วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

ศัพท์เสียงสำเนียงร่ะยองเพื่อพี่น้องไทย : "ตะโหงด" (ตัวตะโหงด,ไอ้โหงด,ตัวไอ้โหงด) (๒๘ กันยายน ๒๕๕๘)

น้องภาส : แหม่ เหียอู๊ด ถือก้ะอ้อยมาซ้าอันยาวเชีย แช้นขอแบ่งซักขึ่งได้แม้จ้ะเอาไปให้ตะโหงดกิน เนี่ยะ แช้นจับในป่าหลังบ้านได้มาตั้งสองตัวแน่ะ
เหียอู๊ด : ได้ฮิ่ แต่น่องภาสต้องแบ่งตะโหงดให้เหียอู๊ดตวงหนะ เอาแม้
.............
ช่วงนี้ข้าวกล้าในนามเริ่มออกรวง อากาศก็เริ่มจะหนาวขึ้นมาตามฤดูกาลที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฎจักรที่ไม่มีใครหยุดยั้งหรือเปลี่ยนแปลงมันได้ พูดถึงช่วงนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงตอนเป็นเด็กๆ สมัยอยู่บ้านพังราดไทยขึ้นมาได้ อากาศแบบนี้นะพออีกซักพักหนึ่งเป็นช่วงที่เด็กๆ ชื่นชอบและรอคอยกันมากเพราะจะได้สนุกสนานกับกีฬาหรือจะเรียกอะไรก็ได้ตามที่อยากจะเรียกอย่างหนึ่งที่เอาสัตว์ซึ่งมีในธรรมชาติมาเล่นกันนั่นก็คือการชน “ตะโหงด” หรือ “ไอ้โหงด,ตัวไอ้โหงด” ตามแต่ท้องถิ่นนั้นๆ จะเรียกแต่บ้านผมที่พังราดส่วนใหญ่จะพูด “ตัวตะโหงด”


ตัวตะโหงดเนี่ยะสมัยนั้นมีเยอะแยะมากมายครับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในป่าใกล้ๆ บ้านนั่นแหละเพราะตอนนั้นป่ายังมีอยู่เยอะไม่เหมือนสมัยนี้ที่แทบจะมองหาอะไรพวกนี้ไม่เห็น เมื่อเด็กๆ เลิกเรียนหรือเป็นวันหยุดก็จะไปจับเอามาเล่นกัน ส่วนใหญ่จะเอาเฉพาะตัวผู้ สำหรับตัวเมียจะจับมาซักตัวสองตัวเพื่อใช้ล่อให้ตัวผู้บินเข้ามาหาจะได้จับตัวผู้อีกที

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการเลี้ยงตัวตะโหงดก็นี่เลย “กะอ้อย” หรืออ้อยซึ่งเป็นอาหารโปรดของมัน เด็กๆ จะตัดกะอ้อยมากะให้พอดีๆ ไม่ยาวไม่สั้นเกินไปนักแล้วเตรียมเชือกซึ่งด้านหนึ่งมัดกับไม้แหลมๆ สำหรับปักบนกะอ้อยโดยปลายอีกด้านหนึ่งจะใช้มัดตะโหงดตัวผู้ที่เขาของมันกันไม่ให้บินหนีไปไหน เสร็จแล้วก็เอามาแขวนไว้หน้าบ้านรอเวลาว่างๆ เพื่อจะเอาตัวตะโหงดที่ว่าเนี่ยไปขวิดกัน

