วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑๐)

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่ากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีคำสั่งที่ ๒๑๖/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ตั้งกรรมการสอบสวนความผิดวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีกรณีต้องหาคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เหตุเกิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๑ ซึ่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีคำสั่งที่ ๓๒๘/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาและได้มีการกันตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของผู้ฟ้องคดีไว้ตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อมา พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มีผลใช้บังคับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจึงมีคำสั่งที่ ๒๒๘/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่ฐานะเดิมเนื่องจากดำเนินการสอบสวนทางวินัยไม่แล้วเสร็จภายในกำ หนดเวลาตามมาตรา ๘๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงได้รายงานตัวกลับเข้ารับราชการโดยได้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ ๑) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี อัตราเงินเดือนระดับ ส. ๑ ขั้น ๑๔.๕ (๑๑,๗๕๐ บาท) และได้ทำการประเมินและผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมจนได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานสอบสวน (สบ ๒) แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา ๘๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีควรได้รับสิทธิเกี่ยวกับเงินเดือนและขั้นเงินเดือนที่ถูกกันไว้คืนด้วยผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือ ที่ ๐๐๒๖ (๑๑) ๕/๑๑๖๖ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ ขอให้ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับ โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้รับหนังสือตอบแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือที่ ๐๐๒๖.(๑๑)๕/๗๖๗ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑ ร้องทุกข์ต่อผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางกลับมีหนังสือที่ ๐๐๒๖.๑๔ (๒)/๕๓๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๒ ถึงหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ฟ้องคดีเพื่อขอทราบผลการพิจารณาคดีอาญาของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การพิจารณาทางวินัยเป็นคนละเรื่องกับการดำเนินคดีอาญา จึงไม่ถือว่าเป็นข้ออ้างที่จะไม่คืนสิทธิประโยชน์หลังจากที่สั่งให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม เพราะหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมแล้วต้องถือว่ามิได้เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสืบสวนหรือถูกสอบสวนแต่อย่างใด สิทธิประโยชน์เดิมที่เคยได้รับก่อนมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงต้องได้รับคืนทุกประการ โดยไม่อาจอ้างเอาคดีอาญาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามาปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีเสมือนว่าเป็นผู้กระทำผิดได้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีโดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๕๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ - กรกฎาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดีเป็นหนึ่งในจำนวน ๙ นายของผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๗ ได้รับการจัดอาวุโสในลำดับที่ ๑ ของตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งหมด สืบเนื่องจากในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง และผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังมิได้แต่งตั้งข้าราชการตำรวจผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๑๑/๒๕๕๒ เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทนลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ แต่งตั้งให้พลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอาวุโสในลำดับที่ ๓ ของตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทั้งหมด รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๗๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ในฐานะผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้พลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการโดยชอบด้วยหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทราบดีว่าหากไม่ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนผู้ บัญชาการตำรวจแห่งชาติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีย่อมจะต้องได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยผลของกฎหมายตามมาตรา ๗๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และในตำแหน่งอื่นนั้นในทางปฏิบัติที่ผ่านมาจะใช้ในกรณีที่กระบวนการแต่งตั้งได้ผ่านขั้นตอนตามกฎหมายแล้ว เช่น ก.ตร. หรือ ก.ต.ช. ให้ความเห็นชอบตัวบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วและอยู่ในระหว่างรอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ ประกอบกับตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นที่ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีในการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนตามที่เห็นสมควร มิได้หมายความว่าให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจในการพิจารณาความเห็นของตนได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องคำนึงถึงจารีตประเพณี แบบธรรมเนียมปฏิบัติและอาวุโสของข้าราชการตำรวจเป็นแนวทางการพิจารณา ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้แนวทางข้างต้นผู้ฟ้องคดีย่อมจะต้องได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามกฎหมาย การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีในการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายต้องสูญเสียโอกาสในการเป็นผู้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำ สั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๑๑/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ และให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๘๐/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจตรีได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ กรณีหลอกลวงบุคคลอื่นว่าสามารถช่วยเหลือให้เข้ารับราชการตำรวจได้โดยไม่ต้อง สอบแล้วเรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทน ตามคำสั่งกองบัญชาการศึกษาที่ ๒๑๗/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ และต่อมามีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศของผู้ฟ้องคดี ขณะเดียวกันผู้ฟ้องคดีได้ถูกดำเนินคดีอาญาในกรณีดังกล่าวข้างต้นด้วยโดยในผล ของคดีอาญา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๙๕๗/๒๕๔๙พิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดีและคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๙ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อขอกลับเข้ารับราชการตำรวจและขอพระราชทานยศคืน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือติดตามทวงถามเรื่องดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีอีกจำนวน ๒ ฉบับ คือฉบับลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๐ และฉบับลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ แต่จนถึงขณะที่ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเร่งทำหนังสือตอบว่าจะพิจารณารับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตำรวจหรือไม่ และเร่งขอพระราชทานยศคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๔๘/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้่อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อ ฮีโน่ ทะเบียน ๘๐-๒๒๔๓ กระบี่ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๐ ร้อยตำรวจโททักษิณพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ได้ยึดรถคันดังกล่าวไว้โดยไม่ได้แจ้งข้อหาว่ารถยนต์คันดังกล่าวถูกใช้ในการกระทำความผิดฐานใดและไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมาในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีได้ไปติดต่อขอรับรถคันดังกล่าวคืนจากพันตำรวจเอกทวีศักดิ์ พันตำรวจตรีจรูญ และร้อยตำรวจโททักษิณซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี แต่บุคคลทั้งสามดังกล่าวปฏิเสธไม่ยอมคืนโดยอ้างว่ายึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญา แต่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามที่กล่าวอ้าง และต่อมาในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๐ และวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ผู้ฟ้องคดีได้ไปขอรับรถคืนจากบุคคลทั้งสามอีกครั้งแต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ยอมคืนให้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงเป็นการกลั่นแกล้งให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายเป็นการใช้อำนาจโดยส่อเจตนาไม่สุจริต ไม่ถูกต้องตามรูปแบบและขั้นตอน อันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นการจงใจที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามต่อศาลจังหวัดกระบี่ เป็นคดีอาญาคดีหมายเลขแดงที่ ๙๘๔/๒๕๔๔ รวมทั้งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกระบี่ ในคดีแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ๕๓๒-๕๓๓/๒๕๔๔ ต่อมาศาลจังหวัดกระบี่ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ได้พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่ามูลละเมิดตามฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนเกิดขึ้นหลังพระ ราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องบุคคลทั้งสามต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นมูลละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำกรณีพิพาทดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ยี่ห้อ ฮีโน่หมายเลขทะเบียน ๘๐-๒๒๔๓ กระบี่ ให้ผู้ฟ้องคดีในสภาพใช้การได้ดี หากคืนให้ไม่ได้ให้ชดใช้เงินแทน จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท และให้ชดใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นรายวัน ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท รวม ๓๖๕ วัน เป็นเงินจำนวน ๓๖๕,๐๐๐ บาท และค่าขาดประโยชน์วันละ ๑,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี หรือชดใช้ราคาและคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๘๐-๒๒๔๓ กระบี่ รวมทั้งให้ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนผู้ฟ้องคดี

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๘/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๙ เวลาประมาณ ๐๕.๓๐ นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการตรวจค้นบ้านของนายบุญเลิศพบยาม้า จำนวน ๔๔๐ เม็ด และโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย หมายเลข ๐-๑๔๓๘-xxxx จึงจับกุมนายบุญเลิศโดยแจ้งข้อหาว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท ๒ (เมทแอมเฟตามีนหรือยาม้า) ไว้ในความครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมผู้ฟ้องคดีตามคำให้การซัดทอดของนายบุญเลิศและยึดโทรศัพท์มือถือยี่ห้อเทคโนโฟน หมายเลข ๐-๑๔๓๑-xxxx ผู้ฟ้องคดีได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวนและถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ ๒ ร่วมกับนายบุญเลิศจำเลยที่ ๑ ต่อศาลอาญาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๓๑/๒๕๓๙ หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๑ ที่ ๑๑๖/๒๕๓๙ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๕๓๗๐/๒๕๔๒ พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ ปี และยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๒ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอาญา คดีถึงที่สุดแล้วโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๑ ที่ ๘๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๔ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๒๙๓๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาในคราวประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ แล้วเห็นว่า ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการยังไม่ถูกต้องเหมาะสม จึงรายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เพื่อสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิ่มโทษจากลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๑ ที่ ๕๔๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ เปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี จากปลดออกจากราชการเป็นไล่ออกจากราชการผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งลงโทษดังกล่าวเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขอกลับเข้ารับราชการแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับมีมติให้เพิ่มโทษเป็นลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นจำเลยถึงสองชั้นศาล

