วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒๐)

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่งาน ๓ กองกำกับการ ๒ กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค ๖ ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกรณีเมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเนื่องจากถูกกล่าวหายิงปืนในหมู่บ้านหรือในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีพฤติการณ์ชู้สาวกับภริยาของผู้อื่นและใช้กิริยาวาจาไม่สมควร ผลการสอบสวนปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงเฉพาะกรณีผู้ฟ้องคดีพูดจาไม่เหมาะสมกับนางบุญเกิด ส่วนกรณีอื่นไม่มีมูล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๖ จึงสั่งลงทัณฑ์กักขังผู้ฟ้องคดีมีกำหนด ๓๐ วัน ตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๖ ที่ ๒๓๕/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ จากนั้นตำรวจภูธรภาค ๖ ได้รายงานไปยังคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อพิจารณา ซึ่ง ก.ตร. พิจารณาแล้วมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้บัญชาตำรวจภูธรภาค ๖ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของ ก.ตร. ตามคำสั่งตำรวจภูธร ภาค ๖ ที่ ๑๖/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๒ พร้อมทั้งได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งลงทัณฑ์ผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๖ ที่ ๑๗/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการต่อ ก.ตร. ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๒๑๔ ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่ารองนายกรัฐมนตรี (พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของ ก.ตร. เมื่อผู้ฟ้องคดีทราบผลการพิจารณาก็ไม่ได้ยื่นฟ้องหรือร้องขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานของรัฐแห่งใดเพราะเข้าใจว่าคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ต่อมาได้ทราบว่ามีการจัดตั้งศาลปกครองจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าใหม่ จังหวัดนนทบุรี ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรงตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓๕๘/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ตามข้อ ๓ วรรคหนึ่ง และวรรคสองแห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา เป็นผลให้การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับข้อกล่าวหาที่ระบุว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหามาก่อนและไม่ได้มีการสอบสวนในข้อหานี้แต่อย่างใด ซึ่งมีผลทำให้คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๔๔๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งที่ ๔๔๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ จึงได้อุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ และระยะเวลาได้ล่วงเลยเกิน ๙๐ วันแล้ว ผู้ฟ้องคดีก็ยังไม่ได้รับการแจ้งผลการพิจารณาแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่ต้องตกเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและถูกไล่ออกจากราชการ จึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่ ๔๔๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์เบื้องต้น เพราะหากให้คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีจนยากที่จะแก้ไขเยียวยาในภายหลังได้ และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังต่อไปนี้
๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยเร็วภายในเวลาที่ศาลกำหนด
๒. เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓๕๘/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ และที่ ๔๔๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ และให้การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงที่ดำเนิน การมาทั้งหมดเสียไปทั้งสำนวน

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๖/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งลูกแถวงานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับภรรยาของผู้อื่น และตำรวจภูธรภาค ๑ ได้มีคำสั่งที่ ๑๙๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓ และเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือเรียกผู้ฟ้องคดีไปแถลงการณ์ด้วยวาจา แต่จนกระทั่งวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ศาลปกครองเร่งรัดให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ศาลกำหนด

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๖/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง สามโดยเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตำแหน่งผู้ช่วยป่าไม้เขตอนุรักษ์ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อดีตศึกษาธิการอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกันจับกุมผู้ฟ้องคดีและส่งตัวผู้ฟ้องคดีไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอสอยดาวเพื่อดำเนินคดีข้อหาบุกรุก แผ้วถาง และครอบครองที่ดินในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่มีหมายจับ อีกทั้งได้ทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงและเอาผิดทางวินัยและทางอาญากับผู้ฟ้องคดีทั้งสาม

