วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๙)

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๓๔/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งศาสตราจารย์ (สบ ๕) ภาควิชาการสืบสวน ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวนกองบังคับการวิชาการ กองบัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (สบ ๕) ในภาควิชาดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้เสนอผลงานเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ (สบ ๕) และได้ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินและการแต่งตั้งตามมติ ก.ตร.ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๕ กองบังคับการวิชาการ กองบัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จึงได้มีหนังสือที่ ๐๐๒๘.๓๑๒/๓๕๕ ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (สบ ๕) ภาควิชาการสืบสวน ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวน กองบังคับการวิชาการ กองบัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วได้มีคำสั่งที่ ๒๑๐/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ เป็นต้นไปโดยให้เหตุผลว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต้องปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ ๐๐๐๖.๓๓๕/๓๗๖๖ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการสั่งการทั่วๆ ไป แต่กรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นเรื่องเฉพาะตามมติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๕ ซึ่งไม่ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีอีก โดยหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมติ ก.ตร. นั้น มีมาตรฐานสูงกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทั้งกรณีของผู้ฟ้องคดีมิใช่กรณีที่จะต้องมีการกันตำแหน่งเพราะผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งในทางวิชาการ โดยมีเลขตำแหน่งเดิมมาตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการภาควิชาการสืบสวนผู้ฟ้องคดีมีหนังสือ ที่ ๐๐๒๘.๓๓๑/๓๔๓ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ ถึงผู้บังคับการกองบังคับการวิชาการ ขอให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งที่แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (สบ ๕) ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดยให้คำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๗ ผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการได้มีหนังสือ ที่ ๐๐๒๘.๑๒๑/๒๓๓๖ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เสนอเรื่องของผู้ฟ้องคดีไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งพิจารณาแล้วได้บันทึกข้อความต่อท้ายหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ว่า “ให้ยุติเรื่อง
และให้ผู้บังคับการกองบังคับการวิชาการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และอนุญาตให้สำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องได้” ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งเดิมและไม่ได้แสดงเหตุผลว่าเหตุใดจึงแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีล่าช้าทำให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติของผู้ที่ขอประเมินเพื่อดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (สบ ๖) ข้อ ญ ตามมติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๕ ที่กำหนดว่าผู้ที่จะขอประเมินต้องดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (สบ ๕) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ ๒๑๐/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ แต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (สบ ๕) ภาควิชาการสืบสวน ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวน กองบังคับการวิชาการ กองบัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๓๖/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ ๙๐๗/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๕ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเนื่องจากถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง กรณีต้องหาคดีอาญาฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้เสื่อมเสียเสรีภาพ กรรโชกทรัพย์ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งที่ ๙๐๖/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๕ ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยกรณีถูกกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี เล่มที่ ๑ ลักษณะที่ ๑ บทที่ ๑๒ ข้อ ๒ ข้อ ๓ โดยข้อ ๒ ระบุว่าถ้าตำรวจผู้ใดต้องคดีอาญาเพราะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หรือถูกกลั่นแกล้งกล่าวหา ให้ผู้บังคับบัญชาหาทางช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรมจนเต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้ และข้อ ๓ ระบุว่าตำรวจผู้ใดต้องหาคดีอาญาเพราะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตหรือถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาไม่ต้องพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยแต่อย่างใดอีก