วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑๑)

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๘/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นคนต่างด้าวไร้สัญชาติ เชื้อชาติพม่า ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๙ ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยได้รับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ เลขที่ ๑๔/๒๕๔๙ ออกให้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙ ผู้ฟ้องคดีได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาและเกิดเจ็บป่วยเรื้อรังต้องพักรักษาตัวอยู่เป็นเวลานาน เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๐ จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่า ผู้ฟ้องคดีออกนอกประเทศเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่จึงยึดใบสำคัญถิ่นที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี และออกใบนัดรายงานตัวคนภายในให้ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพมหานครภายในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๐ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดี (ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) เพื่อขอให้คืนใบสำคัญถิ่นที่อยู่แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงตอบกลับมาแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ทั้งในการพิจารณารูปแบบ ผลของคำสั่งทางปกครอง และการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองคือเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบถึงการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองและการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดี ปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนใบสำคัญถิ่นที่อยู่แก่ผู้ฟ้องคดีตามเวลาที่ศาลกำหนด หากไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการยึดใบสำคัญถิ่นที่อยู่เพื่อผู้ฟ้องคดีจะได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวต่อไป

* คำสั่ีงศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๘๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ :

ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ ยศจ่าสิบตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (งานป้องกันปราบปราม) สถานีตำรวจภูธรขุนตาล จังหวัดเชียงราย มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๑ ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมบริเวณตัวเมืองเชียงราย และถูกกล่าวหาว่ามียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (ยาบ้า) ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (ยาบ้า) โดยผิดกฎหมาย ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายได้ฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงรายเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๗๗๖/๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดเชียงราย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งที่ ๖๕๔/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๐๐๓๙ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๖ แจ้งว่านายกรัฐมนตรีพิจารณาอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลจังหวัดเชียงรายยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กลับมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการออกคำสั่งที่ขัดต่อมาตรา ๓๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่บัญญัติให้ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ จึงนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๖๕๔/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ่ายเงินเดือนให้ผู้ฟ้องคดีเดือนละ ๙,๘๓๐ บาท และเงินประจำตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปราบปรามเดือน ละ ๑,๒๐๐ บาท นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นมาจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.๕๓๘/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ อ.๓๗๐/๒๕๕๐ คดีเสร็จเด็ดขาดและถึงที่สุดแล้ว

ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอฉบับลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่าหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีนี้และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐และเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๑ ศาลจังหวัดเชียงรายได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีอาญาซึ่งเป็นคดีที่เป็นมูลเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องถูกไล่ออกจากราชการ โดยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ดังนั้นจึงรับฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำความผิด และผู้ฟ้องคดีก็ได้ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจทบทวนคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและให้รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิมด้วยแล้ว