วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒๘) (๒๕ กันยายน ๒๕๕๔)


* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 177/2546

สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากรณีผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรงผู้ฟ้องคดี โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคร่งครัดต่อมรรยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจและเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการเป็นเหตุให้พันตำรวจตรี ท. เสียสิทธิในการเข้ารับการอบรมพัฒนาประสิทธิภาพและจรรยาบรรณพนักงานสอบสวนประจำปี 2545 จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรงดังกล่าวและขอให้เพิกถอนการดำเนินการทางวินัยต่อผู้ฟ้องคดีด้วย

คำวินิจฉัย :
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรงของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในการที่ผู้มีอำนาจจะวินิจฉัยหรือออกคำสั่งตามความเห็นหรือมีผลกระทบต่อสภาพสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี การออกคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง

*
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 585/2547

สรุปข้อเท็จจริง : อดีตข้าราชการตำรวจฟ้องว่าผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและยื่นฟ้องคดีต่อต่อศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 คดีถึงที่สุดแล้วแต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงและยานหลักฐานซึ่งหากศาลนำมาพิจารณาแล้วจะทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว และคืนสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้จ่ายเงินเดือนรวม 3 เดือน พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมาย

คำวินิจฉัย : ผู้ฟ้องคดีเคยนำข้อกล่าวหาและคำขอเกี่ยวกับคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการมาฟ้องต่อศาลปกครองและศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในประเด็นดังกล่าวซึ่งคดีถึงสุดแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีนำประเด็นในคดีเดิมมาฟ้องเป็นคดีนี้โดยมิได้กล่าวอ้างว่าคำพิพากษานั้นศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญหรือมีกรณีอื่นใดอันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีอาจมีคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ อีกทั้งคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้วต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้ วินิจฉัยแล้วนั้นอีกตามข้อ 96 ของระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ

สำหรับกรณีที่ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินเดือนในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2542 พร้อม ดอกเบี้ยนั้น ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทราบเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่จ่ายเงินเดือนในแต่ละเดือน อันเป็นการละเมิดอย่างช้าที่สุดคือวันสิ้นเดือนตุลาคม 2542 ผู้ ฟ้องคดีต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีในขณะนั้น ภายในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ วินิจฉัยร้องทุกข์ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 จึงพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ศาลไม่รับคำฟ้องไว้


* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 917/2551

ข้อเท็จจริงทางคดี : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อครั้งผู้ ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (งานสอบสวน) สถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเนื่องจากต้องหาคดีอาญาข้อหามีและ ขายหรือนำออกแสดงเพื่อขายสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕ แห่งระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ และนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของผู้อื่นมาติดทับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของตน เองเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ ๕๘๘/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติให้ยกอุทธรณ์และ ได้มีหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่ ตช ๐๐๓๙.๔/๔๕๗ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินใน วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๗๐ ก ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยแต่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้นำมาประกอบ การพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง


* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.120/2552

ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดี เป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่สถานีตำรวจภูธรตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกดำเนินการทางวินัยจนถูกไล่ออก จากราชการ กรณีถูกร้องเรียนว่ากระทำการขู่เข็ญนาย จ.พยานในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๒ ที่ ๑๐๐/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๗ และอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๗ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๕๙๑ ไม่ลงวันที่ ระบุเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ แจ้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี คำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีเป็นการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม ผู้ร้องเรียนและพวกของผู้ร้องเรียนมีสาเหตุโกรธเคืองผู้ฟ้องคดี แต่มาเป็นพยานในการดำเนินการทางวินัยและในการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ฟ้องคดี มีการว่าจ้างและขู่เข็ญนาย จ.และนาย ก.ให้มาเป็นพยาน นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดียังถูกดำเนินการทางวินัยกรณีถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ แต่ขณะฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดียังไม่ทราบผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง


* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.176/2552

ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดีมียศร้อยตำรวจเอก ตำแหน่งรองผู้บังคับการกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๒๖ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๒ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนหาข่าวป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๒๖เกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง การลักลอบค้าสินค้าหนีภาษีข้ามแดน การโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ข้ามไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน และการลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษ ตามคำสั่งกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๒๖ ที่ ๐๒๕/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ และเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสืบสวนปราบปรามกรณีมีกลุ่มบุคคลลักลอบขนไม้แปรรูปผิดกฎหมายในเขตกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๒๖ จึงจัดชุดออกสืบสวนปราบปราม เมื่อชุดสืบสวนปราบปรามของผู้ฟ้องคดีได้ตรวจมาถึงบ้านพลาญชัย ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ในวันเดียวกัน เวลา ๑๗ นาฬิกา ได้พบชายกลุ่มหนึ่งกำลังทำการขนไม้ขึ้นรถยนต์บรรทุกสิบล้อ จึงได้ดูพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เมื่อถึงเวลาประมาณ ๐๕.๕๐ นาฬิกา รถยนต์บรรทุกไม้คันดังกล่าวได้เคลื่อนออกไปตามเส้นทางบ้านพลาญชัย - บ้านป่าไม้ ผู้ฟ้องคดีพร้อมพวกจึงได้ขับรถยนต์ติดตามแล้วส่งสัญญาณให้รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวหยุดและแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อทำการตรวจค้นพบนาย ศ.เป็นผู้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าว ส่วนชายอีกประมาณ ๕ ถึง ๖ คน ที่มากับรถยนต์บรรทุกได้วิ่งหลบหนีเข้าป่าไปไม่สามารถติดตามได้ ผลการตรวจค้นพบไม้แปรรูปที่ยังไม่ผ่านการเป็นสิ่งปลูกสร้างมาก่อนเป็นจำนวนมากและมีร่องรอยการแปรรูปไม้ด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ และยังมีไม้อีกส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นไม้แปรรูปผ่านการปลูกสร้างมาก่อนแต่ยังมีลักษณะใหม่สดและมีร่องรอยการแปรรูปด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ สอบถามนาย ศ.ถึงหลักฐานที่มาของไม้แต่นาย ศ.ไม่สามารถนำหลักฐานมาแสดงได้ จึงได้ทำการควบคุมตัวนายศักดิ์ดาและรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่บรรทุกไม้แปรรูปผิดกฎหมายนำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นท้องที่ที่รับผิดชอบ ตามบันทึกประจำวันข้อที่ ๒ เวลา ๑๒ นาฬิกา คดีที่ ๘๗/๔๐ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ โดยกล่าวหาว่านำไม้เคลื่อนที่โดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ มีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองเกินกว่า ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำรถโดยไม่มีใบอนุญาต (ใบขับขี่ขนส่ง) และใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๐ นาย ล.ราษฎรบ้านโนนบาก ตำบลบัวงาม อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานีอ้างตัวเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปที่ถูกจับกุมได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลช่องเม็ก ให้ดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดี โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกรรโชกทรัพย์เรียกทรัพย์สินเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท เพื่อแลกกับการที่ไม่ให้ผู้ฟ้องคดีจับกุมนาย ล.ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว ผลการดำเนินคดีปรากฏว่าศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ และศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืนเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ โจทก์ไม่ฎีกา และเมื่อมีกรณีนาย ล.กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกรรโชกทรัพย์ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๒ ได้ตั้งกรรมการสืบสวนในทางลับเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่กรมตำรวจ (ขณะนั้น) ได้มีคำสั่งที่ ๘๒๑/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ แต่งตั้งกรรมการสอบสวนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกต้องหาคดีอาญาในข้อหากรรโชกทรัพย์ ซึ่งในการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอความเห็นไปยังกรมตำรวจเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๑ ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๐๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ เห็นควรปลดออกจากราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณา ซึ่งปรากฏว่าอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีการประชุมพิจารณาครั้งที่ ๑๔/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ แล้วมีมติให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและก.ตร.ได้มีการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๕ แล้วมีมติรับทราบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่ง ที่ ๗๔๘/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกราชการตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ กรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๘๒ วรรคสาม และมาตรา ๙๘ วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งความผิดตามข้อกล่าวหานี้เป็นกรณีที่นาย ล.กล่าวหาผู้ฟ้องคดีว่ากรรโชกทรัพย์ แต่ความผิดตามข้อหานี้ศาลจังหวัดอุบลราชธานีและศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุด ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามข้อกล่าวหาของนาย ล.และตามผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย สำหรับความผิดตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันที่บัญญัติว่าการกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหานี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการสอบสวนและการสั่งลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีไม่เป็นไปตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑ กล่าวคือ ตามประมวลระเบียบการตำรวจดังกล่าว ลักษณะที่ ๑ บทที่ ๒ ข้อ ๘ บัญญัติว่า ก่อนที่ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์จะลงทัณฑ์ครั้งคราวใดก็ดี ให้พิจารณาโดยถ้วนถี่จนได้ความแน่นอนว่าผู้ที่จะต้องรับทัณฑ์นั้นมีความผิดจริงแล้วจึงสั่งลงทัณฑ์ อย่าลงทัณฑ์โดยโทษะจริตหรือลงทัณฑ์แก่ผู้ที่ยังไม่ได้ความชัดเจนว่ามีความผิดนั้นเป็นอันขาด เมื่อพิจารณาความผิดละเอียดแล้วต้องชี้แจงให้ผู้กระทำผิดนั้นทราบว่ากระทำผิดในข้อหาใด เพราะเหตุใดแล้วจึงลงทัณฑ์ เมื่อผู้ฟ้องคดีถูกกลั่นแกล้งโดยถูกกล่าวหาว่ากรรโชกทรัพย์ซึ่งเป็นคดีอาญา ศาลเท่านั้นจะเป็นผู้พิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แต่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยด่วนสรุปมีความเห็นเสนอต่อกรมตำรวจก่อนศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงเป็นการสั่งปฏิบัติที่มิชอบและไม่ถูกต้อง และตามลักษณะ ๑ บทที่ ๘ ข้อ ๒๔ (ที่ถูกคือข้อ ๒๙) บัญญัติความว่า ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดชี้ขาดเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาคนใด ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้ว คณะกรรมการสอบสวนจะฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษานั้น โดยจะไม่สอบสวนผู้ถูกกล่าวหาและพยานก็ได้ แต่ในข้อนี้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยก็มิได้รอรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาก่อน แต่ด่วนสรุปมีความเห็นเสนอกรมตำรวจว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจึงเป็นการสรุปการสอบสวนที่ไม่ชอบ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๗๔๘/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ โดยยื่นต่อกองอุทธรณ์และร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ แล้วได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๑๖๕๑ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ว่ามติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการถูกต้องเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น จึงมีมติยกอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๗๔๘/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ


* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.367/2552

ข้อเท็จจริงทางคดี : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อครั้งผู้ ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานจราจร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบ สวนผู้ฟ้องคดีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยต้องหาคดีอาญาข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น กระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๒ ระหว่างเวลา ๑๗.๐๐-๒๐.๐๐ นาฬิกา ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ผลการสอบสวนทางวินัยดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าว หาและไม่มีมลทินหรือมัวหมองจากการสอบสวน พยานหลักฐานรับฟังได้เพียงว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยฐานประพฤติตนไม่สมควร และไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมรรยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๒ ที่ ๑๓๔/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ลงทัณฑ์กักขังผู้ฟ้องคดีมีกำหนด ๑๕ วัน และรายงานไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อ.ก.ตร. เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยคณะที่ ๒ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีมีลักษณะเป็นการนำหมายจับเป็นเครื่องมือในการจับกุม เพื่อข่มขู่ให้ตกลงค่าเสียหาย มิใช่ต้องการให้ดำเนินคดีต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย การกระทำของผู้ฟ้องคดีส่อไปในทางแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ความร้ายแรงแห่งกรณีควรได้รับโทษถึงปลดออกจากราชการ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สั่งลงทัณฑ์กักขังผู้ฟ้องคดี มีกำหนด ๑๕ วัน ยังไม่ถูกต้องเหมาะสม มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีเป็นปลดออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๒ ที่ ๔๓๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดียื่นหนังสือลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๖ อุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๑๘๒๙ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่า อ.ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่าอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น มีมติให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีทราบผลการพิจารณาดังกล่าวเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย เนื่องจากขัดต่อข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราได้มีคำสั่ง ไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดี ซึ่งแสดงว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิด ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งรับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม


* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.390/2552


ข้อเท็จจริงทางคดี : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ยศดาบตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ และขับขี่รถยนต์โดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจร เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ เวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา ที่อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแก่ผู้ฟ้องคดี ต่อมาศาลจังหวัดราชบุรีได้พิพากษาให้จำคุกผู้ฟ้องคดีมีกำหนดเวลา ๑ ปี ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนดเวลา ๒ ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ได้พิพากษาให้จำคุกผู้ฟ้องคดีมีกำหนดเวลา ๑ ปี ปรับ ๑๔,๐๐๐ บาท โทษจำคุกไม่รอการลงโทษ ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนได้สรุปผลการสอบสวนว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจริงตามที่ถูกกล่าวหา ควรลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้เสนอรายงานการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เพื่อพิจารณา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งที่ ๑๖๐/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ สั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณาแล้วมีมติเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๖ ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาและเห็นชอบจึงมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรีกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกโดยมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีเพื่อมุ่งหวังในเงินรางวัลจากการเปรียบเทียบปรับ อีกทั้งยังใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ฟ้องคดีเกินกว่าเหตุโดยกระโดดเกาะที่หน้ารถยนต์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีหยุดรถ คำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
๑. เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ ๑๖๐/๒๕๔๔ เรื่อง ลงโทษไล่ข้าราชการตำรวจออกจากราชการ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่สั่งให้ยกอุทธรณ์
๒. ให้รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือไม่น้อยกว่าตำแหน่งเดิม และให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินเดือนย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน


* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 612/2552

ข้อเท็จจริงทางคดี : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานดับเพลิง กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ได้รับคำสั่งไล่ออกจากราชการ ฐานละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า ๑๕ วัน โดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีขาดราชการไปโดยมีเหตุอันจำเป็นรีบด่ว เนื่องจากได้รับแจ้งจากญาติว่าบิดาป่วยหนัก ผู้ฟ้องคดีจึงต้องเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดชัยนาทในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๔ ในระหว่างนั้นผู้ฟ้องคดีได้ติดต่อกับผู้บังคับบัญชาทางโทรศัพท์และผู้บังคับบัญชาแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีกลับมารายงานตัวก่อน แต่ผู้ฟ้องคดีต้องติดตามบิดาไปรับการรักษาที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดารทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ จนอาการบิดาดีขึ้น จึงได้กลับมารายงานตัว ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้ให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงและได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๔ รายงานผู้กำกับการ ๒ กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ว่าได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการขาดราชการของผู้ฟ้องคดีมีเหตุผลเพียงพอ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ เห็นควรให้ลงทัณฑ์กักขังมีกำหนด ๓๐ วัน และได้รับการลงทัณฑ์แล้ว ต่อมาผู้กำกับการ ๒ กองบังคับการตำรวจดับเพลิงมีหนังสือลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๔ รายงานผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจดับเพลิง ว่าเป็นการขาดราชการเพื่อกตัญญูต่อบุพการี มีเหตุอันควรลดโทษ เห็นควรปลดออกจากราชการ ต่อมากองกำกับการ ๒ กองบังคับการตำรวจดับเพลิง จึงมีคำสั่งที่ ๖๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่งตั้งกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี ผลการสอบสวนรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า ๑๕ วัน โดยไม่มีเหตุอันควร หรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๙๒ วรรคสอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ ๒๔๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๕ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากระบวนการในการสอบสวนไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งดังนี้
๑. เพิกถอนคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ ๒๔๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๕ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
๒. สั่งให้ผู้ออกคำสั่งลงโทษพิจารณาลงโทษใหม่


* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.345/2552

ข้อเท็จจริงทางคดี : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยเสพสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือเมาสุราเสียราชการ หรือเมาสุราในที่ชุมชนจนเกิดเรื่องเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยมีพฤติกรรมการกระทำความผิดคือ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นชุดคอยเหตุประจำสถานี ซึ่งมีหน้าที่คอยเหตุเพื่อรอเข้าเวรผลัดต่อไป ขณะที่คอยเหตุนั้นสามารถเรียกตัวมาปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติการได้ทันทีเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งการ แต่ผู้ฟ้องคดีได้ไปเสพสุราจนมีอาการมึนเมาแล้วไปทะเลาะวิวาทกับภรรยาที่บ้านบิดาของภรรยาของผู้ฟ้องคดี สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้านที่อาศัยใกล้เคียง เพราะผู้ฟ้องคดีอยู่ในอาการมึนเมาสุราอย่างหนักจนไม่สามารถครองสติได้ ในการสอบสวนผู้ฟ้องคดีให้การรับสารภาพตามที่ถูกกล่าวหา ไม่ขอนำพยานหลักฐานใดๆ มาหักล้างข้อกล่าวหา ผู้ฟ้องคดีได้ถูกดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาลงโทษทางวินัยจนในที่สุดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีคำสั่งที่ ๑๗๗๙/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีหนังสือแจ้งว่าอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับอุทธรณ์และร้องทุกข์ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการถูกต้องเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงมีมติให้รายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อพิจารณาสั่งการโดยเห็นควรยกอุทธรณ์ หลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการนั้นรุนแรงเกินไป และเหตุที่ผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดนั้น เกิดจากผู้ฟ้องคดีมีความเครียดในเรื่องส่วนตัวและครอบครัว ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคเบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายได้และไม่สามารถทำงานหนักได้ อีกทั้งผู้ฟ้องคดียังมีหน้าที่ต้องดูแลมารดาที่ชราด้วย นอกจากนี้ ในขณะที่รับราชการผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีจนได้รับความชอบหลายประการ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ ๑๗๗๙/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และให้มีการพิจารณาลงโทษสถานเบากว่าคำสั่งเดิม

