วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑๖)

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ขณะที่รับราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมวดประจำแผนก ๓ กองกำกับการ ๕ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๗๑๖/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีถูกกล่าวหาว่าเมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีมียศจ่าสิบตรีประจำแผนกสถิติและข้อมูลใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เรียกร้องเงินจากผู้สมัครสอบคัดเลือกดาบตำรวจและจ่าสิบตำรวจเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรสายสอบสวนประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ฟ้องคดีมิได้มีตำแหน่งหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่คุมการสอบดาบตำรวจและจ่าสิบตำรวจที่สมัครสอบเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรแต่ประการใด ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก.ตร. มีมติให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ แต่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาเพราะเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติ ก.ตร. จึงเป็นเรื่องร้องทุกข์ที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีมติเด็ดขาดแล้ว ผู้ฟ้องคดีนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๓ ยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) โดยเห็นว่าคำสั่งที่ลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑ นั้นเป็นการใช้อำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ศาลไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๓ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยขอให้ศาลถือหนังสือที่ผู้ฟ้องคดียื่นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๓ เป็นคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีเมื่อศาลปกครองเปิดทำการแล้วและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗๑๖/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๗/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๖๐/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๑๒๙๓/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีตำรวจนครบาลคันนายาว ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และอยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้จับกุมผู้ฟ้องคดีกับชายไม่ทราบชื่ออีก ๒ คน ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และยึดรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ป. ๐๒๙๒ พิจิตร ของผู้ฟ้องคดีไว้เป็นของกลาง ต่อมาพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดมีนบุรีในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะและมีคำขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์ของกลาง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การบรรยายฟ้องของพนักงานอัยการฯไม่ตรงกับความเป็นจริง และเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี ๒ ปี ส่วนรถยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงยกคำขอให้ริบ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำพิพากษา กรณีรถยนต์ของกลางไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอคืนรถยนต์ของกลางจากพนักงานสอบสวนแต่มีปัญหาจึงยังมิได้รับรถยนต์ของกลางคืน ขณะนี้สภาพรถยนต์ทรุดโทรม ผู้ฟ้องคดีต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีและขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เป็นเวลา ๑๑ เดือน ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ออกหมายจับผู้ฟ้องคดีในข้อหาว่ากระทำความผิดอาญาทั้ง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้เสียหายในข้อหาการกระทำผิดอาญาดังกล่าวนั้นได้ตกลงยอมความกันแล้ว และเงินประกันตัวก็ได้รับคืนมาแล้ว การออกหมายจับผู้ฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องการทำงานผิดพลาดของผู้ถูกฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อน ไม่เป็นธรรม จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับของผู้ถูกฟ้องคดี

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทอันเกิดจากการกระทำหรือละเว้นไม่กระทำอันเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองหรือในการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกหมายจับผู้ฟ้องคดีโดยมิชอบอันเป็นเรื่องของการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญากรณีจึงมิใช่เรื่องของการฟ้องร้องการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้อำนาจทางปกครองหรือในการดำเนินกิจการทางปกครอง ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๑๔/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๕๘๗/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลบางชัน เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีออกเวรแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากนายอนันต์ว่ามีการขายยาเสพติดในท้องที่ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร่วมกับพลตำรวจสมัครสมชายเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินจับกุมนายสมเกียรติหรือแม๊กในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เมื่อผู้ฟ้องคดีนำตัวผู้ต้องหาส่งสถานีตำรวจนครบาลบางชันแล้วต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลบางชันได้กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกับพลตำรวจสมัครสมชายร่วมกันกระทำความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือ ประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งผู้ฟ้องคดีปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีกับพลตำรวจสมัครสมชายเป็นจำเลยต่อศาลอาญา คณะผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ และมาตรา ๑๕๗ ลงโทษจำคุกคนละ ๕ ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยก ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ฟ้องคดียื่นฎีกาแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกร้อง คดีถึงที่สุด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงขอให้ศาลปกครองพิจารณาให้ความเป็นธรรม

