วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒๓) (๒๐ กันยายน ๒๕๕๔)


* คำสั่งที่ ร.65/2553 คำร้องที่ ร.528/2552

ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเจ้าพนักงานจราจรจับกุมข้อหาขับรถไม่ใกล้ขอบทางด้านซ้ายและถูกยึดใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ และถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ ยึดใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมทั้งตัดคะแนนใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งการจับกุม ตั้งข้อหา เปรียบเทียบปรับ ยึดใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ และตัดคะแนนของเจ้าพนักงานจราจรและพนักงานสอบสวนดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ และเมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ข้างต้นเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองด้วยเช่นกัน

* คำสั่งที่ ร.64/2553 คำร้องที่ ร.460/2552

ผู้ฟ้องคดีขณะเป็นข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4) ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการต่อมาอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ซึ่งทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ได้มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามหนังสือลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับซึ่งมีผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารแล้วตามที่ปรากฏในใบตอบรับในประเทศเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ถือได้ว่าผู้ฟ้องรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีในวันดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีประสงค์ที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองจะต้องฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันคือจะต้องยื่นฟ้องภายในวันที่ 29 ตุลาคม 2551 ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องอ้างว่าที่อยู่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์มิใช่ที่อยู่ที่แท้จริงของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมิได้มีการตรวจสอบที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีให้ชัดแจ้งเสียก่อนนั้น เมื่อที่อยู่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ส่งหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นที่อยู่ที่ผู้ฟ้องคดีให้ไว้โดยระบุที่หัวกระดาษของหนังสืออุทธรณ์ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งตามมาตรา 69 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติว่าในการดำเนินการเรื่องใดที่มีการให้ที่อยู่ไว้กับเจ้าหน้าที่ไว้แล้วการแจ้งไปยังที่อยู่ดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการแจ้งไปยังภูมิลำเนาของผู้นั้นแล้ว เมื่อมีผู้รับหนังสือแล้วผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าลายมือชื่อในใบตอบรับไปรษณีย์ไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดีก็ตามก็ถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งผลอุทธรณ์ตามนัยมาตรา 69 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามที่อยู่ดังกล่าวจึงชอบแล้ว

* คำสั่งที่ ร.55/2553 คำร้องที่ ร.641/2552

ผู้ถูกฟ้องคดี (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มีคำสั่งลงวันที่ 19 มิถุนายน 2524 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งยกอุทธรณ์ตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเรื่องขอกลับเข้ารับราชการแต่ไม่ได้รับการพิจารณา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และดำเนินการล่าช้า ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียโอกาสความก้าวหน้าในชีวิตราชการ จึงฟ้องขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายและให้จ่ายบำนาญเป็นรายเดือนนับตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีเกษียณอายุราชการจนถึงวันฟ้องและต่อไปทุกเดือนจนกว่าผู้ฟ้องคดีจะเสียชีวิต พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนผู้ฟ้องคดี เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนแล้วไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้รับทราบผลการพิจารณาคำขอกลับเข้ารับราชการตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดีในวันใด แต่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 แจ้งผลการพิจารณาการขอกลับเข้ารับราชการให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้วว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งลงวันที่ 28 มกราคม 2541 ให้ระงับการบรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ แม้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือดังกล่าวในวันใด แต่เชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วภายในไม่เกินสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2541 เป็นอย่างช้า ก่อนที่ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ จะมีผลใช้บังคับ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลยุติธรรมภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 และต่อมาได้โอนมาเป็นคดีของศาลปกครองตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 สิทธิฟ้องคดีนี้ของผู้ฟ้องคดีจึงขาดอายุความแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 11 ตุลาคม 2542 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ใช้บังคับและมิใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองสถานะของบุคคลตามนัยมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมาในคำร้องอุทธรณ์

