วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑๗)

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๔๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีประกอบอาชีพรับจ้างเป็นนายท้ายเรือให้แก่นายทองและนางสมหมาย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ขณะที่ผู้ฟ้องคดีกำลังซ่อมเครื่องยนต์เรือโป๊ะข้ามฟากท่าเรือตลาดสรรพยา ร้อยตำรวจโทไตรรงค์ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และจ่าสิบตำรวจตรีจำนงค์ (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประสงค์จะนั่งเรือข้ามฟาก ผู้ฟ้องคดีบอกว่าเครื่องยนต์ขัดข้องแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่พอใจจึงสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำร้ายผู้ฟ้องคดี จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยาและกล่าวหาผู้ฟ้องคดีว่าขับขี่เรือโดยไม่มีใบอนุญาต ผู้ฟ้องคดีจึงได้แสดงประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลลำน้ำชั้นสองให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดู แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บอกว่าใช้ไม่ได้และยังทำร้ายร่างกาย ผู้ฟ้องคดีเพื่อให้รับสารภาพแต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยอม จึงถูกนำตัวไปคุมขังในวันดังกล่าวนายทองและนางสมหมายกับนายฉวนมาขอประกันตัวผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่อยู่ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๓๘ ศาลจังหวัดชัยนาทได้มีคำพิพากษาปรับผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๕๐๐ บาทฐานขับขี่เรือ (เป็นนายท้ายเรือ) โดยไม่มีใบอนุญาต ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ได้ระบุคำขอให้ชัดเจนและตามคำฟ้องปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของผู้ฟ้องคที่มอบให้นายอุกฤษดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีนั้นไม่ปิดอากรแสตมป์และไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองการมอบอำนาจดังกล่าว

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๐๔/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๕

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ที่ ๘๓๔/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานเป็นผู้กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนและกระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ถูกตามขั้นตอนวิธีปฏิบัติ เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ กลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเสียหาย จึงได้มีหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานและบุคคลหลายคน และได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยได้ไปแถลงการณ์ด้วยวาจาประกอบคำร้องทุกข์ด้วย แต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีมติให้ยกอุทธรณ์และรองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจปรากฏตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่ มท ๐๕๔๕.๓/๑๐๖๐ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ขึ้นใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำร้องขอกลับเข้ารับราชการตำรวจโดยอ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ให้ล้างมลทินแก่ผู้ที่เคยถูกลงโทษทางวินัยโดยได้ยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ และยื่นครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่ไม่ทราบผลการพิจารณา ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อกรรมาธิการปกครองของวุฒิสภา แต่ได้รับแจ้งให้ไปใช้สิทธิทางศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงไปติดตามผลอุทธรณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จึงรู้ว่าถูกยกอุทธรณ์แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมตำรวจที่ ๘๓๔/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตำรวจรวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากคำสั่งไล่ออกดังกล่าวตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้อง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๑๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๕

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๔ (ที่ถูกต้องคือวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๔) ว่าผู้ฟ้องคดีถูกเพื่อนบ้านกลั่นแกล้งหลายกรณีด้วยกัน บางกรณีเมื่อผู้ฟ้องคดีไปแจ้งความดำเนินคดีกลับกลายเป็นว่าผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ต้องหาเสียเอง ครั้นผู้ฟ้องคดีประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดีผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่รับแจ้งความ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานของราชการหลายหน่วยงานแล้ว แต่ไม่เป็นผล ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีอาญาละเลยไม่รับแจ้งความในคดีที่ผู้ฟ้องคดีร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นเป็นเรื่องของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ศาลไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้จึงมีคำสั่งลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ และได้ยื่นหนังสือลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ พร้อมหนังสือลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ ถึงศาลปกครองชั้นต้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ โดยหนังสือลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ระบุว่า ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์แล้วขอทราบผลการอุทธรณ์และหนังสือลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ ระบุว่าขอให้ดำเนินการอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ ๑๔๒๓/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๕๙๙/๒๕๔๔ และต่อมาได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ชี้แจงต่อสำนักงานศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับคำร้องอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่าผู้ฟ้องคดีได้ส่งจดหมายมายังศาลปกครองชั้นต้นให้ดำเนินการแล้ว เจ้าหน้าที่ของศาลปกครองชั้นต้นต้องเขียนคำร้องอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีโดยแนบจดหมายที่มีลายมือชื่อผู้ฟ้องคดีไว้ด้วยหรือไม่ก็ต้องแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีมากรอกแบบคำร้องอุทธรณ์ที่ศาล