กรณีของผู้ฟ้องคดีที่ต้องคดีอาญาในครั้งนี้เพราะถูกกลั่นแกล้ง ไม่เป็นความจริงตามที่ถูกกล่าวหา โดยข้อเท็จจริงในคดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนประจำสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจ่าสิบตำรวจอัชฌาได้นำตัวนายพิชยาผู้ขับรถยนต์ตู้คันหมายเลขทะเบียน ๑๒-xxxx กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนกับผู้ขับขี่รถยนต์เก๋งคันอื่นและคู่กรณีทั้งสองคนได้ลงมาทะเลาะวิวาทกันข้างถนน โดยคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งถูกญาตินำตัวมาส่งโรงพยาบาลเลิดสิน แต่จากการที่ผู้ฟ้องคดีตรวจสอบรถที่เกิดเหตุทั้งสองคันไม่ปรากฏร่องรอยการเฉี่ยวชนแต่อย่างใด ขณะอยู่สถานีตำรวจนายพิชยาได้เอะอะโวยวาย ผู้ฟ้องคดีจึงนำตัวไปสงบสติอารมณ์ด้านในใกล้ห้องขังจนกระทั่งนางนริศราซึ่งเป็นภรรยาของนายกฤษณะคู่กรณีของนายพิชยา มาพบผู้ฟ้องคดี แจ้งว่านายกฤษณะได้เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ฟ้องคดีจึงนำศพนายกฤษณะส่งชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการตาย และจากการสอบปากคำนางนริศรา ได้ความว่าเมื่อนายกฤษณะกับนายพิชยา ได้ขับรถเฉี่ยวชนกันแล้ว คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ลงมาโต้เถียงกัน และนายพิชยาได้นำอาวุธมีดยาวประมาณ ๒ ฟุต ลงมาจากรถยนต์ตู้ และเงื้อที่จะฟันนายกฤษณะ แต่เนื่องจากผู้คนผ่านไปมาจำนวนมากจึงนำมีดไปเก็บและกลับมาโต้เถียงกันใหม่จนนายกฤษณะเกิดอาการช็อก ส่วนจ่าสิบตำรวจอัชฌา ให้ปากคำว่าเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุคู่กรณีทั้งสองได้แยกย้ายไปแล้วจึงไม่เห็นเหตุการณ์ จึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอรับฟังว่าฝ่ายใดเป็นผู้ผิดจึงต้องรอผลการชันสูตรพลิกศพก่อน ระหว่างนั้นได้มีญาติของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาตกลงค่าเสียหายกันที่สถานีตำรวจ โดยนางอุษาและนายพิสิษฐ์พี่สาวและพี่เขยของนายกฤษณะได้ตกลงค่าเสียหายกับนายสมบุญบิดาของนายพิชยาจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และนางอุษา ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่านายสมบุญ บิดาของนายพิชยาตกลงจะทำสัญญากู้ยืมเงินไว้ให้เป็นหลักฐานและทำเรื่องโอนรถยนต์ตู้ให้เป็นหลักประกันเนื่องจากไม่มีเงินสดมอบให้ ผู้ฟ้องคดีจึงแจ้งให้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวอาจมีผลบ้างในด้านการบรรเทาโทษหากมีความผิดจริงและหากมีพยานหลักฐานชัดเจนนายพิชยาก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่ดี ส่วนนายพิชยายังมีอาการคล้ายมึนเมาอยู่ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ให้สิบตำรวจโทบุญถมเจ้าหน้าที่สิบเวรนำตัวนายพิชยาไปนั่งอยู่ข้างโต๊ะสิบเวร (หน้าห้องขัง) และได้สั่งสิบเวรว่าเมื่อหายเมาแล้วให้ปล่อยตัวกลับไป ซึ่งสิบเวรก็ทราบระเบียบปฏิบัติเป็นอย่างดีอยู่แล้ว หากนายพิชยาหรือญาติเห็นว่าถูกควบคุมตัวไว้ไม่ชอบก็สามารถร้องขอต่อสิบเวรให้เจ้าพนักงานสอบสวนที่เข้าเวรต่อจากผู้ฟ้องคดีทราบได้แต่ปรากฏว่าไม่มีพนักงานสอบสวนคนใดทราบว่านายพิชยาถูกขังในข้อหาเมาสุราแต่อย่างใดและผู้ฟ้องคดีทราบจากนางอุษาว่านายสมบุญ บิดาของนายพิชยาตกลงจะให้นายพิชยาอยู่ที่สถานีไปก่อนจนกว่านายสมบุญจะนำเงินมาให้ แต่ต่อมาวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๕ บิดาของนายพิชยา ไม่ได้นำเงินมาชำระตามที่ตกลงกัน นางอุษาจึงประสงค์จะดำเนินคดีกับนายพิชยาตามกฎหมายต่อไป นายพิชยาได้ถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ และเมื่อนายพิชยาถูกดำเนินคดีแล้ว บิดาของนายพิชยาได้มาขอร้องต่อผู้ฟ้องคดีให้ช่วยเหลือเจรจากับนางนริศรามิให้ดำเนินคดีกับนายพิชยา แต่ผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าไม่สามารถช่วยเหลือได้ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีปฏิเสธการช่วยเหลือนายสมบุญพูดว่าจะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดี ซึ่งต่อมาวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕ นายพิชยาจึงร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ฟ้องคดีข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังให้เสื่อมเสรีภาพ กรรโชกทรัพย์และเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่ผู้ฟ้องคดีถูกแจ้งความดำเนินคดีเป็นการกลั่นแกล้ง สมควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองตามระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนโดยไม่มีการสอบสวนเบื้องต้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖ ว่าด้วยการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ตามที่กฎหมายรับรองต้องถือว่าผู้ฟ้องคดียังบริสุทธิ์อยู่ คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายอย่างยิ่ง ต้องเสียสิทธิต่างๆ ในฐานะที่เป็นข้าราชการตำรวจและทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากสภาพจากการเป็นข้าราชการตำรวจไปซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑ ไม่มีมาตราใดบัญญัติไว้ให้ข้าราชการตำรวจต้องออกจากราชการโดยที่ยังไม่ถูกลงโทษทางวินัย