วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๓) (๑๖ กันยายน ๒๕๕๔)


รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองสูงสุดเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องคดีวันนี้เสนอเป็นตอนที่ ๓ รายละเอียดของคำพิพากษา/คำสั่งกรุณาคลิกที่หัวเรื่องที่เป็นตัวอักษรสีแดงครับ




* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๗๙/๒๕๔๘ ลงวันที่ื ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๘

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตรสังกัดกองกำกับการนโยบายและแผนงาน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๗ ผู้ถูกฟ้องคดีโดยพันตำรวจเอกบุญส่ง... ใช้อำนาจการพิจารณาในเบื้องต้นตามมาตรา ๘๔ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยในกรณีเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาฐานความผิดลหุโทษหรือไม่ ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๘ ผู้ฟ้องคดีได้ทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีโดยพันตำรวจเอกวิชิต... ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อจากพันตำรวจเอกบุญส่งได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าต่อบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการใช้อำนาจสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา ๘๔ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ เช่นเดียวกับอำนาจพิจารณาในเบื้องต้นตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ เป็นการใช้อำนาจไม่ถูกต้องเพราะตามมาตรา ๘๔ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กำหนดวิธีการใช้อำนาจเพื่อดำเนินการทางวินัยเพื่อหามูลความผิดวินัยได้ ๒ วิธีคือการพิจารณาในเบื้องต้นและการสืบสวนข้อเท็จจริง และพันตำรวจเอกบุญส่ง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีในขณะที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาได้เลือกใช้อำนาจตามมาตรา ๘๔ ด้วยการพิจารณาเบื้องต้นไปแล้วจนถึงขั้นมีความเห็นสมควรยุติเรื่อง ต่อมาปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีกลับมีคำสั่งลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้ฟ้องคดีอีก ผู้ฟ้องคดีจึงได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘ ผู้ฟ้องคดีทราบว่าผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ มีคำสั่งยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการดำเนินการสืบสวนความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีตามมาตรา ๘๔ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ขัดต่อกฎ ก.ตร. ซึ่งดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงเกิน ๑๘๐ วัน และคำสั่งลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นการใช้อำนาจซ้ำซ้อน ทั้งที่สามารถออกคำสั่งปกครองไปได้เลย แต่กลับมาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนใหม่อีกทำให้เพิ่มระยะเวลาการดำเนินการทางวินัย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๒๔/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๘

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งให้สอบสวนทางวินัยกรณีต้องคดีอาญาข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ฯ อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๘๒ วรรคสาม และมาตรา ๙๘ วรรคสอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓ อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการนั้นถูกต้องเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงมีมติให้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ โดยในกรณีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗ เนื่องจากได้เข้ามารับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกำแพงแสนในวันดังกล่าวผู้ฟ้องคดีจึงได้นำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการต่อไป

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๔๗/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๘

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : คดีนี้ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมที่ ๒๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ ซึ่งจากคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนทางวินัยฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ร่วมกับพวกไปบอกผู้มีชื่อว่าสามารถฝากบุตรของผู้มีชื่อเข้ารับราชการได้ทำให้ผู้มีชื่อหลงเชื่อมอบเงินให้ผู้ฟ้องคดีกับพวก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีนับได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จากนั้นผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ แล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่เป็นธรรมจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖๙/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้่อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานบริหารและงานกฎหมายของกองบังคับการอำนวยการ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถูกผู้ถูกฟ้องคดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๖๖๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ และถูกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๖๖๖/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมีพฤติการณ์เรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าของกิจการสถานบริการอาบอบนวดโดยมิชอบ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์และร้องทุกข์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีแล้วเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๖ ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือจากกองวินัย สำนักงานกำลังพลที่ ๐๐๐๖.๔๒/๒๗๓๑ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ แจ้งให้ทราบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีบันทึกสั่งลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ยกคำร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี แต่ยังมิได้แจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์คำสั่งให้สำรองราชการที่ ๖๖๖/๒๕๔๖ แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีและคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องตามวิธีการและขั้นตอนการรวบรวมหลักฐานการชี้มูลความผิดอันเป็นสาระสำคัญของการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งดังกล่าว และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมซึ่งมีผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ๑๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่มีคำสั่งดังกล่าวเป็นต้นมา ต่อมาในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือจากกองวินัย สำนักงานกำลังพลที่ ๐๐๐๖.๔๒/๓๙๙๐ ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ แจ้งคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๔๖๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่ากรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๖๖๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ การสอบสวนได้เสร็จสิ้นแล้วพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหาและไม่มีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนแต่อย่างใด จึงให้ยุติเรื่องผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้
๑. เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๖๖๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจ และคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๖๖๖/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ เรื่อง ข้าราชการตำรวจสำรองราชการเฉพาะตัวผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป
๒. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติงดเว้นการลงประวัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและการสำรองราชการตามคำสั่งข้างต้นในสมุดประวัติของผู้ฟ้องคดี หากมีการลงบันทึกไปก่อนแล้วให้ดำเนินการลบทิ้งเสียสิ้นไป

