วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ย้ายตำรวจหรือว่าตำรวจทิ้งประชาชน? : โลกตำรวจ โดยผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๓ มิถุนายน ๒๕๕๘)

 ที่นี่...ตำรวจหนีกันทั้งนั้น เพราะไม่มีสถานบริการ ชาวบ้านร้องเรียนมาก พอครบ ๒ ปีก็หาเรื่องย้ายหนีกันหมด คนที่ไม่ครบ ๒ ปี ถ้ามีเส้นก็จะหนีไปช่วยราชการที่อื่น จนทำให้พื้นที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจแห่งนี้เปรียบเสมือนดินแดนสนธยา นายไม่อยากข้องแวะ ชาวบ้านก็ไม่ประทับใจ ตำรวจที่ทำหน้าที่อยู่ก็เหนื่อยล้าอ่อนแรง หมดขวัญและกำลังใจ เพราะโรงพักกลายเป็นแหล่งรวมของคนไร้เส้น คนนอกสายตานายตำรวจบ่นระบายเรื่องอัตรากำลังที่เหลืออยู่น้อยนิดจนแทบทำอะไรไม่ได้ในโรงพักเล็กๆทั้งๆ ที่สภาพพื้นที่และบริบททางสังคมและวัฒนธรรมมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมในการสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม แต่คำสั่งโยกย้ายล่าสุดทำให้โรงพักแห่งนี้เสียกำลังไปอีกกว่า ๑๐ นายโดยไม่มีกำลังพลมาทดแทน


คนที่ได้รับผลกรรมสุดท้าย คือ ประชาชน ที่ไร้เส้นเช่นกัน!!

มิใช่มีเพียงสถานีตำรวจแห่งนี้แห่งเดียว แต่เหตุการณ์ในทำนองเช่นนี้เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อยทั่วประเทศ รวมถึงในหน่วยงานที่ไม่มีใครอยากอยู่เช่น งานฝ่ายอำนวยการ และงานสอบสวนด้วย

ใครมีนายที่มีอำนาจมากหน่อยก็จะขอย้ายหนีกันหมดนี่คือคำสบประมาท ใช่หรือไม่?

ตัวอย่างของถ้อยคำพรรณนาถึงปัญหาครอบครัวเรื่องส่วนตัว ปัญหาความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชาระดับต้นที่ถูกถ่ายทอดสู่นายในลักษณะขอความเห็นอกเห็นใจเพื่อขอให้นายช่วยวิ่งเต้นโยกย้ายมิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อคนร่วมงาน หรือชาวบ้าน

ลูกป่วย” "ดูแลพ่อแม่ซึ่งแก่มากแล้ว” "ย้ายหนีนายระดับต้นดูจะเป็นเหตุผลที่แสนโบราณ แต่คลาสสิกได้รับความนิยมตลอดกาลในการนำมาใช้กล่าวอ้าง

ตำรวจผู้พูดคงลืมไปว่า ก่อนหน้าที่จะสมัครเข้ามาเป็นตำรวจนั้น เงื่อนไขเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรับรู้อยู่ก่อนแล้ว ตำรวจมิได้มีสิทธิที่จะเลือกอยู่ที่ไหนก็ได้อย่างที่ใจปรารถนา หากแต่ต้องเป็นไปตามการพิจารณาเห็นความเหมาะสม และความถูกต้องตามหลักการบริหารงานบุคคลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้โดยยึดประโยชน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นที่ตั้ง

ภารกิจของ ตร.คือ การอำนวยความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรืออาจเรียกว่า เป็นการรักษาความมั่นคงภายใน และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่? อย่างไร?

วอนนายผู้มีอำนาจอย่าเพียงสนับสนุนเฉพาะลูกน้องผู้ใกล้ชิดเพียงให้ได้อยู่อย่างที่อยาก แต่ควรคำนึงถึงเสมอว่า ความอยากส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่องาน ต่อองค์การ และต่อประชาชนหรือไม่อย่างไร?

