วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒๒) (๒๐ กันยายน ๒๕๕๔)


* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๒๔๘/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๓

รื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : คดีนี้ตำรวจภูธรภาค 6 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยบุคคลห้าคนกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยมีส่วนเกี่ยวข้อง พัวพัน หรือรู้เห็นเป็นใจเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายที่สูญหาย สำหรับผลคดีอาญานั้นพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 4 ราย แต่เห็นควรสั่งฟ้องผู้ฟ้องคดีเพียงรายเดียว พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกเห็นพ้องด้วยกับพนักงานสอบสวน ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอความเป็นธรรม จนในที่สุดรองอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดีตามความเห็นของอธิบดีอัยการเขต 6 คดีอาญาถึงที่สุด ส่วนผลการสอบสวนทางวินัยนั้นคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกล่าวหา เห็นควรยุติเรื่อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6) พิจารณาแล้วเห็นว่าผลการสอบสวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 4 ราย กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงให้ยุติเรื่อง แต่เห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา แต่การสอบสวนยังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษได้ พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน หากให้อยู่รับราชการต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่หน้าที่ราชการ จึงได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค 6 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 ร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ในกรณีดังกล่าว อ.ก.ตร. อุทธรณ์และร้องทุกข์พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งได้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว เห็นควรยกคำร้องทุกข์ จึงมีมติให้เสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทราบ แล้วรายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (นายกรัฐมนตรี) เพื่อพิจารณาสั่งการ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้มีมติรับทราบตามมติที่ อ.ก.ตร. อุทธรณ์และร้องทุกข์เสนอ หลังจากนั้นรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม2545 โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2545 แจ้งผลการพิจารณาร้องทุกข์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าการดำเนินการทางวินัยและคดีอาญาเป็นกระบวนการที่แยกต่างหากจากกัน แม้บุคคลนั้นจะถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาในเรื่องเดียวกัน ผลการดำเนินการทางวินัยก็ไม่จำต้องเหมือนกับผลในคดีอาญา โดยในคดีอาญาจะต้องมีพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้โดยชัดแจ้งปราศจากข้อ สงสัยว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาศาลจึงจะมีคำพิพากษาลงโทษได้ แต่ในการดำเนินการทางวินัยนั้นถ้าฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยก็สามารถลงโทษได้ตามความผิด กล่าวคือหากมีพยานหลักฐานรับฟังเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย ผู้มีอำนาจก็สามารถสั่งลงโทษได้แม้จะไม่มีพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งและรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นในคดีอาญาว่าบุคคลนั้นกระทำผิดวินัยก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดมูลคดีนี้) นั้นเป็นกรณีที่ผลการสอบสวนรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยที่จะถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก ตามที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้ แต่ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดจริงหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ และกรณียังมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งในพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งหากให้รับราชการต่อไปอาจจะเกิดความเสียหายแก่ราชการ เนื่องมาจากความไม่เชื่อมั่นของประชาชนหรือเพื่อนร่วมงานที่มีต่อผู้ถูกกล่าวหานั้น ผู้มีอำนาจก็อาจสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนได้

