อุปถัมภ์คือ รากเหง้าวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมที่แฝงฝังอยู่ในเนื้อในตัวของคนไทยอันนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน จนบ่อยครั้งที่การช่วยเหลือเกื้อกูลนั้นไม่ได้วางอยู่บนหลักการของความยุติธรรม
พวกฉัน เพื่อนฉัน รุ่นฉัน ต้องมาก่อน
จะมีความรู้ความสามารถหรือไม่อย่างไร? ขอเพียงเป็นพวกกัน เพื่อนกัน รุ่นพี่รุ่นน้องกัน คุณสมบัติอื่นๆ ค่อยว่ากันภายหลัง
ทำงานบนหลักการไว้ใจพวก มากกว่า การยึดมั่นในหลักเกณฑ์ ระบบ ระเบียบในการทำงาน
อุปถัมภ์แต่พวกกัน คือ ภาวะเสี่ยงต่อความเสื่อมขององค์กรที่มีภารกิจดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
สมควรอย่างยิ่งที่จะต้อง "ถอนรากถอนโคนให้จงได้”
“ตำรวจที่ดีต้องมียี่ห้อ” นายตำรวจพูดถึงเรื่องราวประสบการณ์การทำงานของนายบางคนที่ได้รับการจดจำจนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่มิได้สร้างความประทับใจให้แก่เจ้าตัวโดยตรงเท่านั้น หากแต่ทำให้น้องๆ รุ่นหลังต่างรู้สึกประทับใจและภาคภูมิใจไปด้วย
“มิใช่พอนึกถึงก็นึกได้แต่เพียงว่า นายคนนี้จ่ายไปเท่าไหร่” นายตำรวจพูดถึงปรากฏการณ์ย้อนแย้งที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในวงการตำรวจจนกลายเป็น เรื่องปกติธรรมดาที่จะบอกเล่าและรับรู้โดยทั่วกันว่า
นายที่ขึ้นมาแต่ละระดับนี้ จ่ายไปเท่าไหร่ ???
น่าภูมิใจตรงไหน? แต่ทำไมถึง อยาก? อะไรอยู่เบื้องหลังความอยาก? คงไม่สามารถตอบได้ว่ายินดีจ่ายเพื่อจะได้เข้ามาพัฒนาองค์กรให้ประชาชนเกิดความผาสุกตามภารกิจของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
เหตุเพราะ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ทุกนายล้วนรู้อยู่แก่ใจเป็นอย่างดีว่า ตราบใดก็ตามที่ นายของเราจ่ายเงินเพื่อให้ได้ขึ้นหรือโยกย้ายมาเพราะเงิน ตราบนั้นย่อมเป็นสัญญาณเตือนได้เป็นอย่างดีว่า นายได้ถูกมัดมือกดสมองปิดปากปิดตาปิดหูหมดอิสรภาพในการกระทำสิ่งใดได้อย่างที่พึงทำในฐานะ นายของตำรวจ อีกต่อไป
เป็นผู้บังคับบัญชา แต่ไม่สิทธิ์ที่จะบังคับหรือบัญชา
เป็นผู้นำแต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำ
ภาวะละม้ายคล้ายร่างทรง
เมื่อองค์กรซึ่งเป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมอยู่ในภาวะเช่นนี้ แต่ขาดผู้ที่จะเข้าใจและมีพลังอำนาจเพียงพอในการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานบุคคลอย่างจริงจังนั้น
คนที่จะได้รับผลกระทบสุดท้าย คือ ประชาชน ไม่ใช่ตำรวจ ถึงแม้ว่า จะมีกระแสเกลียดตำรวจ โกรธตำรวจ ไม่ชอบตำรวจ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มากที่สุดไม่ใช่กลุ่มตำรวจผู้ถูกเกลียดชังแต่กลับเป็นประชาชนทั้งหลาย
โปรดวิเคราะห์
คนที่ถูกเกลียดชังโดยที่พวกเขาต่างรับรู้ว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้รับความยุติธรรมตลอดมานั้นย่อมชาชินต่อความเกลียดชังนั้น และความชาชินต่อความเกลียดชังที่เกาะกินอยู่ในจิตใจของมนุษย์ไม่ว่าคนหนึ่งคนใดย่อมส่งผลต่อ "ใจ” และ "ความทุ่มเทอย่างเต็มใจในงาน" ด้วย นี่คือมนุษย์
ดังนั้น ก่อนที่จะ “สรุปความเห็น” หรือ “เชื่อ” ในสิ่งใดๆ โปรดวิเคราะห์ "สิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่มาของปรากฏการณ์ทางสังคม” อย่างลึกซึ้งโดยใช้ข้อมูลที่ลุ่มลึกมากพอ
ลองตั้งคำถามและตอบคำถามเหล่านี้
ทำไมคนจำนวนมากจึงแก่งแย่งแข่งขันในการสอบเข้ารับราชการตำรวจ ?และหากสังเกตจะพบว่าคนที่เรียนอยู่ในระดับกลุ่มดีที่สุดของแต่ละสถาบันการศึกษาในระดับชั้นมัธยมนิยมเลือกที่จะสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของตำรวจด้วย ?
คำถามนี้ น่าจะตอบไม่ยากนัก และไม่ส่งผลกระทบเสียหายต่อองค์กรและภารกิจของตำรวจมากนักเพราะพวกเขาเหล่านี้มีศักยภาพ (เก่ง) และมีพื้นฐานความรู้สึกดีๆ ต่อวิชาชีพตำรวจ
แต่ !!!!! ทำไมคนที่ก่นด่า ใช้คำพูดท่าทีที่รุนแรงก้าวร้าว ย่ำยี เพื่อสร้างความเสื่อมศรัทธา ทำลายชื่อเสียงความเชื่อถือขององค์กรตำรวจ ทำลายขวัญและกำลังใจของตำรวจทุกระดับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำลายขวัญและกำลังใจตำรวจผู้ปฏิบัติงานรากหญ้าที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนอย่างแท้จริง)จึงสนใจที่จะสมัครมาเป็นตำรวจด้วย?
การคัดเลือกสรรหาคนที่มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรและวิชาชีพเป็นหลักการพื้นฐานตามหลักสากลนิยมแต่ปรากฏการณ์ "อยาก” รับคนที่มีทัศนคติลบอย่างสิ้นเชิงเข้ามาในองค์กรเพียงหนึ่งคนโดยยินยอมแลกต่อการทำร้ายจิตใจ ทำลายขวัญและกำลังใจของไพร่พลจำนวนมากในองค์กรนั้น ประหนึ่งคล้ายสถานการณ์ ชักศึกเข้าบ้าน
สะท้อนให้เห็น "อะไร”?
ปรากฏการณ์เช่นนี้ใช่หรือไม่ คือ แก่นแท้ที่จำเป็นต้องปฏิรูปตำรวจ? เพื่อให้นายของตำรวจทุกคนมุ่งมั่นทำทุกอย่างเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง !!!!!! มิใช่เพื่อ.......????
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น