* คำสั่งที่ ร.40/2553 คำร้องที่ ร.335/2552

ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 1, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ 2) ไม่บรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีสอบได้และขึ้นบัญชีสำรองลำดับที่ 15 ให้เป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งตามบันทึกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แนบท้ายหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เรื่อง ผลการดำเนินการประมวลผลการสอบข้อเขียนลงวันที่ 27 กันยายน 2550 มีสาระสำคัญว่าหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอัตรารองรับเพิ่มเติมอาจแต่งตั้งโดยไม่ต้องรับสมัครใหม่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีประกาศฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 รับสมัครและคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวน (วุฒิปริญญาตรี) เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ. 2552 โดยไม่บรรจุแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเข้ารับการฝึกอบรมซึ่งมีผลเป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีซึ่งควรจะมีสิทธิได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามที่ได้ขึ้นบัญชีสำรองตามประกาศฉบับเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง แต่คำขอท้ายฟ้องที่ขอให้ศาลบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรตามที่ได้ขึ้นบัญชีไว้เป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโดยเฉพาะศาลไม่อาจก้าวล่วงบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่อยู่ในฐานะผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

* คดีหมายเลขแดงที่ อ.293/2552 คดีหมายเลขดำที่ อ.10/2550

ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อผู้ฟ้องคดีว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542 ผู้ฟ้องคดีและสิบตำรวจโท น. เดินทางมาถึงสถานีตำรวจภูธรด่านมะขามเตี้ยเพื่อเขียนรายงานการตรวจท้องที่ และผู้ฟ้องคดีได้เข้าไปหาที่เย็บกระดาษในห้องพนักงานสอบสวนโดยค้นหาที่เย็บกระดาษที่โต๊ะทำงานของพันตำรวจโท ส. ซึ่งในขณะนั้นไม่มีผู้ใดอยู่ในห้องและมีการเปิดไฟทิ้งไว้ สิบตำรวจโท น. มองผ่านกระจกได้เห็นผู้ฟ้องคดี รื้อค้นลิ้นชักโต๊ะทำงานของพันตำรวจโท ส. แต่ไม่เห็นผู้ฟ้องคดีนำสิ่งของใดออกจากโต๊ะทำงานของพันตำรวจโท ส. และไม่มีประจักษ์พยานคนใดสามารถยืนยันได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ลักเงินสดของกลางคดียาเสพติดจำนวน 84,000 บาทที่พันตำรวจโท ส. เก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานไปตามที่พันตำรวจโท ส. กล่าวอ้าง ประกอบกับพันตำรวจโท ส. กล่าวอ้างว่าเก็บเงินสดของกลางไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2542 แต่เงินหายไปเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542 อันเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งเดือนก่อนวันเกิดเหตุ โดยที่ไม่นำเงินดังกล่าวส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาเงินตามระเบียบของทางราชการและจากข้อเท็จจริงยังเห็นได้ว่าห้องทำงานของพนักงานสอบสวนมีบุคคลอื่นสามารถเข้า-ออกได้โดยไม่มีการควบคุมเข้มงวดแต่อย่างใด อีกทั้งข้อกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้หายนั้นเป็นข้อกล่าวอ้างของพันตำรวจโท ส. แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีการตรวจสอบว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ รวมทั้งไม่ปรากฏว่าพบเงินดังกล่าวจากความครอบครองของผู้ฟ้องคดี ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7) อาศัยข้อเท็จจริงแต่เพียงพยานแวดล้อมและพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีในชั้นสอบสวนซึ่งยังไม่อาจฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ลักเงินดังกล่าวไปจากลิ้นชักโต๊ะของพันตำรวจโท ส. มาพิจารณาลงโทษผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอและไม่มีเหตุผลเพียงพอไปประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาโทษของผู้ฟ้องคดี คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 226/2544 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2544 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมให้การใดๆ ในชั้นสอบสวนคดีอาญาและการสอบสวนทางวินัยของผู้ฟ้องคดีย่อมเป็นสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีสามารถทำได้ ซึ่งการที่ผู้ฟ้องคดีปฏิเสธในชั้นแรกที่ผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบถามว่าไม่ได้เข้าไปรื้อค้นโต๊ะทำงานของพันตำรวจโท ส. แต่เมื่อมีการอ้างพยานบุคคลยืนยันจึงยอมรับว่าได้รื้อค้นโต๊ะดังกล่าวจริง และการที่ผู้ฟ้องคดีได้รื้อค้นโต๊ะดังกล่าวโดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาและไม่มีเหตุอันควร เป็นเพียงพยานแวดล้อมที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง ดังนั้น คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 226/2544 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2544 และเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นายกรัฐมนตรี) ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามขั้นตอนและวิธีการซึ่งกฎหมายกำหนดภาย ใน 45 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