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๓/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ อยู่ในท้องที่หมู่ที่ ๗ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ที่ดินดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิผู้ฟ้องคดีได้รับที่ดินแปลงนี้จากนายกมล (ไม่ทราบนามสกุล) มาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา และได้ปลูกบ้านโดยได้รับเลขที่บ้าน ๑๑๖/๑ หมู่ที่ ๗ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ไว้บนที่ดินดังกล่าวด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๖ ผู้ฟ้องคดีได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยคเพื่อขอให้ดำเนินคดีกับนายบุญสมที่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวแล้วขุดต้นกล้วยที่ผู้ฟ้องคดีปลูกไว้เพื่อนำไปปลูกในที่ของตน รวมทั้งได้ขุดทำลายต้นกล้วยเพื่อหวังจะครอบครองที่ดินดังกล่าวด้วย ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและได้เรียกนายบุญสมมาสอบถามซึ่งนายบุญสมได้รับสารภาพว่าบุกรุกทำลายต้นกล้วยและลักขุดต้นกล้วยของผู้ฟ้องคดีจริง แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นสารวัตรสอบสวนไม่ทำการจับกุมนายบุญสมไปดำเนินคดี ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ แต่ไม่ได้ผลคืบหน้า ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ต่อมาจึงได้รับแจ้งจากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรีตามหนังสือที่ กจ ๐๐๑๘.๑.๐๕/๑๖๐๙ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๗ ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ซึ่งเป็นพนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้องนายบุญสม เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นการป้องกันผู้กระทำผิดมิให้ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีและครอบครัวไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดิน ทำให้ขาดรายได้และเสียเวลา เสียเงินจากการเดินทางเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับคดี ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการกระทำละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่ง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๘/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีมีอาชีพรับราชการ เมื่อประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีได้รับการขอร้องจากนางสุปราณีซึ่งรับราชการเป็นครูอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครให้มาประกันตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเป็นหลักประกัน โดยนางสุปราณีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นตำรวจประจำอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินีร่วมมือด้วย ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร่วมกับบุคคลอื่นประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลแขวงปทุมวันเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๐ และเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๑ ก็ได้รับการชักชวนให้ประกันผู้ต้องหาในคดีทำร้ายร่างกายที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ครั้นต่อมาปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง ๒ คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประกันได้หลบหนี เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีถูกปรับเป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท และ ๒๐๐,๐๐๐ บาทามลำดับ นอกจากนี้ สถานีตำรวจนครบาลลุมพินียังได้ดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม เพราะใบรับรองเงินเดือนของผู้ฟ้องคดีที่มอบให้กับนางสุปราณีได้มีผู้แก้ไขข้อความบางอย่าง แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเข้าใจว่าน่าจะมีขบวนการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีร่วมกับบุคคลภายนอกหอกลวงผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และเป็นข้าราชการให้มาประกันผู้ต้องหาและให้ผู้ที่ถูกหลอกลวงใช้ค่าประกัน จึงได้ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการสอบสวน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ดำเนินการ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่อาจนำข้อเท็จจริงจากการสอบสวนดังกล่าวมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องเรียกค่าเสียหายคืนจากผู้หลอกลวง ผู้ฟ้องคดีจึงนำเรื่องนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๕ โดยขอให้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และในกรณีที่ไม่สามารถเพิกถอนคำสั่งได้ก็ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการสอบสวนตามคำร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท เพราะเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ดำเนินการสอบสวนตามที่ถูกร้องขอ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ื ๖๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมและให้ดำเนินการทางวินัยกับร้อยตำรวจโทนริช (ยศในขณะนั้น) ร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่ข้อหาทำสำนวนในคดีจราจรที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสียหายล่าช้า (เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๖) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ซึ่งตำรวจภูธรภาค ๕ ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าได้สั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่สืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏผลการสืบสวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าร้อยตำรวจโทนริชพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีดังกล่าวทำสำนวนการสอบสวนล่าช้าอันเป็นการไม่ปฏิบัติตนให้เคร่งครัดต่อมรรยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจและมีมูลกระทำผิดทางวินัย ตำรวจภูธรภาค ๕ จึงได้สั่งการให้ดำเนินการทางวินัยกับร้อยตำรวจโทนริชแล้ว ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๕ ถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมหลายกรณี รวมทั้งเรื่องการดำเนินทางวินัยกับร้อยตำรวจโทนริชด้วย ซึ่งตำรวจภูธรภาค ๕ ได้มีหนังสือที่ ๐๐๑๖.๑๑๓/๒๘๖๓ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ แจ้งว่ากรณีดังกล่าวตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าผู้ถูกสืบสวนไม่บกพร่องและเสนอยุติเรื่อง แต่ตำรวจภูธรภาค ๕ ไม่เห็นชอบด้วยจึงได้สั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาดำเนินการทางวินัยร้อยตำรวจโทนริชไปตามอำนาจหน้าที่ ส่วนพันตำรวจเอกอรรถกิจซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มิได้มีการกำชับหรือสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบนั้น ได้สั่งการให้ทำการสืบสวนเพิ่มเติมต่อไป ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าหนังสือตำรวจภูธรภาค ๕ ทั้ง ๒ ฉบับแจ้งผลการดำเนินการต่างกันแสดงให้เห็นว่าต้องมีเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยมีคำขอดังนี้
(๑) ให้ลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนร้อยตำรวจโทนริชกับพวกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และลงโทษทางวินัยกรณีหน่วงเหนี่ยวเรื่องไว้และทำให้เกิดความล่าช้า และรายงานเอกสารราชการอันเป็นเท็จ

