รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจเฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีตอนที่ ๖
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่ง อ.ก.ตร.อุทธรณ์และร้องทุกข์ได้พิจารณาคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติให้ยกคำร้องทุกข์และได้เสนอมติดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้พิจารณาคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติให้ยกคำร้องทุกข์ จากนั้นได้รายงานมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เพื่อพิจารณาสั่งการ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งให้ยกคำร้องทุกข์ตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบผลการพิจารณาร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ และเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ จึงได้นำคดีฟ้องต่อศาล
* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๖/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้รับยศครั้งสุดท้ายร้อยตำรวจโท ตำแหน่งประจำแผนก ๑ กองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายพระยาสุรสีห์กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ร้อยตำรวจโทสุรเชษฐ์... ประจำแผนก ๑ กองกำกับการ ๒ กองบังคับการฝึกพิเศษ ได้ถูกคนร้ายไม่ทราบชื่อและจำนวนใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่บ้านพักของทางราชการเลขที่ ๒๓๗ ตำบลวังเย็น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแปลงยาวได้แจ้งข้อหาผู้ฟ้องคดีฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ผู้ฟ้องคดีให้การปฏิเสธ พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราได้ฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืนเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน๒๕๔๐ พนักงานอัยการมิได้ฎีกา คดีถึงที่สุด หลังจากที่ร้อยตำรวจโทสุรเชษฐ์ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตาย กองกำกับการ ๒ กองบังคับการฝึกพิเศษมีคำสั่งที่ ๒๐๕/๒๕๓๗ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งที่ ๑๑๗/๒๕๓๘ ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ และมีคำสั่งที่ ๑๑๙/๒๕๓๘ ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นวันที่ถูกคุมขัง ต่อมาได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการและกรรมการสอบสวนตามคำสั่งที่ ๗๔๖/๒๕๓๘ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ ในระหว่างการสอบสวนผู้ฟ้องคดีคณะกรรมการสอบสวนไม่เคยมีคำสั่งเรียกผู้ฟ้องคดีมาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาหรือสอบสวนผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด การสอบสวนจึงไม่ชอบตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ หมวด ๕ การดำเนินการทางวินัย และเมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจนกระทั่งคดีถึงที่สุดแล้วผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้กระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษหนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือได้รับโทษที่หนักกว่าจำคุกหรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๙๘ วรรคสอง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีพ้นมลทินและคดีถึงที่สุดแล้วจึงได้ทำหนังสือขอกลับเข้ารับราชการตำรวจเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๐ พร้อมด้วยประวัติและเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา ผู้บังคับบัญชาได้รับหนังสือดังกล่าว และได้ประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๑ มีมติให้รอผลการสอบสวนวินัยให้แล้วเสร็จ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือขอทราบผลการพิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดีไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามคำสั่งที่ ๗๙๙/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๒ โดยผลการสอบสวนฟังว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๙๘ วรรคสอง ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ และติดตามผลการพิจารณาอุทธรณ์มาโดยตลอด และได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์โดยหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๑๗๙๐ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ว่ายกอุทธรณ์ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีถูกตั้งกรรมการสอบสวนและถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเนื่องจากผู้ฟ้องคดีถูกตั้งข้อสงสัยว่ากระทำผิดทางอาญาจนถูกคุมขังและถูกฟ้องคดีต่อศาลแต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง คำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บริสุทธิ์ ศาลยุติธรรมได้พิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๕๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๒
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเคยรับราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีคำสั่งที่ ๒๗๕๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ แต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยต้องหาคดีอาญาฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการในเวลากลางคืน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีคำสั่งที่ ๙๕/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๙ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีหนังสือที่ ตช ๐๐๓๙.๔/๑๑๕๓ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการอุทธรณ์ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๑๕/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ แล้วมีมติยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำผิดวินัยและมิได้กระทำผิดทางอาญาตามที่ถูกกล่าวหา โดยในวันเกิดเหตุวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เวลากลางคืนผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่เป็นยามประจำสถานีตำรวจ มีเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจสองนายนำนายซกเฮงสัญชาติกัมพูชามาตรวจสอบที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ที่ผู้ฟ้องคดีนั่งอยู่ เนื่องจากพบว่ามีเงินสดอยู่ในตัวจำนวนมาก เจ้าพนักงานตำรวจสองนายดังกล่าวได้เข้าตรวจค้นตัวนายซกเฮงพบเงินสดจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ บาท โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ร่วมตรวจค้นด้วย แต่เมื่อมีการนำตัวนายซกเฮงเข้าไปในห้องสอบสวนนายซกเฮงกลับแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีเอาเงินของนายซกเฮงไป ๙,๐๐๐ บาท ซึ่งเมื่อผู้ฟ้องคดีถูกค้นร่างกายและรถยนต์ก็ไม่พบเงินจำนวนดังกล่าว แต่พบเงินจำนวนที่หายที่ข้างกระถางต้นไม้หน้าสถานีตำรวจ ผู้ฟ้องคดีถูกข่มขู่และเกลี้ยกล่อมให้เขียนรายงานสารภาพต่อพันตำรวจตรีไตรรงค์... สารวัตรป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ว่าเป็นผู้ล้วงเอาเงินจากนายซกเฮง ต่อมาปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีจึงถูกดำเนินการสอบสวนทางวินัย โดยการดำเนินการลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนที่ กฎหมายกำหนดไว้ กล่าวคือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ฟ้องคดีทราบและไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจพ.ศ. ๒๕๒๑ ที่ใช้ในขณะเกิดเหตุ และตามมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และยังทำการสอบสวนเกินเวลาสองร้อยสี่สิบวันตามมาตรา ๘๗ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้เวลาสอบสวนอยู่ถึง ๒ ปีเศษ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงได้มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเมื่อผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พึ่งจะมีหนังสือสถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ที่ ปท ๐๔๒๙.