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๘๖/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งที่ ๒๘๙/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๗ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๘๒ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปรากฏว่าอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการอุทธรณ์ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๒๑/๒๕๔๘ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ มีมติให้ยกอุทธรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๓๙.๔/๒๓๒ ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ โดยผู้ฟ้องคดีได้รับทราบเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๘ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ยกอุทธรณ์เป็นคำสั่งและมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าจุดตรวจแม่ละนาได้รับมอบของกลางเป็นยาบ้าจากพลตำรวจสมัครกิตติและพลตำรวจสมัครประหยัดซึ่งตรวจยึดได้จากชายไม่ทราบชื่อซึ่งหลบหนีการจับกุมไปได้ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตรวจนับจำนวนและเมื่อได้ไปปรึกษาผู้บังคับบัญชาได้รับแจ้งว่าเมื่อไม่ได้ตัวผู้ต้องหาก็ไม่ต้องส่งดำเนินคดีต่อมารองหัวหน้าตำรวจจังหวัดมีคำสั่งให้ส่งดำเนินคดี ผู้ฟ้องคดีดำเนินการตามคำสั่งแล้วแต่ปรากฏว่ามียาบ้าบางส่วนถูกฝนชะเปื่อยยุ่ยผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความตั้งใจทำงานและไม่มีผู้ใดได้รับผลประโยชน์ทางราชการก็ไม่เสียหายคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีจึงรุนแรงเกินกว่าเหตุขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๕ ที่ ๒๘๙/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๗ และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งกรมตำรวจที่ ๘๔๗/๒๕๒๔ เรื่องไล่ข้าราชการออกจากราชการ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแล้วและได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ ๔) มีคำสั่งไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งยกอุทธรณ์ตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแล้วต้องห้ามมิให้รับไว้พิจารณาตามมาตรา ๒๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ และระหว่างรอผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการพิจารณาวินัยและอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อขอกลับเข้ารับราชการซึ่งต่อมารองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีได้พิจารณาเสนอผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๒๙ ว่าผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีอาญา คดีถึงที่สุดแล้วผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิดไม่ต้องรับโทษทางอาญา สำหรับการพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยนั้นผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการแล้วจึงไม่สามารถพิจารณาดำเนินการต่อไปได้ หลังจากนั้นเมื่อประมาณเดือนมกราคม ๒๕๓๐ ผู้ฟ้องคดีได้ถวายฎีกาเพื่อขอให้ได้กลับเข้ารับราชการ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร ๐๑๐๘.๑๒/๓๕๑๗ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ แจ้งผลการพิจารณากรณีผู้ฟ้องคดีขอความช่วยเหลือให้กลับเข้ารับราชการว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการโดยก่อนออกจากราชการไม่อยู่ในระหว่างถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยหรืออาญา แต่วุฒิการศึกษาของผู้ฟ้องคดีไม่ใช่วุฒิพิเศษหรือวุฒิที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกำหนดให้เป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน เมื่อพิจารณาโดยเคร่งครัดแล้วไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใดๆ ที่จะบรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการและผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ ให้ระงับการบรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ปล่อยเรื่องให้ล่วงเลยมาเป็นเวลานานจนทำให้ผู้ฟ้องคดีหมดโอกาสที่จะกลับเข้ารับราชการ เสียโอกาสความก้าวหน้าในชีวิตราชการและไม่ได้รับเงินเดือนที่พึงจะได้ตาม สิทธิ โดยในวันที่ผู้ฟ้องคดีถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินเดือนในอัตราเดือนละ ๒,๓๔๐ บาท และเมื่อนับตั้งแต่วันที่ถูกไล่ออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ (อายุครบ ๖๐ ปี) รวมเป็นเวลา ๑๘ ปี หรือ ๒๑๖ เดือน ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีได้กลับเข้ารับราชการจนถึงวันเกษียณอายุราชการจะได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท และภายหลังเกษียณอายุราชการจะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่กระทำการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่ได้กลับเข้ารับราชการผู้ฟ้อง คดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๗/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่ป้องกันปราบปราม) งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ได้รับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คำสั่งที่ ๒๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ลงโทษไล่ออกจากราชการกรณีต้องหาคดีอาญาข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน) โดยผิดกฎหมาย อันเป็นกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๙๘ วรรคสอง เนื่องจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าสองยางได้มีคำสั่งที่ ๖๕/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๔ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม ๗ คน ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดเดียวกันไปตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดให้โทษในร่างกายที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ จังหวัดปทุมธานี ตามที่ได้รับแจ้งจากฝ่ายปกครองของอำเภอท่าสองยางว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าสองยางบางนายติดหรือเสพยาเสพติดให้โทษ ผลการตรวจพิสูจน์ของโรงพยาบาลธัญญารักษ์พบสารเสพติดกลุ่มแอมเฟตามีนในร่างกายของผู้ฟ้องคดีเพียงคนเดียว เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีอาญาผู้ฟ้องคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่มีเจตนาที่จะนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายแต่อย่างใด เหตุที่ตรวจพบสารดังกล่าวเป็นเพราะผู้ฟ้องคดีได้เข้าร่วมการแข่งขันเซปักตะกร้อให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่อุสุในการแข่งขันกีฬาระหว่างตำบล และในการแข่งขันเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ได้มีกองเชียร์จัดน้ำดื่มซึ่งผสมยาบ้ามาให้นักกีฬาดื่ม ผู้ฟ้องคดีดื่มน้ำเข้าไปโดยไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ต่อสู้คดีทางอาญามาโดยตลอดว่าไม่ได้กระทำผิด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงควรที่จะรอผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดเสียก่อนจึงจะมีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี อย่างไรก็ตามผู้ที่เสพยาเสพติดนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดหากแต่ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ได้แจ้งคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยรวมทั้งไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการตั้งกรรมการ ไม่ได้ทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดีหรือให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีเจตนาเสพหรือนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีมติให้ยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๒๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๘๖๕/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๔ มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ให้ยกอุทธรณ์ และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งรับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๓๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๕๗๗/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๖ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ไม่จับกุมผู้กระทำผิดในขณะที่พบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายและผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๓๗๑/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๑ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการโดยให้คำสั่งมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีเกษียณอายุราชการ ทำให้กรมบัญชีกลางสั่งยกเลิกการจ่ายเงินบำนาญและเรียกคืนเงินบำนาญและเงิน อื่นๆ (ถ้ามี) ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นจำนวน ๗๔๙,๖๗๒ บาท ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการต่อประธานกรรมการข้าราชการตำรวจและร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาคำอุทธรณ์และคำ ร้องขอความเป็นธรรมของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น และมีมติให้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ยกอุทธรณ์ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการพิจารณาลงโทษทางวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบเพราะผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดีในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับมีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งการลงทัณฑ์ของฐานความผิดทั้งสองมีอัตราโทษที่แตกต่างกัน โดยความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อัตราโทษอย่างสูงคือให้ปลดออกจากราชการ แต่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการมีอัตราโทษไล่ออกสถานเดียว นอกจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้นำพยานหลักฐานที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นไว้มาพิจารณาหักล้างข้อกล่าวหา ประกอบกับไม่ได้นำประเด็นเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มาประกอบการพิจารณา อนึ่ง ผู้ฟ้องคดีพบว่าผู้ถูกฟ้องคดีเคยลงโทษข้าราชการตำรวจซึ่งมีเหตุลักษณะความผิดใกล้เคียงกับผู้ฟ้องคดี แต่บุคคลดังกล่าวได้รับโทษเบากว่าที่ผู้ฟ้องคดีได้รับในหลายกรณี เช่น กรณีมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพียงลงโทษปลดออก หรือกรณีมีการทุจริตแต่ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้มีการดำเนินคดีอาญาและเรียกเงินคืนแต่อย่างใด หรือกรณีทำร้ายร่างกายซึ่งตามมาตรฐานการลงทัณฑ์ให้ไล่ออกสถานเดียว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีลงโทษเพียงปลดออกโดยเก็บเรื่องไว้เพื่อให้อายุราชการครบยี่สิบห้าปีจึงออกคำสั่งเพื่อให้มีสิทธิรับบำนาญ หรือกรณีถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และศาลในคดีอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งระงับทัณฑ์เพราะได้รับการล้างมลทินขอให้ศาลปกครอง มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓๗๑/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๑ ที่สั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๓๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๓๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการบำนาญได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่เมื่อครั้งเป็นข้าราชการตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) มีคำสั่งที่ ๘๘๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีกับพวกกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๓ สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้แพร่ภาพการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีกับพวกที่ประจำด่านตรวจสลกบาตร ถนนพหลโยธิน อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร โดยแพร่ภาพคนขับรถบรรทุกได้โยนเงินลงบนถนนและเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวเข้าไปเก็บเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดัง กล่าวละเว้นการตรวจสอบสิ่งของผิดกฎหมายและมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ผลการสอบสวน บช.ปส. พิจารณาแล้วมีคำสั่งที่ ๑๘๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ ให้ยุติเรื่องทางวินัยและให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ และได้รายงานผลการดำเนินการทางวินัยไปยัง ก.ตร. ต่อมา อ.ก.ตร. วินัย คณะที่ ๒ ทำการแทน ก.ตร.ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๓๐/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๖ แล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีกับพวกยังฟังไม่ได้ว่ากระทำผิดที่จะถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออกแต่พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีกับพวกดังกล่าวตกอยู่ในลักษณะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนซึ่งจะให้รับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑ ตามที่ บช.ปส. สั่งยุติเรื่องนั้นยังไม่ถูกต้องเหมาะสม จึงมีมติให้ บช.ปส. สั่งให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนต่อไป ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดจึงมีคำสั่งที่ ๓๑๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากราชการตามมติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องทุกข์ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขอให้คืนเงินเดือนที่ตกค้างระหว่างที่ผู้ฟ้อง คดีถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการจึงฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินเดือนๆ ละ ๑๕,๓๘๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ จำนวน ๓๒ เดือนเป็นเงิน ๔๙๒,๑๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ ถึงวันฟ้องคดีรวมเวลา ๕ ปี ๘ เดือน เป็นเงิน ๒๐๙,๑๖๘ บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน ๗๐๑,๓๒๘ บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น