วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ใครจะปราบเด็กแว้นได้สำเร็จ ? : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘)

แค่คิดก็ผิดแล้ว หากคิดเพียงแค่ว่า การออกกฎหมายที่มีโทษรุนแรงมากขึ้น และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้นจะทำให้เด็กเลิกแว้น
  
งานวิจัยเชิงสังคมวัฒนธรรมจิตวิทยาเรื่อง ซิ่ง ซ่า เซ็กส์ : อัตลักษณ์ ภาวะชายขอบกับการบาดเจ็บรุนแรงในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์วัยรุ่น และงานวิจัยเรื่องมาตรการทางกฎหมายในการป้องปรามการรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์บนทางสาธารณะ รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในเด็กและเยาวชนไทยนั้น น่าจะเป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลสำคัญแก่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ การพัฒนาส่งเสริมศักยภาพแก่เด็กและเยาวชนไทยให้สามารถเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต
  
หาไม่ได้ ใช้ความพยายามอย่างมากในการค้นหาสถิติที่เชื่อถือได้ในคดีการแข่งขันรถจักรยานยนต์บนทางสาธารณะนักวิจัยกล่าวยืนยันภายหลังจากทุ่มเทสุดกำลังในการค้นคว้าติดตามเพื่อรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ของกลุ่มนักบิดบนทางสาธารณะที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจและหวาดกลัวแก่ผู้คนในสังคม
  
หากแต่เมื่อนักวิจัย "เปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการในการค้นหา" สิ่งที่นักวิจัยนำมาใช้ในการยืนยันความรุนแรงและความจำเป็นในการโน้มน้าวชักชวนผู้มีอำนาจทั้งหลายให้หันกลับมาทบทวนบทบาท หน้าที่ และภารกิจที่แต่ละหน่วยงานพึงจำเป็นต้องทำเพื่อให้ประเทศชาติมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมประเทศชาติต่อไปคือ
                
สถิติการรับแจ้งเหตุจากประชาชนที่ส่งเสียงร้องให้รัฐและข้าราชการทั้งหลายรับทราบและช่วยเหลือในเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแข่งรถบนทางสาธารณะมีจำนวนเพิ่มสูงมากขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการปกครองด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นก็ตาม
  
กฎหมายที่เข้มข้นสามารถควบคุมได้เฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น ? จริงหรือไม่ ?
  
คงไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนี้ เพราะปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นอยู่นี้คือ บทพิสูจน์เชิงรูปธรรม
  
ในเมื่อตัวบทกฎหมายมีปัญหา ตำรวจผู้ที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายย่อมมีปัญหาเช่นกัน อย่าไปยกยอปอปั้นตำรวจที่จับกุมเด็กแว้นจำนวนมากได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จเลย ในเมื่อยังไม่มีบทพิสูจน์ใดชี้ชัดว่าเด็กแว้นที่ตำรวจจับมาจะเลิกขี่รถบนทางสาธารณะในลักษณะเดิมๆ อีก รวมถึงจะไม่หลบหลีกเลี่ยงไปกระทำพฤติกรรมอื่นๆ ทดแทนการขี่รถ นำมาซึ่งความเสียหายต่อตนเองและสังคม หรือการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะอื่นๆ
  
หากท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการว่า "ให้ตำรวจทุกโรงพักจับกุมเด็กแว้นให้ได้จำนวนมากที่สุด ถ้าโรงพักไหนจับได้มากจะให้รางวัล" รับรองได้ว่าไม่เกินความสามารถของตำรวจไทย
  
เด็กและเยาวชนจำนวนมากจะถูกจับมาโดยที่พฤติการณ์แห่งการกระทำที่ตำรวจบอกว่าผิดนั้น มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาจะยังตกอยู่กับตำรวจผู้อยากได้รางวัลรวมถึงไม่อยากถูกลงโทษจากการสั่งย้ายของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของตำรวจด้วย ตำรวจในสายงานสอบสวนที่รู้จักกันในนาม พนักงานสอบสวน หรือชาวบ้านอาจเรียกว่าร้อยเวรนั้น จะต้องเผชิญกับปัญหาการทำสำนวนการสอบสวนเพื่อส่งให้อัยการ
  