การขวิดตัวตะโหงดก็ไม่มีอะไรมากแค่เอาตัวผู้ ๒ ตัวมาไว้บนกะอ้อยลำเดียวกัน จับหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางก็อาจจะเอาตัวเมียมาไว้ตัวหนึ่งเพื่อล่อให้ตัวผู้เดินเข้าหา ทีนี้ธรรมชาติของสัตว์โลกเพศผู้น่ะเมื่อเห็นตัวเมียย่อมจะต้องเข้าหาหรือหึงหวงเป็นธรรมดา ตัวตะโหงดก็คงเหมือนกัน แต่เมื่อมีตัวผู้สองตัวอยู่ด้วยกันความหึงความหวงย่อมมีเป็นธรรมดา หน้าไหนจะมายุ่งไม่ได้ไม่มีใครยอมใคร ประมาณเสือสองตัวย่อมอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ฉะนั้น ทีนี้เมื่อไม่มีใครยอมใครอะไรจะเกิดขึ้นย่อมรู้กันดี อ้ะ “การต่อสู้” นั่นเอง ตะโหงดตัวผู้สองตัวตรงเข้าห้ำหั่นกันเพราะหวงตัวเมีย ขวิดกันชนิดใครดีใครอยู่ท่ามกลางเสียงเชียร์เสียงเฮของเด็กๆ ที่จ้องมองอยู่มีความสุข ระหว่างขวิดถ้ามีบางตัวเริ่มแผ่วก็จะใช้ไม้แหลมๆ ที่ใช้มัดกันไม่ให้หนีนั่นแหละเขี่ยๆๆๆ ปั่นๆๆ ตัวตะโหงดให้มีแรงฮึดสู้ต่อซึ่งบางคนง่วนอยู่กับตัวตะโหงดชนิดไม่ยอมไปกินข้าวจนกว่าโน่น “พอๆ เลิกเดี๋ยวนี่ ไปกินข้าวได้แล่ว เถ้าไม่เลิกหนะแมะจ้ะเอาไม้ขัดหม้อเนี่ยฟาดซ้าให้หลังลายเลย” ถึงยอมเลิกท่ามกลางความเสียดายในความสนุกสนานที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า

จำได้แม่นยำเลยครับตอนนั้นหลังบ้านผมที่บ้านพังราดไทยมีป่าซึ่งตัวตะโหงดมักจะบินมาเกาะ เด็กๆ ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะมาเลือกหาตัวตะโหงดไว้เล่นที่นี่ แต่ต้นไม้ค่อนข้างสูงจะใช้ไม้ยาวๆ กระทุ้งตัวตะโหงดก็ยอมตก ผมซึ่งตอนนั้นอายุมากกว่าน้องๆ ก็เลยรับอาสาขึ้นไป “กะเหิ่ม” กิ่งไม้ที่ว่าพอกะเหิ่มไปได้พักหนึ่งตัวตะโหงดหล่นมาครืดคราดไปเลย เพื่อนๆ น้องๆ ที่อยู่โคนต้นพากันวิ่งเก็บได้คนละตั้งเบิก เด็กคนหนึ่งซึ่งอายุน้อยกว่าเพื่อนเก็บมาได้หลายตัวเหมือนกันแต่เลือกเอาเฉพาะตัวเล็กๆ ที่นอนมุดดินอยู่แถวนั้น พอผมลงมาจากต้นไม้น้องคนนั้นเดินเข้ามาหาพร้อมยิ้มกะปุ้มกะป้ำและแบมือที่มีเจ้าตัวเล็กๆ ราว ๕-๖ ให้ผมดู “เนี่ยะ เหียอู๊ดเห็นแม้ แช้นได้ตัวตะโหงดตั้งเบิกบาน” ผมมองเจ้าตัวเล็กๆ ในมือน้องคนนั้นพร้อมหัวเราะและพูดว่า “แหม่ ไอ้น่อง ที่เก็บน่ะใช่ตัวตะโหงดซ้าที่หนา มันเป็น “ตัวกะตึงขี้” ต่างหาก เหอๆๆๆๆๆ”
............
"ตัวตะโหงด" ศัพท์เสียงสำเนียงร่ะยองก็คือ "กว่าง หรือตัวกว่าง" ครับ ส่วน "ตัวกะดึงขี้" เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายๆ ตัวตะโหงดแต่ไม่มีเขาไม่ว่าจะเป็นตัวเมียหรือตัวผู้ก็ตามซึ่งมักอยู่และหากินตามกองขี้วัวขี้ควาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น