วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554
รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒๖) (๒๑ กันยายน ๒๕๕๔)
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 426/2550
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีต้องคำพิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานีให้จำคุกในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ฉ้อโกง รวม ๒ คดีซึ่งทั้ง ๒ คดีดังกล่าวคดีถึงที่สุดแล้ว ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีถูกคุมขังที่เรือนจำกลางอุดรธานีผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือขออายัดตัวผู้ฟ้องคดีไว้ดำเนินคดีอาญาในข้อหาเดียวกับคดีที่ผู้ฟ้องคดีกำลังรับโทษอยู่ ซึ่งเหตุเกิดในคราวเดียวกันแต่ต่างท้องที่กัน ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านดุง ขอให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าต้องรอให้ผู้ฟ้องคดีพ้นโทษจำคุกคดีดังกล่าวก่อนจึงจะดำเนินการรับตัวผู้ฟ้องคดีไปสอบสวนดำเนินคดีในภายหลัง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการสอบสวนคดีอาญาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดให้เริ่มทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้า ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม และเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นการกลั่นแกล้งประวิงคดีและเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีถูกจำกัดเสรีภาพและเสียสิทธิประโยชน์อันจะพึงมีพึงได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากคดีอาญาไม่มีมูลไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมได้ ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนหนังสืออายัดตัวผู้ฟ้องคดีโดยด่วน
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 304/2546
สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของพันตำรวจตรี ผ. พนักงานสอบสวนซึ่งดำเนินการจับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งที่ยังไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหาและเรียกเงินประกันเกินสมควร เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อคำสั่งกรมตำรวจที่ 572/2538 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในการสอบสวนคดีอาญา จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้มีการทบทวนการสอบสวนใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กับให้คืนเงินประกันผู้ต้องหาแก่ผู้ฟ้องคดีและให้สอบสวนเอาผิดทางวินัยแก่พันตำรวจตรี ผ.พนักงานสอบสวนด้วย
คำวินิจฉัย : ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าการจับกุมและเรียกหลักประกันผู้ต้องหาตลอดจนการสอบสวน ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ส่วนคำขอที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เอาผิดทางวินัยแก่พันตำรวจตรี ผ. เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ศาลปกครองไม่อาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 140/2545
สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีถูกนาย บ. แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญา 2 คดีคือข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาลักทรัพย์ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ฟ้องคดีและยึดรถยนต์เป็นของกลางจำนวน ๓ คัน ต่อมาระหว่างคดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดมีนบุรี ส่วนคดีที่ 2 ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีได้คืนรถยนต์ของกลางให้แก่นาย บ.ไป ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าการคืนรถยนต์ของกลางดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สุจริต และมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม จึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งคืนรถยนต์ของกลาง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี และใช้ค่าธรรมเนียมศาลแทนผู้ฟ้องคดี
คำวินิจฉัย : ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าโดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 กำหนดว่าเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐานให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้ ฯลฯ (2) ค้นเพื่อพบสิ่งของ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการค้น ฯลฯ และ (4) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดั่งกล่าวไว้ในอนุมาตรา (2) และ (3) รวมทั้งมาตรา 186 กำหนดว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย ฯลฯ (9) คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง ประกอบกับประมวลระเบียบการตำรวจภาค 1 ระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี ข้อ 31 กำหนดให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือเจ้าพนักงานผู้รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหาและยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานไว้ได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น และระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการปฎิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง พ.