(๒) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องหน่วงเหนี่ยวเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีร้องเรียนไว้ทำให้เกิดความล่าช้า และรายงานเอกสารอันเป็นเท็จเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและผู้อื่น

(๓) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีร้องเรียนร้อยตำรวจโท นริช พันตำรวจตรีจารึก พันตำรวจโทอุดม และพันตำรวจเอกอรรถกิจที่บกพร่องต่อหน้าที่ทั้งทางอาญาและทางวินัย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้แจ้งความร้องทุกข์กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์ปลอมแปลงคำสั่งศาลฎีกา แต่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดกลับไม่มีการจับตัวผู้ต้องหาและมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ทำให้ผู้ต้องหาแจ้งความกลับกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ และร่วมกันดูหมิ่นศาลและผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต้องติดคุกและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดดังกล่าวข้างต้นเป็นการละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายอย่างยิ่งแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงขอให้ศาลมีคำสั่ง ดังนี้
๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑.๕๐ บาทต่อเดือน นับแต่วันฟ้องคดีจนกว่าจะชำระเสร็จ

๒. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งกับผู้ถูกฟ้องคดี

ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวโดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

* คำสั่ืงศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๗/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทอเนกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปราจีนบุรี ให้ดำเนินคดีกับร้อยโทเนติพลนายทหารสังกัดมณฑลทหารบกที่ ๑๒ ในข้อหาหมิ่นประมาท ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปราจีนบุรีให้รับทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าร้อยตำรวจโทอเนกปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการสอบถามพยานและจัดทำสำนวนการสอบสวนทั้งส่งสำนวนการสอบสวนคดีให้อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ พิจารณาสั่งคดีโดยไม่แจ้งให้ทราบ ผู้ฟ้องคดีจึงร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๕ ให้สอบสวนร้อยตำรวจโทอเนก แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการใด ๆ จึงนำคดีมาฟ้องศาลขอให้มีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีสอบสวนและลงโทษทางวินัย ต่อร้อยตำรวจโทอเนกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา ๑ เดือน

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๕/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขออนุญาตมีอาวุธปืนติดตัวต่อผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ พร้อมทั้งได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอครบถ้วนและเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ตรวจสอบหลักฐานและได้ออกใบรับคำร้องขออนุญาตมีอาวุธปืนติดตัวเลขที่รับ ๒/๑๒๓๖ ให้แก่ผู้ฟ้องคดี หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายในกำหนด และถ้าหากผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับอนุญาตตามคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งเหตุผลและกฎหมายประกอบการพิจารณา

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๐๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีข้อหาสรุปได้ดังนี้