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๓๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ นายเทพนิมิตรบุตรชายของผู้ฟ้องคดีประสบอุบัติเหตุรถยนต์ที่ขับขี่โดยนายพงษ์ศักดิ์พลิกคว่ำและเสียชีวิต ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพจำนวน ๒๑
,๐๓๗ บาท แต่แม่ชีกัญยา (นางกัญญา) มารดาของนายเทพนิมิตรได้ทำบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากนายพงษ์ศักดิ์เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ไว้แล้ว ซึ่งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้รับทราบกรณีดังกล่าวภายหลังจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ฟ้องคดีไป จึงได้ดำเนินการเรียกร้องเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน ๒๑,๐๓๗ บาทนั้นคืนจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการทำบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความระหว่างแม่ชีกัญยา (นางกัญญา) กับนายพงษ์ศักดิ์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ นั้นทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นคืนจึงขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบค่าเสียหายเบื้องต้นตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนี้แทน

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๔๖/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๑ ผู้ฟ้องคดีได้สมัครเป็นสมาชิกสมาคมสหพันธ์โหร แพทย์แผนโบราณประเภทสามัญ เลขที่ ๓๒๕๑/๕๘/๔๑ โดยนายกสมาคมที่ลงชื่อในบัตรสมาชิกใช้นามว่า ดวงสุริยเนตร ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าคือนายสำราญ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทราบภายหลังว่าเดิมสมาคมดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งในนามสมาคมสหพันธ์โหรเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๔ แต่ไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมสหพันธ์โหร แพทย์แผนโบราณต่อผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นสมาคมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้อ้างข้อความจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๓ ว่านายสำราญได้ให้สัมภาษณ์ว่าสมาคมสหพันธ์โหร แพทย์แผนโบราณได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมสหพันธ์โหร แพทย์แผนไทยแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๓ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ดำเนินการสอบสวนการดำเนินการของสมาคมสหพันธ์โหรว่าเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมหรือไม่และลงโทษนายสำราญที่อ้างตนเองว่าเป็นนายกสมาคมสหพันธ์โหร แพทย์แผนโบราณซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความรับผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ ต่อมาในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๔ ร้อยตำรวจเอกจิรศักดิ์ไกรเพชร สารวัตรงาน ๕ กองกำกับการ ๓ กองตำรวจสันติบาล ๒ ในฐานะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำร้องขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อบังคับหรือเปลี่ยนแปลงบุคคลซึ่งรับมอบหมายเป็นผู้จัดการสมาคมได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าจากการตรวจสอบปรากฏว่าสมาคมสหพันธ์โหรตั้งแต่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๔ ไม่เคยยื่นเรื่องขอแก้ไขข้อบังคับหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ และวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๔ สมาคมได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับย้ายสถานที่ตั้งสำนักงานของสมาคมและเปลี่ยนแปลงกรรมการแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินคดีอาญากับนายสำราญ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายจึงขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ยื่นร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๓ และได้โอนมาเป็นคดีของศาลปกครองเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๔ ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ศาลสั่งให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กรมตำรวจ) ที่ ๗๑๖/๒๕๒๖ สั่ง ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๑ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๔ ตามคดีหมายเลขดำที่ ๘๔๕/๒๕๔๔ และคดีหมายเลขแดงที่ ๘๕๐/๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นตามคำสั่งที่ ๔๓/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่าการที่ศาลปกครองชั้นต้น สั่งไม่รับคำฟ้องเพราะผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องเมื่อพ้นเวลาในการฟ้องคดีนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นมิได้เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี การนำคดีมาฟ้องต่อศาลอายุความย่อมสะดุดหยุดลง อายุความจะเริ่มนับแต่เมื่อไรศาลมีหน้าที่ต้องรู้แต่แสร้งไม่รู้ ถือว่าปกปิดความจริงซึ่งควรต้องแจ้งแต่ไม่แจ้ง เป็นการปกปิดซ่อนเร้นความจริงให้เป็นความเท็จ และนำความเท็จมาเป็นคำสั่งว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาแห่งการฟ้องคดี เป็นคำสั่งประเภทขี่ม้าเลียบค่ายไม่มีการนั่งพิจารณาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ไม่มีการไต่สวน คดีไม่ขาดอายุความ การสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาของศาลปกครองกลางเป็นคำสั่งไม่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นการใช้อำนาจโดยอำเภอใจไร้เหตุผลโดยไม่มีอำนาจ

ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ให้เป็นไปตามคำขอตามคำฟ้องคือขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมตำรวจที่ ๗๑๖/๒๕๒๖ สั่ง ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการใหม่โดยได้เงินเดือนและเงินต่าง ๆ ที่พึงได้จากทางราชการรวมทั้งดอกเบี้ยย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ถูกไล่ออก

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖๕/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๕

เรือง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้ถูกปลัดกระทรวงมหาดไทยอนุมัติการจับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม ๗ คนและถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน และความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. ๒๔๙๓ ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. ๒๔๙๓ เท่านั้นส่วนข้อหาอื่นยก

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่ผู้ฟ้องคดีถูกจับกุมดำเนินคดีอาญาดังกล่าวและต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเป็นผลจากการถูกจับกุมดำเนินคดีอาญาดังกล่าวหลายประการ สรุปได้คือผู้ฟ้องคดีได้รับการกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายจิตใจและด้านอื่นๆ การจับกุมดำเนินคดีอาญาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ฟ้องคดีถูกกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สูญเสียอิสรภาพ เสียโอกาสในด้านต่างๆ เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศวงศ์ตระกูล ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและครอบครัวและของกลางบางส่วนเสียหายและสูญหายไปในระหว่างถูกดำเนินคดีโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาล

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๗๔/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดูแลวัดนามธารีและเป็นตัวแทนศาสนิกชนชาวซิกข์ นิกายนามธารีและเป็นผู้ครอบครองบ้านเลขที่ ถนนสุขุมวิท ๒๑ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งของวัดนามธารี ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้อนุญาตให้จัดตั้งสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๕ ตามทะเบียนสมาคมเลขที่ จ.๓๒๔๒ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับในการปฏิบัติราชการเพราะนายวิทยากับพวกรวม ๑๘ คน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทยได้แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเกี่ยวกับการทำหนังสืออนุญาตให้ใช้สถานที่ของวัดนามธารีเป็นที่ตั้งสำนักงานของสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยคณะผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมฯ ได้นำเอาหนังสืออนุญาตให้ใช้สถานที่ที่ทำโดยนายประเสริฐในฐานะผู้ชำระบัญชีของสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว พร้อมทั้งประทับตราของสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทยใหม่ที่ยังมิได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนสมาคม และนายประเสริฐทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้ชำระบัญชีสมาคมฯ เดิมมิใช่เจ้าของสถานที่ จึงไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งสำนักงานของสมาคมฯ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ได้ สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้อนุญาตให้จัดตั้งสมาคมฯ โดยรู้อยู่แล้วว่านายประเสริฐไม่ใช่เจ้าของสถานที่ เพราะกลุ่มบุคคลที่ขอจัดตั้งสมาคมฯ ใหม่ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความขัดแย้งกับกลุ่มศาสนิกชนที่นับถือศาสนาซิกข์ นิกายนามธารี ที่ซื้อที่ดินมาสร้างวัดนามธารี โดยมีผู้ฟ้องคดีเป็นตัวแทนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้ ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือคัดค้านในการจัดตั้งสมาคมฯ และคัดค้านการใช้สถานที่วัดนามธารีเป็นสำนักงานสมาคมฯ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับฟัง

นอกจากนั้นการอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมฯ ยังได้ปฏิบัติผิดระเบียบ กล่าวคือการอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมฯ และออกหนังสืออนุญาตจัดตั้งสมาคมฯ โดยมิได้มีการตรวจสอบสถาน ที่ที่ใช้เป็นที่ตั้งของสมาคมฯ ก่อน เพราะได้อนุญาตให้จัดตั้งสมาคมฯ ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๕ แต่การตรวจสอบสถานที่ที่ใช้เป็นที่ตั้งสมาคมฯ ได้ตรวจสอบเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการตรวจสอบภายหลังจากที่มีการอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมฯ แล้ว อีกทั้งตามระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบสถานที่จัดตั้งสมาคมฯ ผู้มีอำนาจตรวจสอบคือตำรวจท้องที่ แต่การจัดตั้งสมาคมฯ นี้ ตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ ๓ กองตำรวจสันติบาล ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าขั้นตอนต่าง ๆ ของการตรวจสถานที่ที่ใช้เป็นที่ตั้งสมาคมฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และ ผู้ขอจัดตั้งสมาคมฯ ร่วมสมคบกันจัดตั้งสมาคมฯ ขึ้นใหม่ โดยมีพฤติการณ์ที่เป็นการทุจริตต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นผลให้นายซาร์ดาร์ซึ่งได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฯ คนต่อมาอ้างข้อความอันเป็นเท็จ พร้อมทั้งแสดงเอกสารหลักฐานการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ ถนนสุขุมวิท ๒๑ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จต่อสำนักงานเขตวัฒนา ทำให้เจ้าพนักงานของเขตวัฒนาคัดชื่อผู้ฟ้องคดีออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าวไป ไว้ในทะเบียนกลาง ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียสิทธิในการเลือกตั้ง และเขตวัฒนาได้ออกทะเบียนบ้านฉบับใหม่ให้กับสมาคมฯ โดยมิได้ตรวจสอบตามสิทธิหรือเอกสารที่ถูกต้อง

เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทยใหม่ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องคัดค้านการจัดตั้งสมาคมฯ แห่งใหม่ว่ามิชอบด้วยกฎหมายเพราะที่ดินดังกล่าวยังมีข้อพิพาทกันอยู่ตามบันทึกข้อความ ที่ ๐๕๑๕/๒๔๘๗ ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๒๒ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในการเพิกถอนสมาคมฯ เดิมเลขที่ จ.๗๓๐ และมีการจัดตั้งสมาคมฯ ใหม่เลขที่ จ.๓๒๔๒ โดยการนำที่ดินดังกล่าวใช้เป็นที่ตั้งของสมาคมฯ ใหม่ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๖ ขอปลดเปลื้องทุกข์จากการกระทำดังกล่าวพร้อมทั้งขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ ผู้ฟ้องคดีและศาลได้มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยโอนขาย ยักย้ายจำหน่ายหรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๐๐๐ และ ๔๒๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการอนุญาตให้ใช้สถานที่ดังกล่าวและขอให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ก็ไม่เป็นผล กลับอนุญาตให้ใช้สถานที่ดังกล่าวจัดตั้งสมาคมฯ ใหม่ นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมตำรวจ มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๙ ขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหนังสือลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ร้องเรียนต่อผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ แต่หน่วยงานดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ขอให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย (ใหม่) พร้อมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้สถานที่ตั้งสมาคมฯ ใหม่และคำสั่งใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ๅ ๓๗๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เวลาประมาณ ๘ นาฬิกา ขณะผู้ฟ้องคดีกำลังขายผักสดในตลาดห้วยขวาง ได้มีปากเสียงกับนายพิพรแล้วถูกนายพิพรใช้ท่อนไม้ตีศีรษะ ๕-๖ ครั้ง จนศีรษะแตกเลือดอาบ จากนั้นนายพิพรได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางว่าผู้ฟ้องคดีทำร้ายร่างกาย ผู้ฟ้องคดีจึงตามไปและแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีให้ควบคุมตัวนายพิพรไว้เป็นผู้ต้องหา ต่อมาวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวโดยไม่มีประกัน ผู้ฟ้องคดีได้สอบถามความคืบหน้าในการติดตามผู้ต้องหามาดำเนินคดี ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยมา ๒ เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ดำเนินคดีใดๆ แก่ผู้ต้องหา ขอให้ศาลพิพากษาและมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลกำหนด หากไม่ดำเนินการขอให้ชดใช้เงินต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีติดตามจับกุมผู้ต้องหาซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทอันเกิดจากการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมทางอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจเจ้าหน้าที่ไว้โดยเฉพาะ การละเมิดอันเกิดจากกระบวนยุติธรรมทางอาญามิใช่คดีฟ้องเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีควบคุมผู้ต้องหาไว้แล้วปล่อยตัวผู้ต้องหาไป เป็นการกระทำละเมิดกฎหมายอาญาทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย จึงขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๘๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๓ ขอความเป็นธรรมกรณีกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์รับเงินจากผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุก ในชั้นแรกกองบังคับการตำรวจทางหลวงมีคำสั่งให้ระงับทัณฑ์ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกับพวกมิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา แต่ในชั้นพิจารณาของกรมตำรวจปรากฏว่ากรมตำรวจมีคำสั่งที่ ๔๑๔/๒๕๓๙ สั่ง ณ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยแยกการสอบสวนนายดาบตำรวจณัฐพลที่ถูกกล่าวหาในความผิดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๐๒ เนื่องจากได้รับการเลื่อนยศ โดยผู้ฟ้องคดีมิได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว ต่อมากรมตำรวจพิจารณามีมติให้ยุติเรื่องของนายดาบตำรวจณัฐพลตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื่องจากกองบังคับการตำรวจทางหลวงได้มีคำสั่งที่ ๓๙/๒๕๓๕ สั่ง ณ วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ ระงับทัณฑ์ไปแล้ว คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทราบคำสั่งไล่ออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่มายื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นระยะเวลาเกิน ๙๐ วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่งไล่ออกจากราชการ จึงมีมติไม่รับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น