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๔/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีสมัยที่ยังมีสถานะเป็นกรมตำรวจที่ได้มีคำสั่งกรมตำรวจที่ ๘๖๑/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ แต่งตั้งพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีที่มีการกล่าวหาว่าร่วมกันใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใดให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยเจตนา และตามสำนวนการสอบสวนรายงานคดีที่ ๓๗/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ พนักงานสอบสวนได้กล่าวหาผู้ฟ้องคดีและนายรังสรรค์ซึ่งเป็นสามีของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งได้ออกหมายจับนายรังสรรค์ดำเนินการสอบสวนทำสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องส่งพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ใช้สำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามคำสั่งแต่งตั้งของผู้ถูกฟ้องคดี ทำความเห็นสั่งฟ้องคดีและใช้สำนวนการสอบสวนดังกล่าวฟ้องคดีสามีผู้ฟ้องคดีเป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้มาจนทุกวันนี้ ทำให้ผู้ฟ้องคดีและครอบครัวได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูล ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้ดำเนินการไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และผู้ถูกฟ้องคดีในสมัยที่มีสถานะเป็นกรมตำรวจซึ่งได้ออกคำสั่งตั้งพนักงานสอบสวนดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนที่จะมอบอำนาจการสอบสวนให้ตำรวจคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งกรมตำรวจที่ ๘๖๑/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ และสั่งให้พนักงานสอบสวนที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งดังกล่าวไม่มีอำนาจสอบสวนและสั่งให้ระงับการสอบสวนผู้ฟ้องคดีตามรายงานการสอบสวนของกรมตำรวจคดีที่ ๓๗/๒๕๓๖ รวมทั้งสั่งให้ระงับการใช้สำนวนการสอบสวนและการสอบสวนตามสำนวนการสอบสวนรายงานคดีที่ ๓๗/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๔/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการสอบ สวนคดีอาญาโดยมิชอบ มีพฤติกรรมวางตัวไม่เป็นกลางและอำพรางความผิดในคดีอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ทรัพย์สินที่อยู่ในรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีสูญหายไปหลังจากที่รถยนต์ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมบุรี ขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนพนักงานสอบสวนและติดตามทรัพย์สินที่หายคืนแก่ผู้ ฟ้องคดี

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการในการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นเท่านั้น หาได้ให้อำนาจศาลปกครองพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยไม่ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวน คดีอาญาดำเนินการสอบสวนโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการกระทำในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ และมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ ไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๖/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๙๙/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๘๖๙/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและล่าช้าเกินสมควรในการดำเนินคดีกรณีรถเฉี่ยวชนกันบนถนนสายสิงห์บุรี-ลพบุรี บริเวณตำบลบางงา อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี อันเป็นเขตความรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าวุ้ง โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ได้พูดจาไม่สุภาพ หน่วงเหนี่ยวเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ต้องหารับสารภาพ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ดำเนินการให้ประกันตัวผู้ต้องหาล่าช้าเกินสมควร ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายประกัน และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีหนังสือร้องเรียนการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และที่ ๖ ดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และที่ ๖ รวมทั้งได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือตำรวจภูธรภาค ๑ ที่ ตช ๐๐๑๒.๐๑๔/๓๗ ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๔ แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และที่ ๖ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้วจึงยุติเรื่อง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหนังสือดังกล่าวเป็นไปตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรีได้รายงานโดยไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและสอบปากคำของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