เริ่มต้นด้วยการทะเลาะเบาะแว้งในระดับโรงพัก ตำรวจที่จับกุมมาด้วยความเหนื่อยยาก และเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ยังต้องถูกพนักงานสอบสวนตั้งคำถามถึงพยานหลักฐานต่างๆ ที่ต้องนำมาใช้ประกอบสำนวนการสอบสวนตามตัวบทกฎหมายที่สามารถชี้ชัดได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ยังไม่นับรวมกับการที่จะต้องอดทน และทนทานต่อเสียงอ้อนวอน ขอร้อง และบังคับ กดดันจากบุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆ ในการขอให้ปล่อยผู้ต้องหาบางคน ? ใครคือต้นเสียงเหล่านั้น? นี่คือปัญหา และคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตำรวจจะได้รับผลกระทบทั้งในเชิงทัศนคติ และการช่วยเหลือให้ความร่วมมือในเรื่องอื่นๆ จากต้นเสียงและภาคีเครือข่ายของต้นเสียงเหล่านั้นในภารกิจอื่นๆ ของตำรวจ (รวมถึงภารกิจการวิ่งเต้นด้วย?)
  
สงสารตำรวจนะ พอตรวจสำนวนแล้วบ่อยครั้งเราก็ให้ตำรวจไปหาพยานหลักฐานมาเพิ่มอีก แต่ในที่สุดก็แค่คุมประพฤตินี่คือเสียงของผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมที่มิใช่ตำรวจ
  
ก็แค่แต่งตัวให้ดูดี ไปให้ตรงเวลา อย่าทำให้ฉี่ม่วงในวันนั้น เขาก็จะให้นั่งตรงข้ามเขา แล้วเขาจะถามว่าเรียนหนังสืออยู่รึป่าว? ดื้อมั้ย? ยังไปแว้นอยู่รึป่าว?...เป็นเด็กดีนะ อย่าเกเร แค่เนียะเสียงของเด็กแว้นที่อยู่ระหว่างคุมประพฤติเล่าอย่างสนุกสนาน เด็กๆ เล่าว่า ใช้เวลาแป๊บเดียว!!!?????
  
เรามีคนจำกัด มีการตรวจเยี่ยม ออกพื้นที่ สืบเสาะหาข้อมูล แต่คนเราน้อยจำนวนผู้ถูกคุมประพฤติเยอะมาก ต้องยอมรับข้อจำกัดของเราตรงนี้ด้วย เราก็ทำเต็มที่แล้ว
  
ถึงแม้ว่าจะมีอาสาคุมประพฤติกระจายอยู่ในชุมชน แต่งานอาสาย่อมคืองานอาสา ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือและพัฒนาเช่นเดียวกัน
  
นี่คือข้อจำกัดเพียงเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้นของการทำงานใหญ่ที่ไม่ตรงจุด ตรงสาเหตุ ถึงเวลาหรือยังที่จะหันกลับมาตั้งคำถามกับหน่วยงานต้นทางว่า ได้ทำงานในเชิงรุกเชิงป้องกันเพื่อสร้างสรรค์เด็กและเยาวชนอย่างดีแล้วหรือยัง?
  
ปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้คือภาพสะท้อนของความไร้ประสิทธิภาพของการทำงานให้บรรลุภารกิจของหน่วยงานต้นทางที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนใช่หรือไม่? อย่ามัวแต่หลงผิดเพ่งโทษแต่พ่อแม่ ผู้ปกครองอยู่เลย
  
ต้องไม่ลืมว่า ท่านทั้งหลายคือข้าราชการ ท่านคือผู้เชี่ยวชาญ!!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น