วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒๗) (๒๑ กันยายน ๒๕๕๔)


* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 273/2545

สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ กรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงในเรื่องที่กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกับพวกร่วมกันขุดลบแก้ไขใบสั่งจ่ายเงินงบประมาณของทางราชการและรับเงินดังกล่าวไป ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ แล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ มีมติให้ยกอุทธรณ์ และนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และนายกรัฐมนตรีกับเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ดังกล่าว โดยศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่าคดีขาดอายุความแล้ว และผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดว่าคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคลที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ หรือถือว่ามีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลปกครองรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย : ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า "สถานะของบุคคล" ตามมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลและสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคล โดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคล รวมทั้งความสามารถในการใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับผู้ที่มีสถานะนั้นและใช้ยันบุคคลได้ทั่วไป สถานะของบุคคลจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ก็เฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นซึ่งสถานะดังกล่าวอาจจะเป็นสถานะของบุคคลในประเทศชาติ เช่น สัญชาติของบุคคล หรือสถานะในครอบครัว เช่น เพศ อายุ บิดา มารดา บุตร สามีหรือภรรยา และความสามารถของบุคคล เป็นต้น สำหรับสถานะของบุคคลที่ได้มาจากตำแหน่งหรืออาชีพ เช่น ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งงานอื่นใด แม้จะมีผลทำให้มีสิทธิและหน้าที่ตามตำแหน่งเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นสถานะของบุคคล เนื่องจากมิใช่คุณสมบัติหรือลักษณะทางกฎหมายที่เป็นฐานสำคัญผูกพันอยู่กับตัวบุคคลในลักษณะเช่นเดียวกับสถานะในประเทศชาติหรือสถานะในครอบครัว ทั้งอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยการเปลี่ยนตำแหน่งนั้น ดังนั้น ตำแหน่งหน้าที่ในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ รวมทั้งการที่ผู้ฟ้องคดีมีความไม่มั่นใจในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมหรือมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับรายได้หรือการดำรงชีวิตอันเนื่องมาจากต้องพ้นจากหน้าที่ราชการเพราะถูกลงโทษทางวินัยนั้นมิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะของบุคคล คำำฟ้องนี้จึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคลที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ และกรณีดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา

*
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 260/2546 (ที่ประชุมใหญ่)

สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการตำรวจได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกลงโทษทางวินัยให้ออกจากราชการเนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕ โดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ ก.ตร.พิจารณาอุทธรณ์โดยด่วน

คำวินิจฉัย :
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าแม้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑ ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มิได้มีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาที่ ก.ตร.จะต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ ก.ตร. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร ซึ่งเมื่อพิจารณาเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วเห็นว่าระยะเวลาอันสมควรในการพิจารณาอุทธรณ์ของ ก.ตร.ได้แก่ ๙๐ วันนับแต่วันที่ ก.ตร. ได้รับอุทธรณ์ ดังนั้นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวและ ก.ตร. ยังพิจารณาอุทธรณ์ไม่แล้วเสร็จ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ ก.ตร.พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยฟ้องภายใน๙๐ วันนับแต่วันพ้นกำหนด ๙๐ วันดังกล่าว นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่าในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นและ ก.ตร.ก็ยังไม่ได้พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จ กรณีนี้ผู้อุทธรณ์อาจมีหนังสือร้องขอให้ ก.ตร.ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเร่งรัดการพิจารณาอุทธรณ์ได้อยู่ตลอดไป เมื่อมีหนังสือร้องขอแล้วหากผู้อุทธรณ์ไม่ได้รับหนังสือชี้แจงหรือได้รับแต่ผู้อุทธรณ์เห็นว่าไม่มีเหตุผล ผู้อุทธรณ์ย่อมนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันพ้น ๙๐ วันนับแต่วันที่ได้มีหนังสือร้องขอต่อ ก.ตร. หรือนับแต่วันที่ได้รับหนังสือชี้แจงจาก ก.ตร. แต่ผู้ อุทธรณ์เห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ ก.ตร. พิจารณาอุทธรณ์โดยด่วนนั้นเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ต่อ ก.ตร.เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ วันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีคือวันที่พ้น ๙๐ วันนับแต่วันยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕ จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีภายใน ๙๐ วันนับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ * หมายเหตุ ปัจจุบันพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ไว้แล้วในมาตรา ๑๐๕ ดังนี้ "มาตรา ๑๐๕ ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสั่งลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาของ ผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษ แต่ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งลงโทษให้อุทธรณ์ต่อ ก.ตร. (๒) กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.ตร. การอุทธรณ์ตาม (๑) และ (๒) ให้อุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ตาม (๑) และ (๒) ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร.ที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร." ดังนั้น ระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์จึงต้องเป็นไปตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสามดังกล่าวคือ ๒๔๐ วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ไม่ใช่ระยะเวลา ๙๐ วันตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ตามคำพิพากษาในคดีนี้

