เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการหรืองดเว้นกระทำการโดยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๕ ถึงประธานศาลปกครองสูงสุดเรื่องขอความช่วยเหลือและขอความเป็นธรรมและขอให้ช่วยอนุเคราะห์ดำเนินการวินิจฉัยกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาดำเนินการตรวจสอบยศตำแหน่งและวุฒิการศึกษาให้และเข้าใจว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่สามารถรับเรื่องไว้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ผร ๒๔/๒๒๓ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ แต่เนื่องจากข้อความในหนังสือของผู้ฟ้องคดีไม่ชัดเจนว่าประสงค์จะให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างไร สำนักงานศาลปกครองสูงสุดจึงได้มีหนังสือที่ ศป ๐๐๐๘/๑๘ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๕ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบและสอบถามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีอีกครั้งหนึ่ง และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกจึงจัดส่งแบบคำฟ้อง (ค ๑) ไปพร้อมกับหนังสือฉบับดังกล่าวด้วย
ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนปรากฏวันที่ส่งคำฟ้องแก่เจ้าพนักงานไปรษณีย์เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๕ สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการจับกุมของผู้ถูกฟ้องคดีเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าวิกลจริต และผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังสภาทนายความและหน่วยงานทางปกครองหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม จึงได้ขอให้ศาลปกครองสูงสุดดำเนินการกับปัญหาเรื่องนี้ให้ยุติด้วยความเป็นธรรมที่เป็นรูปธรรมด้วย
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๓๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงทรัพย์ คดีเลขที่ ๑๒๓/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๕ ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีผู้ถูกฟ้องคดีในขณะนั้นเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของเรื่อง ต่อมาวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ นางรัตนาภรณ์ผู้เสียหายได้มาขอถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากได้รับการชดใช้เงินแล้ว ดังนั้นเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือไปถึงผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีเลขที่ ๑๒๓/๒๕๓๕ ว่าได้มอบสำนวนคดีดังกล่าวให้กับพนักงานสอบสวนผู้ใดเป็นรับผิดชอบตั้งแต่เมื่อใดและประสงค์จะให้ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งความดำเนินคดีกับนางรัตนาภรณ์ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน หากไม่อาจแจ้งความได้ก็ให้ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งเหตุผลให้ผู้ฟ้องคดีทราบด้วย ผลปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงและแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อไปด้วย
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะดำเนินคดีกับนางรัตนาภรณ์ที่มาแจ้งความกล่าวหาผู้ฟ้องคดีฐานฉ้อโกงทรัพย์ ภายหลังได้ขอถอนคำร้องทุกข์ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ผู้ฟ้องคดีจะให้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรับแจ้งความเรื่องดังกล่าวเป็นผู้ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ส่วนผู้ฟ้องคดีจะเป็นพยานให้ จึงเห็นว่าตามคำฟ้องนี้ผู้ฟ้องคดีไม่มีข้อพิพาทกับผู้ถูกฟ้องคดี แต่ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี เพราะผู้ฟ้องคดีไม่มีข้อพิพาทกับผู้ถูกฟ้องคดี สำหรับความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีอันเกิดจากการกระทำของนางรัตนาภรณ์นั้นหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายก็ชอบที่จะไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุได้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องทางไปรษณีย์เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นสรุปว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการมอบหมายงานที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับคดีนี้โดยผู้ฟ้องคดีต้องตกเป็นผู้ต้องหานานถึง ๘ ปีเศษ
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๔๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๒ เวลาประมาณ ๑๙.๓๐ นาฬิกา นางวิมลได้บุกรุกเข้าไปในบ้านและใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บสาหัสเหตุเกิดที่ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ต่อมาวันรุ่งขึ้นมารดาของผู้ฟ้องคดีได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่รับแจ้งความ และต่อมามารดากับน้องสาวของผู้ฟ้องคดีได้ไปแจ้งความกับผู้ถูกฟ้องคดีอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่พบผู้ถูกฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ถูกฟ้องคดี จึงได้จ้างทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางวิมล เป็นจำเลยในความผิดฐานบุกรุกและพยายามฆ่า ตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๔๘/๒๕๔๒ ของศาลจังหวัดลพบุรี ต่อมาวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีได้เรียกให้ผู้ฟ้องคดีกับนางสมหมายซึ่งเป็นน้องสาวไปพบและแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายนางวิมลและผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำแผนที่วิวาทภายหลังเกิดเหตุอันเป็นเท็จเพื่อดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีและน้องสาว ทั้งยังเบิกความเท็จต่อศาลเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดีและน้องสาว โดยที่ความจริงผู้กระทำความผิดคือนางวิมล ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยไม่ชอบ ทุจริตต่อหน้าที่ มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าช่วยเหลือผู้กระทำความผิด เนื่องจากนางวิมลมีญาติเป็นเจ้าพนักงานตำรวจถึง ๓ นาย ขอให้ศาลปกครองสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและลงโทษผู้ถูกฟ้องคดี
