนั้น นอกจากเหนือการพิจารณาเรื่องข้อจำกัดของตัวบทกฎหมายและวิธีการบังคับใช้กฎหมายแล้วนั้น การทำงานเชิงบูรณาการกันอย่างเข้มแข็ง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดยร่วมกันเสริมพลังกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงน่าจะเป็นทางออกที่สำคัญมากกว่าที่จะปล่อยให้ตำรวจเป็นผู้ที่ต้องตอบคำถามว่า “ทำไมเด็กแว้นจึงเกลื่อนเมืองอยู่เพียงองค์กรเดียวเท่านั้น”
ทั้งนี้เพราะการปราบปรามการกระทำผิดของเยาวชนไม่ใช่เส้นทางที่สังคมไทยควรเลือก หากแต่การป้องกันมิให้เยาวชนเดินเข้าสู่เส้นทางอาชญากรรมต่างหากที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเข้มแข็ง การก่นด่ากล่าวโทษตำรวจจึงน่าจะไม่ใช่สิ่งที่ยุติธรรมนักสำหรับสถานการณ์เช่นนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น