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.269/2552

ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกคนฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้มีประกาศสำนักงานกำลังพลลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ เรื่องรับสมัครคัดเลือกด้วยวิธีสอบบุคคลภายนอกเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ. ๒๕๔๕ และประกาศสำนักงานกำลังพลลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ เรื่อง รับสมัครคัดเลือกด้วยวิธีสอบข้าราชการตำรวจเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยในผนวก ง. ข้อ ๓.๓ ท้ายประกาศสำนักงานกำลังพล ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ และในผนวก ฉ. ข้อ ๓.๓ ท้ายประกาศสำนักงานกำลังพลลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ กำหนดให้มีการทดสอบบุคลิกภาพด้วย ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกคนได้เข้าสอบข้อเขียนเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ซึ่งปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกคนสอบผ่านข้อเขียน และต่อมาได้เข้าสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งโดยสอบวิ่งเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๕ สอบว่ายน้ำเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ และเข้ารับการทดสอบบุคลิกภาพเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๖ ได้มีการประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านและสอบไม่ผ่านการทดสอบบุคลิกภาพ ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกคนสอบไม่ผ่านจึงได้ทำหนังสือเพื่อขอทราบเหตุผลว่าเหตุใดจึงสอบไม่ผ่านแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และมีเหตุน่าเชื่อว่าการสอบบุคลิกภาพครั้งนี้ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมแก่ผู้เข้าสอบทุกคน อีกทั้งระบบการทดสอบบุคลิกภาพก็ไม่ได้เป็นไปตามระบบมาตรฐานสากลโดยมีเพียงการแปลผลจากการตอบแบบทดสอบเพียงอย่างเดียว ต่อมาในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกคนได้ไปสอบถามผู้ถูกฟ้องคดีว่าเหตุใดข้าราชการตำรวจจึงต้องเข้ารับการทดสอบบุคลิกภาพก็ได้รับแจ้งว่าตามหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๐๐๐๖.๓๓/๑๕๒๐ ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ เรื่อง นโยบายและหลักเกณฑ์การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการและมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๔๐ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ มีมติเห็นชอบในหลักการในการนำการทดสอบบุคลิกภาพเพื่อการคัดเลือกบุคคลภายนอกเข้ารับราชการเป็นนักเรียนพลตำรวจ นักเรียนนายร้อยตำรวจและข้าราชการตำรวจในตำแหน่งกลุ่มสายงานป้องกันปราบปรามของกรมตำรวจตามที่ อ.ก.ตร. ระบบการบริหารงานบุคคลเสนอมาใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกคนเห็นว่าหลักปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๐๐๐๖.๓๓/๑๕๒๐ ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ และมติ ก.ตร. ดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้ใช้การทดสอบบุคลิกภาพกับบุคคลภายนอกแต่มิได้ให้ใช้กับข้าราชการตำรวจ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๐๐๐๖.๓๓/๑๕๒๐ ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ และมติ ก.ตร.มาบังคับใช้ในประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกคนถูกจำกัดสิทธิในการสอบเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นและเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้การคัดเลือกด้วยวิธีสอบครั้งนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกคนเป็นผู้สอบข้อเขียนได้และอยู่ในลำดับที่จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรตามสิทธิอันชอบธรรม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

(กรณีไฟล์ pdf มีปัญหากรุณาคลิกที่นี่)