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๑๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นสามีภริยากัน อยู่บ้านเลขที่... หมู่... ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๙ ได้ถูกนายทูนกับนางบ้วย... อยู่บ้านเลขที่... หมู่... ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ยึดเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๔๖ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ไว้โดยมิชอบ ต่อมาวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๐ (ที่ถูกคือวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๐) ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งความกับผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามเพื่อประสานไปยังนางบ้วยให้นำเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๔๖ ดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรไม่ได้แก้ไขช่วยเหลือเป็นเหตุให้นายทูนและนางบ้วยชิงการได้เปรียบจากการที่ได้ยึดถือเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๔๖ ดังกล่าวไว้ ทำหนังสือสัญญากู้เงินเท็จขึ้น (ปลอมสัญญากู้) แล้วนำมาฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ด้วยเหตุที่ยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงแพ้คดีและได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมากเพราะกำลังสูญเสียสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นมรดกไป ขอให้ศาลออกคำสั่งไปยังกองปราบปรามเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำหนังสือสัญญากู้เงินเท็จฉบับดังกล่าวไปตรวจสอบยังกองพิสูจน์หลักฐานหาข้อเท็จจริงต่อไป

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๖/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๘

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สังกัดวิทยาการจังหวัดนครนายกถูกสารวัตรวิทยาการจังหวัดนครนายกเสนอต่อผู้บัญชาการสำนักงานวิทยาการตำรวจให้ย้ายผู้ฟ้องคดี ต่อมาผู้บัญชาการสำนักงานวิทยาการตำรวจได้มีคำสั่งสำนักงานวิทยาการตำรวจที่ ๖๖/๒๕๔๔ ลงวัน ที่ ๒๒ มิถุนาย น ๒๕๔๔ สั่งย้ายผู้ฟ้องคดีไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่สังกัดวิทยาการจังหวัดปทุมธานีโดยมิได้ยื่นคำขอย้ายแต่อย่างใด โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่าถูกผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง เพราะผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกดำเนินการทางวินัยหรือถูกดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด การสั่งย้ายดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนทางด้านการเงินและที่อยู่อาศัย และเมื่อผู้ฟ้องคดีมารับหน้าที่ใหม่ในตำแหน่งผู้บังคับหมู่สังกัดวิทยาการจังหวัดปทุมธานีแล้ว ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่าเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่สังกัดวิทยาการจังหวัดนครนายกได้กระทำผิดวินัยฐานเกียจคร้าน ละทิ้งหน้าที่ หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ ประพฤติตนไม่เคร่งครัดต่อมรรยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมบัญชีลงเวลาปฏิบัติราชการของข้าราชการตำรวจในหน่วยงานในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ แต่ไม่ได้ขีดเส้นแดงคั่นไว้ใต้ชื่อผู้มาลงเวลาทันกำหนดเวลาปฏิบัติราชการคนสุดท้ายทันที ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีคำสั่งวิทยาการจังหวัดปทุมธานีที่ ๖/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อผู้ฟ้องคดีในกรณีดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งวิทยาการจังหวัดปทุมธานีที่ ๑๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ลงทัณฑ์กักยามผู้ฟ้องคดีเป็นเวลา ๓ วัน และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบคำสั่งดังกล่าวตามหนังสือลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี ปกปิดข้อเท็จจริงในการสอบสวนลงโทษทางวินัยโดยไม่รับฟังพยานหลักฐานและไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งการสอบสวนลงโทษทางวินัยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๖ อุทธรณ์คำสั่งลงทัณฑ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ ปรากฏตามหนังสือ ที่ ๐๐๒๖.๔๒๑/๑๑๖๕๘ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น