วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ปาหี่และยี้ในโลกตำรวจ : โลกตำรวจ โดยผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๒๖ กันยายน ๒๕๕๘)

ไม่มีทาง บอกได้เลยว่าไม่มีทางหากการกระทำในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจไม่เกิดขึ้นจากผลการปฏิบัติงานที่ยึดภารกิจของหน่วยงานตำรวจเป็นสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่เป็นธรรม ไม่ชอบธรรม ไม่คำนึงถึงระบบคุณธรรมที่ยึดผลการปฏิบัติงานเป็นที่ตั้ง ย่อมไม่ควรที่จะคาดหวังว่าตำรวจไทยจะเป็นตำรวจที่มีหัวใจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ทำงานเพื่อประชาชน
โปรดอย่าได้เพ่งโทษตำรวจแต่ละนาย อย่ามองเพียงแค่ตัวบุคคลว่าตำรวจนายนั้น ตำรวจหน่วยนี้จะเป็นเช่นนั้น จะเป็นเช่นนี้ ไม่ทำงาน เอาแต่วิ่งเต้น ดูแลปรนนิบัตินาย ครอบครัวและเครือญาติ แค่นี้ก็ได้ตำแหน่งที่อยากได้(ไว้ต่อทุน...หาเรื่อยไป แสวงหาวิธีการต่างๆ ที่จะได้มาซึ่งความก้าวหน้า อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์และผลประโยชน์ ล้วนเป็นการกระทำเพื่อตัวเองมิใช่เพื่อคนอื่น มิใช่เพื่อองค์กร มิใช่เพื่อสังคม มิใช่เพื่อประเทศชาติ)
แต่จงโปรดมองปรากฏการณ์การกระทำที่น่าละอาย(แต่เปิดเผยจนล่วงรู้กันไปทั่วอย่างไร้ความละอาย)เหล่านี้ว่า นี่คือปรากฏการณ์แทรกแซงการบริหารงานตำรวจจนเสียระบบที่เปรียบเสมือนหัวใจของตำรวจไทยทั้งแผ่นดิน
การแทรกแซงองค์กรตำรวจจะทำให้ผู้แทรกแซงได้อะไร ? ตอบง่ายๆ ว่า ได้ตำรวจระดับผู้นำอยู่ในกำมือ นั่นหมายถึง ได้ทุกอย่างที่อยากได้....ทุกอย่างที่อยาก!!!!!!!!! โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม หรือความเป็นธรรมอื่นใดในสังคม
เพราะฉะนั้น ผู้นำตำรวจต้องไม่ยอมอยู่ในกำมือใคร แต่จะเป็นไปได้หรือ ?
ยิ่งได้ผู้นำประเภทที่รักตัวเอง ยอมทำทุกอย่างตามที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าปรารถนา โดยไม่คิดต่างหรือเห็นแย้งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมุ่งหวังเพียงความมั่นคงของตัวเอง ไม่สนใจไยดีต่อความมั่นคงขององค์กรไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังยิ่งจะได้ในสิ่งที่อยากมากยิ่งขึ้น
โปรดอย่าได้ประณามหรือก่นด่าตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่สัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนที่อาจกระทำการที่ผิดบ้าง พลั้งบ้าง ไม่ดีไม่งาม ไม่ถูกทำนองคลองธรรมอย่างที่ผ่านมา จนลืมที่จะตั้งคำถามและช่วยกันเพ่งมองหาอำนาจและกลไกที่อยู่เบื้องหลังการกระทำที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลายเหล่านั้น
ตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำให้คนไทยพากันเกลียดตำรวจทั่วบ้านทั่วเมือง คือ การรับส่วยหรือปฏิบัติหน้าที่ที่มิชอบของตำรวจจราจรที่หากวิเคราะห์อย่างจริงจังจะเห็นว่า เข้าข่ายประเภท “หยิบสิบ” แต่กระทำการหยิบสิบในสิ่งที่ทำให้ทุกคนมองเห็นง่ายๆ จับจ้อง ตรวจสอบได้ง่าย
หากแต่กลุ่มคนที่ "หยิบหลายสิบ" แต่แนบเนียนกลับกลายเป็นวีรบุรุษ ? รอดพ้นสายตา
อย่ายุติที่จะวิเคราะห์สิ่งใดเพียงแค่ การมองปรากฏการณ์ส่วนผิว?