*
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 546/2552

ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ ฝ่ายอำนวยการ ๒ กองบังคับการอำนวยการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวนผู้มีวุฒิปริญญาตรีเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรและเข้าสอบข้อเขียนสายอำนวยการ (อก. ๒) วิชาพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ เมื่อต่อมาวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๑ ระหว่างทำการสอบผู้ฟ้องคดีพบว่าข้อสอบจำนวน ๔ ข้อ ดังนี้ คำถาม ๑. “กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา ๓๐ (๒) (ข) ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร” คำถาม ๒. “ในกรณีที่ ก.ตร.มีหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ใครเป็นผู้เสนอเรื่องต่อที่ประชุม ก.ตร.” คำถาม ๓. “เงินเพิ่ม เงินประจำตำแหน่งให้เป็นไปตามระเบียบใด” คำถาม ๔. “ผู้บังคับบัญชาสั่งลงทัณฑ์ ส.ต.อ. แก้ว เพราะไม่ทำความเคารพ กักขัง ๑๐ วัน ส.ต.อ. แก้ว ต้องดำเนินการอย่างไร” เป็นคำถามที่เฉลยคำตอบโดยใช้ถ้อยคำแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมีประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าทดสอบความเหมาะสมกับตำแหน่งเรียงตามลำดับจากคะแนนมากสุดถึงลำดับที่ ๘๒๐ ลำดับที่ ๑ ถึงลำดับที่ ๘๐๐ เป็นลำดับที่ได้รับการคัดเลือก คะแนนต่ำที่สุดได้รับการคัดเลือกคือ ๗๑ คะแนน ส่วนลำดับที่ ๘๐๑ ถึงลำดับที่ ๘๒๐ เป็นลำดับสำรอง ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีสอบได้ลำดับที่ ๙๗๖ ได้ ๗๐ คะแนน จึงไม่ผ่านการสอบคัดเลือก ซึ่งถ้าได้เพิ่มอีก ๑ คะแนนและคำนวณคะแนนตามรายวิชาที่สอบผู้ฟ้องคดีจะอยู่ในลำดับที่ ๗๕๑ ผู้ฟ้องคดี ก็จะเป็นตัวจริงในการสอบครั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ เมื่อพ้นกำหนดเวลาพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ แล้วผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกฟ้องคดี จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๘๑/๒๕๕๑ ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นผู้ถูกฟ้องคดีได้มีประกาศคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เรื่อง แต่งตั้งอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการร้องทุกข์ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๑ แต่งตั้งอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์ โดยเรียกชื่อย่อว่า อ.ก.ตร. ร้องทุกข์ ให้อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์ มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีอย่างเด็ดขาด ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือที่ ๐๐๓๙.๐๒/๒๖๙ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ แจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ว่า อ.ก.ตร. ร้องทุกข์มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๒ เห็นว่าในกรณีปัญหาข้อสอบจำนวน ๒ ข้อ ที่มีคำถามและคำตอบ ดังนี้ ข้อที่ว่า “ผู้บังคับบัญชาสั่งลงทัณฑ์ ส.ต.อ.แก้ว เพราะไม่ทำความเคารพ กักขัง ๑๐ วัน ส.ต.อ. แก้ว ต้องดำเนินการอย่างไร” และข้อที่ว่า “ในกรณีที่จะต้องเสนอเรื่องให้ ก.ตร. พิจารณามีมติ ผู้ใดจะเป็นผู้เสนอเรื่องต่อ ก.ตร.” ปัญหาข้อสอบทั้ง ๒ ข้อดังกล่าวมาแล้วเป็นปัญหาข้อสอบที่มีคำถามคำตอบที่บกพร่องไม่ชัดเจนและสมบูรณ์ ส่วนกรณีคำถามที่ว่า “การกำหนดให้ข้าราชการตำรวจได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษหรือเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งให้กำหนดเป็นอะไร” และคำถามที่ว่า “กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๐ (๒) (ข) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร” อ.ก.ตร. ร้องทุกข์เห็นด้วยกับความเห็นของอนุกรรมการการออกข้อสอบและเฉลยข้อสอบของกองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) ที่ประชุม อ.ก.ตร.ร้องทุกข์จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ บช.ศ. ดำเนินการแก้ไขตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๖ (๔) โดยให้เพิ่มคะแนนให้กับผู้ฟ้องคดีตามคำร้องทุกข์ เมื่อเพิ่มคะแนนให้ผู้ฟ้องคดีแล้วให้ บช.ศ. ดำเนินการต่อเนื่องไปตามอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกด้วยวิธีสอบต่อไป หากผู้ฟ้องคดีจะฟ้องโต้แย้งผลการวินิจฉัย ให้ทำคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แล้วเห็นว่าความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีตามหนังสือ ที่ ๐๐๓๙.๐๒/๒๖๙ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ ไม่ถูกต้อง ดังนี้ (๑) การวินิจฉัยของ อ.ก.ตร. ร้องทุกข์ ที่ลงมติเห็นด้วยกับความเห็นของอนุกรรมการการออกข้อสอบและเฉลยข้อสอบของกองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) ข้อคำถามที่ว่า“การกำหนดให้ข้าราชการตำรวจได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษหรือเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งให้กำหนดเป็นอะไร” และคำถามที่ว่า “กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา ๓๐ (๒) (ข) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร” นั้น เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการเฉลยข้อสอบของกองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) ไม่ตรงตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ นอกจากนี้ยังมีข้อคำถามที่ว่า “ตำแหน่งใดเทียบเท่ารอง ผกก.” ก็เป็นคำถามที่เกินขอบข่ายการออกสอบรายวิชาพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ อีกด้วย (๒) ผลการวินิจฉัยของ อ.ก.ตร. ร้องทุกข์มิได้กำหนดระยะเวลาให้ บช.ศ. ดำเนินการตามมติที่ประชุม อ.ก.ตร.ร้องทุกข์ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ ไว้ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียหายเนื่องจากไม่มีการกำหนดให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีควรจะต้องได้รับการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นหรือเลื่อนยศสูงขึ้นนับแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๑ และได้รับสิทธิหรือประโยชน์นับแต่เวลาดังกล่าว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