ศ.2532 ลงวันที่ 5 มกราคม 2532 ข้อ 5 วรรคสอง ข้อ 8 และข้อ ๙ กำหนดให้ในกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์รถของกลาง และเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานสอบสวนรอฟังผลการพิจารณาของศาลก่อนแล้วจึงจะดำเนินการตามข้อบังคับต่อไป กรณีปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถหรือเป็นผู้มีสิทธิจะรับรถก็ขอคืนได้ แต่หากไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถหรือเป็นผู้มีสิทธิขอรับรถ ให้เจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ดำเนินการตรวจสอบหลักฐานตามวิธีการที่ระเบียบกำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อรถของกลางดังกล่าวยังมีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนาย บ. โดยเฉพาะรถของกลาง 2 คันแรกอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดมีนบุรีคดียังไม่เป็นที่ยุติ ส่วนคันที่ 3 ยังไม่ปรากฎว่ามีการฟ้องต่อศาลซึ่งแสดงว่าคดีก็ยังไม่เสร็จเช่นกัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับพิจารณาสั่งให้คืนรถของกลางให้นาย บ. ไปจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี กรณีจึงถือได้ว่าคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีเข้าลักษณะเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 คำฟ้องนี้จึงอยู่ในอำนาจที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 100/2545
สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดี 1-3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำสำนวนการสอบสวนเป็นเท็จ และส่งสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องผู้ฟ้องคดีไปยังพนักงานอัยการและฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้มีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีเป็นจำเลย เป็นเหตุให้ศาลอาญาจังหวัดธนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการเกี่ยวกับคดีดังกล่าวโดยมิชอบ
คำวินิจฉัย : ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนและการทำสำนวนการสอบสวนเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ส่วนการสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่จะพิจารณาตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการโดยเฉพาะ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งจะมีพนักงานอัยการทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และมีศาลยุติธรรมทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการอีกชั้นหนึ่ง การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและทำสำนวนการสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ฟ้องคดีอย่างไรตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานเสนอต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการสอบสวนและการทำสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและการมีคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลของพนักงานอัยการผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิใช่เป็นคำสั่งหรือการกระทำทางปกครองตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่ผู้ฟ้องคดีจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 106/2544
สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนว่าไม่รับคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีที่กล่าวหานาย ช.ว่าลักทรัพย์และทำร้ายร่างกายของผู้ฟ้องคดี แต่กลับรับคำร้องทุกข์ของนาย ช. กรณีนาย ช. กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทำร้ายร่างกาย แม้ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองข้อหา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พยายามเปลี่ยนคดีลักทรัพย์ให้เป็นคดีย้ายทรัพย์และเปลี่ยนคดีทำร้ายร่างกายให้เป็นคดีทะเลาะวิวาท และใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่นาย ช. โดยดำเนินคดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาและสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีแล้วส่วนคดีที่ นาย ช.เป็นผู้ต้องหายังไม่ดำเนินการฟ้องต่อศาลนอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นรองผู้กำกับการฯ อาจอยู่เบื้องหลังการกระทำของนาย ช.ที่กระทำต่อผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ศาลกครองให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี
คำวินิจฉัย : ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำในกรณีตั้งข้อหาดังกล่าวเป็นการสอบสวนและเสนอความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องตามฐานความผิดใดและจะเป็นไปตามที่รับแจ้งความไว้หรือไม่นั้นเป็นการใช้ดุลพินิจในการปฎิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งมีพนักงานอัยการและศาลยุติธรรมทำหน้าที่ตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้น การที่พนักงานสอบสวนจะสอบสวนและเสนอความเห็นเป็นอย่างไร จึงมิใช่เป็นคำสั่งหรือการกระทำทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ผู้ฟ้องคดีจะนำมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้ตำแหน่งให้คุณให้โทษแก่นาย ช. โดยไม่ดำเนินคดีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหานาย ช. ว่าทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างโต้แย้งการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฎิบัติหรือปฎิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรซึ่งเข้าลักษณะเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การกระทำหรือการละเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดี ในส่วนนี้มิใช่การสอบสวนหรือการพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีที่ทำการสอบสวนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ฉะนั้น คำฟ้องเฉพาะกรณีนี้จึงเป็นคำฟ้องที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาได้ ในกรณีที่กล่าวหาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้นเห็นว่าเป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อาจเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญามิใช่กล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำหรืองดเว้นกระทำการใดในทางปกครองอันเป็นเหตุหรืออาจเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย คำฟ้องในประเด็นนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้ตามนัยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 922/2548
สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีมีชื่อว่านายปรีดี เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ นาฬิกาได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายวันชัยเสียชีวิตขณะนอนดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้านเลขที่...หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๔ ร้อยตำรวจเอกวิโรจน์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระแสง ผู้รับผิดชอบคดี ได้จัดทำตำหนิรูปพรรณคนร้ายให้ตรงกับผู้ฟ้องคดี ทั้งที่ไม่มีพยานหลักฐานใดว่าผู้ฟ้องคดีเป็นคนร้ายที่ฆ่าผู้ตาย และร้อยตำรวจเอกพงษ์ศักดิ์ รองสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระแสง ได้ทำบันทึกลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ รายงานการสืบสวนหาตัวคนร้ายเสนอต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระแสง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ นอกจากนั้นร้อยตำรวจเอกพงษ์ศักดิ์ได้ทำบันทึกลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ รายงานการสืบสวนขึ้นอีกหนึ่งฉบับว่า สาเหตุการตายของนายวันชัยเกิดจากการที่นางจั่วได้เบิกเงินจากธนาคารมาเก็บไว้ที่บ้านและถูกลักไป นางจั่วเชื่อว่านายวันชัยเป็นคนลักเอาไป หลังจากนั้นนายวันชัยถูกคนร้ายลอบยิงซึ่งเป็นการกระทำของผู้ฟ้องคดีเพราะผู้ฟ้องคดีมีนิสัยเกเรทุกคนในหมู่บ้านทราบดี หลังเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีได้ไปพูดจาข่มขู่ชาวบ้านไม่ให้พูดเรื่องดังกล่าวกับใครไม่เช่นนั้นจะยิงให้ตาย สาเหตุอื่นไม่มี จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีถูกจับมาดำเนินคดี และร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ได้สืบสวนหาพยานโดยนำเอานางจิราภรณ์ นายเฉลิม นางจั่ว และนายวิญญา มายืนยันว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้กระทำความผิด หลังจากนั้นร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ได้ทำความเห็นเสนอพนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่าสมควรฟ้องผู้ฟ้องคดี พนักงานอัยการจึงฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้พิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของร้อยตำรวจเอกวิโรจน์และร้อยตำรวจเอกพงษ์ศักดิ์เป็นการกระทำที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีต้องถูกดำเนินคดีอาญาและให้ต้องรับโทษหนักขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายโดยสูญเสียอิสรภาพจากการถูกคุมขัง เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี สูญเสียรายได้ในระหว่างถูกคุมขัง เสียสิทธิในการครอบครองที่ดินมือเปล่าที่ใช้ในการประกอบเกษตรกรรม สูญเสียโอกาสในการที่จะใช้ความรู้ที่ได้ศึกษาจบชั้นปริญญาตรีมาพัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้า และเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของร้อยตำรวจเอกวิโรจน์และร้อยตำรวจเอกพงษ์ศักดิ์ให้พิจารณาความเสียหายและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีฉบับลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘ แจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามหน้าที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วยกับผลการพิจารณาดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่ง
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 683/2548
สรุปข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจำนวนหนึ่งได้เข้าตรวจค้นห้องพักเลขที่ ๒๑๒ อาคารไดมอนด์... เลขที่... ซอยเจริญสุข ถนนพระราม ๔ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมได้จับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งสองและยึดหนังสือเดินทางของประเทศอุรุกวัยที่ออกให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเลขที่ ๐๐๑... และเลขที่ ๐๐๑... จำนวน ๒ ฉบับ ตราประทับประจำประเทศรัสเซียจำนวน ๒ อัน นาฬิกาโรเล็กซ์ ๒ เรือน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ๗ เครื่อง อุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และของมีค่าอื่นๆ ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ต่อมาวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยมีหลักประกันแต่ขณะออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวต่อไปอีก ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนเสียหายขอให้ศาลพิจารณาพิพากษา
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 898/2549
ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ไม่ส่งสำนวนการสอบสวนในคดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ร้องทุกข์ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณา และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกหมายเรียกผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือหมายเรียกระบุชื่อสกุลของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องและไม่ระบุเหตุที่ออกหมายเรียก