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๔๗/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ก่อนออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดีแล้ว ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหา และดำเนินการสอบสวนพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีไม่นำสืบแก้ข้อกล่าวหาและหลบหนีระหว่างการประกันตัวในคดีอาญา จากนั้นมีการรายงานผลการสอบสวนต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจซึ่งได้พิจารณารายงานแล้วมีมติให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) จึงมีคำสั่งที่พิพาทสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อันเป็นการดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนหรือวิธีการที่จำเป็นตามที่ได้มีการกำหนดไว้แล้ว ส่วนดุลพินิจในการออกคำสั่งที่พิพาทนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดียอมรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาและเป็นผู้นำส่งข้อมูลที่จัดทำส่งให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งจากการตรวจสอบบันทึกรายงานการตรวจสอบประวัติการต้องโทษผู้ต้องหาในวันที่ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่รับผิดชอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารปลอม ไม่ว่าผู้ฟ้องคดีจะทำการปลอมเองหรือประมาทเลินเล่อปล่อยให้บุคคลอื่นทำการปลอมก็ตามก็ถือว่ามีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ประกอบกับผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวยืนยันว่าได้จ่ายเงินให้ผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีช่วยเหลือในเรื่องการปลอมลายพิมพ์นิ้วมืออันเป็นการให้ถ้อยคำเป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหาเองเช่นนี้จึงน่าเชื่อว่าผู้ต้องหามิได้ให้ถ้อยคำเพื่อกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงจริงตามที่ถูกกล่าวหา ผู้บังคับบัญชามีอำนาจหน้าที่โดยชอบในการสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่จำต้องรอผลทางคดีอาญาเพราะไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามไว้ อีกทั้งไม่ถูกผูกพันตามผลในคดีอาญาที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหา เพราะการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัยแตกต่างจากการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษในคดีอาญา ดังนั้นคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่สั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (นายกรัฐมนตรี) ที่สั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : คณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบในการประชุมครั้งที่ 6/2529 วันที่ 12 พฤษภาคม 2529 มีมติเลื่อนขั้นเงินเดือนพลฯ สำรอง ส. จำนวน 8 ขั้น เนื่องจากเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2528 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยจ่ายตามเงินเดือนเดิมก่อนได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน 8 ขั้น ตามมติคณะกรรมการดังกล่าวจึงเป็นกรณีพิพาทกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยไม่ชอบมิได้จ่ายเงินบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดแก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายอันมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ แต่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีในฐานะทายาทของผู้เสียหายสละชีวิตในหน้าที่ราชการควรจะได้รับการปฏิบัติจากหน่วยราชการในการจ่ายบำเหน็จพิเศษและบำนาญตกทอดอย่างถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะบุคคลผู้เสียบุตรชายไปในการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้พยายามติดตามเพื่อให้ได้สิทธิรับบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดที่ถูกต้องและชอบธรรม แม้จะนำคดีมาฟ้องล่วงเลยกำหนดเวลาไปบ้าง ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอื่นอันก่อให้เกิดสิทธิการฟ้องคดีล่วงเลยกำหนดเวลาตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๓๗/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ. 21/2550 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 ให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ แล้วให้ดำเนินการสอบสวนผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผลการสอบสวนฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาจึงให้ยุติเรื่องทางวินัย ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 2) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ข้อที่หนึ่ง ค่าเสียหายจากการเสียโอกาสในการได้รับความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ข้อที่สอง ค่าเสียหายจากการไม่ได้รับเงินตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่การงานตามปกติ และข้อที่สาม ค่าเสียหายต่อชื่อเสียง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบกับมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ต้องยื่นฟ้องคดีภายในระยะเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นว่าผู้ฟ้องคดีได้ทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2544 จึงถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่วนการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้เงินมีมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นมูลเหตุเดียวกับการฟ้องคดีตามคดีหมายเลขแดง ที่ อ. 21/2550 การเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีจึงเป็นวันเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีจึงอาจฟ้องคดีเพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้เงินพร้อมกับการฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่จำต้องฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเพื่อตั้งหลักฐานแห่งสิทธิเรียกร้องก่อนที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องตามคำขอข้อที่หนึ่งและข้อที่สามไว้พิจารณานั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๘๐/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ (พันตำรวจตรี) ฟ้องว่าได้ยื่นคำขอต่อผู้ถูกฟ้องคดี (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ขอให้พิจารณาเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอกลับเข้ารับราชการตำรวจและขอพระราชทานยศคืน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเร่งทำหนังสือตอบและเร่งขอพระราชทานยศคืน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจผู้ออกจากราชการไปแล้วกลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจได้กำหนดไว้ ส่วนคำขอพระราชทานยศคืนผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่าขณะนี้ยังไม่อาจขอพระราชทานยศคืนได้ ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีและได้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว แม้ผลการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีจะมิได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟ้องคดี กรณีจึงถือได้ว่าความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับในคดีนี้ได้รับการแก้ไขเยียวยาตามประสงค์ของผู้ฟ้องคดีและเหตุแห่งการฟ้องคดีในคดีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ศาลปกครองจึงไม่จำต้องกำหนดคำบังคับเพื่อยุติความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ และไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีนี้อีกต่อไป

