วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๔) (๑๗ กันยายน ๒๕๕๔)


สวัสดีวันหยุดมายังทุกท่าน
วันนี้ผมขอนำรวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจเฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีมาเสนอให้ทราบเป็นตอนที่ ๔ รายละเอียดกรุณาคลิกที่หัวเรื่องที่เป็นตัวอักษรสีแดงเหมือนเดิม

ขอบคุณครับผม


* คำสั่้งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๖๔/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : เป็นกรณีที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อมามีผู้ร้องเรียนกล่าวหาต่อผู้ถูกฟ้องคดีว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ โดยใช้อาวุธร้ายแรงปราบปรามประชาชนเป็นเหตุให้ประชาชนที่กำลังชุมนุมถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาครั้งแรกแก่ผู้ฟ้องคดีว่ามีมูลความผิดทางวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะเพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของผู้ถูกฟ้องคดีลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๒ จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ฟ้องคดีว่าการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทำร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการและกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๘๒/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบิดาของดาบตำรวจสุวัฒน์... ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ดำเนินการจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่ผู้ฟ้องคดี กล่าวคือภายหลังจากที่ดาบตำรวจสุวัฒน์ได้ถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีได้ไปติดต่อขอรับบำเหน็จตกทอดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางเชื้อ ชะเอม มารดาของดาบตำรวจสุวัฒน์และมิได้จดทะเบียนรับรองบุตร เจ้าหน้าที่การเงินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แนะนำให้ผู้ฟ้องคดีไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาว่าดาบตำรวจสุวัฒน์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเพื่อขอให้พิพากษาว่าดาบตำรวจสุวัฒน์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดี และศาลได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๓/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๑๙๖/๒๕๔๖ ว่าดาบตำรวจสุวัฒน์ เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดี จากนั้นผู้ฟ้องคดีได้นำสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวไปยื่นต่อแผนกการเงิน สถานีตำรวจภูธรหนองเสือซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของดาบตำรวจสุวัฒน์ และได้รับคำแนะนำว่าให้นำสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวไปยื่นที่แผนกการเงิน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามแล้วแต่ไม่ได้รับการพิจารณา ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๗ ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและสำเนาคำพิพากษาไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขอรับบำเหน็จตกทอดอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือที่ ๐๐๐๕.๒๓/๒๔๙๑ ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ แจ้งว่าหากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะขอรับบำเหน็จตกทอดของดาบตำรวจสุวัฒน์ ให้ผู้ฟ้องคดีนำสำเนาคำพิพากษาของศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่พิพากษาว่าดาบตำรวจสุวัฒน์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดีฉบับที่จ่าศาลรับรองความถูกต้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของสถานีตำรวจภูธรหนองเสือเพื่อให้ดำเนินการส่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาสั่งการต่อไปผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการใดต่อไปอีกจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอความช่วยเหลือต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๓๖/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดงานการข่าวกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต ๔ ค่ายเสนีย์รณยุทธ จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการผู้ฟ้องคดีได้รับการเลื่อนเงินเดือนอย่างน้อย ๑ ขั้นมาโดยตลอดทุกปี ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๕ ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ประจำกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๘ อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ถูกจับกุมตัวและกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานีได้ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีกับพวกเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดอุดรธานี และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้ยึดถือเอาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาประหารชีวิตมีคำสั่งกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ ๒๓๔/๒๕๒๗ เรื่องให้ข้าราชการออกจากราชการลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๗ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่รอฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาเสียก่อน ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗/๒๕๒๗ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๗ พิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงได้ดำเนินการเพื่อขอกลับเข้ารับราชการและผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๔๖๕/๒๕๔๗ เรื่อง เพิกถอนคำสั่งลงโทษข้าราชการตำรวจและให้ข้าราชการตำรวจกลับเข้ารับราชการลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เพิกถอนคำสั่งลงโทษและให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ ดังนั้นคำสั่งกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๓๔/๒๕๒๗ เรื่อง ให้ข้าราชการออกจากราชการลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๗ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายคือไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีอย่างน้อยปีละ ๑ ขั้น ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีต้องออกจากราชการเป็นเวลาถึง ๒๒ ปี และเมื่อผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิมผู้ฟ้องคดีได้รับเงินเดือนสะสมจำนวน ๑,๒๒๒,๒๗๒.