แต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจแจ้งว่ากรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ยุติแล้วไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาได้อีกตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๒๒ จึงมีมติไม่รับพิจารณาคำร้องของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง (๑) เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ไม่สามารถดำเนินการตามคำขอผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเมื่อคดีอาญาตามที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาจนถูกดำเนินการทางวินัยไล่ออกจากราชการสิ้นสุดเด็ดขาดโดยศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์แล้วจึงรับฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาและ ถูกลงโทษทางวินัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงควรที่จะทบทวนและเพิกถอนคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและรับผู้ฟ้อง คดีกลับเข้ารับราชการตามเดิมเพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ถูกลงโทษโดยมิได้กระทำความผิดและเสียโอกาสอันพึงมีพึงได้และต้องถูกจองจำอยู่ในเรือนจำเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๓๖/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ที่ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมากองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่งจังหวัดพิษณุโลกที่ ๒๑๐๗/๒๕๓๐ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๐ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรให้ระงับข้อกล่าวหา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม อ.ก.พ. จังหวัดพิษณุโลก ผลการประชุม อ.ก.พ. จังหวัดพิษณุโลกมีมติให้ระงับทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย และได้รายงานการลงโทษให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เพื่อพิจารณาสั่งการ โดยเห็นควรให้ไล่ออกจากราชการ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ลับ ที่ นร ๐๑๐๘/๘๖๓๑ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๕ แจ้งว่ารองนายกรัฐมนตรีสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๑๕๘/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๖ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๖ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือ ที่ มท ๐๕๔๕.๓/๘๖๗ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๗ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ต่อผู้ฟ้องคดีว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาในการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ ๑/๒๕๓๗ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ แล้วมีมติให้รายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เพื่อพิจารณาสั่งการ โดยเห็นควรยกอุทธรณ์และตอบรับทราบรายงานในกรณีดังกล่าว ต่อมาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ลับ ที่ นร ๐๑๐๘/๑๗๑๘๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๗ แจ้งว่ารองนายกรัฐมนตรีสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจโดยปราศจากพยานหลักฐานทั้งปวง ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสารและพยานวัตถุสนับสนุนอันมีเจตนาใส่ความอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากในชั้นการสอบสวนเหตุที่ผู้ร้องเรียนได้ร้องเรียนผู้ฟ้องคดีเนื่องจากมีผู้ยุยงให้กล่าวหาผู้ฟ้องคดีเพราะมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดีมาก่อน จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๓๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจยศดาบตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก ๑ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีประกาศกองบัญชาการศึกษา เรื่อง รับสมัครและคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เพื่อรับสมัครและคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรในกลุ่มสายป้องกันปราบปรามและกลุ่มสายอำนวยการและสนับสนุนรวม ๕๐๐ อัตรา โดยแยกเป็นกลุ่มข้าราชการตำรวจยศดาบตำรวจหรือจ่าสิบตำรวจผู้ไม่มีวุฒิปริญญาตรี จำนวน ๒๕๐ อัตรา แบ่งเป็นสายป้องกันปราบปราม (ปป. ๑) จำนวน ๒๐๐ อัตรา สายอำนวยการและสนับสนุน (อก. ๒) จำนวน ๕๐ อัตรา และกลุ่มข้าราชการตำรวจผู้มีวุฒิปริญญาตรี จำนวน ๒๕๐ อัตรา แบ่งเป็นสายป้องกันปราบปราม (ปป. ๓) จำนวน ๒๐๐ อัตรา สายอำนวยการและสนับสนุน (อก. ๔) จำนวน ๕๐ อัตรา และกำหนดให้ข้าราชการตำรวจยศดาบตำรวจหรือจ่าสิบตำรวจที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (ทุกสาขา) ต้องสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้เฉพาะในกลุ่มข้าราชการตำรวจสายป้องกันปราบปราม (ปป. ๓) หรือสายอำนวยการและสนับสนุน (อก. ๔) เท่านั้น ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวนยศดาบตำรวจซึ่งมีอายุราชการ ๑๕ ปี และมีวุฒิปริญญาตรีนิติศาสตร์มีความประสงค์จะสมัครสอบคัดเลือกในกลุ่มข้าราชการตำรวจผู้ไม่มีวุฒิปริญญาตรีสายป้องกันปราบปราม (ปป. ๑) หรือสายอำนวยการและสนับสนุน (อก. ๒) แต่ไม่สามารถสมัครสอบได้เนื่องจากมีข้อกำหนดให้สมัครสอบได้เฉพาะในกลุ่มข้าราชการตำรวจผู้มีวุฒิปริญญาตรีดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่เป็นธรรมและรอนสิทธิของผู้ฟ้องคดี ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอนการร้องทุกข์ตามที่กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดไว้ เนื่องจากเกรงว่าจะต้องรอผลการพิจารณาอีกไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีมากขึ้น อีกทั้งประกาศรับสมัครดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลาการรับสมัครไว้เพียง ๑๕ วัน โดยมิได้ประกาศให้ผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๗๐/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่าเมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยโดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ฟ้องคดี ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่ง ที่ ๕๓๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยระบุเหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดโดยหยิบสินค้าแล้วไม่ชำระเงินค่าสินค้าจริง และเคยกระทำผิดในลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง พฤติการณ์การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตนและไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน มิให้เสื่อมเสีย โดยกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๙๘ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงโทษผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม จึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีโดยมีหนังสือสำนักงานคณะ กรรมการข้าราชการตำรวจ ที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๒๒๑๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ยอมรับฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรตำบลนางิ้ว อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๔ ที่ ๙๐๒/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๘ ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ในเรื่องเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๔๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ แล้วเห็นว่าแม้จากการสอบสวนพยานหลักฐานยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะนำมารับฟังลงโทษผู้ฟ้องคดีว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา แต่พฤติการณ์และการ กระทำของผู้ฟ้องคดีตกอยู่ในลักษณะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนซึ่งหากให้รับราชการต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อทางราชการจึงให้ตำรวจภูธรภาค ๔ เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นให้ออกจากราชการ เพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนให้เป็นการถูกต้องเหมาะสม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๔ ที่ ๑๒/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๐ เปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษเป็นให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหาและพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ประกาศใช้แล้ว จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยกระทำความผิดในกรณีที่ถูกกล่าวหาดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๒๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๓

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ...ส่วนหน้าที่จัดการดูแลรักษารถของกลางนั้นโดยที่ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ บทที่ ๙ เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลางข้อ ๔.๑ กำหนดว่า ผู้มีหน้าที่เก็บรักษารถของกลาง สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครได้แก่สารวัตรใหญ่ หรือสารวัตรที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบหน่วยงาน หรือผู้รักษาการในตำแหน่งหรือผู้ปฏิบัติราชการแทน แล้วแต่กรณี และข้อ ๔.๓ กำหนดว่า ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษารถของกลางตามข้อ ๔.๑ เก็บรักษารถของกลางไว้ภายในบริเวณสถานที่ทำการของตนหรือสถานที่อื่นใดตามที่ผู้กำกับการตำรวจนครบาล รองผู้บังคับการ (ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด) จังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด...เขตกำหนด แล้วแต่กรณี โดยการเก็บรักษาให้ใช้ความระมัดระวังตรวจตรารถของกลางให้เป็นอยู่ตามสภาพเดิมเท่าที่จะสามารถรักษาไว้ได้ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่เก็บรักษารถของกลาง แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวและเป็นผู้ใช้อำนาจในการยึดรถของกลางตามมาตรา ๑๓๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่การยึดรถของกลางมิใช่เป็นผลโดยตรงของความเสียหายของรถของกลางในคดีนี้ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เมื่อผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้มีหน้าที่ในการเก็บรักษารถของกลางจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถ ของกลางได้รับความเสียหาย ดังนั้นการกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน...