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๒๐/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 (พันตำรวจเอก ส. ที่ 6 พันตำรวจเอก ช. ที่ 7 พันตำรวจโท ต. ที่ 8 ร้อยตำรวจเอก ช. ที่ 9) ตรวจยึดไม้สักคิ้วบัวของผู้ฟ้องคดีกับพวกไว้และทำการสอบสวน รวมทั้งการเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ที่ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ฟ้องคดีกับพวกในความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นย่อมเป็นการดำเนินงานตามขั้นตอนที่กฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ได้กำหนดไว้เพื่อพิสูจน์ความผิดและดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฟ้องคดีกับพวกตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญา คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจทางปกครองออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจกระทำการในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ที่ให้ข่าวจนทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียชื่อเสียงและความเชื่อถือในทางการค้าและไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นาย ย.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (นาย ค.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (พลตำรวจตรี ช.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10 (ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำใดที่เข้าลักษณะของการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติของมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ชอบที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไมรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีเดิมเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่สถานีตำรวจภูธร ตำบลนางิ้ว จังหวัดหนองคาย อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งลงวันที่ 8 มกราคม 2550 เปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีจากปลดออกจากราชการเป็นให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมอง ผู้ฟ้องคดีรับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2550 จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ จึงมีผลให้ระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องที่มีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปีขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2550 ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งคือภายในวันที่ 25 มกราคม 2551 การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แม้ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตก็ตาม แต่อาการป่วยดังกล่าวก็ไม่น่าเชื่อว่าจะรุนแรงถึงขนาดขาดสติสัมปชัญญะโดยสิ้นเชิง เข้าข่ายเป็นคนจริตวิกล ผู้ฟ้องคดีอาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแทนตนได้ตามมาตรา 45 วรรคห้าแห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ประกอบกับข้อ 20 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยองค์คณะ การจ่ายสำนวน การโอนคดี การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการในคดีปกครอง การคัดค้านตุลาการศาลปกครอง การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานคดีปกครอง และการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทน พ.ศ. 2544 กรณีจึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุที่เป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นฟ้องคดีนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ และเมื่อการรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลปกครองจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาได้

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้ิอมูลโดยย่อ : ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี (ร้อยตำรวจเอก น.) กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ 1) แต่ยังไม่คืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรได้รับตั้งแต่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 5 มิถุนายน 2550 ถึงผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อให้ตรวจสอบและคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือฉบับดังกล่าวก็ยังมิได้มีการดำเนินการคืนสิทธิให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยครบถ้วนถูกต้อง กรณีจึงต้องถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2550 ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่ง ชาติต่อศาลปกครองชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 266/2552 ในความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และขอให้คืนสิทธิการได้รับเงินเดือน เงินเพิ่ม หรือเงินอื่น ซึ่งได้กันอัตราไว้ระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึงปี พ.ศ. 2548 และสิทธิประโยชน์อื่น ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมลงวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ต่อศาลปกครองชั้นต้น โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนขั้นเงินเดือนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่เป็นเงินเดือนและขั้นเงินเดือนที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับ และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 10,000,000 บาท การฟ้องเพิ่มเติมดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มเติมข้อหาและเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งต้องยื่นฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2550 อันเป็นวันเดียวกับวันที่รู้เหตุแห่งการฟ้องคดีในคำฟ้องเดิม การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) ก็ไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือขยายระยะเวลาการฟ้องคดีในข้อหาที่เป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ตามพระราชบัญญัติข้างต้น คำฟ้องเพิ่มเติมของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องที่พ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ลิงก์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น