๖๕ บาทซึ่งเป็นเงินเดือนสะสมที่คิดจากเงินเดือนสุดท้ายก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะถูกไล่ออกจากราชการผู้ฟ้องคดีควรได้รับดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้ด้วย นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีมีการปรับเงินเดือน๓ ครั้งคือ ครั้งแรกปรับให้เข้าระดับและขั้นเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๗ (ปรับตามมติคณะรัฐมนตรี) ครั้งที่สองปรับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๘ และครั้งที่สามปรับเงินเดือนตามชั้นยศที่สูงขึ้น แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการปรับเงินเดือนให้ครบทั้งสามครั้ง โดยเฉพาะการปรับตามชั้นยศที่สูงขึ้นในครั้งที่สาม หากผู้ฟ้องคดีได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนอย่างน้อย๑ ขั้นทุกปี ระหว่างที่ต้องออกจากราชการ เงินเดือนของผู้ฟ้องคดีต้องถึงขั้นระดับอัตราที่ต้องได้รับการปรับยศให้สูงขึ้น อาศัยเหตุดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ๑ ขั้นทุกปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีถูกไล่ออกจากราชการจนถึงวันที่ผู้ฟ้องคดีได้กลับเข้ารับราชการตามเดิมและชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินของเงินเดือนแต่ละเดือนนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีถูกไล่ออกจากราชการจนถึงวันที่กลับเข้ารับราชการตามเดิมรวมทั้งปรับเลื่อนชั้นยศให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วย ก่อนฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์ขอปรับเงินเดือนแล้วแต่ไม่ได้รับการพิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๘๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษมีนบุรีในคดีความผิดต่อทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๙ โดยคดีถึงที่สุดแล้วและปัจจุบันผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมที่จะได้รับประโยชน์ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พุทธศักราช ๒๔๗๙ เช่น พักการลงโทษ ลดวันลงโทษจำคุก ทำงานสาธารณะและลดวันลงโทษตามจำนวนวันทำงาน แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับประโยชน์ดังกล่าวเนื่องจากสถานีตำรวจภูธรตำบลสำโรงใต้ได้ทำการอายัดตัวผู้ฟ้องคดีไว้กับเรือนจำเป็นเวลา ๓ ปี โดยการที่สถานีตำรวจภูธรตำบลสำโรงใต้ไม่ยอมฟ้องหรือถอนอายัดผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกรณีจำเลยต้องได้รับการดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งหากสถานีตำรวจภูธรตำบลสำโรงใต้หรือพนักงานอัยการละเลยไม่ดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีก็จะทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้ และทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นโดยส่งผ่านเรือนจำพิเศษมีนบุรีตามหนังสือ ที่ ยธ ๐๗๖๖/๐๐๒๖ ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๓ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๓๗/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี ได้ถูกผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๗ มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ ๗๒๔/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๒ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปรากฏว่าอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับอุทธรณ์และร้องทุกข์ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีมติเสนอให้ยกอุทธรณ์และรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๙๑/๒๕๔๔ ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ ๕๑/๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าคณะกรรมการสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและไม่ได้ดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จึงมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๒๑/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ให้เพิกถอนคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ ๗๒๔/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๒ แล้วให้ดำเนินการสอบสวนผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ให้ถูกต้องตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. ๒๕๔๗ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๗ จึงมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ ๔๙๖/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๐ เพิกถอนคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ ๗๒๔/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๒ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ ๑) สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี อัตราเงินเดือน ส. ๑ ขั้น ๖ (๗,๖๓๐ บาท) และมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ ๗๔๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดีตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ซึ่งผลการสอบสวนฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหา คงรับฟังได้เพียงว่ากระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีถูกลงโทษไล่ออกจากราชการเป็นเวลานานถึง ๗ ปี แล้วมีเหตุอันควรงดโทษ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๗ จึงมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ ๑๖๖๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ให้ยุติเรื่องทางวินัย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าหากผู้ฟ้องคดีไม่ถูกไล่ออกจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีคงไม่เสียสิทธิต่างๆ ในหน้าที่ราชการ เช่นไม่ได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนขั้นเงินเดือนเหมือนกับเพื่อนข้าราชการตำรวจในรุ่นเดียวกัน อีกทั้งไม่ได้รับเงินตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่การงานตามปกติ นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดียังต้องเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๘,๗๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือ ด่วน ที่ ตช ๐๐๓๑.๓๒/๐๗๒๑๔ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ และหนังสือด่วนที่ ตช ๐๐๓๑.๓๒/๐๙๐๓๗ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีและไม่สามารถแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีให้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ ๓) ตามที่ร้องขอได้ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๔๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดฟ้องและให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อศาลว่าเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา ขณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดรับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัสให้กับนายทองใบ... ในที่ดินซึ่งบุคคลดังกล่าวครอบครองและทำประโยชน์อยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลบัวโคก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ได้มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรท่าตูม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า สร.๕ กรมป่าไม้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สวนป่าพนมดินองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๖ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๘ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบัวโคก เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดกำลังตัดต้นไม้โดยผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๘ ได้ทำการวัดพิกัดเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยใช้เครื่องจับพิกัดจีพีเอสและได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดทราบว่าตัดไม้ยูคาลิปตัสในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าพนมดินแปลงที่ ๑) โดยมิได้รับอนุญาต พร้อมทั้งเข้าจับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดและได้ยึดของกลางประกอบด้วย เลื่อย ๓ ปื้น มีด ๔ เล่ม ขวาน ๒ ด้าม และรถยนต์บรรทุก ๖ ล้อ หมายเลขตัวถังบียู ๓๐–๐๙๓๐๘๐ หมายเลขทะเบียน ๘๒–๐๘๑๖ อุบลราชธานี ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าตูม ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอให้การในชั้นศาลผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเห็นว่าที่ดินที่นายทองใบ เกษแก้ว ใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดรับจ้างตัดนั้นอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด สุรินทร์ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยประชาชนที่ทำไม้ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวสามารถนำไม้ออกมาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ในวันเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้นำเอกสารหลักฐานของทางราชการชี้แจงแล้วแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๘ ไม่ยอมรับฟัง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๘ ที่ได้ร่วมกันจับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๖๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้่อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๕ ตามหมายเลขประจำตัวประชาชน ๓-๑๐๐๙-๐๓๑๖๖-๔๐-๖ ต้องโทษอยู่ในเรือนจำพิเศษมีนบุรีเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ในข้อหาเกี่ยวกับเสรีภาพโดยศาลตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา ๓ ปี ๖ เดือน และได้ถูกจำคุกมาแล้ว ๒ ปี ๑๐ วัน ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้ถูกจำคุกมามากกว่าครึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมและเมื่อประมาณสองเดือนที่ผ่านมามีการประกาศทำการพักโทษพิเศษแก่นักโทษชั้นดีขึ้นไปซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมและมีชื่อในรายการผู้มีสิทธิพักโทษพิเศษ แต่ปรากฏว่ารายชื่อของผู้ฟ้องคดีมีหมายเหตุอายัดซึ่งแสดงว่ามีการอายัดตัวไว้ดำเนินคดีอื่นและเป็นการอายัดตัวโดยสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นทั้งๆ ที่ผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกจับกุมหรือแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใดจึงไม่ทราบเรื่องคดี และการที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นภายใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำการอายัดตัวผู้ฟ้องคดีเช่นนี้เป็นการละเมิดให้เสียสิทธิตามรัฐ ธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและ เป็นธรรม และเป็นการละเมิดสิทธิตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น