การที่ผู้ฟ้องคดีต้องออกจากราชการเพราะคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การออกจากราชการของข้าราชการตำรวจต้องเป็นไปตามกฎหมายตำรวจเท่านั้น การจะอ้างเอาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาใช้นั้นตามกฎหมายดังกล่าวการจะให้ข้าราชการพลเรือนออกจากราชการจะต้องเป็นการให้ข้าราชการผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยต้องออกจากราชการอันเนื่องมาจากการลงทัณฑ์เท่านั้น แต่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ถูกลงทัณฑ์ในเรื่องที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนแต่อย่าง ใด ดังนั้นคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๓๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ ๓ กองกำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร ๓ ผู้ฟ้องคดีได้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงและถูกดำเนินคดีอาญา กรณีถูกกล่าวหาว่าเรียกและรับเงินในการรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการตำรวจ ผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษาได้มีคำสั่งที่ ๒๑๗/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและถูกถอดยศ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติให้ยกอุทธรณ์ ส่วนคดีอาญาศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาเมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอบรรจุกลับเข้ารับราชการตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าการขอบรรจุกลับเข้ารับราชการตำรวจจะต้องยื่นคำขอตามแบบต่อสังกัดเดิมที่เคยรับราชการอยู่ หรือต่อสังกัดที่มีความประสงค์จะกลับเข้ารับราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๒ ยื่นแบบคำขอกลับเข้ารับราชการตำรวจต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้เสนอเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้พิจารณาคำขอบรรจุกลับเข้ารับราชการของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณาแล้วได้มีหนังสือศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๓ ที่ ตช ๐๐๑๘.๓๑๒/๑๖๘๕ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าการบรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตำรวจไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากขัดต่อระเบียบ หลังจากได้รับทราบคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามหนังสือดังกล่าวแล้วผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ แต่เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นคำฟ้องเป็นคดีนี้ต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๕๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (สบ. ๕) ยศพันตำรวจเอกได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการตามคำสั่งโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่ ๔๕๘/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๕ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงดำเนินการเสนอให้มีการถอดยศผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติยศตำรวจ พ.ศ. ๒๔๘๐ ต่อมา มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรถอดยศผู้ฟ้องคดีตั้งแต่ วันที่ถูกไล่ออกจากราชการ โดยประกาศฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการถอดยศในขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้พ้นจากหน้าที่ราชการไปแล้ว และไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอีกต่อไป ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการดำเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด การดำเนินการถอดยศผู้ฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยศเป็นเอกสิทธิ์ เป็นเกียรติยศเฉพาะตัวของผู้ฟ้องคดีและไม่ได้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งราชการ เป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ ที่ให้เสนอขอถอดยศตำรวจแก่ผู้ที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้วก็เป็นการขัดต่อรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เช่นเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๘๐/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายลิงก์
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจสันติบาลที่ ๓๗/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกรณีผู้ฟ้องคดีต้องหาและถูกฟ้องคดีอาญา โดยเมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองสารวัตรงาน ๔ กองกำกับการ ๕ กองตำรวจสันติบาล ๑ ได้จัดทำหนังสือและลงนามปฏิบัติราชการแทนสารวัตรถึงนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนชุมชนคลองจั่น จำกัด เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผลการตรวจสอบหรือสืบสวนสอบสวนพบว่าสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนชุมชนคลองจั่น จำกัด มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของผู้ฟ้องคดีไปโดยทุจริตเป็นเงินจำนวน ๖๘.๙๔ บาท นอกจากนั้นยังพบการกระทำความผิดอย่างอื่นอีกหลายประการ ผู้ฟ้องคดีจึงได้จัดทำหนังสืองาน ๔ กองกำกับการ ๕ กองตำรวจสันติบาล ๑ ที่ ๐๖๒๔.