* คดีหมายเลขแดงที่ อ.236/2552 คดีหมายเลขดำที่ อ.390/2549

ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค 8 ที่ 293/2542 ว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาเดิมได้รับมอบตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกการจับกุมจากรองสารวัตรป้องกันปราบปรามกับพวกซึ่งได้ร่วมกันทำการจับกุมนำส่งเพื่อดำเนินคดีในข้อหาร่วมกับพวกที่หลบหนีลักลอบเล่นการพนันไพ่ผสมสิบพนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฟ้องคดีได้คุมขังผู้ต้องหาและปล่อยตัวผู้ต้องหาไปในวันรุ่งขึ้นโดยมิได้ลงบันทึกประจำวันตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีในการคุมขังและปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่ได้ดำเนินการสอบสวนผู้ต้องหา ต่อมาในภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาลักลอบเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตและศาลยุติธรรมได้ลงโทษผู้กระทำความผิดไปแล้ว การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ราชการและมีเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิดไม่ให้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยพฤติการณ์จึงถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หากผู้ฟ้องคดีในฐานะพนักงานสอบสวนเห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมสร้างหลักฐานเพื่อจับกุมผู้ต้องหาก็ควรบันทึกการสืบสวนไว้และดำเนินคดีกับตำรวจผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี บันทึกการควบคุมและปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือเหตุจำเป็นอื่นใดที่ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป ทั้งปรากฏในภายหลังว่าได้มีการดำเนินการฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวต่อศาลและศาลได้ลงโทษตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีก็มิได้ให้อำนาจผู้ฟ้องคดีปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ตำรวจภูธรภาค 8) ที่ 226/2544 ซึ่งออกตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ชอบด้วยกฎหมายและพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว

* คดีหมายเลขแดงที่ อ.222/2552 คดีหมายเลขดำที่ อ.34/2549

คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ตำรวจภูธรภาค 9) มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณียิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชน และทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว พฤติการณ์การกระทำจึงเป็นความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงฟ้องขอให้เพิกถอนและให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามยศและตำแหน่งเดิมต่อไป เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังจากคำให้การของร้อยตำรวจเอก ป.ว่าขณะปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรได้รับแจ้งเหตุจึงได้ออกไปตรวจสอบพบผู้ฟ้องคดีมีอาการมึนเมาสุราพูดจาเอะอะโวยวายอยู่ที่หน้าบ้านพักของผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีรับว่าเป็นผู้ยิงปืน เอ็ม 16 โดยยิงขึ้นฟ้า แต่ไม่ทราบว่ายิงไปกี่นัด ประกอบกับเมื่อพิจารณาคำให้การของนาย ช. ซึ่งเป็นกำนันได้ให้การว่าตามวันและเวลาเกิดเหตุตนอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตรได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด จึงได้เดินทางไปที่บ้านของผู้ฟ้องคดี พบผู้ฟ้องคดียืนอยู่หน้าบ้านมีอาการมึนเมาสุรา ร้องเอะอะโวยวายตะโกนด่า ผู้ฟ้องคดีได้ให้นาย ช. ไปเรียกนาย ส. ซึ่งเป็นคู่กรณีที่เคยพิพาทกันออกมาเจรจา ปรากฏว่านาย ส. ไม่อยู่บ้าน มีแต่ภรรยาและบุตร จากการให้ถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวซึ่งมีความเป็นกลางจึงน่าเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริง ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าหกล้ม อาวุธปืนตกจากมือทำให้กระสุนปืนดังขึ้นหลายนัดนั้นเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่ามีนาย ม. และนาย อ. รู้เห็นเหตุการณ์นั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งสองมิได้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีสะดุดก้อนหินแล้วล้มลงทำ ให้ปืนลั่นแต่อย่างใด ประกอบกับอาวุธปืนเอ็ม 16 มีระบบการยิง 2 จังหวะ ยิงครั้งละ 1 นัด กับยิงระบบอัตโนมัติ และอาวุธปืน เอ็ม 16 เป็นอาวุธสงครามที่มีอานุภาพร้ายแรง จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจได้รับการฝึกใช้อาวุธปืนมาแล้วจะนำซองบรรจุกระสุนที่บรรจุกระสุนเรียบร้อยแล้วใส่ไปในปืนเอ็ม 16 โดยปลดล็อคไปที่ระบบยิงอัตโนมัติ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นหมายความว่าผู้ฟ้องคดีเตรียมที่จะใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงแล้วทั้งที่ไม่ได้อยู่ในภาวะจำเป็นต้องทำเช่นนั้น คำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ว่าหกล้ม อาวุธปืนพลัดตกจากมือทำให้ปืนลั่นจึงไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 104 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535