โปรดลาออกไปถ้าไม่สามารถทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดีได้อย่างที่ควรจะทำ

นี่คือความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาของตำรวจในระดับบุคคล ไม่ใช่ระดับระบบ หรือระดับองค์กร

สรุปว่า ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ที่นาย และผู้มีอำนาจ!!

นายทั้งหลายต้องตั้งคำถามว่า ต้องการให้ลูกน้องมาใกล้ชิดเพื่อดูแลนาย และสุดท้ายก็วิ่งเต้นขอยกเว้นกฎเกณฑ์ หรือใช้ช่องว่างข้อจำกัดของกฎเกณฑ์เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ด้วยลีลาทั้งอ้อนวอน ทั้งกดดันนาย

หรือว่าต้องการให้ลูกน้องไปมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนรัก ดั่งที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเขียนไว้? หรือว่า ก็เป็นเพียงข้อเขียนแค่นั้น?
             
ถ้านายผู้มีอำนาจของตำรวจไม่แข็งแกร่งพอ ต้องการการดูแล ก็จงปล่อยทิ้งประชาชนไปเถอะ หากแต่ก่อนที่จะทิ้งภารกิจหน้าที่เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกน้องที่ใกล้ชิดนั้น นายก็ต้องไม่ลืมสัจธรรมความจริงข้อหนึ่งที่ว่า อำนาจมิได้อยู่ค้ำฟ้า คงทน ถาวร หากแต่แปรเปลี่ยนไปตามบริบทแห่งเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยเช่นกัน

เมื่อท่านหมดอำนาจ บุคคลที่คาดหวังและกดดันท่าน รวมถึงหลอกล่อดูแลปรนเปรอจนทำให้ท่านหลงลืมหน้าที่ของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดีก็จะหายวับไปกับตาด้วย

ความสัมพันธ์ที่สนิทเสน่หาแบบเทียมๆ เป็นแค่เพียงภาพลวงตา สู้หันกลับมาพัฒนาระบบงาน กำหนดกฎเกณฑ์กติกาในการบริหารงานบุคคลให้มีช่องว่างช่องโหว่น้อยที่สุดเพื่อให้ตำรวจผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่มีความสุขก่อนที่จะพ้นจากวาระหน้าที่ไป ไม่ว่าจะด้วยเกษียณอายุ หรือด้วยเหตุใดก็ตามที

โปรดอย่าลืมว่า ฟ้าให้อำนาจท่านมาเพื่อเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เป็นหลักสำคัญ

เลิกเสียทีเถอะ การแต่งตั้ง โยกย้ายที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับปัญหาของประชาชน

ร่วมมือกันเริ่มต้นจากตัวเองที่จะล้มล้าง ล้มเลิกระบบการมุ่งหวังและวิ่งเข้าสู่พื้นที่/หน่วยงานที่มีอำนาจ และผลประโยชน์ โดยไม่แลตามองปัญหาและความทุกข์ของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากการทำงานของตำรวจ

สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือ การพัฒนาระบบที่ดีที่ต้องเริ่มต้นจากนาย ผู้มีอำนาจ และสำนักงานกำลังพล

ถึงเวลาแล้วที่สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องลบคำสบประมาทของไพร่พลตำรวจที่ว่า หน่วยงานนี้มีไว้เพียงการแก้ปัญหาให้ผู้มีอำนาจรอดพ้นจากกฎระเบียบที่วางไว้ในการหาทางจัดวางตัวคนให้ตรงใจของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจแต่เพียงเท่านั้น มิได้มีไว้เพื่อไพร่พลและเพื่อบริหารกำลังพลเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

คำสบประมาทที่ท้าทายนี้ กำลังรอการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานนี้เป็นของตำรวจทั้ง ๒ แสนชีวิต มิใช่ทำงานสนองนายบางกลุ่มเท่านั้น? เชื่อว่านายตำรวจใหญ่ฝีมือดีอย่าง พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล อดีตเจ้าของสโลแกนนครบาล ๒ พร้อมรับใช้สามารถทำได้ถ้ามีพลังเสริมแรงเพียงพอ

สู้ๆ!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น