* คำสั่งที่ ร.538/2552 คำร้องที่ ร.259/2552
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา) ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ได้มีประกาศรับสมัครและคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเข้ารับการฝึกอบรมและแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ. 2552 ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรในหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวน 500 อัตรา ดังนี้
1.1 กลุ่มข้าราชการตำรวจยศดาบตำรวจหรือจ่าสิบตำรวจผู้ไม่มีวุฒิปริญญาตรีแยกเป็น
1.1.1 สายป้องกันปราบปราม จำนวน 200 อัตรา
1.1.2 สายอำนวยการและสนับสนุน จำนวน 50 อัตรา
1.2 กลุ่มข้าราชการตำรวจผู้ มีวุฒิปริญญาตรี แยกเป็น
1.2.1 สายป้องกันปราบปราม จำนวน 200 อัตรา
1.2.2 สายอำนวยการและสนับสนุน จำนวน 50 อัตรา
ทั้งนี้โดยกำหนดให้ข้าราชการตำรวจยศดาบตำรวจหรือจ่าสิบตำรวจที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (ทุกสาขา) สมัครเข้ารับการคัดเลือกได้เฉพาะในกลุ่มข้าราชการตำรวจตามข้อ 1.2.1 หรือข้อ 1.2.2 เท่านั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนข้อความที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจยศดาบตำรวจหรือจ่าสิบตำรวจที่จบการศึกษาปริญญาตรี (ทุกสาขา) สมัครเข้ารับการคัดเลือกได้เฉพาะในกลุ่มข้าราชการตำรวจตามข้อ 1.2.1 หรือข้อ 1.2.2 เท่านั้น เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งมีวุฒินิติศาสตร์บัณฑิตสามารถสมัครคัดเลือกในกลุ่มข้าราชการตำรวจตาม ข้อ 1.1.1 หรือข้อ 1.1.2 ได้ด้วย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด ซึ่งอยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ และการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากข้อกำหนดดังกล่าวจำต้องมีคำบังคับของศาลโดยการสั่งให้เพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ประกาศกองบัญชาการศึกษาอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อข้าราชการตำรวจตาม กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ. 2547 เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าประกาศฉบับดังกล่าวส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งฉบับไม่ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือ ก.ตร. ได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบถึงประกาศดังกล่าวตามข้อ 4 ของกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ. 2547 และจะใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองได้ต่อเมื่อได้ใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือ ก.ตร. แล้ว และได้มีการวินิจฉัยสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 16 ของกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ.2547 หรือมิได้มีการวินิจฉัยสั่งการภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 6 วรรคสอง ของกฎ ก.ตร. ฉบับดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ระบุมาในคำฟ้องคดีนี้ว่า ก่อนนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ร้องทุกข์ตามลำดับขั้นตอนต่อผู้บังคับบัญชาตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ. 2547 แต่อย่างใด จึงยังไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ สำหรับข้ออ้างของผู้ฟ้องที่ว่าถ้าหากร้องทุกข์จะต้องรอผลการพิจารณาไม่น้อยกว่า 90 วัน อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นยากแก่การแก้ไขเยียวยา ทั้งในประกาศรับสมัครดังกล่าวนั้นได้กำหนดระยะเวลาการรับสมัครไว้เพียง 15 วันกับมิได้ประกาศให้ ผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านแต่อย่างใดนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่ผู้ฟ้องคดีจะยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ได้
* คำสั่งที่ ร.458/2552 คำร้องที่ ร.157/2552
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี) กระทำการสอบสวนวินัยผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เห็นว่าคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีหน้าที่สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานและทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อพิจารณาในการออกคำสั่งการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงมีลักษณะเป็นเพียงการเตรียมการและการดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังหามีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอกไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของผู้ฟ้อง คดีหรือก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยง ได้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไว้พิจารณาได้
ส่วนคำฟ้องในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)) ไม่มีอำนาจดำเนินคดีทางอาญาผู้ฟ้องคดีเนื่องจากเรื่องที่ถูกกล่าวหาไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 หยุดดำเนินการเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาผู้ฟ้องคดีและส่งเรื่องคืนแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นั้น เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 89 และมาตรา 91 (2) แล้ว เห็นว่า การดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าข้อกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญา ตลอดจนการส่งเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นขั้นตอนหนึ่งในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางอาญา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันเป็นคดีพิพาทที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ และคำขอตามคำฟ้องในข้อหานี้เป็นคำขอที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ไว้พิจารณาได้
* คำสั่งที่ ร.437/2552 คำร้องที่ ร.399/2552
ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดี (คณะอนุกรรมการเงินสินบนเงินรางวัล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ที่มีมติให้นาย ห. มีสิทธิได้รับเงินสินบนเนื่องจากเป็นผู้แจ้งความนำจับในคดียาเสพติดเนื่องจากเห็นว่า นาย ห. เป็นผู้แอบอ้างสิทธิเพื่อขอรับเงินสินบน เมื่อกรณีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่านาย ห. เป็นสายลับปลอม ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลาง คดีนี้อาจต้องร่วมรับผิดชอบหากมีสายลับปลอมในคดีที่ตนจับกุม กล่าวคืออาจถูกกล่าวหาว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ราชการทำให้ราชการได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ หากมีสายลับแจ้งความนำจับที่แท้จริงที่ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชอบ ผู้ฟ้องคดีย่อมเกิดความเสียหายที่ไม่อาจดำเนินการให้สายลับผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมายได้รับเงินสินบน ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้โอนเงินสินบนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับมอบฉันทะรับเงินสินบนและเงินรางวัลแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสินบนแก่สายลับหรือ ผู้แจ้งความนำจับที่แท้จริงและชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นสายลับปลอมผู้ฟ้องคดีย่อมไม่อาจจ่ายเงินสินบนให้ได้ มิฉะนั้นย่อมเป็นการกระทำผิดกฎหมายและผู้ฟ้องคดีอาจต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่านาย ห. ได้มาขอรับเงินสินบนดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดีปฏิเสธผู้ฟ้องคดีจึงได้รับผลกระทบโดยถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งผลการดำเนินการทางวินัยยังไม่ถึงที่สุด จึงเห็นว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีและการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายนั้นศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 72 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
* คำสั่งที่ ร.842/2549 คำร้องที่ ร.447/2548
ขณะที่ผู้ฟ้องคดียังรับราชการอยู่นั้นมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ผู้ฟ้องคดีได้เกษียณอายุราชการก่อนที่การดำเนินการทางวินัยจะถึงที่สุด ผู้ฟ้องคดีจึงขอรับเงินบำนาญโดยได้ทำหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนไว้กับตำรวจภูธรภาค 6 มีใจความว่าถ้าปรากฏในภายหลังว่าผู้ฟ้องคดีได้รับเงินบำนาญไปโดยไม่มีสิทธิ ผู้ฟ้องคดียินยอมคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิให้แก่ทางราชการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากทางราชการ หากผู้ฟ้องคดีไม่คืนเงินให้แก่ทางราชการภายในกำหนดเวลาดังกล่าวผู้ฟ้องคดียินยอมให้ทางราชการเรียกร้องเงินคืนและค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อมาตำรวจภูธรภาค 6 ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 อธิบดีกรมบัญชีกลางและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร ได้มีหนังสือเรียกเงินบำนาญคืนจากผู้ฟ้องคดี เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังที่ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมาในคำฟ้องและคำร้องอุทธรณ์ แต่เป็นการที่ทางราชการใช้สิทธิตามสัญญาการใช้เงินคืนที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำไว้กับตำรวจภูธรภาค 6 ตามหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนเท่านั้น คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) ประกอบกับมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้ง ศาลปกครองฯ
* คำสั่งที่ ร.524/2548 คำร้องที่ ร.109/2548
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามที่อยู่ที่ผู้ฟ้องคดีได้ให้ไว้ในหนังสืออุทธรณ์คือบ้านเลขที่ 462 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพนักงานไปรษณีย์ได้นำส่งหนังสือฉบับดังกล่าวที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกำแพงแสน โดยมีจ่าสิบตำรวจ ป. เป็นผู้รับหนังสือฉบับดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2545 ดังนั้น แม้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจจะได้จัดส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามที่อยู่ที่ผู้ฟ้องคดีได้ให้ไว้ในหนังสืออุทธรณ์ก็ตาม เมื่อพนักงานไปรษณีย์มิได้นำส่งหนังสือฉบับดังกล่าวยังที่อยู่ที่ระบุไว้ตามหน้าซอง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือฉบับดังกล่าวตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ติดต่อไปยังกองวินัย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจด้วยตนเองเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2547 จึงได้ทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว ถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีในวันดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
* คำสั่งที่ ร.211/2548 คำร้องที่ ร.316/2546
ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองโดยมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามนำหนังสือสัญญากู้ที่นาง บ.ใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกไปตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อผู้กู้เป็นลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดีที่ 1 หรือไม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีกับนาง บ. ฐานปลอมสัญญากู้ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
* คดีหมายเลขแดงที่ อ.67/2547 คดีหมายเลขดำที่ อ.31/2545
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสนอสำนวนการสอบสวนแล้วเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะสั่งการตามสมควรตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540)ฯ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา ส่วนเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการทางวินัยจนปรากฏผลแก่ผู้ฟ้องคดีไปแล้วหากปรากฏภายหลังว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกฯ ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งซึ่งจะต้องดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 79 (4) มาตรา 87 วรรคสาม และมาตรา 127 แห่ง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฯ ซึ่งต้องนำกฎ ก.พ. ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2539)ฯ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งมาใช้โดยอนุโลม เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีในข้อหาดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำซ้อนแม้มูลกรณีการกระทำความผิดเป็นเหตุเดียวกันก็ตาม เนื่องจากการดำเนินการทางวินัยที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้กับการดำเนินการทางวินัยที่มีผลมาจากการกระทำผิดทางอาญาจนได้รับโทษจำคุกดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางวินัยที่มีความแตกต่างกัน ประกอบกับผลการลงโทษทางวินัยและทางอาญาหาจำต้องมีผลไปทางเดียวกันไม่ เพราะกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญามีความแตกต่างกัน ทั้งการมีอยู่ของพยานหลักฐาน การให้ถ้อยคำหรือการเบิกความของพยาน และการรับฟังพยานหลักฐาน ดังนั้นการดำเนินการทางวินัยให้ยุติจึงไม่ต้องรอผลการพิจารณาทางอาญา
กรณีการสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองเป็นมาตรการที่รักษาประโยชน์ของทางราชการโดยส่วนรวมเป็นมาตรการทางปกครองที่มิใช่การลงโทษทางวินัยซึ่งมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฯ บัญญัติให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 สั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนทางวินัยออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนได้หากการให้ข้าราชการผู้นั้นรับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ
* คดีหมายเลขแดงที่ อ.48/2547 คดีหมายเลขดำที่ อ.72/2546
ผู้ฟ้องคดีมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้ผู้ฟ้องคดีจะตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายในทันที เพราะเจ้าหนี้สามารถเรียกร้องให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันส่งคืนรถยนต์ที่เช่า ซื้อหรือใช้ราคาค่ารถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่เจ้าหนี้ได้ในระหว่างลูกหนี้ผิดนัด ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่เดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
รถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุโดยไม่มีคู่กรณีฝ่ายใดได้รับความเสียหายเป็นของกลางอย่างอื่นไม่ใช่ของกลางในคดีอาญา การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธสิทธิของผู้ฟ้องคดีไม่คืนรถยนต์โดยอ้างว่าไม่เป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเก็บรักษาของกลางฯ และประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีฯ เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าวโดยตรง การไม่คืนรถยนต์ของกลางให้กับผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และเป็นกรณีที่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิจะรับรถยนต์ การที่นำรถยนต์ของกลางในคดีนี้ออกขายทอดตลาดจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 15 บทที่ 9 ข้อ 8 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องรับผิดชอบ ซึ่งในกรณีที่ไม่อาจส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินตามที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชอบตามคำพิพากษาพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
* คดีหมายเลขแดงที่ อ.9/2547 คดีหมายเลขดำที่ อ.77/2545
มาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มิได้กำหนดว่าผู้ฟ้องคดีจะต้องร้องทุกข์ด้วยตนเอง แต่ได้กำหนดให้การฟ้องคดีกระทำได้ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายเสียก่อนเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีบุคคลซึ่งสอบไม่ผ่านเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาจนเป็นเหตุให้มีการสืบสวนจนทราบว่ามีการทุจริตในการสอบและมีการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกันจะต้องยื่นคำร้องทุกข์ซ้ำอีกถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายแล้ว
การสอบคัดเลือกเป็นวิธีการอย่างหนึ่งของการคัดเลือกซึ่งมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตำรวจฯ บัญญัติให้ ก.ตร. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคัดเลือกและการสอบแข่งขัน ดังนั้นเมื่อเกิดการทุจริตในการสอบดังกล่าวและ ก.ตร. ยังมิได้พิจารณากำหนดวิธีดำเนินการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้ดุลพินิจรับรองผลการสอบที่มีการทุจริตและให้รองผู้กำกับการทุกคนเข้ารับการอบรมจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อความส่วนหนึ่้งของคำพิพากษาคดีนี้
...ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ได้สมัครเข้ารับการสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้กำกับการรุ่นที่ ๓๘ ถึงรุ่นที่ ๔๐ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้จัดให้มีการสอบคัดเลือกในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๔ ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ในคืนวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๔ ก่อนวันสอบจริงผู้เข้าสอบบางคนได้นำเอกสารที่มีข้อความเหมือนข้อสอบจริงไปแจกจ่ายให้ผู้เข้าสอบคนอื่น ๆ อันป็นการทุจริต เมื่อได้มีการประกาศผลสอบในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๔ ปรากฎว่ามีผู้เข้าสอบส่วนหนึ่งสอบผ่าน อีกส่วนหนึ่งสอบไม่ผ่านโดยเฉพาะผู้ฟ้องคดีและพันตำรวจโทสมสง่า ชรินทร์ รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่สอบไม่ผ่านการคัดเลือก พันตำรวจโทสมสง่าจึงได้มีหนังสือร้องทุกข์ไปยังประธานกรรมการการสอบ และผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบควบคุมกำกับดูแลสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจและกองบัญชาการศึกษาทราบ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชา จากการร้องทุกข์เป็นผลให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงปรากฏผลการสืบสวนว่าข้อสอบวิชาการบริหารงานตำรวจจำนวน ๕๐ ข้อพร้อมคำตอบได้เผยแพร่ออกไปยังผู้เข้าสอบบางคนจนเป็นเหตุให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ยกเลิกประกาศผลการสอบดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินการใหม่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้แก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยให้พันตำรวจโทสมสง่าและรองผู้กำกับการที่สอบไม่ผ่านทุกคนรวมทั้งผู้ฟ้องคดีได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้กำกับการในรุ่นต่อไป...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น