วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๘) (๑๙กันยายน ๒๕๕๔)


รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจเฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีตอนที่ ๘



* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๒๙๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ ๒๒๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๔ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีลักทรัพย์เงินสดของกลางคดียาเสพติดจำนวน ๘๔,๐๐๐ บาท ซึ่งพันตำรวจโทสมชาย...เก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานในห้องพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านมะขามเตี้ย เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๔ อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว ต่อมาได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๓๑๔๐ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา การที่ผู้ฟ้องคดีเข้าไปในห้องของพนักงานสอบสวนเนื่องจากผู้ฟ้องคดีต้องการที่เย็บกระดาษเพื่อนำไปเย็บสมุดบันทึกการออกตรวจซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกตรวจร่วมกับผู้ฟ้องคดีทำฉีกขาดผู้ฟ้องคดีเห็นว่าห้องพนักงานสอบสวนเปิดไฟสว่างจึงได้เข้าไปค้นหาที่เย็บกระดาษในโต๊ะทำงานของพนักงานสอบสวนเท่านั้น แต่ต่อมาผู้ฟ้องคดีกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลักเงินสดของกลางจำนวน ๘๔,๐๐๐ บาทซึ่งอ้างว่าได้เก็บไว้ในโต๊ะทำงานของพันตำรวจโทสมชาย พนักงานสอบสวนไป ผู้ฟ้องคดีมีข้อสงสัยว่าเหตุใดพันตำรวจโทสมชายจึงไม่เก็บเงินของกลางไว้ในตู้นิรภัยตามระเบียบของทางราชการ และเงินดังกล่าวอาจสูญหายในช่วงเวลาก่อนหรือหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีเข้าไปค้นหาที่เย็บกระดาษก็ได้ นอกจากนั้นพนักงานสอบสวนคดีอาญาพยายามพูดให้ผู้ฟ้องคดีเอาเงินมาคืนทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดเมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ยอมจึงถูกดำเนินคดีอาญา อย่างไรก็ตามพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าวและให้ผู้ฟ้องคดี กลับเข้ารับราชการตามเดิม โดยให้ได้รับเงินเดือนตั้งแต่ถูกไล่ออกถึงปัจจุบัน

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๓๗/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้่อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าปัจจุบันผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือที่ ยธ. ๑๑๐๒(สสส.)/๕๒๗ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๒ ถึงกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผู้ฟ้องคดีเคยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค ๑ ที่ ๒๑๓/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๘ เรื่องมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติเนื่องจากหนังสือฉบับดังกล่าวแจ้งมติของผู้ถูกฟ้องคดีให้นายหนูจีนมีสิทธิได้รับเงินสินบนจากการเป็นผู้แจ้งความนำจับในคดียาเสพติดที่ผู้ฟ้องคดีเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการจับกุมผู้ต้องหา ๒ คน คือท้าวตู่และท้าวพูพานพร้อมของกลางเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๑๔,๐๐๐ เม็ดเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากนายหนูจีนมิใช่ผู้แจ้งความนำจับในคดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ แต่เป็นผู้แอบอ้างสิทธิเพื่อขอรับเงินสินบนเท่านั้นจึงไม่มีสิทธิรับเงินสินบนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีมติให้นายหนูจีนมีสิทธิได้รับเงินสินบนผู้ถูกฟ้องคดีเคยมีมติในการประชุมครั้งที่ ๒๗-๔/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ อนุมัติให้จ่ายเงินสินบนจำนวน ๓๖,๙๖๖ บาท เงินรางวัล ๑๔,๘๘๘ บาท รวมเป็นเงิน ๕๑,๘๕๔ บาท และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับมอบฉันทะรับเงินสินบนและเงินรางวัล ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๙ หลังจากนั้นนายหนูจีนได้มาขอรับเงินสินบนจำนวนดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดีแต่ผู้ฟ้องคดีปฏิเสธที่จะมอบเงินสินบนให้เนื่องจากเห็นว่ามิใช่ผู้แจ้งความนำจับเป็นเหตุให้นายหนูจีนทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาผู้ฟ้องคดีว่าเบียดบังทรัพย์สินซึ่งเป็นสิทธิของนายหนูจีนและขอรับเงินสินบนคืนพร้อมกับขอให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดี ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคคลซึ่งอ้างตนเองว่าเป็นผู้แจ้งความนำจับในคดีดังกล่าวและยังไม่ได้รับเงินสินบนจากการแจ้งความนำจับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้นำข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ ๕-๕/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๐ ที่ประชุมมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติ ประกอบกับหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ฟ้องคดีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนข้อเท็จจริง จึงมีมติให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗ ข้อ ๓๕ วรรคหนึ่ง (๖) ให้เรียกเงินสินบนและเงินรางวัลตามที่ได้อนุมัติไปแล้วคืน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วจะได้ดำเนินการจ่ายให้กับผู้มีสิทธิต่อไป ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ส่งคืนเงินสินบนและเงินรางวัลตามที่ได้รับมาให้แก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งหมดแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตีความในกรณีมีปัญหาการปฏิบัติตามระเบียบนี้ และวินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของผ้ขอรับเงินสินบนและหรือเงินรางวัลตามข้อ ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) (๔) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗ ใช้เวลาพิจารณากว่า ๒ ปี ก็ไม่สามารถตีความหรือวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาได้ จนกระทั่งสถานีตำรวจภูธรโพนทรายมีหนังสือลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๒ รายงานผลการสอบสวนสรุปว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยฐานไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงนำผลการสอบสวนดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่านายหนูจีนเป็นผู้แจ้งความนำจับมีสิทธิได้รับเงินสินบน ทั้งๆ ที่ผลการสอบสวนเป็นคนละเรื่องและไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิรับเงินสินบนของนายหนูจีนแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีไม่เคยเรียกผู้ฟ้องคดีไปให้การ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดีเพราะผ้ที่ไม่ได้แจ้งความนำจับไม่ควรมีสิทธิได้รับเงินสินบน ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ต้องการเงินจากคดีนี้แต่ต้องการกอบกู้เกียรติยศ ศักดิ์ศรีกลับคืน และให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๗/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจสันติบาลที่ ๒๗๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ฟ้องคดีและมีคำสั่งสำนักงานตำรวจสันติบาลที่ ๒๗๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีหนังสือร้องทุกข์ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๐๙.๐๑๑/๑๐๑ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๕ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อสำนักงานตำรวจสันติบาลและผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามมาตรา ๒๑ ถึงมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือสำนักงานตำรวจสันติบาล ที่ ตช ๐๐๒๕.๑๑๔/๗๐๑ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ แจ้งว่าคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีมีเหตุผลไม่เพียงพอที่จะรับฟังหักล้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้ คำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้นจึงยกคำร้องทุกข์ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๖ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ สำนักงานกำลังพลในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แจ้งว่าเหตุผลในการอุทธรณ์ยังไม่เพียงพอ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งสำนักงานตำรวจสันติบาลที่ ๒๗๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายที่ขัดต่อมาตรา ๖ และมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้น เนื่องจากก่อนออกคำสั่งดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่เปิดโอกาสให้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงก่อน ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ได้มีการสอบปากคำ หรือให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงภายในเวลาที่กำหนด มีเจตนาไม่สุจริต เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชด ใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับเงินเดือนตามปกติ เป็นเงินจำนวน ๕,๘๘๖,๘๔๐ บาท ค่าเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับเงินบำนาญเป็นเงินจำนวน ๑๔,๓๓๘,๕๖๐ บาท ค่าเสียหายจากการที่เมื่อผู้ฟ้องคดีถึงแก่กรรมทายาทของผู้ฟ้องคดีจะไม่ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดอีกจำนวน ๘๙๖,๑๖๐ บาท ความเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียง ทำให้วงศ์ตระกูลต้องมัวหมอง ต้องถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดีต้องถูกดำนินคดีอาญา ต้องสูญเสียอิสรภาพ ต้องตกเป็นผู้ต้องหาต้องตกเป็นจำเลยต่อศาล ได้รับความทุกข์ระทมใจ ทำให้เสียทรัพย์สินเงินทองในการประกันตัวและค่าทนายความเป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ความเสียหายจากการสูญเสียโอกาส และความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น ๕๑,๑๒๑,๕๗๐ บาท จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๔/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีที่กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีได้เข้าขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเนื่องจากมีผู้กระทำความผิดกำลังขนไม้แปรรูปโดยใช้อาวุธปืน ผลการสอบสวนทางอาญาศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำพิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดีมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร รวมจำคุกผู้ฟ้องคดี ๑ ปี ๖ เดือน คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา สำหรับการสอบสวนทางวินัยผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ดพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีเป็นการประพฤติที่ไม่สมควรจึงมีคำสั่งลงโทษกักขังผู้ฟ้องคดี ๓๐ วัน และมีคำสั่งให้ยุติเรื่องทางวินัยอย่างร้ายแรงแล้วรายงานผลการลงโทษให้ผู้ บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ประกอบกับผลการดำเนินคดีอาญาของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๔ ที่ ๑๘๖๐/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่อนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการอุทธรณ์ซึ่งทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ แล้วมีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบตามหนังสือที่ ๐๐๓๙.๔/๑๕๐๕ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อรับทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ในหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๑ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๓๒/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเคยรับราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ) ตำรวจภูธรจังหวัดระยอง ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีได้ไปร่วมรับประทานอาหารและดื่มเบียร์ที่บ้านของนายชุมพลตามที่นายชุมพลนัดหมายจนถึงเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ นาฬิกาได้ไปเที่ยวต่อที่สตาร์ไดร์ผับเมืองพัทยา โดยมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยประมาณ ๒๐ คนในระหว่างที่เที่ยวนายชุมพลได้แอบเอายาอีใส่ในแก้วเครื่องดื่มของผู้ฟ้องคดี โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบ เวลา ๐๒.