วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑๓)


* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๒ มิถุุนายน ๒๕๔๔

เรื่อง : พนักงานสอบสวนกระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
คดีนี้สืบเนื่องมาจากร้อยตำรวจโทไตรรงค์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชัยนาทให้ดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีในข้อหาหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๙ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชัยนาทได้ออกหมายเรียกผู้ฟ้องคดี แต่ไม่สามารถส่งหมายเรียกได้เนื่องจากไม่มีผู้ใดอยู่ในบ้านของผู้ฟ้องคดี พนักงานสอบสวนจึงออกหมายจับพร้อมตำหนิรูปพรรณ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๒ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบตัวผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำการจับกุม และได้ดำเนินการส่งฟ้องศาลจังหวัดชัยนาท ศาลได้พิพากษาลงโทษผู้ฟ้องคดีให้จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำรอไว้ ๒ ปี ตามคดีหมายเลขดำที่ ๘๐๔/๒๕๔๒ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๓๔๔/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอำเภอเมืองชัยนาทในการจับกุมผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ กล่าวคือในคดีของผู้ฟ้องคดีนั้นร้อยตำรวจโทตรรงค์ ชัยชนะ ควรจะจับกุมด้วยตนเอง เพราะบ้านของร้อยตำรวจโทไตรรงค์อยู่ห่างจากบ้านของผู้ฟ้องคดีเพียง ๑๐๐ เมตรเท่านั้น และผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้หนีไปไหนและยังได้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาทในปลายปี ๒๕๓๙ หรือถ้าจะจับตามหมายจับก็ควรให้นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นผู้จับกุมไม่ใช่ให้นายตำรวจชั้นประทวนเป็นผู้จับกุม ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองพิจารณาให้ความเป็นธรรม

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๔

เรื่อง
: ขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งและสั่งให้กลับเข้ารับราชการ
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีเคยรับราชการตำแหน่งผู้บังคับหมู่ แผนก ๒ กองกำกับการ ๒ กองบังคับการสนับสนุนตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมตำรวจ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๑ ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่าพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งปรากฏว่าผู้เสียหายและประจักษ์พยานต่างไม่มาเบิกความเป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้อง แต่พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีตกอยู่ในลักษณะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน หากให้รับราชการต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่ทางราชการได้ กรมตำรวจจึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามคำสั่งที่ ๘๘๗/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งกรมตำรวจดังกล่าว ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือที่ มท ๐๕๔๕.๓/๑๐๗ ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๗ แจ้งผลการอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบโดยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๒ ร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการปกครองได้ประชุมเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ แนะนำให้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๓/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔

เรื่อง :
สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่เป็นธรรม
ข้อมูลโดยย่อ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กรมตำรวจเดิม) มีคำสั่งกรมตำรวจที่ ๖๘๗/๒๕๓๔ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการกรณีถูกกล่าวหาในเรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีส่วนรู้เห็น สนับสนุนหรือร่วมในการขนไม้ผิดกฎหมาย ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงาน ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และละทิ้งหน้าที่ราชการ ขอให้ศาลปกครองพิจารณาให้ความเป็นธรรม ตลอดจนให้คำแนะนำว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือไม่

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔


เรื่อง
: ขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยและให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ

ข้อมูลโดยย่อ
: เมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ หมวดรักษาการณ์ ช่วยราชการแผนกการเงิน กองกำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร ๖ ได้ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์หน่วงเหนี่ยวและเรียกเงินในการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ให้สิบตำรวจเอกจรัญกับพวก เหตุเกิดระหว่างวันที่ ๒๑ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๑ ที่กองกำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร ๖ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีถูกลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการตามคำสั่งกองบัญชาการศึกษาที่ ๓๓๓/๒๕๓๒ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๒ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ในขณะเดียวกันได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมตำรวจ (ในขณะนั้น) และมีหนังสือร้องขอคัดสำเนาหลักฐานและสำนวนการสอบสวนที่เป็นเหตุไล่ออกจากราชการต่อกองบัญชาการศึกษา ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๗ ว่ารองนายกรัฐมนตรีสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และได้รับทราบผลการร้องขอความเป็นธรรม เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ว่าเรื่องดังกล่าวได้ถึงที่สุดไปตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วอธิบดีกรมตำรวจได้สั่งให้ยุติในส่วนของคำร้องดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ไปดำเนินการคัดสำเนาสำนวนการสอบสวนตามคำร้องขอได้ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีจึงนำเรื่องนี้ไปยื่นต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔


* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๐/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔

เรื่อง : เจ้า่พนักงานปฏิบัติหน้่าที่โดยมิชอบ
ข้อมูลโดยย่้อ :
การที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางในครั้งนี้ก็เพราะมีเจตนาที่จะฟ้องพันตำรวจตรี โกศลอดีตพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และนายประชาอดีตพนักงานรังวัดที่ดินอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่พันตำรวจตรีโกศลในฐานะพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนสั่งไม่ฟ้องกรณีที่นางละมูลได้กระทำผิดต่อผู้ฟ้องคดีฐานบุกรุกที่ดินทำให้เสียทรัพย์และฉ้อโกงที่ดินไปเป็นของตนเอง และอัยการจังหวัดประจำศาลจังหวัดทุ่งสงได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้วเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ซึ่งการกระทำของพันตำรวจตรีโกศลดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางละมูลได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้ไปขอให้ร้อยตำรวจเอกสงบสอบปากคำประจักษ์พยานกรณีกล่าวหาว่านางละมูลช่วย ได้ไปตัดฟันต้นยางพาราของผู้ฟ้องคดีอีกเพื่อเป็นหลักฐานให้ทนายความไปฟ้องคดีเอง ดังนั้นการที่ศาลปกครองกลางพิจารณาและระบุในคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องร้อยตำรวจเอกสงบนั้นเป็นการพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง จึงขออุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่สั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้ พิจารณา และต่อมาเมื่อศาลปกครองสูงสุดได้ส่งใบตอบรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีก็ยังคงระบุว่าผู้ถูกฟ้องคดีคือร้อยตำรวจเอกสงบฉะนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีนี้ไม่ใช่บุคคลที่ผู้ฟ้องคดีมีเจตนาจะฟ้อง จึงขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจในตำแหน่งผู้บังคับหมู่ หมวดรักษาการณ์ กองกำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร ๖ ได้ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเรียกเงินจากผู้สมัครสอบเป็นค่ากวดวิชาและค่าช่วยเหลือให้ผ่านการคัดเลือกด้วยวิธีสอบบุคคลทั่วไปเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจประจำปี ๒๕๓๗ ผู้บังคับบัญชาจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าว ผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง อันถือได้ว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๕ (๑๒) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ประกอบกับมาตรา ๙๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กองบัญชาการศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดจึงมีคำสั่งที่ ๑๕๙/๒๕๓๗ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๗ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๗ แจ้งผู้ฟ้องคดีทราบว่ารองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งเห็นชอบตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่เสนอให้ลดโทษจากลงโทษไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชอบและไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลพิพากษา

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๓/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๙๐/๒๕๔๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๓๘/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรีและพนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีในคดีที่ผู้ฟ้องคดีถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๒ ตามคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ ๘๒๒/๒๕๔๒ ซึ่งนางภาพผู้เป็นโจทก์ร่วม ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ฟ้องคดีและนายสุพจน์ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์เวลากลางคืน โดยก่อนที่ถูกฟ้องคดีต่อศาลผู้ฟ้องคดีได้พาอัยการสมชายไปดูที่เกิดเหตุ อัยการแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีไปขอโทษนางภาพจะได้ไม่ต้องฟ้องกัน ผู้ฟ้องคดีจึงตอบว่าไม่ได้ทำอะไรผิดไม่จำเป็นต้องขอโทษ และเมื่อผู้ฟ้องคดีสอบถามเรื่องเกี่ยวกับมูลค่าทรัพย์สินที่เสียหายว่าเป็นการฟ้องที่ไม่ถูกต้อง อัยการตอบว่าจะฟ้องเท่าใดก็ได้ ทั้งการแจ้งความได้กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่เมื่อเวลาฟ้องต่อศาลกลับฟ้องว่าลักทรัพย์ในเวลากลางวัน และในการเบิกพยานต่อศาลอัยการเลือกแต่ญาติของโจทก์มาเบิกความ ส่วนผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุและรู้เรื่องไม่ให้เบิกความ รวมทั้งเรียกตำรวจศาลเข้ามาในห้องพิจารณาเพื่อขู่พยาน ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ากรณีพิพาทคดีดังกล่าวมีเหตุมาจากเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ผู้ฟ้องคดีมีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับนางภาพ โดยผู้ฟ้องคดีฟ้องนางภาพในข้อหาบุกรุกที่ดินต่อศาลจังหวัดราชบุรี ต่อมานางภาพได้ทำสัญญาประนีประนอมและยอมรื้อรั้วสังกะสีออกจากแนวเขตที่บุกรุก ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองดำเนินการตรวจสอบเรื่องการแจ้งความและคำฟ้องที่ไม่ตรงกัน

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๘/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กองตำรวจสันติบาล ๑ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องหาคดีอาญา ข้อหาร่วมกันมีและขนย้ายสินค้าควบคุมที่มีปริมาณหรือจำนวนเกินกำหนดภายในเขตควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต คณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และได้เสนอมติดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ ต่อมารองนายกรัฐมนตรี (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งที่ ๘๗๗/๒๕๓๘ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๘ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และผู้ฟ้องคดีได้ลงนามรับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๓๖๒ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๒ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี และได้เสนอมติดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ และรองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจตามหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลับ ที่ นร ๐๑๐๓/๔๖๘๕ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะบทบัญญัติของกฎหมายที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ฟ้องคดีกระทำความผิด และเป็นมูลเหตุให้ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงได้ถูกยกเลิกแล้วจึงไม่ควรมีผลบังคับใช้ลงโทษผู้ฟ้องคดีทางอาญาและนำมาเป็นมูลเหตุในการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๒ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายอาญาต่อไปได้ และการที่คณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยคณะที่ ๒ มีมติเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการก็เป็นการพิจารณาโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย จึงเป็นมติที่ไม่ชอบ ผู้ฟ้องคดีจึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกรมตำรวจ ที่ ๘๗๗/๒๕๓๘ เรื่องลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๘ และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔


เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๒๖/๒๕๔๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๗/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่านายเกื้อกูล มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๐ ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองกระบี่ กองตรวจคนเข้าเมือง ๓ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยเรียกร้องเงินจากนายเกื้อกูลจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าดำเนินการทำประกันแรงงานต่างชาติโดยมิชอบ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและจังหวัดกระบี่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าว โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีคำสั่งที่ ๘๘/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๐ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี ผลการสอบสวนปรากฏว่าพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเข้าลักษณะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน หากให้รับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ทางราชการ จึงเสนอคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงมหาดไทยพิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๑ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ และมีมติให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีคำสั่งที่ ๑๒๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน ส่วนคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจังหวัดกระบี่เห็นว่าผู้ฟ้องคดียังไม่ตกเป็นผู้กระทำความผิดวินัยหรือกระทำการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง จึงเสนอให้รวบรวมเรื่องการสอบข้อเท็จจริงรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อโปรดทราบ

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ ๑๒๒/๒๕๔๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ตามหนังสือลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๑ และได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามหนังสือลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๑ ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิร้องทุกข์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แล้วเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่ยังมิได้มีการดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายครบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นเรื่องร้องทุกข์ที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือ ที่ นร ๐๖๐๕/ร. ๕๓๘๔ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ส่วนเรื่องอุทธรณ์ที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นั้นปรากฏว่าในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๒ ได้พิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดีและเห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการโดยเห็นควรให้ยกคำร้องดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่เสนอและได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามหนังสือ ที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๑๘๓๓ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

นอกจากนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีคำสั่งที่ ๒๗๔/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยดำเนินการให้รายงานตัวและทำประกันกับแรงงานต่างชาติที่มารายงานตัวภายหลังจากหมดเขตให้ดำเนินการแล้ว ผลการสอบสวนปรากฏว่าพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจึงมีคำสั่ง ที่ ๒๕๗/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๑ สั่งให้ยุติเรื่อง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคดีนี้ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้นแต่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกลับออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการก่อน

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการออกคำสั่งที่ปราศจากข้อเท็จจริงสนับสนุนเพียงพอว่าผู้ฟ้องคดีมีมลทินหรือมัวหมอง และไม่ปฏิบัติตามกระบวนการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๕/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายของร้อยตำรวจเอกสิทธิพงษ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอพระประแดง โดยร้อยตำรวจเอก สิทธิพงษ์ได้มีหมายเรียกผู้ฟ้องคดีไปพบตามข้อกล่าวหาฉ้อโกงกับนายรังสรรค์ในการออกหมายเรียกดังกล่าวเป็นการออกหมายเรียกโดยมิชอบ เพราะใช้แบบพิมพ์ของกรมตำรวจมิใช่แบบพิมพ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆ ที่กรมตำรวจได้โอนมาจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว นอกจากนี้ในการสอบสวนร้อยตำรวจเอก สิทธิพงษ์ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงจะจ่ายเงินลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๒ ใช้อำนาจโดยมีเจตนาทุจริตว่าผู้ฟ้องคดีได้ตกลงจะชดใช้เงินคืนให้กับนายชวลิตเป็นเงินจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ บาท แบ่งชำระ ๒ งวด ต่อหน้าพนักงานสอบสวน ซึ่งหากชำระเงินให้นายชวลิตครบถ้วนแล้วนายชวลิตและนายสมชายจะถอนฟ้องในคดีที่กล่าวหา ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าบันทึกข้อตกลงจะจ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นธรรม โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่าไม่เคยได้รับเงินจากนายชวลิตและนายสมชายจึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ ความจริงแล้วนายรังสรรค์ได้รับเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวนเงิน ๑๙๓,๒๐๐ บาท และเช็คดังกล่าวได้ผ่านการเรียกเก็บเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของนายรังสรรค์เรียบร้อยแล้ว การที่ร้อยตำรวจเอกสิทธิพงษ์ทำบันทึกข้อตกลงจะจ่ายเงินจึงเป็นการใช้อำนาจโดยมีเจตนาทุจริตต่อผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๕ ที่บัญญัติว่าห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการล่อลวง หรือขู่เข็ญ หรือให้สัญญากับผู้ต้องหา เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้นและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๔๓ ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง อันทำให้ตนถูกฟ้องคดีอาญา ถ้อยคำของบุคคลซึ่งเกิดจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา หรือกระทำโดยมิชอบประการใดๆ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานและเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๕๖/๒๕๔๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๗๓/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่ากรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มีคำสั่งที่ ๘๓๔/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานเป็นผู้กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใด ซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน และกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนวิธีปฏิบัติ เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและใช้ดุลพินิจโดยมิชอบกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่าง ๆ หลายแห่ง รวมทั้งมีหนังสือลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๕ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ปรากฏในหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่ มท ๐๕๔๕.๓/๑๐๖๐ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นเอกสารแนบหมายเลข ๖ ที่อยู่ในสำนวน ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ขอกลับเข้ารับราชการแต่ยังดำเนินการไม่สำเร็จ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๔ เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมตำรวจที่ ๘๓๔/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ และให้รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตำรวจรวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากคำสั่งไล่ออกดังกล่าวตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งจนกว่าจะมีคำสั่งรับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น