วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๗) (๑๘ กันยายน ๒๕๕๔)


รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจเฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีตอนที่ ๗










* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๐๙/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้กำกับการฝ่ายการเงิน ๓ กองการเงิน สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีตามคำสั่งที่ ๘๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๖,๔๔๒,๙๘๖ บาท ภายในกำหนดเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งกรณีผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งสารวัตรงานที่ ๑ ฝ่ายบัญชี ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการบันทึกรายงานบัญชีและการเก็บรักษาเอกสารของเจ้าหน้าที่กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เอกสารหลักฐานสำคัญทางการเงินสูญหาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีเอกสารหลักฐานเพียงพอต่อการฟ้องคดีแพ่งกับดาบตำรวจณรงค์กับพวกผู้กระทำการทุจริตในกองการเงินของผู้ถูกฟ้องคดี (กรมตำรวจเดิม) เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๒,๘๘๕,๙๗๒ บาทโดยผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ และได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๒ อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีแต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับดาบตำรวจณรงค์ วงศ์พระจันทร์ ผู้กระทำการทุจริตจึงไม่ควรต้องรับผิดในจำนวนเงินที่มีการทุจริตดังกล่าว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้นำผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมาพิจารณาและวินิจฉัยว่ามีเจ้าหน้าที่กลุ่มผู้ทุจริต กลุ่มผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผู้ใดทำให้เกิดความเสียหาย และต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่เป็นจำนวนเท่าใด แต่พิจารณาและวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีแต่เพียงผู้เดียวทั้งที่กรมบัญชีกลางก็ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แจ้งผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีแล้วโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งดังกล่าว แต่ได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีวินิจฉัยสั่งการใหม่ให้เป็นไปตามข้อ ๑๗ ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีนี้

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๐/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่ากองบัญชาการศึกษาในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีประกาศฉบับลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ เรื่องรับสมัครและคัดเลือกข้าราชการตำรวจผู้มีวุฒิปริญญาโทเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรพ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สมัครและสอบได้สายป้องกันปราบปราม (ปป. ๑) ลำดับที่ ๒๓๗ และเป็นลำดับสำรองที่ ๑๕ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งอนุมัติลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ ต่อท้ายหนังสือกองบัญชาการศึกษาฉบับลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๐ เรื่องผลการดำเนินการประมวลผลการสอบข้อเขียนซึ่งมีสาระสำคัญว่าหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอัตรารองรับเพิ่มเติมอาจแต่งตั้งโดยไม่ต้องประกาศรับสมัครคัดเลือกใหม่ ต่อมากองบัญชาการศึกษาในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีประกาศเรื่องรับสมัครและคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ. ๒๕๕๒ ฉบับลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เพื่อรับสมัครและคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวนผู้มีวุฒิปริญญาตรีเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยไม่ทำการบรรจุแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรตามคำสั่งอนุมัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากขาดโอกาสในการเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือร้องทุกข์ฉบับลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ ไปยังคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ที่ถูกคือ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) (ก.ตร.) เพื่อพิจารณาคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๒๒๑/๒๒๕๒ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๑ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งที่ ๒๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๕ ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจซึ่งต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้า ราชการตำรวจได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๒๔๑๔ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๖ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับอุทธรณ์และร้องทุกข์ได้พิจารณา ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ แล้วเห็นว่าตามที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการยังไม่ถูกต้องเหมาะสมจึงมีมติให้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ โดยเห็นควรให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเพิ่มโทษจากลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ลับ ที่ นร ๐๑๐๕/๒๗๗๘ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ แจ้งว่ารองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งปลดออกจากราชการและเพิ่มโทษเป็นไล่ออกจากราชการดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากการกระทำความผิดของผู้ฟ้องคดีที่ถูกกล่าวหามีเพียงว่าผู้ฟ้องคดีกับน้องชายได้รับประทานอาหารร่วมกันและได้นำสุรามาดื่มเพียงเล็กน้อยโดยมีสิบตำรวจโทอำนวยมาร่วมด้วย ระหว่างที่รับประทานอาหารสิบตำรวจโทอำนวยได้พูดจายั่วยุและดูหมิ่นผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ชี้แจงให้ทราบแต่สิบตำรวจโทอำนวยกลับพูดจาก้าวร้าวและกล่าวท้าทายผู้ฟ้องคดีพร้อมกับเริ่มก่อเรื่องทะเลาะก่อนจึงเกิดการทะเลาะวิวาทชกต่อยทำร้ายร่างกายกันเพียงเล็กน้อยแล้วต่างแยกย้ายจากกันและไม่ได้เสพสุราจนมึนเมาทำให้เสียกริยาหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามข้อกล่าวหา เพราะเหตุเกิดขึ้นที่บ้านพักของผู้ฟ้องคดีและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายแต่อย่างใด หากแต่จะพิจารณาว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดวินัยตำรวจก็สมควรเป็นความผิดเพียงการกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงซึ่งไม่ถึงขั้นต้องถูกปลดออกหรือไล่ออกตามคำสั่งดังกล่าว คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและเพิ่มโทษเป็นไล่ออกจากราชการดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจพุทธศักราช ๒๔๗๗ แต่ผู้บังคับบัญชาได้กล่าวหาและใช้ดุลพินิจวินิจฉัยเป็นความผิดที่รุนแรงเกินความเป็นจริง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงเป็นเหตุทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนและเสียหายต่อตนเองและครอบครัว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๔๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ ๒) สถานีตำรวจภูธรอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินจากนางประทุมจำนวน ๑๙๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำไปช่วยเหลือนายอนุศักดิ์บุตรชายซึ่งถูกจับกุมในข้อหามียาเสพติดให้โทษ (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองให้ไม่ต้องรับโทษผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงมีคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ ๕๓/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ผลการสืบสวนเห็นว่ามีมูลความจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๘ ที่ ๑๕๒/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีดำเนินคดีอาญากับผู้ฟ้องคดีสองข้อหาคือเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเวียงสระและให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาสาร ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งไม่ฟ้องทั้งสองข้อหาเพราะพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๘ ที่ ๒๐๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๓ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และได้มีหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นอีกหลายฉบับแต่ไม่ได้รับการชี้แจงเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีมติว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาให้ยุติการสอบสวน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาจากพยานหลักฐานในการสอบสวนแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เห็นสมควรลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยคณะที่ ๑ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาแล้วมีมติให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๘ ที่ ๒๓๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๗ และวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ ส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อผู้บังคับการกองอุทธรณ์และร้องทุกข์โดยแนบพยานเอกสารที่เป็นประเด็นสำคัญเพิ่มเติมพร้อมทั้งได้ระบุพยานบุคคลเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณา แต่ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่าอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ รวมทั้งมติให้ยกอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ประเด็นข้อเท็จจริงการรับฟังพยานหลักฐานลงโทษผู้ฟ้องคดีขัดแย้งกับคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่มีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิดให้ยุติการสอบสวนและการรับฟังพยานหลักฐานลงโทษผู้ฟ้องคดีขัดแย้งกับสำนวนการสอบสวนในคดีอาญา ซึ่งพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีทั้งสองข้อหา ไม่มีการพิจารณาพยานหลักฐานที่ผู้ฟ้องคดีชี้แจงและส่งเพิ่มเติมไม่เรียกพยานบุคคลที่ผู้ฟ้องคดีได้อ้างไว้ไปสอบปากคำเพิ่มเติมทั้งๆ ที่พยานบุคคลดังกล่าวเป็นประจักษ์พยานในคดีและเคยให้ถ้อยคำไว้แล้ว แต่มีความประสงค์จะให้ถ้อยคำเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ ไม่ได้ตรวจสอบพยานเอกสารสำคัญในคดีโดยเฉพาะสัญญากู้ยืมเงินที่นางประทุมอ้าง ว่าได้กู้ยืมเงินจากนางละมล วิชัยดิษฐ์ ซึ่งถือว่าเป็นพยานเอกสารที่มีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ พยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวล้วนแต่เป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะ วินิจฉัยได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ประเด็นข้อกฎหมายการดำเนินการสอบสวนทางวินัยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ได้แจ้งสิทธิต่อผู้ฟ้องคดีที่จะนำทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายมาช่วยเหลือได้ ตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื่องจากตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้คณะกรรมการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งมีหน้าที่แจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจำเป็นแก่กรณี และกรณีคำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีเจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ได้ดำเนินการสอบสวนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ได้พิจารณาพยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดีที่ได้ส่งเพิ่มเติมซึ่งเป็นพยานในประเด็นสำคัญ การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อ ๑๒ ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องนี้