(กรณีไฟล์ pdf มีปัญหากรุณาคลิกที่นี่)

*
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ร.678/2552

ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่ป้องกันปราบปราม) งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ มีกรณีถูกหล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๗๙ (๕) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยผู้ฟ้องคดีถูกพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งที่ ๓๖๑/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๐ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนและศาลจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางพิษณุโลก ต่อมาผู้ฟ้องคดีทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายคืนเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ข้าราชการที่ต้องโทษให้ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อมิให้เป็นการซ้ำเติมแก่ผู้กระทำความผิดและต้องโทษ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ตรวจสอบการขอรับเงินบำเหน็จบำนาญและแจ้งผลแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย

(กรณีไฟล์ pdf มีปัญหากรุณาคลิกที่นี่)

*
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.358/2552

ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ไปสมัครสอบแข่งขันบุคคลเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจประจำปี ๒๕๔๘ ตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๗ ณ โรงเรียนตำรวจภูธร ๓ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการภายในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผลสอบข้อเขียนปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีสอบผ่านได้ลำดับที่ ๑๔๕ หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้สอบวิชาพลศึกษา สัมภาษณ์ และตรวจร่างกาย ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้สอบผ่านทุกขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๘ โรงเรียนตำรวจภูธร ๓ ได้ประกาศผลการสอบแข่งขันรอบสุดท้ายปรากฏว่าไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สอบได้ผู้ฟ้องคดีจึงได้ตรวจสอบไปยังโรงเรียนดังกล่าวและได้รับแจ้งจากทางโรงเรียนว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ซึ่งมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี เนื่องจากเคยมีประวัติถูกตำรวจจับกุมที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ในข้อหาใช้สารระเหยบำบัดความต้องการของร่างกายและจิตใจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๔๘๓๗/๒๕๓๙ หมายเลขแดงที่ ๔๗๐๖/๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงได้ทำหนังสือลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๘ ขอให้ทบทวนการพิจารณาตรวจสอบประวัติสอบคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจของโรงเรียนตำรวจภูธร ๓ นครราชสีมา ซึ่งกองบัญชาการศึกษาได้ตรวจสอบแล้วมีหนังสือที่ ตช ๐๐๒๗.๑๑๒/๑๒๕๗ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ แจ้งให้ทราบว่าผู้ฟ้องคดีสอบไม่ผ่านภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง และเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๒ วรรคหนึ่ง (๒) ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าข้ออ้างของกองบัญชาการศึกษาไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย โดยขณะที่ผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๔๘๓๗/๒๕๓๙ หมายเลขแดงที่ ๔๗๐๖/๒๕๓๙ นั้นผู้ฟ้องคดียังเป็นเยาวชนมีอายุเพียง ๑๕ ปีเศษ และข้อหาที่กระทำความผิดก็เป็นความผิดเพียงเล็กน้อยไม่ได้ถือว่าเป็นอาชญากรแต่อย่างใด และขณะที่ผู้ฟ้องคดีสมัครสอบแข่งขัน แพทย์จากสถาบันธัญญารักษ์ได้ออกหนังสือรับรองผลการตรวจพิสูจน์แล้วว่าผู้ฟ้องคดีไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดหรือสารระเหย นอกจากนี้ทางราชการโดยสำนักนายกรัฐมนตรี (ที่ถูกคือ สำนักงาน ป.ป.ส.) ยังได้ออกหนังสือของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติฉบับลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ เรื่อง การให้โอกาสผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดซึ่งพ้นจากสภาพการใช้ยาเสพติดเข้าทำงานหรือรับการศึกษาต่อในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตามระเบียบราชการดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ใดที่เคยมีประวัติการเสพหรือติดยาเสพติด และได้พ้นจากสภาพการใช้ยาเสพติดโดยได้รับการรับรองจากแพทย์หรือโดยผ่านการบำบัดรักษาจากสถานบำบัดของทางราชการหรือสถานบำบัดที่ได้รับการรับรองจากทางราชการให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีโอกาสในการทำงานหรือเข้ารับการศึกษาเช่นบุคคลทั่วไป โดยหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจจะปฏิเสธการรับผู้นั้นเข้าทำงานหรือศึกษาต่อโดยอ้างเหตุว่าเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคมมิได้ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำประวัติการกระทำความผิดดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีที่เก็บไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรมาเป็นตัวตัดสินเรื่องความประพฤติของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งความเห็นตามข้ออ้างของกองบัญชาการศึกษายังขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ และประมวลกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนที่มีวัตถุประสงค์ที่จะเยียวยาให้ความเป็นธรรมต่อเด็กและเยาวชนให้มากที่สุด แต่คำสั่งของกองบัญชาการศึกษาเป็นการพิจารณาเพียงหลักฐานเดิมที่ผู้ฟ้องคดีได้เคยกระทำไว้ มิได้สนใจระเบียบภาครัฐที่พยายามผลักดันเพื่อให้เกิดการยอมรับแก่เด็กและเยาวชนผู้เคยติดยาเสพติดให้โทษซึ่งพ้นจากสภาพการใช้ยาเสพติดแล้วและประสงค์ที่จะเป็นพลเมืองดีด้วยการศึกษาต่อจนจบมีโอกาสที่จะสอบเพื่อเข้ารับราชการเป็นกำลังของสังคมและครอบครัว การที่คณะอนุกรรมการของกองบัญชาการศึกษาและคณะกรรมการโรงเรียนตำรวจภูธร ๓ ได้วินิจฉัยมานั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้
๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีลบชื่อของผู้ฟ้องคดีออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร

