วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑๔)

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๔/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๖๒/๒๕๔๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๕๒๑/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งย้ายร้อยตำรวจเอกวิเลิศ ...รองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลคลองตันไปดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งย้ายดังกล่าวเป็นการออกโดยไม่ชอบเนื่องจากร้อยตำรวจเอกวิเลิศ...เป็นตำรวจที่ดีและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ผู้ฟ้องคดีจึงเกรงว่าจะเป็นการจงใจกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของร้อยตำรวจเอกวิเลิศ...ด้วยขอให้ศาลสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับร้อยตำรวจเอกวิเลิศ...

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้เป็นโจทก์ฟ้องนายสงวน...เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๔/๒๕๔๒ ซึ่งในการพิจารณาคดีจะต้องทำการตรวจพิสูจน์ความแท้จริงของเอกสาร ศาลจังหวัดสงขลาได้มีหนังสือที่ ยธ ๐๒๐๐.๙๐๑/๘๖๗๘ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ถึงผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยขอให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานตรวจพิสูจน์ต้นฉบับพินัยกรรมซึ่งเป็นเอกสารพิพาท(เอกสารหมายเลข ล. ๑๒) และต้นฉบับหนังสือแสดงความยินยอมเพื่อการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นเอกสารประกอบเป็นพยานแวดล้อม
(เอกสารหมายเลข จ.๒๑) เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของเจ้ามรดกตามเอกสารที่ผู้ฟ้องคดี และนายสงวนนำเข้าร่วมเปรียบเทียบพิสูจน์จำนวน๒๘ ฉบับประกอบด้วยเอกสารที่ผู้ฟ้องคดีนำเข้าร่วมเปรียบเทียบพิสูจน์จำนวน ๑๙ ฉบับ (เอกสารหมายเลข จ. ๑๔ ถึงจ.๒๐ และหมายเลข จ. ๒๔ ถึง จ. ๓๕) และเอกสารที่นายสงวนนำเข้าร่วมเปรียบเทียบพิสูจน์จำนวน ๙ ฉบับ (เอกสารหมายเลข ล. ๑ ถึง ล. ๙) โดยศาลจังหวัดสงขลาได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์ตามประเด็นที่ศาลจังหวัดสงขลากำหนด รวม ๑๑ ข้อ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้ส่งรายงานการตรวจพิสูจน์ ที่ พ. ๑๗๙/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๓ ให้ศาลจังหวัดสงขลาซึ่งปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ทำการตรวจตามประเด็นรวม ๑๑ ข้อ ตามที่ศาลจังหวัดสงขลากำหนด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดตั้งคำถามในการตรวจพิสูจน์เองและตอบคำถามเอง นอกจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำการตรวจเอกสารที่ผู้ฟ้องคดีนำเข้าร่วมตรวจไม่ครบถ้วนโดยตรวจขาดไป๑๑ ฉบับ ในขณะที่ทำการตรวจเอกสารที่นายสงวนนำเข้าร่วมตรวจครบถ้วนทั้ง ๙ ฉบับ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตรวจพิสูจน์โดยไม่ถูกต้องและมิชอบ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำเรื่องนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ โดยขอให้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งคำเพิกถอนผลการตรวจพิสูจน์ของผู้ถูกฟ้องคดี ตามรายงานที่ พ. ๑๗๙/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๓

