วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ศัพท์เสียงสำเนียงร่ะยองเพื่อพี่น้องไทย : ตี (๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๘)

แมะ : เอ่อ เด็กพวกนี่ ดูฮิ นี่ปาเข้าไปตีเก้าตีสิบจนต้ะวันสายโด่งแล่วยังไม่ตื่นกันอีก ตื่นๆๆๆๆ ลุ่กๆๆๆ
เพาะ : ช่างมันเหอะแมะมึง วันนี่มันวันเสาร์เกี๊ยลูกๆ ไม่ได้ไปไหน ปล่อยให้มันนอนงั่นแหนะ
แมะ : แหม่ ทุ่กทีเลยเพาะมึงนี่ ปล่อยให้แช้นเป็นนางมารร่ายสำหรับลูกๆ อีกจนด้าย ฮึ 


คำพูดอย่างหนึ่งที่คนบ้านเราใช้พูดถึงเวลานั้นสมัยก่อนมักจะพูดว่า “ตี” แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้คนบ้านเราส่วนใหญ่ถ้าพูดกันเองก็ยังคงพูด “ตี” กันอยู่เว้นเสียแต่ว่าไปพูดกับคนอื่นที่ไม่ใช่คนบ้านเราก็จะพูดหรือใช้แบบภาษากลางเพื่อให้เขาเข้าใจได้ง่ายขึ้นซึ่งในส่วนตัวผมนะผมว่าแบบนี้น่ะ “ดีเหลือเกิน” มันต้องงี่ฮิ่ พูดแบบบ้านเราที่คนรุ่นปู่ย่า พ่อแก่แม่คุณท่านพูดท่านใช้กันมาแต่ก่อนเก่าน่ะน่าฟังจ้ะตาย
"ตี" คนร่ะยองเราพูดถึงเวลา โดยคำร่ะยองแท้ที่คนเก่าๆ ท่านยังคงพูดกันอยู่จะใช้บอกเวลาดังนี้ (นับตั้งแต่เที่ยงคืน) คือ ตีสิบสอง ตีหนึ่ง ตีสองไปเรื่อยๆ จนถึงตีสิบเอ็ดในเวลากลางวันซึ่งบางคนพูดว่า "เพล" พอเวลา ๑๒ นาฬิกาจะพูดว่า "เที่ยง" เวลา ๑๓ นาฬิกาพูด "บ่ายโมง" จากนั้นพูด "บ่ายสอง (บางแห่งพูดสองโมง) บ่ายสาม (บางแห่งพูดสามโมง) บ่ายสี่ (บางแห่งพูดสี่โมง)" ต่อด้วย "ห้าโมง หกโมง" แล้วเป็น "ตีเจ็ด ตีแปด ตีเก้า ตีสิบ ตีสิบเอ็ด ตีสิบสอง" กรณีที่พูดเหมือนกัน เช่น “ตีเจ็ด” จะเป็นเวลา ๗ นาฬิกา หรือ ๑๙ นาฬิกาก็ให้ดูว่าเวลาที่พูดตอนนั้นเป็นกลางวันหรือกลางคืนหรือไม่ก็ถามเอาครับ แต่ปัจจุบันบางคนหรือบางแห่งอาจจะพูดหรือใช้ผิดไปจากนี้บ้างก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น