๒. เพิกถอนมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งและเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๒ วรรคหนึ่ง (๒) และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผู้ฟ้องคดีเข้าศึกษาในโรงเรียนตำรวจภูธร ๓ เพื่อบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการต่อไป

(กรณีไฟล์ pdf มีปัญหากรุณาคลิกที่นี่)


* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ร.709/2552

ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้กำกับการฝ่ายการเงิน ๓ กองการเงิน สังกัดผู้ถูกฟ้องคดี ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีตามคำสั่งที่ ๘๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๖,๔๔๒,๙๘๖ บาท ภายในกำหนดเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งกรณีผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งสารวัตรงานที่ ๑ ฝ่ายบัญชี ซึ่งมีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลการบันทึกรายงานบัญชีและการเก็บรักษาเอกสารของเจ้าหน้าที่กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เอกสารหลักฐานสำคัญทางการเงินสูญหาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีเอกสารหลักฐานเพียงพอต่อการฟ้องคดีแพ่งกับดาบตำรวจ ณ.กับพวก ผู้กระทำการทุจริตในกองการเงินของผู้ถูกฟ้องคดี (กรมตำรวจเดิม) เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๒,๘๘๕,๙๗๒ บาท โดยผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ และได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๒ อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดี แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับดาบตำรวจ ณ.ผู้กระทำการทุจริตจึงไม่ควรต้องรับผิดในจำนวนเงินที่มีการทุจริตดังกล่าว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้นำผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมาพิจารณาและวินิจฉัยว่ามีเจ้าหน้าที่กลุ่มผู้ทุจริต กลุ่มผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผู้ใดทำให้เกิดความเสียหายและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด แต่พิจารณาและวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีแต่เพียงผู้เดียวทั้งที่กรมบัญชีกลางก็ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แจ้งผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีแล้วโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งดังกล่าว แต่ได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีวินิจฉัยสั่งการใหม่ให้เป็นไปตามข้อ ๑๗ ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
๑. เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีตามคำสั่งที่ ๘๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๖,๔๔๒,๙๘๖ บาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีภายในกำหนดเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
๒. ขอให้ทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราวในระหว่างที่ยังมิได้มีการไต่สวน และมี
คำพิพากษาถึงที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น