บ่ายวันหนึ่งช่วงที่ผมไปตรวจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สิบเวรและความเรียบร้อยทั่วไปหน้าห้องขังหรือห้องควบคุมผู้ต้องหาบนสถานีนั้นชายคนหนึ่งอายุราว ๔๐ ต้นๆ เดินขึ้นไปหา
“สวัสดีครับอ้ายลุงดาบ...” ชายคนนั้นยกมือไหว้ผมและพูดทักทาย “...อ้ายลุงดาบครับผมอยากจะทราบว่าสิทธิของผู้ต้องหาที่ถูกจับที่โฮงพักน่ะมีหยังพ่อง(อะไรบ้าง)ครับ” เขาพูดต่อ
“สวัสดีครับน้องชาย...” ผมตอบ “...อ๋อ สิทธิที่ว่าก็เป็นแบบในข้อความที่เห็นนี่แหละ...” ผมพูดพร้อมชี้ไปที่ป้ายข้อความซึ่งติดไว้หน้าห้องขังและอ่านให้เขาฟัง
“ว้าวววว ฮ่ะๆๆๆ งั้นผมก็ได้สิทธิ์นั้นเดี๋ยวนี้ซิ่ครับ เย้ ดีใจๆ” น้องคนนั้นพูดต่อพร้อมหัวเราะหน้าบาน
“หา..ว่าไงนะ ได้สิทธิ์ !!!...” ผมกึ่งพูดกึ่งอุทานแบบตกใจเล็กน้อยที่ได้ยินเขาพูดแบบนั้น
“ครับ ผมได้สิทธิ์นั้นแล้ว ฮ่ะๆๆๆ...” เขาพูดต่อ “...คืองี้ครับ ผมน่ะเคยถูกโฮงพักนี้ออกหมายจับเมื่อ ๓-๔ ปีที่แล้วแล้วก็หนีไปตลอดเรื่อยมาจนกระทั่งไม่อยากหนีอีกแล้วจึงเข้ามามอบตัวซะให้สิ้นเรื่องสิ้นราวในวันนี้ “....ว้าวววว ดีใจๆ เราได้สิทธิ์นั้นเดี๋ยวนี้ ฮ่าาาาๆๆๆๆ”
สิทธิของผู้ต้องหา-ผู้ถูกจับ-จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๗(๑) ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก และให้ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(๒) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
(๓) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
(๔) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
มาตรา ๑๓๔ การแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบการแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้นผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรมพนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริง อันเป็นประโยชน์แก่ตนได้
มาตรา ๑๓๔/๑ ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
มาตรา ๑๓๔/๓ ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
มาตรา ๑๓๔/๔ ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(๑) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(๒) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔/๑ มาตรา ๑๓๔/๒ และ มาตรา ๑๓๔/๓ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น