นอกจากนี้การร้องเรียนดังกล่าวทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีทั้งสองต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลพบุรีในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่น ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีหมายเรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไปพบในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าการร้องเรียนเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีและมิได้มีข้อความหมิ่นประมาทผู้ใด ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๕/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้ตกลงทำสัญญาขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด ๑๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๔ เครื่อง ตามสัญญาเลขที่ ๔๕/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๑ สัญญาเลขที่ ๕๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๑ และสัญญาเลขที่ ๕๓/๒๕๔๑ ลง วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๑ รวม ๓ สัญญา เป็นจำนวนเงิน ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาทให้กับผู้ถูกฟ้องคดี ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๒ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงขอขยายเวลาส่งมอบของตามสัญญาทั้งสามฉบับออกไปอีก ๙๐ วัน โดยที่คู่สัญญาได้ทำบันทึกแนบท้ายสัญญารวม ๓ ฉบับ ขยายกำหนดเวลาตามสัญญาออกไปตามที่ผู้ฟ้องคดีเสนอ เมื่อมีการส่งมอบและติดตั้งเครื่องพบว่าชุดอุปกรณ์เครื่องวัดหน้าตู้ควบคุมอัตโนมัติที่ประกอบมาจากโรงงานไม่ตรงตามที่ระบุในรายการเทคนิค ผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำหนังสือลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ และ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๒ รวม ๔ ฉบับ ขอเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องวัดหน้าตู้ควบคุมอัตโนมัติที่ระบุในสัญญาทั้งสามฉบับ และต่อมาคู่สัญญาได้ลงนามในบันทึกแนบท้ายสัญญาฉบับที่หนึ่งลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๒ และบันทึกแนบท้ายสัญญาฉบับที่สองและที่สาม แต่ละฉบับลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๒ เพื่อกำหนดให้เปลี่ยนชุดอุปกรณ์เครื่องวัดให้เป็นไปตามที่ผู้ฟ้องคดีเสนอ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือที่ พท ๐๐๓๓/๑๕๒๘๘ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๒ และที่ พท ๐๐๓๓/๑๕๕๕๒ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๒ แจ้งผู้ฟ้องคดีขอสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกค่าปรับเป็นเงิน ๑,๘๔๖,๘๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติให้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ในเครื่องกำเนิดไฟฟ้านานถึง ๖ เดือนเศษ เป็นผลให้การตรวจรับงานล่าช้าจนเกินกำหนดเวลาที่กำหนดในสัญญา จึงได้ทำหนังสือลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๒ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทบทวนจำนวนค่าปรับดังกล่าว และได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๓ ขอความเป็นธรรมไปยังกระทรวงสาธารณสุขแต่ไม่เป็นผล ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ลงรับไว้เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ ต่อมาเมื่อศาลปกครองเปิดทำการในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ เรื่องร้องทุกข์นี้จึงโอนมาสู่การพิจารณาของศาลปกครอง โดยผลของมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าในขณะที่รับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๒๖๐/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเนื่องจากมีพฤติการณ์ใช้กำลังกอดปล้ำข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงโดยมิได้ยินยอม ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๖ อุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือที่ มท ๐๕๔๕.๓/๑๐๐๐ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่ารองนายกรัฐมนตรีสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ ขอ ให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการและให้ผู้ถูกฟ้องคดีบรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในยศและตำแหน่งเดิม รวมทั้งคืนสิทธิประโยชน์ทั้งหลายที่พึงจะได้รับหากยังรับราชการอยู่

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๒๘๗๕/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๖๔๙/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าผู้ฟ้องคดีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีสมัยการท่องเที่ยว ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรวัส ทรานสปอร์ต ประกอบธุรกิจด้านรถยนต์โดยสารไม่ประจำทาง (รถทัวร์รับจ้างทั่วไป) และผู้ฟ้องคดีได้ร่วมกับนายบรรยงค์พี่ชายของผู้ฟ้องคดีจัดตั้งบริษัทเพชรอัมพร จำกัด ขึ้นอีกบริษัทหนึ่งโดยนายบรรยงค์เป็นกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้และผู้ฟ้องคดีเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าว ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ให้บริษัทเพชรอัมพร จำกัด ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทฐิติกร จำกัด จำนวนหลายคันรวมทั้งรถยนต์คันที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ทั้ง ๓ คัน คือ รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๓๐-๓๒๕๖ กรุงเทพมหานคร รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๓๐-๓๙๕๘ กรุงเทพมหานคร และรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๓๐-๔๓๒๖ กรุงเทพมหานคร โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวจนหมด แต่ยังค้างค่าเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีอ้างความเป็นเจ้าของและเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ทั้งสามคันมาตลอดตั้งแต่เช่าซื้อจนกระทั่งถูกยึดรถยนต์ดังกล่าว ต่อมาผู้ฟ้องคดีกับนายบรรยงค์มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรถทัวร์ นายบรรยงค์ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีหลายแห่ง ซึ่งในแต่ละแห่งพนักงานสอบสวนจะพยายามไกล่เกลี่ยให้ยุติเรื่องเพราะเห็นว่าเป็นกรณีพี่น้องพิพาทกันเองในทางแพ่ง แต่ที่สถานีตำรวจนครบาลจรเข้น้อยและสถานีตำรวจนครบาลลาดกระบังไม่ได้ดำเนินการเช่นนั้น กลับรับคำร้องทุกข์ของนายบรรยงค์และดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๖๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ อยู่บ้านเลขที่ ๑๘๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองไทร อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นนักศึกษาของโรงเรียนโปลีเทคนิคสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๒ เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ นาฬิกา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ร่วมกันจับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกรวม ๕ คน ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กำลังนอนดูโทรทัศน์อยู่ในบ้านของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นลุง ส่วนพวกที่ถูกจับคนอื่นกำลังเล่นไพ่รัมมี่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกร่วมกันเสพและมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (ยาบ้า) อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หลังจากถูกจับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถูกโรงเรียนสั่งพักการเรียน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต่อสู้คดีเป็นเวลาสองปี ศาลจังหวัดไชยาจึงพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกลั่นแกล้งจับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหาย ถูกพักการเรียนและเสียอนาคตทางการศึกษา ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีแทนผู้ปกครองของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น