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.346/2552

ข้อเท็จจริงทางคดี : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีขณะ ที่ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสว สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๐ เวลาประมาณ ๑๒.๓๐ นาฬิกา ขณะผู้ฟ้องคดีเข้าเวรสอบสวน ร้อยตำรวจโท ฤ.พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้นำตัวนาย ม.ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์และรับของโจรที่จับได้เมื่อวันที่๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๐ มาพบผู้ฟ้องคดี โดยมีนาย ส.นาย ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท มอบให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อดำเนินการในเรื่องการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากร้อยตำรวจโท ฤ.ได้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีเรียบร้อยแล้วสามารถให้ประกันตัวได้โดยไม่มี ปัญหา หลังจากนั้นจ่าสิบตำรวจ ส.เจ้าพนักงานตำรวจผู้ควบคุมผู้ต้องหา ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการประกันตัวได้นำเรื่องของนายใหม่เสนอให้ ผู้ฟ้องคดี เมื่อตรวจสอบแล้วผู้ฟ้องคดีจึงบันทึกเสนอและลงนามมอบให้จ่าสิบตำรวจ ส.นำไปเสนอพันตำรวจโท ส.สารวัตรสอบสวนซึ่งทำหน้าที่เวรพิจารณาสัญญาประกันเพื่อพิจารณาอนุมัติ แต่ไม่พบพันตำรวจโท .ส. ผู้ฟ้องคดีได้พยายามติดต่อหลายครั้งก็ไม่สามารถติดต่อได้ จนกระทั่งเวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีจึงตัดสินใจอนุญาตให้ปล่อยตัวนาย ม.ชั่วคราว เพราะเห็นว่าได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ นาฬิกาแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเป็นคดีความผิดไม่ร้ายแรงไม่มีพฤติการณ์ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีทั้งไม่มีคำ สั่งจากผู้บังคับบัญชาไม่ให้ประกันตัวในคดีลักษณะเช่นนี้ อันเป็นแนวปฏิบัติของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางที่เคยมีมาแล้ว ประกอบกับผู้ฟ้องคดีเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวได้ถึงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ เท่านั้นและวันดังกล่าวก็ตรงกับวันอาทิตย์ ดังนั้น จะต้องยื่นคำร้องขอฝากขังภายในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๐ หากไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ และเชื่อว่าจะชี้แจงให้พันตำรวจโท ส.ทราบและเข้าใจได้ สำหรับหลักประกันเงินสดดังกล่าวผู้ฟ้องคดีจำต้องเก็บไว้กับตัวก่อน เนื่องจากวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ เจ้าหน้าที่การเงินไม่ทำงานและสถานีตำรวจไม่มีตู้นิรภัยสำหรับให้พนักงานสอบ สวนเก็บหลักทรัพย์ประกันไว้ ต่อมาพันตำรวจโท ม.เห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดจึงมีคำสั่งให้นำตัวนาย ม.มาถอนประกันก่อนเวลา ๑๒ นาฬิกาของวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ พร้อมทั้งให้มีการสอบสวนเอาผิดทางวินัยและแจ้งความดำเนินคดีอาญากับผู้ฟ้อง คดี สำหรับความผิดทางวินัยกองบัญชาการตำำรวจนครบาลได้มีคำสั่งที่ ๔๑๔/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ให้สอบสวนผู้ฟ้องคดีและมีคำสั่งกรมตำรวจที่ ๗๙๖/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๐ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน ผลการสอบสวนเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้ อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม และมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังจากนั้นกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งที่ ๒๑๔/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๑ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน ส่วนคดีอาญาผู้ฟ้องคดีถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๒๘๙/๒๕๔๒ ข้อหาเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งต่อมาศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคำพิพากษาในคดีอาญาไปแสดงเพื่อขอกลับเข้ารับราชการ จึงทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้สั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๖ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
๑. เพิกถอนคำสั่งกรมตำรวจที่ ๗๙๖/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน

๒. เพิกถอนคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ ๒๑๔/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๑ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
๓. เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ในการประชุมครั้งที่ ๑๗/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
๔. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง ยศ และ เงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม โดยให้ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิการเลื่อนขั้นเงินเดือนจำนวน ๑ ขั้นตามปกติ โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๐
๕. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้เงินเดือนคืนแก่ผู้ฟ้องคดีไม่ต่ำกว่าในอัตราเดือนละ ๑๐,๐๘๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๖ ปี ๓ เดือน รวมเป็นเงินไม่ต่ำกว่า ๗๕๖,๐๐๐ บาท
๖. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ร่วมกันชดใช้เงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๐,๐๘๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันรับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น