๑(ส)/๕๗๑ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๑ ส่งบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับนัดให้ผู้ฟ้องคดีไปแก้ข้อกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อกล่าวหา ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ นั้น ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด ซึ่งตามกฎหมายผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ต้องมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาและเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปให้การพร้อมนำสืบพยานแก้ข้อกล่าวหาแต่ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ไม่มีอำนาจดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ฟ้องคดีเนื่องจากเรื่องที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องลักทรัพย์อันเป็นความผิดส่วนตัวไม่ใช่การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ฟ้องคดีถูกคำสั่งไล่ออกจากราชการโดยมิได้ถูกดำเนินคดีอาญาคดีลักทรัพย์ที่ถูกกล่าวหาก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๗๖/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล ๖ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ผกก.สส.บก.น.๖) ได้รับมอบหมายให้จัดกำลังตำรวจฝ่ายสืบสวนนอกเครื่องแบบเพื่อรักษาความปลอดภัยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ ได้มีการชุมนุมของประชาชนฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้นายวิชัย... ละนายฤทธิรงค์... ฝ่ายที่ต่อต้านถูกทำร้ายร่างกาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ บุคคลทั้งสองได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ฟ้องคดีฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากเป็นผู้สั่งการให้นายจรัล...และนายชัยสิทธิ์...ทำร้ายร่างกายตนและละเว้นไม่ทำการจับกุมบุคคลทั้งสองพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาและได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อไต่สวนและวินิจฉัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าว และมีมติเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๗๙ (๒) (๕) และ (๖) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และมีมูลความผิดทางอาญาตามมาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๒๐๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต่อมาในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการพิจารณาสั่งลงโทษของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงได้มีคำสั่งสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจที่ ๑๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สั่งลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งที่ ๑๖๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ ลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการและให้ยกเลิกคำสั่งที่ ๑๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไต่สวนและชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัยผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ให้เวลาตามสมควรในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไม่แจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ไม่ให้โอกาสในการนำพยานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหา ใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานไม่ถูกต้องเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงผู้ฟ้องคดีอันมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้ต้องรับโทษทางวินัยร้ายแรงเกินกว่าข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้ดุลพินิจไม่ชอบในการออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและปลดออกจากราชการไม่พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและองค์ประกอบความผิดทางวินัยร้ายแรงก่อนออกคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และองค์ประกอบความผิดทางวินัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้เป็นเหตุในการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี รวมทั้งไม่วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายในการพิจารณามีมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าครั้งผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานสอบสวน (สบ ๑) สถานีตำรวจภูธรอำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ได้ถูกนายประสิทธิ์...ร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าบุตรของผู้ร้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอลำดวนจับกุมข้อหาลักทรัพย์ โดยพันตำรวจเอกสมเกียรติ...รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ และผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้สั่งการให้พลตำรวจตรีชัยณรงค์...ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ เป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพลตำรวจตรีชัยณรงค์สรุปข้อเท็จจริงว่าพันตำรวจเอกสมเกียรติและผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายหรือมิได้กระทำการอันมิชอบตามที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนแต่อย่างใด แม้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีอาจจะมีบางขั้นตอนที่ดูไม่เหมาะสมบ้างแต่เจตนาก็เพียงเพื่อจะกระทำการให้มีความถูกต้องและรัดกุมซึ่งอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่บุตรของผู้ร้องและกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อผู้ฟ้องคดียืนยันว่าการกระทำของบุตรผู้ร้องเป็นความผิดแล้วเหตุใดจึงยังไม่ได้รับตัวไว้สอบสวนแต่ได้ปล่อยให้กลับไปหลายครั้งนั้นก็เนื่องจากเกรงว่าบุตรของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เยาว์จะต้องถูกควบคุมหรือคุมขัง และต้องการที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ร้องโดยการประสานงานว่าหากมีหลักทรัพย์ครบถ้วนแล้วค่อยมามอบตัวแม้ข้อเท็จจริง ประเด็นนี้อาจจะขัดระเบียบอยู่บ้างแต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือคู่กรณีแต่อย่างใด เพราะหลังจากนั้นก็ได้รับมอบตัวบุตรของผู้ร้องไว้ดำเนินคดีตามระเบียบแล้ว ในชั้นนี้จึงไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่ามีการกระทำความผิดตามที่ผู้ร้องได้ ร้องเรียนดังกล่าว จึงเห็นควรยุติเรื่องและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ ต่อมาผู้ร้องได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขอให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงอีกครั้งเนื่องจากเห็นว่าผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้สอบปากคำบุตรของผู้ร้องพลตำรวจตรีชัยณรงค์จึงได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยสรุปความเห็นกรณีผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีสอบสวนคดีนี้ล่าช้าว่าผู้เสียหายเข้าแจ้งความในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ไม่ประสงค์จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเนื่องจากขอเจรจากันก่อน ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมตัวบุตรชายทั้งสองของผู้ร้องและผู้ต้องหาอีกแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้เสียหายเห็นว่าการเจรจาไม่เป็นผล จึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาทั้งสามคนตามกฎหมาย ผู้สอบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่ากรณีนี้ผู้ฟ้องคดีรับคำร้องทุกข์ล่าช้าไปห้าวัน แต่คดีดังกล่าวเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งตามกฎหมายต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดทันที แต่การกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ จึงเห็นควรส่งเรื่องให้งาน ๓ กองกำกับการ ๑ กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค ๓ (งาน ๓ กก.๑ บก.อก.ภ.๓)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น