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๘๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๕
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ กรณีกระทำผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งที่ ๑๖๖/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ นั้นไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาและตรวจสำนวนทางวินัยเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ก็ไม่ได้รับอนุญาต ให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๑๖๖/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เรื่องลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการและบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายผู้ฟ้องคดีเข้าดำรงตำแหน่งเดิม พร้อมทั้งสิทธิอันพึงได้จากทางราชการตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๙ เป็นต้นไป ขอให้ศาลลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ และ ที่ ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มาตรา ๒๐๐ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน ๖,๔๖๙,๓๐๓.๗๕ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๙๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๕
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินคดีอาญาผู้ฟ้องคดีข้อหาบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืน ต่อมาวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ได้ตกลงยอมความกันและถอนหลักประกันเงินสด ๓๐,๐๐๐ บาท ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีราชา ผู้ฟ้องคดีเข้าใจว่าคดีสิ้นสุดแล้ว แต่ต่อมาปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหมายจับผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาฐานบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหมายจับของผู้ถูกฟ้องคดี
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๙ ประกอบกับมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทอันเกิดจากการกระทำหรือละเว้นไม่กระทำอันเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองหรือในการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกหมายจับผู้ฟ้องคดีโดยมิชอบอันเป็นเรื่องของการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญากรณีจึงมิใช่เรื่องของการฟ้องร้องการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้อำนาจในทางปกครองหรือในการดำเนินกิจการทางปกครอง ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ยกคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้ความชัดเจนว่าคดีอาญาที่ผู้ฟ้องคดีต้องหาเป็นความผิดฐานใด และเป็นความผิดอันยอมความได้หรือไม่ แล้วจึงมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไปตามความในข้อ ๑๑๒ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๔๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ฟ้องคดีหลายประการ กล่าวคือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กับพวกอีกหลายคนได้กระทำการหมิ่นประมาท ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ฟ้องคดี รวมทั้งได้จับผู้ฟ้องคดีสึกจากสมณเพศโดยมิได้ให้ผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์สอบสวนตามพระวินัยก่อน เมื่อผู้ฟ้องคดีแจ้งความกล่าวโทษผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการสอบสวนอย่างรวบรัดโดยไม่เป็นธรรม และพูดจาข่มขู่ไม่สุภาพต่อผู้ฟ้องคดี ต่อมาเมื่อผู้ฟ้องคดีร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ก็มิได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อสำนวนการสอบสวนคดีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้สั่งให้ยุติการสอบสวนทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่เป็นการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษทางวินัยและทางอาญากับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งบัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดนั้นมีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการในการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หาได้ให้อำนาจศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอันเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมส่วนอาญาด้วยไม่ แต่โดยที่เหตุแห่งการฟ้องคดีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างในคำฟ้องเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่กระทำผิดทางอาญาต่อผู้ฟ้องคดีหรือดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีอาญาโดยมิชอบ กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังกล่าวข้างต้น ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาโดยเห็นว่าฟ้องคดีไม่มีเจตนาที่จะฟ้องคดีอาญา แต่ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์จะขอฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดรับคำร้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น