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๓๒๖/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตร (ทำหาที่นโยบายและแผน) ตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒๒๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ สั่งให้เพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒๙๓/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๒ จากโทษลงทัณฑ์กักยามมีกำหนด ๓ วันเป็นลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งนำมาใช้แก่กรณีนี้ตามมาตรา ๖๑ และมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑ และหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ นร ๐๖๐๑/๗๗๓ ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๕ และมาตรา ๑๐๙ วรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่าเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ได้รับมอบผู้ต้องหาจำนวน ๔ คนควบคุมตัวไว้แล้วปล่อยตัวไปโดยไม่ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการถูกต้องและเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น และมีมติให้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ โดยเห็นควรยกอุทธรณ์ ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดวินัย มูลเหตุของการลงโทษผู้ฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคดีลักลอบเล่นการพนันคือนายสุวรรณนำส่งผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดีสอบถามถึงของกลางแล้วปรากฏว่าไม่มีผู้จับกุมจึงจัดสร้างของกลางขึ้นมาแล้วนำมามอบให้ ผู้ฟ้องคดีรายงานเหตุดังกล่าวให้ พ.ต.ต.สมพงษ์ สารวัตรสอบสวนทราบ ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ใช้ดุลพินิจโดยอิสระ ผู้ฟ้องคดีพิจารณาเห็นว่าผู้ถูกจับกุมตัวไม่ได้กระทำความผิดจึงได้ปล่อยตัวไป และเมื่อ พ.ต.ท.ธัมมศักดิ์ และ พ.ต.อ เจริญทราบเรื่องและมีความโกรธแค้นผู้ฟ้องคดีมาก่อนในเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายเรื่อง จึงนำเรื่องดังกล่าวมากล่าวหาผู้ฟ้องคดี มีการดำเนินคดีอาญาและดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดีจนเป็นเหตุให้ถูกลงโทษไล่ออกขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒๒๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิและหน้าท่ที่สูญเสียไปกลับคืนมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น