วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562

ประวัติความเป็นมาและความหมายของ "โล่เขน" (๘ เมษายน ๒๕๖๒)

วันนี้วันจันทร์ที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๒ วันหยุดอีกวันหนึ่งของพี่น้องส่วนใหญ่เพราะทางราชการกำหนดให้เป็นวันหยุดชดเชยเนื่องจากวันที่ ๖ เมษายนที่ผ่านมาเป็นวันจักรีซึ่งตามปกติแล้วต้องเป็นวันหยุดราชการแต่บังเอิญว่าวันนั้นตรงกับวันเสาร์ที่เป็นวันหยุดอยู่แล้วก็เลยมาหยุดชดเชยให้ในวันจันทร์นี้อีก ๑ วันเท่ากับหลายๆ ท่านได้หยุดยาวกันถึง ๓ วันเต็มเลยทีเดียว สำหรับผมเองก็เช่นเดียวกันวันนี้ได้หยุดกับเขาด้วย ไม่ต้องไปทำงานเพราะไม่มีหน้าที่เวรยามอะไรคงอยู่แต่บ้านทำนั่นทำนี่เรื่อยเปื่อยเป็นการฆ่าเวลาไปในตัว แต่ถึงยังไงก็ต้องคอยสดับตรับฟังข่าวคราวและติดตามความเคลื่อนไหวที่โรงพักอยู่ตลอดเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นวันหยุดหรือไม่หยุดก็ตามว่ามีเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวอะไรมั่ง เราเป็นนาย เป็นผู้บังคับบัญชาเขาจะต้องรับรู้ตลอดเวลาซึ่งการรับรู้หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเดี๋ยวนี้ก็ง้ายง่าย เรามีไลน์กลุ่มที่เจ้าหน้าที่เขาจะรายงานความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเราก็ดูมันซะในไลน์นั้นนั่นแหละ อันไหนสงสัยหรือข้องใจอะไรก็โทรไปสอบถามเขา หรือว่าหากมีปัญหาข้อขัดข้องใดๆ ที่จะต้องดำเนินการเราก็สามารถจัดการได้อย่างทันท่วงที อันนี้คือสิ่งดีๆ สิ่งทันสมัยที่เทคโนโลยีสมัยใหม่มีให้เราไม่ต้องยุ่งยากวุ่นวายเหมือนเมื่อก่อนทำให้ใช้ชีวิตง่ายดี สะดวกขึ้นแถมประหยัดขึ้นด้วย สำหรับภาพด้านล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยแถวและมอบหมายภารกิจแก่เจ้าหน้าที่สายตรวจของนายตำรวจเวรหัวหน้าสายตรวจ สภ.ภูกามยาวเราเช้าวันนี้ที่รายงานเข้ามาทางไลน์กลุ่มโรงพัก สำหรับพี่น้องท่านใดที่ต้องการให้ตำรวจเรารับใช้ก็ขอเชิญได้ตลอดเวลานะครับเพราะตำรวจเราทำงานไม่มีวันหยุดพวกเราทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง

สำหรับวันหยุดนี้ผมขอนำเรื่องราวประวัติความเป็นไปเป็นมาของโล่เขนมาบันทึกไว้หน่อยเผื่อพี่น้องท่านใดต้องการทราบจะได้อ่านเอาไว้เป็นความรู้ต่อไป ติดตามผมมาเลยครับ