ที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการระดับการลงโทษของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ระบุว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดวินัยฐานใด หากจะอ้างว่าการกระทำผิดวินัยฐานเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนองหรือยิงปืน ด้วยความคึกคะนองก็ขัดแย้งกับพยานหลักฐาน เพราะไม่มีพยานคนใดยืนยันว่าผู้ฟ้องคดียิงปืนด้วยความคึกคะนอง เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมชน และทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว อันเป็นความผิดตามมาตรา 376 และมาตรา 392 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีระดับความรุนแรงของการกระทำความผิดวินัยอันเป็นเหตุที่จะสั่งลงโทษทางวินัยในสถานเดียวกันกับการกระทำผิดวินัยฐานเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนองหรือยิงปืนด้วยความคึกคะนอง ตามระดับการลงโทษทางวินัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้กำหนดไว้ดังกล่าว คำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าผู้ฟ้องคดีอยู่ในข่ายที่จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 นั้น เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีอยู่ในข่ายมีสิทธิได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัตินี้ แต่โดยที่การล้างมลทินดังกล่าว มาตรา 5 บัญญัติเพียงให้เป็นการลบล้างประวัติการถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัย โดยถือว่าที่ได้รับการล้างมลทินไม่เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ดังกล่าวเท่านั้น แต่หาได้มีผลทำให้คำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการกลายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปแต่อย่างใดไม่ นอกจากนั้น มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ยังได้บัญญัติยืนยันต่อไปด้วยว่าการล้างมลทินตามมาตรา 5 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น คำร้องของผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจรับฟังได้

* คดีหมายเลขแดงที่ อ.221/2552 คดีหมายเลขดำที่ อ.770/2548

ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์เสพสุราในเวลาราชการจนมีอาการมึนเมาและทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายผู้อื่น อันถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่สังคมรังเกียจและเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในหน้าที่ จึงมีความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งมาตรา 104 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดระดับการลงทัณฑ์ (โทษ) ข้าราชการตำรวจเป็นแนวทางไว้ตามบัญชีแนบท้ายหนังสือ ตร. ที่ 0522.41/7366 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2538 โดยระบุระดับการลงทัณฑ์ (โทษ) ข้าราชการตำรวจในความผิดเกี่ยวกับการเสพสุราไว้ในลำดับที่ 8 แบ่งเป็น 4 กรณี ดังนั้น การพิจารณากำหนดโทษทางวินัยหรือระดับการลงโทษแก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจจึงต้องพิจารณาตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น และหนังสือแนบท้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยหลายประการกล่าวคือเสพสุราในเวลาราชการและกระทำความผิดในระหว่างเสพสุราด้วยการใช้ไม้ตีทำร้ายร่างกายสิบตำรวจโท อ. จนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นการกระทำผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา ความร้ายแรงแห่งกรณีจึงไม่อาจพิจารณาแต่เพียงว่าเป็นความผิดตามลำดับที่ 8.1 ซึ่งกำหนดว่าเสพสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือเมาสุราเสียราชการหรือเมาสุราในที่ชุมชนจนเกิดเรื่องเสียหายหรือเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่แต่เพียงประการใดประการหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งพฤติการณ์ในการทำร้ายร่างกายเป็นกรณีที่มีความร้ายแรงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในลำดับ 8.1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงต้องพิจารณาระดับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดแนวทางในการลงทัณฑ์ (โทษ) ข้าราชการตำรวจในความผิดเกี่ยวกับการเสพสุราเป็นเพียงแนวทางประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการลงโทษของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจพิจารณาตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ในคดีนี้ก็ไม่ต้องด้วยแนวทางการลงทัณฑ์ (โทษ) ตามบัญชีแนบท้ายหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อพฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำความผิดวินัยที่มีความร้ายแรงแห่งการกระทำ ซึ่งผู้บังคับบัญชาอาจสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการได้ การที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณามีมติให้เพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีจากปลดออกจากราชการเป็นไล่ออกจากราชการแล้วรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วสั่งให้ดำเนินการตามมติ ก.ตร. จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย

* คดีหมายเลขแดงที่ อ.214/2552 คดีหมายเลขดำที่ อ.141/2549

ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) ที่สั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงในมูลกรณีเดียวกันกับที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดีเป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีต้องหาในคดีอาญา จึงควรที่จะสั่งให้รอการดำเนินการทางวินัยไว้จนกว่าจะทราบผลคดีอาญาถึงที่สุดเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดีโดยไม่รอฟังผลในคดีอาญาคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่สั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี ตลอดจนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ที่ให้ยกอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ในการรักษาวินัยและการดำเนินการทางวินัยข้าราชการตำรวจนั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ตามที่มาตรา 45 และมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ประกอบกับมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช 2477 กำหนดไว้ ซึ่งวินัยและการรักษาวินัยของข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีทั้งการกระทำความผิดวินัยที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ต้องหาคดีอาญา เป็นต้น

ในคดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้มีการดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดีอันมีมูลเกิดจากกรณีผู้ฟ้องคดีต้องหาในคดีอาญาก็ตาม แต่เนื่องจากการดำเนินคดีอาญามุ่งประสงค์ควบคุมการกระทำของบุคคลในสังคมมิให้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดอาญาเพื่อคุ้มครองสังคมโดยรวมให้มีความสงบสุข ส่วนการดำเนินการทางวินัยข้าราชการนั้นถือเป็นมาตรการในการรักษาวินัยของข้าราชการที่มุ่งปราบปรามข้าราชการที่กระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยใช้วิธีการลงโทษทางวินัย ซึ่งมีผลเป็นการปรามไม่ให้ข้าราชการรายอื่นกระทำผิดวินัยเพราะเกรงกลัวการถูกลงโทษและจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือศรัทธาในตัวข้าราชการและทำให้ขาดความเชื่อถือศรัทธาและไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการบริหารประเทศไปด้วย ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัยของผู้บังคับบัญชาก็แตกต่างจากการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษในคดีอาญา เนื่องจากในคดีอาญานั้นศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัย ส่วนการลงโทษทางวินัยนั้นผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลยพินิจสั่งลงโทษข้าราชการ (ผู้ถูกกล่าวหา) ได้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของข้าราชการ (ผู้ถูกกล่าวหา) ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวน นอกจากนี้สำนักงาน ก.พ. ได้มีหนังสือแจ้งเวียนมติ ก.พ. ให้กระทรวง ทบวง กรม ทราบว่า การที่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการเพื่อรอฟังผลคดีอาญานั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผลการดำเนินการทางวินัยยังฟังไม่ได้ว่าข้าราชการ (ผู้ถูกกล่าวหา) กระทำผิดวินัย แต่ในคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีถูกจับกุม ผู้ฟ้องคดีได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและยังได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงอีก ซึ่งถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามข้อ 4 (3) ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2539) ออกตามความใน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวนก็ได้ ตามนัยมาตรา 102 วรรคแปด แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยคณะที่ 1 ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รวมทั้งมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ โดยไม่ได้มีการสั่งให้รอผลคดีอาญาถึงที่สุดก่อนที่จะดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น