วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑๘)

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๐๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลหมูสี เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับนายสิริไพศาลในความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้รับแจ้งความไว้แล้วตามรายงานประจำวันแจ้งความร้องทุกข์ ที่ ๔/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๔ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ขอทราบผลการดำเนินคดีดังกล่าว แต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้แจ้งผลการดำเนินคดีให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนทางการเงินจึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีหมายเรียกนายสิริไพศาลมาทำการสอบสวน หากไม่มาให้พิจารณาออกหมายจับ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ตอบหนังสือสอบถามผลคืบหน้าในการดำเนินคดีถือว่าละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอันประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดขั้นตอนไว้ให้ต้องปฏิบัติโดยเฉพาะอยู่แล้ว คดีนี้จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นว่าผู้ฟ้องคดีได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือสอบถามผลคืบหน้าในการดำเนินคดี ปรากฏแต่เพียงว่ามีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาไว้เท่านั้น จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกิน สมควรแต่ยังไม่ถึงขั้นปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ขอให้รับคดีไว้พิจารณาโดยขอให้กำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีเร่งปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมาย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๑๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๔๗๙/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๘๑๖/๒๕๔๕ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่า เดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจยศนายดาบตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่การข่าว) งานสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ จังหวัดสระบุรีได้มีคำสั่งที่ ๑๘๐๐/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๖ ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจตามหนังสืออุทธรณ์ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๖ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจพิจารณาแล้วมีมติให้เพิ่มโทษจากปลดออกเป็นไล่ออกจากราชการ และนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือที่ มท ๐๕๔๕.๓/๕๗๗ ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๙ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และสำนักงานตำรวจภาค ๑ ได้มีคำสั่งที่ ๒๔๕/๒๕๓๙ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๙ เพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีเป็นไล่ออกจากราชการแล้ว นอกจากนี้ พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีเป็นโจทก์ฟ้องผู้ฟ้องคดีเป็นจำเลยในคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดอย่างใดตามที่ถูกกล่าวหา ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอกลับเข้ารับราชการตำรวจรวม ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกยื่นเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๐ และครั้งที่สองยื่นเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔ โดยตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรีเห็นควรรับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ แต่ตำรวจภูธรภาค ๑ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่สมควรจะบรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นการออกคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๕ เพื่อขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งดังนี้
(๑) เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีตามตำแหน่งเดิม
(๒) ให้ผู้ฟ้อง คดีมีสิทธิได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งเดิมนับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำ สั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจนถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้ฟ้อง คดีกลับเข้ารับราชการ
(๓) หากไม่สามารถดำเนินการตามคำขอข้อ ๑ และข้อ ๒ ได้ ก็ให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากผู้ถูกฟ้องคดีตามกฎหมาย โดยถือว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิดวินัย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๒๖/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๔ ขณะผู้ฟ้องคดีอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านไผ่ จ่าสิบตำรวจสมัยอดีตสามีผู้ฟ้องคดี และนางสาวมะลิวรรณได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านไผ่เห็นเหตุการณ์แต่ก็มิได้ห้ามปราม เป็นการไม่ปฏิบัติและละเลยต่อหน้าที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ในวันเดียวกันนั้นผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านไผ่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับแจ้งความทั้งๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมีบาดแผล ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังกลุ่มงานนิติกรและประสานงานรัฐสภา สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีถูกทำร้ายร่างกายและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับแจ้งความ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านไผ่ได้ร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บ ปกป้องจ่าสิบตำรวจสมัย และออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไม่สมควรอยู่ในราชการตำรวจอีกต่อไป ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ออกจากราชการ

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่มิใช่การกระทำในทางปกครองศาลจึงไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความผู้ฟ้องคดีย่นคำร้องลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผ้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่ง พบว่าจ่าสิบตำรวจสมัยกับนางมะลิวรรณ ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดี แต่ไม่ได้ห้ามปรามเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ผ้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความยุติธรรม

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๒๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกงหราว่านายแจ๊ะโส๊ะได้ใช้ปืนเล็งยิงผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๓ แต่พนักงานสอบสวนบันทึกวันเกิดเหตุเป็นวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ และต่อมาได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือไม่ และดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวด้วย

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมิชอบในการสอบสวนคดีอาญา แต่คำขอของผู้ฟ้องคดีศาลไม่สามารถกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของพนักงานสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าศาลปกครองชั้นต้นไม่อาจกำหนดคำบังคับตามที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอได้ก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ที่จะขอให้ศาลพิจารณาการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่้ ๔๓๘/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๑๑ นาฬิกา ขณะผู้ฟ้องคดีขับรถจักรยานยนต์ขึ้นถนนใหญ่ที่จุดกลับรถหน้าวัดสุบรรณนิมิตร ถนนชุมพรปฐมพร (หรือถนนเมืองชุมพร) หมู่ที่ ๙ ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ได้ถูกรถยนต์กระบะเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีและรถจักรยานยนต์กระเด็นไปคนละทาง รถจักรยานยนต์ของผู้ฟ้องคดีถูกรถทัวร์วิ่งมาทับผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย จากอุบัติเหตุดังกล่าวผู้ฟ้องคดีอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาททั้งๆ ที่ผู้ฟ้องคดีถูกรถผู้อื่นชนท้ายและได้เปรียบเทียบปรับผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้สอบสวนหาข้อเท็จจริง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กลับสรุปผลการสอบสวนว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ชอบแล้ว ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ก็ไม่ได้ทบทวนความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่อย่างใด ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีที่รถจักรยานยนต์ของ ผู้ฟ้องคดีถูกผู้อื่นขับรถชนได้รับความเสียหายดังกล่าว ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้รถจักรยานยนต์ผู้หญิง ๑๒๕ ซีซี ๑ คัน และค่าเสียหายในการทำงานวันละ ๒๐๐ บาท ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จ่ายค่าเสียหายคนละ ๒๐๐ บาทต่อวันให้แก่ผู้ฟ้องคดี

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจากการสอบสวนคดีอาญาโดยมิชอบ จึงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำแผนที่เกิดเหตุบิดเบือนช่วยเหลือฝ่ายที่ชนรถผู้ฟ้องคดีที่รอกลับรถอยู่ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ไประมาทตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ความช่วยเหลือผู้ผิดให้เป็นฝ่ายถูกแต่ผู้เดียว ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ บังคับให้นายทนงคนขับรถทัวร์ที่วิ่งมาทับรถจักรยานยนต์ของผู้ฟ้องคดีได้ให้การปรักปรำผู้ฟ้องคดีว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้หยุดรถที่ซุ้มประตูวัดสุบรรณนิมิต แต่วิ่งขึ้นบนถนนใหญ่เฉี่ยวชนกับรถทัวร์ที่นายทนงเป็นคนขับ โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ จึงขอให้ศาลพิจารณาเพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อผู้เดือดร้อนการละเมิดต่อหน้าที่ราชการ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๖๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กรณีบ้านของผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกคนร้ายรื้อถอนทำลายและลักเอาทรัพย์สินภายในบ้านไป ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสองสืบทราบว่านายจันทร์กับพวกรวม ๓ คน ร่วมกันเป็นคนร้ายรื้อถอนทำลายและลักทรัพย์สินภายในบ้านของผู้ฟ้องคดี จึงได้ชี้ให้จับกุมผู้ต้องหาทั้งสาม และเมื่อสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสามแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ได้ปล่อยตัวไป และได้สรุปสำนวนทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องเสนอไปยังพนักงานอัยการ ซึ่งต่อมาภายหลังทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาทั้งสาม ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำหรือไม่กระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อสิทธิและก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายอย่างยิ่งแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่ง
๑) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑.๕๐ บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
(๒) ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีอาญาและวินัยกับผู้ถูกฟ้องคดี
(๓) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าชำระค่าธรรมเนียมแทนผู้ฟ้องคดีทั้งสองด้วย

ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวโดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๖๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๒ ขณะผู้ฟ้องคดีอยู่ภายในบริเวณบ้านของผู้ฟ้องคดี ได้ถูกนายนิคมเข้าทำร้ายร่างกาย เมื่อผู้ฟ้องคดีไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางคล้าเพื่อแจ้งความ กลับถูกผู้ถูกฟ้องคดีกลั่นแกล้งดำเนินคดีแก่ผู้ฟ้องคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ขณะฟ้องคดีนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากความผิดในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ และให้พิจารณาลงโทษผู้ถูกฟ้องคดี

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเรื่องที่ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๕ ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๕ และได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น สรุปความว่าขอให้ศาลปกครองสูงสุดวิเคราะห์พิจารณาผลคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดีใหม่

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๗๒/๒๕๔๕ ลงวันทีั่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทำการจับกุมนายพโนมลหรือเล็กบุตรของผู้ฟ้องคดีโดยการนำเอายาเสพติดที่ได้มาจากการจับกุมบุคคลอื่นและยัดเยียดข้อหาให้แก่บุตรของผู้ฟ้องคดี และเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ พนักงานอัยการได้ฟ้องบุตรของผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดภูเก็ต ทำให้บุตรของผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย และผู้ฟ้องคดียังได้ฟ้องถึงการใช้กฎหมายฟอกเงินของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถ้านักการเมืองและรัฐบาลยังคงใช้กฎหมายฟอกเงินอยู่เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจฉวยโอกาสโดยมิชอบเพื่อต้องการฉ้อโกงทรัพย์สินของผู้อื่นทำให้คนถูกกลับเป็นคนผิด และทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทุจริตหลุดพ้นจากความผิดได้เพราะกฎหมายฟอกเงินดังกล่าว จึงขอให้ศาลปกครองดำเนินการ ดังนี้
๑. ให้เร่งดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
๒. ให้ปลดเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กระทำความผิดออกจากราชการ
๓. ให้ศาลพิพากษาให้ศาลจังหวัดภูเก็ตปล่อยตัวบุตรของผู้ฟ้องคดีและยกฟ้องโจทก์
๔. ให้ศาลเพิกถอนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๖๔/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๑๓ รายที่ใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินคดีอาญากับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกในความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาศาลจังหวัดสุรินทร์พิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ ๑ ปี ปรับคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ตามคดีหมายเลขดำที่ ๕๘๕/๒๕๓๖ หมายเลขแดงที่ ๔๙๗/๒๕๓๖ ของศาลจังหวัดสุรินทร์ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกคนละ ๖ เดือน และปรับคนละ ๕,๐๐๐ บาท คดีถึงที่สุด ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๑๓ รายดังกล่าวเป็นการละเมิดก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง สอง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๑๓ รายร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑.๕๐ บาทต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวโดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๑๓ รายไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๘๔/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๗ พันตำรวจโทจรัลกับพวก รวม ๑๐ คนเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลท่าเรือได้เข้าตรวจค้นบ้านพักและจับกุมผู้ฟ้องคดี กล่าวหาว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายโดยฝ่าฝืนกฎหมาย หลังจากนั้น ได้ร่วมกันทำบันทึกการตรวจค้นและจับกุม บัญชีของกลางและบันทึกการตรวจยึดเงินของกลางซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทั้งได้เรียกเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จากผู้ฟ้องคดี นอก จากนี้ยังได้เบิกความเท็จและเสนอพยานหลักฐานเท็จต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีหมายเลขดำที่ ๖๐๓๐/๒๕๓๙ จนศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้ฟ้องคดี ระหว่างที่ถูกดำเนินคดี ผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้บุตรชายไปร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๒ กล่าวหาพันตำรวจโทจรัลกับพวกว่าร่วมกันทำเอกสารราชการเท็จ ใช้เอกสารราชการเท็จในการพิจารณาคดีของศาล เบิกความเท็จ ร่วมกันกรรโชกทรัพย์และยัดเยียดยาบ้า แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้ดำเนินการจนล่วงเลย ๒ ปีแล้ว ขอให้ศาลปกครองดำเนินคดีอาญาแก่พันตำรวจโทจรัลกับพวกเพื่อให้รับโทษตามความผิดและขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานในคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น