วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บังคับด้วยกฎหมายแต่พ่ายหัวใจครู : โลกตำรวจ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๘)

คิดการใหญ่ ไยใส่ใจเรื่องเล็ก

เหตุเพราะหลักการเช่นนี้ จึงอาจทำให้พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมผู้นำคนสำคัญของประเทศในยุคนี้ เมื่อคิดจะทำการใหญ่นั้น ย่อมต้องมองและคิดเรื่องใหญ่ๆ
นั่นหมายถึง มองเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่มองเพียงแค่ระดับปัจเจกบุคคล

ไม่มองแค่เพียง ปัญหาเด็กแว้นแต่มอง แนวโน้มการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายและความรุนแรงที่ทวีมากขึ้นบนบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับการเปลี่ยนแปลงโลก

และนี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ มิใช่ปัญหาระดับปัจเจกหรือปัญหาเฉพาะตัวเด็ก เฉพาะครอบครัวของเด็กและเยาวชนแต่เพียงเท่านั้น

หากวิเคราะห์ให้ชัดว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีวิถีวัฒนธรรมในทิศทางที่ใช้ความรุนแรงมากขึ้นคืออะไร? และมุ่งแก้ไขที่ระบบ ที่โครงสร้างสังคม จะทำให้การแก้ไขนั้นได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเกิดความยั่งยืน

 “การจัดอบรมเข้าค่ายปรับพฤติกรรมเป็นวิถีปฏิบัติยอดฮิต ถึงแม้ว่าจะมีผลงานวิจัยจำนวนมากมายรวมถึงทฤษฎีว่าด้วยการปรับพฤติกรรม (Behavior Modification Theory) มีข้อบ่งชี้ว่าพฤติกรรมที่ถูกปรับเปลี่ยนนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมั่นคงถาวร หากแต่สามารถหวนกลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนกับก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวิธีคิดไม่ได้เปลี่ยนไป

อาจกล่าวอย่างชัดๆ ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเชิงสาเหตุและการให้รางวัลหรือการลงโทษนั้นเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง หากบริบทต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนหน้าที่ทำการปรับเปลี่ยน เช่น เด็กและเยาวชนยังอยู่ในบรรยากาศของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เหินห่าง หรือใช้ความรุนแรง

หรือเมื่อครอบครัวไม่น่าอยู่แล้ว หนีมาโรงเรียน? โดยหวัง (ลึกๆ) ว่าจะได้บรรยากาศที่สดใส สบายอก สบายใจ มีความสุข กลับมีแต่เพียงความรู้สึกว่า ฉันคือผู้แพ้จะมีเด็กและเยาวชนสักกี่คนที่จะอดทน และทนทานต่อภาวะเช่นนี้และพยายามสร้างตัวสร้างตน

เด็กวัยรุ่นในทุกระยะ ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กตอนปลายที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่น วัยรุ่นตอนต้น วัยรุ่นตอนกลาง และวัยรุ่นตอนปลาย ล้วนเป็นวัยที่ต้องการ "แสดง(Show)ให้สังคมเห็นว่า เขาคือผู้ชนะ มีตัวมีตน ไม่ใช่เป็นผู้แพ้ ผู้ตามอยู่ร่ำไป
จะเห็นได้ว่า ผู้นำคนสำคัญของประเทศในอดีตจำนวนไม่น้อย คือ เด็กวัยรุ่นที่พยายามต่อสู้ ต่อต้าน ต่อรอง ขัดขืนกฎ ระเบียบข้อปฏิบัติของผู้ใหญ่บางประการเพื่อแสดงซึ่งความคิดและตัวตนของตนเอง ด้วยหวังว่าคงจะมีใครรู้ว่า ฉันก็มีดีบ้าง!!!
หากแต่เด็กดื้อเด็กแรงในอดีตมีความแตกต่างจากเด็กแว้นหรือเด็กดื้อในยุคสมัยนี้ ในประการที่สำคัญ คือกระบวนการเรียนการสอน การขัดเกลาทางปัญญา และการขัดเกลาทางสังคมซึ่งเป็นบรรยากาศภายในรั้วโรงเรียน (Psychological Climate in School) มีพลังที่เข้มแข็งมากจนสามารถทำให้พวกเด็กดื้อ เด็กแรงในโรงเรียนในอดีตนั้นมีวิชาและปัญญาติดตัวและสามารถใช้ปัญญาในการคิดวิเคราะห์ รู้เท่าทันว่าควรทำอะไร แค่ไหน อย่างไรเพื่อสร้างโอกาสในการดำเนินชีวิตที่มั่นคงแก่ตนเองด้วย

อีกทั้งเด็กดื้อทั้งหลายเหล่านี้ ยังมีลักษณะที่เด่นชัดในแง่ของการมีภาวะผู้นำที่กล้าหาญ รู้จักประนีประนอมความต้องการของตนเองและผู้อื่นเพื่อให้ได้ใจได้พวก

ถึงแม้ว่าจะโดนครูตีโดนครูทำโทษ แต่เด็กดื้อเหล่านี้ก็มิได้มีความรู้สึกว่าตนเองหรือกลุ่มตนนั้นต่ำต้อย ด้อยค่าไร้ความสำคัญไร้พื้นที่ไร้ตัวตน ถูกผลักไส เป็นตัวถ่วงความเจริญ (หรือตัวชี้วัด) ของสถาบันการศึกษาแต่ประการใด เพียงแต่ด้วยความเป็นวัยรุ่น จึงขอแสดงพลังตัวตน ให้เป็นที่ประจักษ์ และเพื่อสร้างความรื่นเริงบันเทิงบ้างก็เท่านั้น

เด็กแว้นมิใช่มีแต่เพียงในปัจจุบัน แต่มีมานานคู่กับการนำเข้ายานยนต์ตามประวัติศาสตร์ไทยแต่การที่เด็กแว้นในปัจจุบันกลายเป็นเด็กและเยาวชนผู้สวมบทผู้ร้ายที่ถูกเหล่าบรรดาผู้ใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมจ้องแต่จะไล่จับทั้งตัวเขาและผู้ปกครองโดยหลงลืมไปว่ามีระบบทางสังคมใดบ้างที่ควรจะปรับปรุงพัฒนาขนานใหญ่ หากผู้นำประเทศยังหลงคิดแต่เพียงว่า "พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานให้ได้และปล่อยให้ ข้าราชการของรัฐไม่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุดความสามารถจนปรากฏผลให้เห็นชัดเป็นรูปธรรมด้วยการที่สังคมไทยมีเด็กและเยาวชนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริบทของการนิยมความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึง ความเดือดร้อนรำคาญใจและความหวาดกลัวของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมแล้วนั้นสังคมไทยในอนาคตจะเป็นเช่นไร

หากครูและข้าราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนทั้งหลายกระทำการตามหน้าที่ของตนโดยยึดหลักราชการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า หลักราชการสำคัญ คือ การมีความสามารถ มีความเพียร ความมีไหวพริบ ความรู้เท่าถึงการณ์ ความซื่อตรงต่อหน้าที่ ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป ความรู้จักนิสัยคน และความรู้จักผ่อนผัน นี่คือคุณวิเศษ ๘ ใน ๑๐ ประการ ที่จะทำให้สามารถสร้างเยาวชนไทยให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีและผู้นำประเทศที่ดีในภายภาคหน้าได้อย่างสิ้นสงสัย แน่นอน!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น