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๘/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ได้มีคำสั่งที่ ๑๙๘/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๓ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๘๑ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องจากต้องหาคดีอาญาในข้อหาร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามปริมาตรเกินกว่า ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ผลปรากฏว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติให้ยกอุทธรณ์ และรองนายกรัฐมนตรีสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๖ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ. ๑๓๐๒/๒๕๓๖ หมายเลขแดงที่ ๑๒/๒๕๓๗ ให้ยกฟ้องจำเลย (ผู้ฟ้องคดี) เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ (พนักงานอัยการ) ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นวันที่ศาลจังหวัดอุดรธานีอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ เนื่องจากคู่ความไม่ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีจึงทำคำร้องขอบรรจุกลับเข้ารับราชการแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ผู้ฟ้องคดีจึงทำเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ และคดีนี้ได้โอนมาเป็นคดีของศาลปกครองเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษโดยถือว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิดและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๗/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีถูกนายสมบัติ...กับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา เหตุเกิดในท้องที่ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ จึงเข้าแจ้งความกับพันตำรวจโทบัณฑิตย์ จิเนราวัต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ดำเนินคดีอาญากับนายสมบัติกับพวกในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้ดำเนินคดีกับนายสมบัติกับพวกให้ถึงชั้นศาลแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงได้ร้องเรียนต่อสำนักราชเลขาธิการ เรื่องดังกล่าวจึงถึงชั้นศาล ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาธนบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คดีหมายเลขดำที่ ๒๑๘๓/๒๕๔๓ โดยมีพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี กอง ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นโจทก์ และนายสมบัติกับพวกเป็นจำเลย ผู้ฟ้องคดีเคยติดตามความคืบหน้าของคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และได้รับการบอกกล่าวจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ว่าศาลจะตัดสินคดีในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๔ ต่อมาวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้โทรศัพท์สอบถามเรื่องการตัดสินคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แจ้งว่าคดีศาลยังไม่ได้ตัดสินจึงขอให้ศาลออกหมายจับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายและให้ลงโทษดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้พิจารณาตัดสินคดีของผู้ฟ้องคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำเนินคดีของผู้ฟ้องคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๕/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการออกคำสั่งโดยมิชอบและเรียกค่าเสียหาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ขณะผู้ฟ้องคดีบรรพชาเป็นภิกษุ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองคล้า ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ในข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและได้ขอประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกัน หลังจากผู้ฟ้องคดีได้ประกันตัวออกมาแล้ว ผู้ฟ้องคดีถูกข่มขู่เอาชีวิตจึงหลบหนีออกจากวัดโดยไม่แจ้งพนักงานสอบสวนให้ทราบสาเหตุ และต่อมาวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีได้ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดสระบุรีเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๕๑/๒๕๔๓ และพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีได้ยื่นคำร้องขอรวมคดีกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๙๐๓/๒๕๔๒ ของศาลจังหวัดสระบุรีเนื่องจากเป็นคดีเดียวกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอขณะนี้ผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีที่ศาลและคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่เคยแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีติดต่อขอรับเงินประกันตัวคืน ดังนั้นวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีได้ให้นายเจริญ...เป็นผู้รับมอบอำนาจมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ขอคืนเงินประกันตัว และเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือแจ้ง นายเจริญ...ว่าไม่สามารถคืนเงินประกันได้เพราะเห็นว่า เมื่อผู้ต้องหาผิดนัดตามสัญญาพนักงานสอบสวนจึงริบเงินสดจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเบี้ยปรับที่วางเป็นหลักประกันนั้นเสียตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ และตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีเล่ม ๑ ลักษณะ ๗ บทที่ ๒ ข้อ ๑๙๙ จึงไม่สามารถคืนเงินประกันตัวให้กับผู้ฟ้องคดีได้และชอบที่จะใช้สิทธิในชั้นศาลต่อไป ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับเหตุผลในคำสั่งไม่คืนเงินประกันตัวดังกล่าวเพราะเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นลาภมิควรได้ ขอให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาและพิพากษา

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๐๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๖๔/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๓๒๓/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ พันตำรวจโทจรัญ... พันตำรวจตรีชาญชัย... ร้อยตำรวจเอกสมภพ... ร้อยตำรวจโทสราวุธ... ร้อยตำรวจตรีทองเพชร... นายดาบตำรวจชลอ... จ่าสิบตำรวจประเสริฐ... จ่าสิบตำรวจยงยุทธ... สิบตำรวจเอกจรินทร์... และสิบตำรวจตรีวันทนา... รวม ๑๐ นาย ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลท่าเรือได้ร่วมกันจับกุมผู้ฟ้องคดีโดยมิชอบในข้อหาว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ ๒ (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในความครอบครองเพื่อขายและขายโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ในการสอบสวนได้ร่วมกันทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จหลายฉบับ เช่น บันทึกการตรวจค้น จับกุม บัญชีของกลาง บันทึกการตรวจยึดเงินของกลาง เป็นต้น และได้ร่วมกันเบิกความเท็จ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้ได้ร่วมกันกรรโชกทรัพย์จากผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีและต้องโทษจำคุกปัจจุบันผู้ฟ้องคดีต้องโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม

เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้บุตรชายแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามโดยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลท่าเรือจำนวน ๑๐ นาย ดังกล่าวข้างต้นได้ร่วมกันดำเนินการจับกุม ทำพยานหลักฐาน และเบิกความอันเป็นเท็จเพื่อกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้ติดตามคดีนี้มาตลอดแต่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๓ จึงได้มีหนังสือสอบถามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวแต่ก็ไม่มีการชี้แจงจากสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลท่าเรือดังกล่าว

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๐๐/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยฎหมายคดีพิพาท
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนี้กล่้าวคือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งที่ ๔๕๔/๒๕๓๘ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่าพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ให้นายวสันต์...และนายประสิทธิ์...ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และใช้กำลังประทุษร้ายนายประสิทธิ์...โดยกระชากคอเสื้อและตีเข่าที่บริเวณชายโครงหนึ่งครั้งเป็นเหตุให้กระดุมเสื้อขาดหลุดไป ๔ เม็ด ใช้กิริยาวาจาข่มขู่ เหยียดหยาม กดขี่หรือข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อราชการ ตามผลการสืบสวนข้อเท็จจริงของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ชม ๐๐๑๘.๑๑/๑๓๓ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๘ เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๘ ระหว่างเวลา ๑๗.๓๐ นาฬิกา ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผลการสอบสวนสรุปได้ว่าจากพยานหลักฐานยืนยันได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงซึ่งพฤติการณ์และการกระทำเป็นการกดขี่หรือข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อราชการอย่างร้ายแรงและถือได้ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๔ วรรคสอง และมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งที่ ๓๑๕/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๐ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้ประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๒ แล้วมีมติให้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการโดยเห็นควรยกโทษและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการแล้วลงทัณฑ์ตามควรแก่กรณีให้เป็นการถูกต้องและเหมาะสมต่อไป ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งที่ ๒๓๔/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ให้ผู้ฟ้องคดีกลับ เข้ารับราชการ และให้ลงทัณฑ์กักยามผู้ฟ้องคดีมีกำหนด ๑๕ วัน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาดังกล่าวไม่ชอบและไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ศาลพิพากษา

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๐๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๖๕/๒๕๔๔ หมาย เลขแดงที่ ๓๖๕/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนี้

ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีได้ให้ภรรยาของผู้ฟ้องคดีเข้าแจ้งความต่อพันตำรวจโทรังสรรค์... พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรให้ดำเนินคดีอาญากับนายเชน...ในข้อหาลักทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๓ เวลากลางคืน ฝ่ายผู้ฟ้องคดีได้เข้าแจ้งความถึง ๒ วัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงรับแจ้งความและให้ ผู้ฟ้องคดีมาเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายกับนายเชน โดยตกลงให้นายเชนนำทรัพย์ที่ลักไปมาคืนและจัดซื้อทรัพย์ที่เสียหายมาทดแทน ส่วนการดำเนินคดีอาญาให้เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑

ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓ ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีขับขี่รถจักรยานจะเข้าหอพัก นายเชนเข้ามาขวางทางและชกต่อยผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีใช้มีดปอกผลไม้สะบัดไปถูกแขนของนายเชนได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย นายเชนแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเจ้าพนักงานตำรวจรีบมาจับกุมผู้ฟ้องคดีทันทีเหมือนกับนัดหมายกันไว้ก่อน เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กรณีที่นายเชนทำร้ายร่างกายของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับแจ้งความกลับสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้ฟ้องคดีเข้าห้องขังทันทีทั้งที่ผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นผู้ก่อเหตุ เมื่อผู้ฟ้องคดีประกันตัวออกมาจึงเข้าพบพันตำรวจโทอนันท์... รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กลับให้ไปพบผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อไปพบผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงรับแจ้งความคดีทำร้ายร่างกาย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเพชรบุรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรีและผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรีดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่ไม่เป็นผล ขณะนี้คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดเพชรบุรีส่วนคดีที่นายเชนเป็นผู้ต้องหายังไม่ฟ้องต่อศาล

ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ นายเชนได้ทำลายต้นไม้และประตูบ้านของผู้ฟ้องคดี ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ผู้ ฟ้องคดีได้แจ้งความต่อพันตำรวจโทสมเกียรติ์ (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวร ต่อมาได้มาดูที่เกิดเหตุและถ่ายรูปไว้เป็นพยานหลักฐาน พร้อมกับบันทึกคำให้การ นับแต่วันที่แจ้งความจนถึงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๔ ยังไม่มีการจับกุมผู้ต้องหา

ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ นายเชนชกต่อยผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีหมดสติและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ต่อมาร้อยตำรวจโทชัยณรงค์ (ไม่ทราบนามสกุล) ได้มาสอบปากคำผู้ฟ้องคดีและบันทึกคำให้การที่โรงพยาบาล แต่ยังไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาแต่อย่างใด

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในกรณีพยายามทำคดีลักทรัพย์ให้เป็นคดีย้ายทรัพย์ ทำคดีดักทำร้ายร่างกายให้เป็นคดีทะเลาะวิวาท และใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่นายเชน และสงสัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อาจอยู่เบื้องหลังการกระทำของนายเชนซึ่งถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองให้ความเป็นธรรมด้วย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๐๘/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีกับพวกได้ร่วมกันจับกุมผู้ลักลอบนำน้ำมันโซล่าหลบหนีภาษีศุลกากร (น้ำมันเถื่อน) เข้ามาในราชอาณาจักรได้ผู้ต้องหา ๒ คน หลบหนีไปได้ ๓ คน ยึดได้ของกลางหลายรายการ รวมทั้งเรือชื่อ ฮะเฮง ๑ จำนวน ๑ ลำและเรือชื่อ ลักษมี จำนวน ๑ ลำ นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสตูลดำเนินคดี ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงร้องเรียนพร้อมส่งมอบหลักฐานต่ออัยการสูงสุด อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ในชั้นพิจารณาของศาล ศาลจังหวัดสตูลพิพากษายกฟ้องและให้คืนของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และริบของกลางทั้งหมด ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๒ คืนน้ำมันดีเซล (โซล่า) จำนวน ๕,๓๐๐ ลิตร และถังน้ำมันของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เมื่อศาลจังหวัดสตูลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจดูเรือบรรทุกน้ำมันของกลาง ซึ่งด่านศุลกากรสตูลได้มอบให้นายนำชัย...เป็นผู้เก็บรักษาไว้ ปรากฏว่าเรือบรรทุกน้ำมันของกลางทั้งสองลำได้หายไป ผู้ฟ้องคดีจึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสตูลเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๓ และต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๓ ถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสตูลแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานสอบสวนว่า เรือของกลางในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๙๕๔, ๑๙๕๕, ๑๙๕๖/๒๕๓๙ ของศาลจังหวัดสตูลได้สูญหาย ขอให้ดำเนินการทางกฎหมาย แต่ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสตูลก็มิได้ดำเนินการแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคดีนี้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารในสำนวนการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือจำเลยและเจ้าของเรือ และเจ้าของเรือของกลางทั้งสองลำได้ยื่นคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อศาลจังหวัดสตูล คดีอยู่ในระหว่างไต่สวน นอกจากนี้เจ้าของเรือยังได้ฟ้องผู้ฟ้องคดีกับพวกเป็นคดีแพ่ง จนถึงขณะยื่นฟ้องคดีนี้ก็ยังไม่ได้ลงบันทึกประจำวันและไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งความร้องทุกข์ ขอให้ศาลปกครองให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น