ความเกลียดชังและอคติต่อตำรวจที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคน
ทุกฝ่ายต้องหันกลับมาทำความเข้าใจกัน
เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงภายในที่สามารถตอบสนองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ทุกคนในสังคมไทยได้
ไม่มีประเทศใดในโลกที่ไม่มีตำรวจ
ตำรวจเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นสำหรับทุกสังคม
และถ้าให้งานตำรวจหรือภารกิจของตำรวจบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยได้อย่างแท้จริงนั้นจำเป็นต้องยึดหลักการที่ว่า
“ประชาชน
คือ ตำรวจคนแรก” เสียด้วยซ้ำ
เมื่อเข้าใจหลักการที่ว่า ประชาชนคือตำรวจคนแรก
นั่นหมายความว่า
ประชาชนทุกคนในสังคมต่างจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาชญากรรมตลอดจนการป้องกันและป้องปรามอาชญากรรมด้วยวิธีการและรูปแบบในการดำเนินการที่แตกต่างกันไป
หากแต่จำเป็นต้องสอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิต
และบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องด้วย
หัวหน้าสถานีตำรวจทั้งหลายต้องนำพาลูกน้องตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาเดินเข้าหาประชาชนด้วยท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนและเป็นมิตร
ถึงแม้ว่าเบื้องแรกอาจจะได้รับการตอบสนองด้วยท่าทีระแวง สงสัย
และตั้งคำถามต่อความจริงใจและเป้าประสงค์ของตำรวจได้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป
ประชาชนจะเกิดความรู้ใหม่ ความรู้สึกใหม่ๆ และแสดงท่าทีที่เป็นมิตรต่อตำรวจมากขึ้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ถูกพิสูจน์ตรวจสอบแล้วจากผลงานการศึกษาวิจัยในเรื่องตำรวจร่วมมวลชนลดอาชญากรรม
(ตมอ.) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้ชี้ประเด็นสำคัญของท่าทีตำรวจที่ควรกระทำสำคัญหลายประการเพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน
หนึ่งในความสำคัญหลายประการ คือ
การที่ตำรวจและสังคมจะต้องไม่ประเมินความรู้
ความสามารถของชาวบ้านที่เข้ามาร่วมมือกับตำรวจต่ำเกินความเป็นจริงอย่างที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา
อย่าคิดแต่เพียงว่าก็แค่อาสา
หรือที่นิยมเรียกว่า ตำรวจอาสา อย่าคิดว่าอาสาที่เข้ามาช่วยงานตำรวจ
คือลูกน้องตำรวจ ต้องรับฟังต้องปฏิบัติตามคำสั่งของตำรวจแต่เพียงเท่านั้น เป็นต้น
เพราะแท้ที่จริงแล้วนั้น
ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนทั้งในส่วนที่อาสาเข้ามาช่วยทำงานร่วมกับตำรวจอยู่แล้ว
และยังไม่ได้ร่วมมือกับตำรวจนั้น ต่างมีความรู้เกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม
และความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านในชุมชนของพวกเขาเป็นอย่างดี
ดีกว่าตำรวจเสียด้วยซ้ำ
การที่ตำรวจให้เกียรติและยอมรับในความรู้ของชาวบ้านจะส่งผลให้ตำรวจมีภาคีเครือข่ายที่จะเข้ามาร่วมแรงร่วมใจกันในการปกป้องอาชญากรรมในชุมชนตามความต้องการของชาวบ้านให้สามารถบรรลุผลสำเร็จได้อย่างที่ต้องการ
โดยกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาร่วมมือกับตำรวจจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานแต่ละด้านและมีทุนทางสังคม-วัฒนธรรมที่หลากหลายอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มบุคคลที่ทำงานร่วมกับตำรวจก็จะได้รับทราบวิถีการปฏิบัติงาน
ข้อจำกัด อุปสรรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
และความจำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันเป็นตำรวจเพื่อทำให้สังคมปลอดภัย
ไม่ใช่เพราะข้ออ้างที่ว่า “กำลังพลไม่พอ” แต่หากไม่สามารถทำให้คนในสังคมคิดว่าแท้ที่จริงแล้วทุกคนคือตำรวจเช่นเดียวกันได้
ถึงแม้ว่าจะไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับตำรวจอาชีพไม่มีความรู้ทางกฎหมาย
หรือไม่ได้ร่ำเรียนมาเพื่อเป็นตำรวจก็ตาม
แต่ทุกคนก็มีหน้าที่ในการป้องกันและป้องปราบอาชญากรรมหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายในชุมชนและสังคมของตนได้
วิธีคิดเช่นนี้ที่จะทำให้อาชญากรรมจำกัดวงอยู่ในขอบเขตที่สังคมควบคุมได้
เมื่อคิดเช่นนี้
หากชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารในขั้นตอนของการลงบัญชีทหารกองเกินด้วยนั้น
จะสมัครใจที่จะมารับการฝึกฝนเพื่อเรียนรู้การทำงานในบทบาทหน้าที่ของผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจภายหลังการฝึกวินัยและคุณลักษณะพื้นฐานทางทหารที่จำเป็นเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น
ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาที่จะส่งผลเสียหายแต่ประการใด
การบริหารจัดการที่ดี
ตั้งแต่การพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่จะมารับบทบาทหน้าที่ตำรวจเกณฑ์ การฝึกฝนพัฒนา
การกำกับดูแล
และการมอบหมายภารกิจที่เหมาะสมให้แก่ตำรวจเกณฑ์จะทำให้ชายไทยเหล่านี้กลายเป็นกำลังที่สำคัญของชุมชนของเขาในการสร้างความปลอดภัยในสังคมของพวกเขาได้
หากทบทวนกระแสคัดค้านเรื่องตำรวจเกณฑ์
จะทำให้เรามองเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนของความไม่เข้าใจงานตำรวจ นั่นหมายความว่า
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และบรรดาตำรวจทั้งหลาย
ยังต้องทำงานอย่างหนักในการสร้างความเข้าใจในประเด็นเรื่องนี้ต่อสังคมให้เป็นที่พอใจเสียก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น