มองโลกของตำรวจจำเป็นต้องมองให้ลึกซึ้ง มองให้เห็นความซับซ้อนย้อนแย้งที่ซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ภายใต้การกระทำส่วนผิวที่ปรากฏอาจทำให้พลังในการเรียกร้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงตำรวจเพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคมเกิดขึ้นให้ได้เสียที
มิใช่แสดงปาหี่หลอกตบตาชาวบ้านและตำรวจ(ให้หวังลมๆแล้งๆ)ไปวันๆ หาใช่เจตนาที่แท้จริงไม่ ?
เหยื่อของการยึดอำนาจผ่านการแทรกแซงองค์กรตำรวจนี้ มิได้ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของตำรวจส่วนใหญ่(มากๆ)ในองค์กรเท่านั้น แต่กระทบอย่างแรงต่อชาวบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่ต้องการการคุ้มครองดูแลชีวิตและทรัพย์สินในลักษณะที่ไม่มีทุนทรัพย์หรือเส้นสายใดๆ อย่าหวังว่าจะได้รับการบริการที่เข้มแข็งเพราะคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมย่อมไม่เข้มแข็งพอที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้อื่นเช่นกัน....นี่คือสัจธรรม !!!
นอกเหนือจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไร้ความเป็นธรรมจะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงแล้วนั้น
การมอบหมายงานที่ไม่เป็นธรรมก็ส่งผลเสียหายแก่องค์กร ประชาชน และสังคมด้วยเช่นกัน
มอบงานทั้งๆ ที่ทุกคนในองค์กรต่างร้อง "ยี้...ใช่เหรอ?” เพียงเพื่อจะให้ได้โชว์ให้ชัดๆ ฉาย(หน้าจอ)ให้บ่อยๆ ส่วนเนื้อแท้แห่งคุณภาพของผลงานจะเป็นเช่นไร ? ช่างมัน ? เพราะนี่คือ ตัวเก็งต้องขึ้น ????? ตามคำสั่งที่สั่งมา !!!!!!
เรียกได้ว่า นี่คือ “ลีลาจัดให้ดูชอบธรรม” แต่หาใช่ความเป็นธรรมที่แท้จริงไม่
มนุษย์มีความอยากที่ไม่สิ้นสุด มีความโลภที่ไม่สิ้นสุด จนลืมที่จะนึกถึงกรรมที่กำลังกระทำอยู่
คงไม่มีไม้ซีกชิ้นใดไปงัดไม้ซุงได้ แต่โปรดอย่าลืมว่า การปฏิบัติหน้าที่ที่สุจริตและเป็นธรรมของข้าราชการตำรวจทั้งหลายนั้นเป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์ให้แก่ผู้คนในสังคมทั่วทั้งแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจบิดเบี้ยวไปจากทิศทางบำบัดทุกข์แต่เป็นการไปเพิ่มทุกข์เพราะท่านได้ทำลายระบบการบริหารงานขององค์กรแห่งนี้ไม่ว่าด้วยวิธีคิดหรือวิธีการใดก็ตาม
พึงตระหนักถึงบาปกรรมที่ท่านได้มีส่วนในการกระทำด้วย
ในเมื่อใช้หลักวิชาการ หรือศาสตร์ใดๆ ไม่ได้ผลแล้ว คงต้องหันหน้าเข้าหาหลักธรรม เพื่อให้ไม่ถอยแม้จะท้อเพียงใดก็ตาม
จงรอพิสูจน์กฎแห่งกรรม !!!!!!
..........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น