๐๐ นาฬิกา ร้านปิดจึงไปเที่ยวต่อที่ร้านกรีนฟิวผับ เวลาประมาณ ๐๒.๒๐ นาฬิกาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งปิดร้านและเปิดไฟให้สว่างและทำการตรวจปัสสาวะผู้ที่มาเที่ยวรวมทั้งผู้ฟ้องคดีด้วย ก่อนที่จะตรวจได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยาซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของผู้ฟ้องคดีถามผู้ฟ้องคดีว่าจะตรวจหรือไม่หรือว่าจะออกไป ผู้ฟ้องคดีได้แสดงความบริสุทธิ์โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนที่จะตรวจผู้ฟ้องคดีได้แจ้งชื่อเป็นเท็จว่านายนิรุตน์โดยไม่มีเจตนาปกปิดหรือกลัวความผิดแต่อย่างใดผลการตรวจปัสสาวะของผู้ฟ้องคดีเป็นสีม่วง ผู้ฟ้องคดีทราบจากการถามเพื่อน จึงได้แจ้งชื่อจริงต่อเจ้าหน้าที่พร้อมกับให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีอาญาและพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดพัทยามีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดี เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกคำสั่งที่ ๓๕๗/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖ สั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ และได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยมีหนังสือที่ ๐๐๐๙.๕/๑๙๗๓ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๓๗/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยมีพฤติการณ์ในการกระทำผิดคือเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๐ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอโป่งน้ำร้อนทราบว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่เป็นเวรประชาสัมพันธ์ประจำสถานีตำรวจได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกติดตามตัวผู้ฟ้องคดีแต่ไม่พบและไม่ทราบว่าผู้ฟ้องคดีละทิ้งหน้าที่ราชการไปเพราะเหตุใดรักษาการในตำแหน่งรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอโป่งน้ำร้อนจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีไม่ลงลายมือชื่อในสมุดวันทำการในการปฏิบัติหน้าที่ราชการตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๐ โดยมิได้แจ้งหรือขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ในระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริง ผู้ฟ้องคดีได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ พร้อมกับรายงานชี้แจงว่าเดินทางไปดูแลญาติที่ต่างจังหวัดแล้วมีอาการเจ็บป่วยต้องเข้ารับการตรวจรักษาและแสดงใบรับรองแพทย์รวมเวลาหกสิบแปดวันคงเหลืออีกสิบห้าวันไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงพิจารณาแล้วเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบสวน พิจารณาทัณฑ์ทางวินัยฐานประพฤติตนไม่สมควรไม่เคร่งครัดต่อมรรยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจ ละทิ้งหน้าที่ราชการไม่เกินสิบห้าวันและออกนอกเขตที่ตั้งโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ให้ผู้ฟ้องคดียื่นใบลาป่วยย้อนหลังตามความเป็นจริงจำนวนหกสิบแปดวัน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็น เวลาเกินกว่าสิบห้าวัน และประพฤติไม่สมควร ออกนอกเขตที่ตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงรายงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ พิจารณา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดง แต่อาการป่วยดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นอาการป่วยเป็นไข้ เจ็บคอ ท้องเสีย ภูมิแพ้ ปวดหลัง ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ใช่โรคร้ายและแพทย์มีความเห็นให้ผู้ฟ้องคดีหยุดพักรักษาตัวเป็นระยะ และในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวผู้ฟ้องคดีก็ยังเดินทางไปพบแพทย์หลายแห่งได้ในหลายจังหวัด แสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดียังเดินทางกลับไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอโป่งน้ำร้อนเพื่อปฏิบัติหน้าที่และขออนุญาตลาป่วยต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบได้ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมกระทำกลับละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือโดยมีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๙๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง จึงมีมติไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๒ ที่ ๕๒๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๒ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่ารองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจเป็นเวลานานถึงสามสิบสองปีเศษไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย การถูกลงโทษไล่ออกจากราชการในครั้งนี้ถือเป็นการลงโทษสถานหนักกว่าที่ควร อีกทั้งผู้ฟ้องคดียังถูกกลั่นแกล้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดและจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีลาป่วยย้อนหลังเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะในกรณีของสิบตำรวจตรีพิทักษ์ยื่นลาป่วยย้อนหลังเหมือนกันแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ กลับอนุญาตให้ลาได้ ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ที่เห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้เจ็บป่วยจริงนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ไม่ใช่แพทย์ และในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีเจ็บป่วยได้ติดต่อกับนายชลาภัณฑ์บุตรชายของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ไปลาป่วยแทน แต่เนื่องจากบุตรชายกำลังประสบปัญหาครอบครัวจึงไม่ได้ไปลาป่วยให้ ผู้ฟ้องคดีเพิ่งทราบว่าบุตรชายไม่เคยลาป่วยให้ก็ต่อเมื่อถูกสอบสวนทางวินัยแล้ว นอกจากนี้ดาบตำรวจทวิชก็ทราบเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีป่วยจริงอยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการและพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จทดแทนหรือให้ลงโทษผู้ฟ้องคดีสถานเบา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น