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๖๘/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการบำนาญได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่กองกำกับ การ ๑ กองบังคับการตำรวจสันติบาล ๑ มีคำสั่งที่ ๒๒/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๒๖๗,๕๑๖ บาท ให้แก่ทางราชการอันเนื่องมาจากในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ งาน ๒ กองกำกับการ ๑ กองตำรวจสันติบาล ๑ สำนักงานตำรวจสันติบาล ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยตำรวจสันติบาลจังหวัดปทุมธานี ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินบริจาคจากบริษัท ฮิดะ อยุธยา(ประเทศไทย) จำกัด จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ จากบริษัทโคชิน (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจากบริษัท โคชินอิเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยนายโยเนโซะ ซากากูชิ ได้มอบให้ผู้ฟ้องคดีนำเงินบริจาคไปชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในนามบริษัท โคชิน (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน ๓๒,๔๘๔ บาทคงเหลือเงินบริจาคให้กับทางราชการเพื่อนำไปปรับปรุงสถานที่ทำงานของหน่วยตำรวจสันติบาลจังหวัดปทุมธานีและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สำนักงานจำนวน ๒๖๗,๕๑๖ บาทซึ่งในการรับบริจาคและรับเงินคงเหลือดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีมิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบเพื่อดำเนินการตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการเงินและบัญชี บทที่ ๒๓ การรับมอบ การจ่ายเงิน และตอบขอบใจหรืออนุโมทนาการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ได้มีหนังสือแจ้งตอบรับการบริจาคเงินและตอบขอบคุณบริษัททั้งสามแห่งไปโดยไม่มีอำนาจ และเบียดบังเงินบริจาคไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงมีหนังสือลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ อุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อมากองกำกับการ ๑ กองบังคับการตำรวจสันติบาล ๑ มีหนังสือ ที่ ๐๐๒๘.๒๑/๗๒ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ แจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าสินไหมทดแทนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวมิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฟ้องคดีต่อไป และมีหนังสือ ที่ ๐๐๒๘.๒๑/๗๗ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐ แจ้งผลการพิจารณายกอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๕๖/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๒

เีรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถูกนายทน เครือจันต๊ะ มีหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้นายทนช่วยตัดไม้สักจำนวน ๑๐๕ ท่อน ยาวท่อนละ ๘๐ เซนติเมตร นายทนเกรงกลัวผู้ฟ้องคดีจึงได้หาคนงานตัดไม้สักให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ต่อมานายทนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง จับกุมพร้อมไม้สักของกลางดังกล่าวจำนวน ๗ ท่อน เพื่อดำเนินในคดีอาญา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปางจึงได้มีคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง ที่ ๔๔๘/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๐ แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เมื่อสอบสวนแล้วเสร็จผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปางเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ อันเป็นความผิดวินัยจากนั้นได้รายงานผลการสอบสวนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๕ ที่ ๕๘/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการเพื่อทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดี และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๕ ที่ ๒๐๘/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและในเวลาต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๙๑๘/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ถอดยศของผู้ฟ้องคดีด้วย ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่าการที่นายทนได้ทำหนังสือร้องเรียนผู้ฟ้องคดีเนื่องจากนายทนมีสาเหตุโกรธแค้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี เพราะผู้ฟ้องคดีเป็นผู้แนะนำให้นายบุญศรี ไทยใหม่ ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ให้จับกุมผู้ลักลอบตัดไม้สักในที่ดินของนายบุญศรี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมนายทนพร้อมยึดไม้สักท่อนของกลาง จำนวน ๗ ท่อน ไปดำเนินคดีอาญาจนศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาให้จำคุกนายทน นอกจากนี้ เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้ฟ้องคดี นายทนยังกลับคำให้การที่เคยให้ไว้เกี่ยวกับวันที่ถูกจับกุมต่อคณะกรรมการดังกล่าวจากเดิมวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๐ เป็นวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๐ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาจะกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี ทั้ง ๆ ที่ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนายทนให้การรับสารภาพว่าไม้สักท่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและยึดไว้เป็นของกลางเป็นของตนเองโดยซื้อมาจากชาวบ้านท่ามะเกว๋น ในราคา ๑,๐๐๐ บาท เพื่อนำไปซ่อมแซมต่อเติมบ้านโดยมิได้ซัดทอดหรือกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ใช้ให้ตัดไม้แต่อย่างใด ส่วนพยานของนายทนคือนายทวีและนางอ้วนผู้ฟ้องคดีก็ไม่รู้จัก โดยผู้ฟ้องคดีจะรู้จักก็เฉพาะแต่นายทนกับ ร.ต.ท. วรพลซึ่งเป็นหลานของนายทนเท่านั้น สำหรับไม้สักท่อนจำนวน ๗ ท่อน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไว้ได้ที่บริเวณลำห้วยแม่ปะ บ้านหัวทุ่ง ก็มีลักษณะแตกต่างกันกล่าวคือตามหนังสือร้องเรียนนายทนได้อ้างว่าผู้ฟ้องคดีขอให้นายทนตัดไม้สักจำนวน ๑๐๕ ท่อน ความยาวท่อนละ ๘๐ เซนติเมตร แต่ไม้สักที่ถูกจับและยึดไว้เป็นของกลางเป็นไม้สักท่อนยังมิได้มีการแปรรูป มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘ นิ้ว ยาว ๑.๕๐ เมตร จำนวน ๒ ท่อน ยาว ๓.๐๐ เมตร จำนวน ๕ ท่อน โดยขณะที่มีการสอบสวนในเรื่องนี้ก็ไม่ปรากฏว่าไม้สักท่อนของกลางอยู่กับผู้ฟ้องคดี ดังนั้นการที่คณะกรรมการสอบสวนหยิบยกถ้อยคำของนางอ้วนที่อ้างว่าผู้ฟ้องคดีฝากเงินจำนวน ๔๐๐ บาท ไปให้นายทนเพื่อเป็นค่าตัดไม้สักท่อนแล้วสรุปว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการดังกล่าวก็มิได้สอบพยานที่เป็นคนงานตัดไม้สักของนายทน ตลอดจนคำให้การของนางอ้วนข้างต้นก็ขัดแย้งกับกรณีที่กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีขอให้นายทนตัดไม้สักโดยไม่ได้รับค่าจ้างด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่อาจรับฟังได้ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๖๖/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน รุ่นบิ๊กเอ็ม คันหมายเลขทะเบียน ลอ ๑๑๒๐ กรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีได้รับหมายเรียกจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าได้มีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ลอ ๑๑๒๐ กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนแล้วหลบหนีจึงให้ผู้ฟ้องคดีไปพบพนักงานสอบสวนพร้อมทั้งนำรถยนต์คันดังกล่าวไปด้วย เมื่อผู้ฟ้องคดีไปพบผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมทั้งนำรถยนต์ไปให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบตามหมายเรียกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งแก่ผู้ฟ้องคดีว่ารถยนต์ของผู้ฟ้องคดีได้เฉี่ยวชนผู้อื่นแล้วหลบหนี โดยมิได้ทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ฟ้องคดีแจ้งชื่อผู้ขับขี่รถในวันเกิดเหตุซึ่งผู้ฟ้องคดีได้แจ้งว่าในวันเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีทำงานอยู่ที่จังหวัดน่านโดยรถยนต์จอดอยู่ที่บ้านพักของผู้ฟ้องคดี ไม่มีผู้ใดนำรถยนต์ไปใช้ในวันดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ให้ผู้ฟ้องคดีมอบกุญแจรถยนต์และจอดรถยนต์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งในขณะนั้นรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีมีสภาพดีไม่มีร่องรอยความเสียหายแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้บันทึกการยึดรถยนต์ให้ผู้ฟ้องคดีไว้เป็นหลักฐาน ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำหลักฐานหรือบันทึกประจำวันการยึดรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีไว้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ดำเนินการใดๆ ให้ หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้ไปติดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขอรับรถยนต์คืนและสอบถามความคืบหน้าของคดีหลายครั้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีจนระยะเวลาล่วงเลยมานานเกือบ ๑๐ เดือน เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ไปตรวจดูสภาพรถยนต์ที่สถานีตำรวจนครบาลหัวหมากพบว่ารถยนต์ถูกจอดทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแลรักษา ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก กล่าวคือ ไฟใหญ่หน้าซ้าย – ขวาแตก ไฟเลี้ยวในกันชนหน้าซ้ายแตก ตัวถังรถด้านขวาบุบและมีรอยครูด ฝากระโปรงรถด้านหน้ามีรอยขีดข่วน ก้านปัดน้ำฝนและใบปัดน้ำฝนซ้าย-ขวาสูญหาย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยึดรถไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องคืนรถยนต์ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และโดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เคยดูแลหรือรักษาทรัพย์ของกลาง ทำให้รถยนต์ของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินค่าซ่อมรถยนต์จำนวน ๑๐,๓๕๐ บาท และเนื่องจากผู้ฟ้องคดีต้องใช้รถยนต์ในวันหยุดราชการเพื่อขับกลับบ้านที่ จังหวัดสุพรรณบุรีและพาญาติไปพบแพทย์ทุกสัปดาห์ เมื่อรถยนต์ถูกยึดไว้ผู้ฟ้องคดีจึงต้องเดินทางโดยเหมารถโดยสารประจำทางเสีย ค่าใช้จ่ายสัปดาห์ละประมาณ ๒,๐๐๐ บาท รถยนต์ถูกยึดจอดทิ้งไว้เป็นเวลา ๘ เดือน (๓๒ สัปดาห์) จึงเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน ๖๔,๐๐๐ บาท และในวันธรรมดาภรรยาของผู้ฟ้องคดีจะขับรถยนต์ไปซื้ออุปกรณ์ซักรีดแถวสะพานควายสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง แต่เมื่อไม่มีรถยนต์ใช้ทำให้ต้องเดินทางด้วยรถแท็กซี่เสียค่าเดินทางสัปดาห์ ละ ๕๐๐ บาท คิดเป็นเงินจำนวน ๑๖,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น ๙๐,๓๕๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่ง

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๕๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรกิ่ง อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยมูลกรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เวลา ๒๐.๓๐ นาฬิกา ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีกลับจากการออกตรวจพื้นที่ตามหน้าที่แล้วได้ประสบเหตุมีการทะเลาะวิวาทระหว่างร้อยตำรวจตรีนิเทศกับสิบตำรวจเอกสำเริงบนสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอเขาฉกรรจ์ ถึงกับมีการกอดรัดฟัดเหวี่ยงจนล้มลงกับพื้นโดยทั้งสองคนมีอาวุธปืนติดตัวอยู่ด้วย ซึ่งในเวลานั้นมีผู้อยู่ในเหตุการณ์ ๕ คน คือผู้ฟ้องคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองนายที่ทะเลาะวิวาทกัน พลตำรวจสมัครประจักษ์และพลตำรวจสมัครแอ๊ด ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองนายกอดปล้ำกันอยู่นั้นพลตำรวจสมัครประจักษ์และพลตำรวจสมัครแอ๊ดได้เดินลงไปจากสถานีตำรวจ ผู้ฟ้องคดีเกรงว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นจึงยึดอาวุธปืนขนาด .๓๕๗ จากสิบตำรวจเอกสำเริง และอาวุธปืนขนาด ๑๑ มิลลิเมตรจากร้อยตำรวจตรีนิเทศแล้วทำการตรวจสอบอาวุธปืนทั้ง ๒ กระบอก เป็นเหตุให้ปืนลั่นขึ้น คู่กรณีทั้งสองตกใจจึงแยกออกจากกันแล้วเดินออกไปจากสถานีตำรวจ จากนั้นผู้ฟ้องคดีได้นำอาวุธปืนมอบให้พันตำรวจโทอุดมผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอผลการสอบสวน เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการและลงทัณฑ์กักขังผู้ฟ้องคดีมีกำหนด ๓๐ วัน โดยมีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ปืนลั่นแต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับมีคำสั่งตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๒ ที่ ๓๘๒/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับอุทธรณ์และร้องทุกข์ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบอาวุธปืนในขณะนั้นเพราะคู่กรณีทั้งสองได้เดินลงไปด้านล่างของสถานีตำรวจแล้ว แต่ควรนำอาวุธปืนไปมอบให้ผู้บังคับบัญชาเก็บไว้ ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงแล้วว่าในขณะเกิดเหตุคู่กรณีทั้งสองคนยังอยู่บนสถานีตำรวจและกอดปล้ำกันอยู่และผู้บังคับบัญชาไม่ได้อยู่บนสถานีตำรวจ เมื่ออาวุธปืนลั่นขึ้นคู่กรณีทั้งสองตกใจแยกออกจากกัน แล้วเดินไปด้านล่างของสถานีตำรวจ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น