ท่านที่รักครับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (หรือเดิมเรียกกรมตำรวจ) มีเครื่องหมายราชการเป็นรูปพระแสงดาบเขนและโล่เป็นรูปวงกลมเส้นคู่สองชั้น วงนอกเป็นลายพรรณพฤกษา วงในเป็นลายใบเทศผูกลายเป็นรูปหน้าสิงห์หรือหน้ายักษ์เรียกว่าจตุรมุข ตามธรรมเนียมโบราณที่แกะสลักรูปหน้ายักษ์จตุรมุขไว้บนหน้าบันประตูทั้งสี่ทิศของปราสาทหิน ด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ทวารเข้าออก ปกป้องคุ้มครองและขจัดสิ่งชั่วร้าย ส่วน "ดาบ" ที่คาดติดอยู่ในปลอกมีลวดลายกนก ทั้งนี้สัญลักษณ์ไม่จำกัดสีและขนาด
นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ กวีโวหารและกวีโบราณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อธิบายความเป็นมาเก็บความได้ดังนี้ ก่อนเป็นดาบเขนและโล่ซึ่งเหมือนรูปวงกลมของฆ้องด้านอัด มีไม้ทแยงตีฆ้องพาด โดยที่โบราณนิยมเขียนลวดลายลงบนฆ้อง เป็นลายรดน้ำบ้าง กนกเปลวบ้าง ก้านขดบ้าง หรือเขียนเป็นหน้าราหู เมื่อหน้าอัดของฆ้องเต็มไปด้วยลวดลายดังกล่าว ครั้นมาแกะเป็นตราอาบครั่งทำให้มีลักษณะคล้ายโล่ ในตรายังมีไม้ตีฆ้องพาดทแยง จึงมีลักษณะคล้ายกับเอาดาบพาดโล่อย่างสมส่วนและใกล้ความเป็นจริง

ความนิยมเขียนลวดลายบนฆ้องหรือบนโล่ให้เป็นภาพ เช่น หน้าราหู หน้ายักษ์มาร หรือรูปหน้าสิงห์ สืบเนื่องมา
จากความเชื่อถือผีสางเทวดา เช่นเขียนลายหน้าราหูก็มักจะเป็นรูปอมดวงจันทร์ หมายถึงผู้ถือฆ้องหรือโล่จะสามารถครอบงำสรรพสัตว์หรือต่อสู้อริราชศัตรูได้ทุกเมื่อ ถ้าเป็นหน้ายักษ์ต้องทำเป็นปากแสยะกว้างตาโปน ถ้าเป็นหน้าสิงห์ก็แยกเขี้ยวแสยะปากดูน่ากลัว อันเป็นการข่มศัตรูไปในตัว ล้วนแต่ลักษณะที่น่าเกรงขามทั้งสิ้น โดยต้องทาสีแดงไว้ด้วย
ตำรวจไทยเกิดเป็นรูปแบบองค์กรครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้จัดตั้งองค์กรตำรวจและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยให้เป็นระบบ แสดงความเป็นอารยะทัดเทียมตะวันตก โปรดให้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูป "หนุมานสี่กร" ก่อนเปลี่ยนเป็น "พระแสงดาบเขนและโล่" ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ครั้งพระราชทานกรมตำรวจภูธร พ.ศ.๒๔๔๐ ออกแบบโดย ม.จ.ประวิช ชุมสาย ผู้ผูกลายพระราชลัญจกรแผ่นดิน ถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ดาบเขนและโล่ปรากฏอยู่ในพระธรรมนูญตราที่โปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ให้เป็นตราประจำกรมพลตระเวน (ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ เปลี่ยนเป็นกรมพลตำรวจนครบาล)

โล่และดาบมีนัยแห่งความหมายอันลึกซึ้งที่แสดงถึงความไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่โปรดให้ตำรวจราชองครักษ์เท่านั้นที่จะมีอาวุธ (ดาบ) ติดตัวประจำกายเข้าถึงพระราชฐานชั้นในได้ โล่และดาบจึงแสดงถึงเกียรติภูมิแห่งหน้าที่ เป็นศักดิ์ศรีแห่งอำนาจที่ได้รับพระราชทานเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ และเป็นตำรวจของประชาชน มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ระงับทุกข์และบำรุงความผาสุกให้ประชาชนตามคำ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
ครับ นั่นก็คือ
ประวัติความเป็นมาและความหมายของโล่เขนซึ่งคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์ฺต่อหลา่ยๆ ท่านบ้างตามสมควร

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ
สวัสดีครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น