๒๕๔/๙๙ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๐ ที่ ๐๖๒๔.๒๕๔/๑๔๕ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๐ และที่ ๐๖๒๔.๒๕๔/พิเศษ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เสนอคำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษต่อผู้บังคับบัญชา(โดยเสนอผ่านพันตำรวจโท สราวุฒิ การพานิช ซึ่งเป็นสารวัตรงาน ๔ กองกำกับการ ๕ กองตำรวจสันติบาล ๑ ในขณะนั้น) เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนชุมชนคลองจั่น จำกัด นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เครดิตยูเนี่ยนชุมชนคลองจั่น จำกัด และเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์บางคน แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าพันตำรวจโท สราวุฒิ ไม่ดำเนินการใด ๆ จึงได้มีหนังสืองาน ๔ กองกำกับการ ๕ กองตำรวจสันติบาล ๑ ที่ ๐๖๒๔.๒๕๔/๑๘ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ร้องทุกข์และขอทราบผลการดำเนินการต่อผู้กำกับการ ๕ กองตำรวจสันติบาล ๑ ซึ่งต่อมาได้รับแจ้งผลตามหนังสือกองกำกับการ ๕ กองตำรวจสันติบาล ๑ ที่ ๐๖๒๔.๒๕/-ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ว่าพันตำรวจโท สราวุฒิ ยืนยันว่าได้เคยสั่งการด้วยวาจาให้ผู้ฟ้องคดีไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้วสำหรับในส่วนของกองกำกับการ ๕ กองตำรวจสันติบาล ๑ เห็นว่าเนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้พบการกระทำความผิดได้รวบรวมพยานเอกสารและพยานบุคคลไว้หลายรายการ สามารถนำไปใช้ประกอบการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดต่อไป ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือร้องทุกข์และกล่าวโทษนายศุภชัยกับพวกต่อกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกองปราบปรามในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและข้อหาอื่น ๆ ที่รัฐเป็นผู้เสียหาย และยังได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษนายศุภชัยกับพวกในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและข้อหาอื่น ๆ ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวอีกครั้ง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่ตนมีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อนายศุภชัยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฟ้องคดีในข้อหาปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมและได้ฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลอาญาในคดีหมายเลขดำที่ ๓๒๗๘/๒๕๔๑ ในข้อหาเกี่ยวกับความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมอันเป็นผลสืบเนื่องมา จากกรณีดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเพราะสาเหตุเกิดจากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหา จึงไม่ต้องถูกพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ ๑ บทที่ ๑๒ ข้อ ๓ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งสำนักงานตำรวจสันติบาล ที่ ๓๗/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ นาฬิกา ร้อยตำรวจโทเดรินิว รองสารวัตรงานจราจร และจ่าสิบตำรวจชัยรัตน์ ผู้บังคับหมู่งานจราจร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสถานีตำรวจนครบาลท่าพระ สังกัดส่วนราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ตั้งจุดกวดขันวินัยจราจรบริเวณถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นเวลาเดียวกับขณะที่ผู้ฟ้องคดีขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปทางสี่แยกท่าพระ จ่าสิบตำรวจชัยรัตน์ได้ทำการจับกุมผู้ฟ้องคดีโดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าขับรถไม่ใกล้ขอบทางด้านซ้าย และได้ยึดใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ของผู้ฟ้องคดี พร้อมทั้งออกใบสั่งแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจนครบาลท่าพระซึ่งในขณะถูกจับผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลท่าพระได้ออกใบชำระค่าปรับในข้อหาดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๔๐๐ บาท และยึดใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ของผู้ฟ้องคดีเป็นเวลา ๑๕ วัน พร้อมทั้งตัดคะแนน ๑๐ คะแนน โดยมิได้มีการสอบสวนถึงความผิดตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่ให้ลงลายมือชื่อรับสารภาพ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้ให้การว่าผู้ฟ้องคดีขับรถใกล้ขอบทางด้านซ้ายมาตลอด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ยอมบันทึกคำให้การปฏิเสธข้อหาดังกล่าว เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งปรับ คำสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์และคำสั่งตัดคะแนนจำนวน ๑๐ คะแนน ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยพลตำรวจตรี ไพศาลผู้บังคับการกองคดีปกครองและคดีแพ่งได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีทุกข้อหา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นเวลานานเกินสมควรสูญ เสียรายได้ให้แก่ครอบครัว อันเป็นการสร้างภาระและความเดือดร้อนให้กับผู้ฟ้องคดีเกินสมควร จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น