ข้อหาที่หนึ่ง นายอำเภอกับพวกทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดี ทำให้ขาดฮอร์โมนบางชนิด ขอให้กรมการปกครองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ข้อหาที่สอง เจ้าหน้าที่ตำรวจทำอันตรายแก่ผู้ฟ้องคดีและบุตรสองคนด้วยการบุกรุกลอบเติมยาเสพติดและสารเคมีที่เป็นอันตรายในโอ่งน้ำดื่ม ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ข้อหาที่สาม ข้าราชการอำเภอบ้านแพรกละทิ้งหน้าที่และขาดราชการเกินกว่า ๑๕ วัน โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้สั่งให้ข้าราชการทำเอกสารเท็จเพื่อปกปิดความผิด จึงไม่มีผู้พิจารณาการกระทำผิด แม้แต่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องฟังคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งละทิ้งหน้าที่ ทำให้หน่วยงาน ประชาชน และผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ใดจะรับผิดชอบพิจารณาโทษข้าราชการได้บ้าง

ข้อหาที่สี่ รองอธิบดีกรมการปกครองซึ่งไม่มีหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิด ขอให้อธิบดีกรมการปกครองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนๆ ละ ๘,๗๔๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๘ จนกว่าจะถึงวันที่ผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย

ข้อหาที่ห้า ข้าราชการกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้มีเรื่องกับผู้ฟ้องคดีเป็นการส่วนตัวเนื่องจากต้องการเอาใจนายอำเภอขอให้กรมการศึกษานอกโรงเรียนชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ข้อหาที่หก เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาปิดประกาศผิดจากบ้านพิพาทในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๐๖๒/๒๕๓๙ ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสั่งจำคุกผู้ฟ้องคดี ๓๔ วัน และเรียกเงินค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท ขอให้กรมบังคับคดีชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท และสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาปลดประกาศดังกล่าว

ข้อหาที่เจ็ด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาขาท่าเรือ ได้จดทะเบียนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๘๔ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แก่ผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีบ้านของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่ ซึ่งชนะคดีแพ่งตามคดีหมายเลขแดง ที่ ๑๐๖๒/๒๕๓๙ ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้กรมที่ดินสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการให้ดังกล่าว และโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๘๔ ให้กับนายสรมณฑลกับนายสกลธรรมบุตรของผู้ฟ้องคดี

ข้อหาที่แปด เทศบาลตำบลท่าเรือสร้างถนนโดยทุจริตเงินภาษีราษฎรและอนุญาตให้กรมชลประทานสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก เพื่อนำเงินภาษีของราษฎรไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการบางคนทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วทุบทิ้งไม่ต้องการให้รถวิ่ง ขอให้เทศบาลตำบลท่าเรือขุดถนนและเขื่อนดังกล่าวแล้วนำดินมาถมที่ดินโฉนดเลข ที่ ๔๕๘๔ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปถมคืนดังเดิม

ข้อหาที่เก้า ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวคดี โดยคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

หากหน่วยงานดังกล่าวไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายให้ได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหาย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเริ่มรับราชการตำรวจเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๑ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ผลคดีพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ส่วนการดำเนินการทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนวินัยเห็นควรระงับทัณฑ์ ผู้บังคับการตำรวจดับเพลิงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีความเห็นให้ยุติเรื่อง แต่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ ๓๕๕/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๒ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนโดยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีตกอยู่ในลักษณะมีมลทินมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ แล้วมีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพราะมีมลทินมัวหมองในกรณีถูกสอบสวนเป็นไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ต่อมา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ลับ ที่ นร ๐๑๐๓/๑๘๒๗๙ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓ แจ้งว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติของผู้ ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงมีคำสั่งที่ ๔๓๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ผู้ฟ้องคดีรับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๓ และเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำสั่งดังนี้
๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๒
๒. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี นับแต่มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นเวลา ๔๘ เดือน เป็นเงินจำนวน ๓๔๒
,๗๒๐ บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น