ประกอบกับการออกหมายเรียกดังกล่าวมีเจตนาให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถยื่นฎีกาในคดีอาญาที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาพยายามฆ่าและปล้นทรัพย์ซึ่งจะครบกำหนดยื่นฎีกาในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ได้ทัน เพราะได้มีการออกหมายเรียกให้ผู้ฟ้องคดีมาพบในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นวันก่อนครบกำหนดยื่นฎีกาเพียง ๒ วัน เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีจำต้องยื่นฎีกาไปก่อนในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ทั้งที่ฎีกาของผู้ฟ้องคดียังไม่สมบูรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนหมายเรียกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยผู้ฟ้องคดีมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยให้ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีขยายระยะเวลายื่นฎีกาและมีคำขอให้ศาลหมายเรียกนางฉวีวรรณ แก้วกุย ร้องสอดเข้ามาเป็น
ผู้ฟ้องคดีที่ ๒
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 465/2553
ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ตามหมายเลขประจำตัวประชาชน x-xxxx-xxxxx-xx-x ต้องโทษอยู่ในเรือนจำพิเศษมีนบุรีเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ในข้อหาเกี่ยวกับเสรีภาพโดยศาลตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา ๓ ปี ๖ เดือน และได้ถูกจำคุกมาแล้ว ๒ ปี ๑๐ วัน ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้ถูกจำคุกมามากกว่าครึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมและเมื่อประมาณสองเดือนที่ผ่านมามีการประกาศทำการพักโทษพิเศษแก่นักโทษชั้นดีขึ้นไปซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมและมีชื่อในรายการผู้มีสิทธิพักโทษพิเศษ แต่ปรากฏว่ารายชื่อของผู้ฟ้องคดีมีหมายเหตุอายัดซึ่งแสดงว่ามีการอายัดตัวไว้ดำเนินคดีอื่นและเป็นการอายัดตัวโดยสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่น ทั้งๆ ที่ผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกจับกุมหรือแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใดจึงไม่ทราบเรื่องคดี และการที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นภายใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำการอายัดตัวผู้ฟ้องคดีเช่นนี้เป็นการละเมิดให้เสียสิทธิตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และเป็นการละเมิดสิทธิตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีถอนการอายัดตัวซึ่งกระทำโดยมิชอบดังกล่าวเนื่องจากไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ฟ้องคดีภายใน ๖ เดือน นับตั้งแต่ทราบว่าผู้ฟ้องคดีอยู่ที่ใด
๒. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีโดยด่วนที่สุดหากเป็นการฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมาย
๓. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือวินิจฉัยกรณีความล่าช้าหรือละเมิดตามคดีนี้
* คำสั่้งศาลปกครองสูงสุดที่ 349/2553
ข้อเท็จจริง : ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดฟ้องและให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อศาลว่า เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา ขณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดรับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัสให้กับนาย บ.ในที่ดินซึ่งบุคคลดังกล่าวครอบครองและทำประโยชน์อยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลบัวโคก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ได้มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรท่าตูม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า สร.๕ กรมป่าไม้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สวนป่าพนมดินองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๖ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๘ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบัวโคก เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดกำลังตัดต้นไม้โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ได้ทำการวัดพิกัดเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยใช้เครื่องจับพิกัดจีพีเอสและได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดทราบว่าตัดไม้ยูคาลิปตัสในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าพนมดินแปลงที่ ๑) โดยมิได้รับอนุญาต พร้อมทั้งเข้าจับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดและได้ยึดของกลางประกอบด้วยเลื่อย ๓ ปื้น มีด ๔ เล่ม ขวาน ๒ ด้าม และรถยนต์บรรทุก ๖ ล้อ หมายเลขตัวถังบียู ๓๐–xxxxxx หมายเลขทะเบียน ๘๒–xxxx อุบลราชธานี ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าตูม ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอให้การในชั้นศาล ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเห็นว่าที่ดินที่นายทองใบใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดรับจ้างตัดนั้นอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยประชาชนที่ทำไม้ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวสามารถนำไม้ออกมาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ในวันเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้นำเอกสารหลักฐานของทางราชการชี้แจงแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๘ ไม่ยอมรับฟัง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๘ ที่ได้ร่วมกันจับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น