วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑) (๑๔ กันยายน ๒๕๕๔)


ผมใ้ช้เวลาว่างรวบรวมพิพากษาและคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจากเว็บไซต์ของศาลปกครองเพื่อให้พี่น้องตำรวจและประชาชนทั่้วไปศึกษาค้นคว้าและนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่รวมถึงตรวจสอบการปฏิบัติไปด้วยในตัว

เนื่องจากคำพิพากษาและคำสั่งเหล่านั้นแม้จะคัดมาเฉพาะในส่วนที่กล่าวข้างต้นก็ตามมีเป็นจำนวนมากจึงขออนุญาตทยอยคัดลอกมาวันละเล็กละน้อยเท่าที่เวลาจะอำนวย โดยผมได้นำข้อมูลย่อๆ ของเรื่องนั้นๆ สรุปไว้ด้วย สำหรับรายละเอียดกรุณาคลิกที่หัวข้อคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งเป็นตัวอักษรสีแดง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่รวบรวมนี้คงจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องอยู่บ้างตามสมควร
ลิงก์
* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๔๓/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๕ ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีนายเลิส สิริมงคล บิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และนางอินกริด ชัค มารดาเป็นผู้มีสัญชาติเยอรมนี บิดาและมารดาของผู้ฟ้องคดีได้อยู่กินฉันสามีภริยาจนมีบุตรคือผู้ฟ้องคดี มารดาของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งในสูติบัตรว่านายเลิสเป็นบิดาของผู้ฟ้องคดีตามหลักฐานสูติบัตรออกให้โดยเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก ฟูลส์บึทเทล ปัจจุบันคือที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก–นอร์ท เลขที่ ๑๖๙๒/๑๙๖๒ ในระหว่างที่มารดาของผู้ฟ้องคดีตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดผู้ฟ้องคดี บิดาของผู้ฟ้องคดีอยู่ที่ประเทศไทยได้ติดต่อกับมารดาของผู้ฟ้องคดีทางจดหมายโดยตลอด ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีเกิดได้ ๑๐ วัน บิดาของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก–ฟูลส์บึทเทลยอมรับว่าผู้ฟ้องคดีเกิดจากนางอินกริดและเป็นบุตรของตน ปรากฏตามหลักฐานการยอมรับเป็นบิดา ออกให้โดยเจ้าพนักงานของที่ว่าการอำเภอฮัมบวร์ก–ฟูลส์บึทเทล หลักเกณฑ์การรับรองบุตรตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะต้องมีการแจ้งรับรองบุตรภายในกำหนดสองสัปดาห์นับจากวันที่เด็กเกิด การรับรองบุตรของบิดาผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการทางทะเบียนและภายในเงื่อนเวลาที่กฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกำหนดไว้ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและกฎหมายไทย ดังที่บัญญัติมาตรา ๑๕๔๗ และมาตรา ๑๕๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมา บิดาของผู้ฟ้องคดีได้เสียชีวิตที่ประเทศไทยและทางราชการของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้เคยมีหนังสือขอใบมรณบัตรของบิดาเพื่อนำไปใช้ประกอบการขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรของมารดาของผู้ฟ้องคดีแต่เพียงผู้เดียว ปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อผู้ถูกฟ้องคดี โดยได้ส่งสำเนาสูติบัตรหลักฐานการยอมรับการเป็นบิดา และสำเนาใบมรณบัตรของบิดามาเป็นหลักฐาน พร้อมกับได้ให้ปากคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี หลักฐานดังกล่าวเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยเกิดจากบิดาผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ฟ้องคดีเกิด แต่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๒๒.๐๑/๙๑๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งฉบับลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ยกคำขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานและพยานบุคคลรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสัญชาติไทย และในการพิจารณาคำขอพิสูจน์สัญชาติจะต้องมีการตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA) ทุกราย ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถตรวจสอบสารพันธุกรรมได้เนื่องจากบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ส่วนญาติพี่น้องไม่สามารถติดต่อหรือนำตัวญาติมาให้ถ้อยคำและตรวจสอบสารพันธุกรรมได้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อพยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดี ขัดต่อพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ การได้สัญชาติไทยของบุคคลตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นการได้สัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตที่มีหลักเกณฑ์สำคัญคือบิดาจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหากครบหลักเกณฑ์แล้วบุคคลนั้นย่อมได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ส่วนระเบียบหรือวิธีปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางที่ใช้ปฏิบัติภายในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ แต่อย่างใด โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การตรวจสารพันธุกรรมน่าจะใช้ได้ในบางกรณี เช่น บิดาเป็นบุคคลไม่ปรากฏหลักฐานการมีสัญชาติไทย แต่ได้รับสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ อาทิ กรณีคนญวนอพยพที่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับสัญชาติของบิดาหรือมารดา สำหรับกรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบิดาผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสัญชาติไทยและผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ผู้ฟ้องคดีย่อมจะต้องได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. ๒๔๙๕ ผู้ฟ้องคดีจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๑๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับการได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ที่ไม่เสนอชื่อผู้ฟ้องคดีต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) เพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ทำให้ไม่มีชื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๑๔/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ลิงก์ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เกี่ยวข้องและพนักงานสอบสวนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับชำระหนี้จึงร้องขอความเป็นธรรมไปยังผู้จัดการธนาคาร ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๑๔/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๑
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ก่อนเกิดเหตุจ่าสิบตำรวจ...มีอาการป่วยทางจิตและประสาทต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายครั้ง ซึ่งเพื่อนร่วมงานต่างรู้กันว่าจ่าสิบตำรวจ...มีอาการป่วยดังกล่าว การที่จ่าสิบตำรวจ...เป็นข้าราชการตำรวจอยู่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดี (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมต้องมีหน้าที่ตรวจสอบสุขภาพของผู้ใต้บังคับบัญชา หากพบความผิดปกติจะต้องสั่งให้ผู้นั้นหยุดพักราชการเพื่อเข้ารับการรักษาให้เป็นปกติก่อนปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ใส่ใจเป็นเหตุทำให้จ่าสิบตำรวจ...ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงสามีของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และบิดาของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เสียชีวิต ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๘๘/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รับโอนรถยนต์ผู้เช่าซื้อต่อมารถยนต์คันดังกล่าวได้ชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่น ผู้ฟ้องคดีได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับคู่กรณีเป็นที่พอใจแล้วแต่พนักงานสอบสวนได้เรียกให้ผู้ฟ้องคดีนำเอกสารต้นฉบับสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว หนังสือมอบอำนาจที่ให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดำเนินการรับโอนและโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวและแบบคำขอโอนและรับโอนรถยนต์ไปมอบให้ ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่บริษัทโดยไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถยนต์ต้องการเอกสารดังกล่าวคืนเพื่อไปใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่งจึงได้มีหนังสือขอต้นฉบับเอกสารคืนจากพนักงานสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนไม่คืนให้จึงนำคดีมาฟ้องศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนรถยนต์ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติ สีรถสะอาดเหมือนเดิมไม่มีสนิมเกาะและคืนเอกสารต้นฉบับให้ผู้ฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๗๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและของสามีผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงสรุปได้ว่าเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีไว้ชั่วคราวและเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อาศัยอำนาจตามความในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของสามีผู้ฟ้องคดีไว้ชั่วคราว และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อาศัยอำนาจตามความในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและของสามีผู้ฟ้องคดีไว้ชั่วคราว ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน ยักย้าย หรือซุกซ่อนทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีการดูแลรักษาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ และก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลผู้ฟ้องคดีได้เคยยื่นหนังสือร้องขอรับคืนทรัพย์สินต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามแล้วแต่ไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากผู้ถูกฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๗๒/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : มีลักษณะเช่นเดียวกันกับคำสั่งที่ ๔๗๓/๒๕๕๑

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๓๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีเริ่มรับราชการตำรวจเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ และออกจากราชการตำรวจเนื่องจากเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ มีเวลาราชการซึ่งรวมเวลาราชการทวีคูณจำนวน ๔๑ ปี ๔ เดือน ๘ วัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ สั่งจ่ายบำนาญให้ผู้ฟ้องคดีเดือนละ ๑๕,๕๘๘.๒๐ บาท โดยนับเวลาราชการให้ผู้ฟ้องคดีเพียง ๔๑ ปี ส่วนเศษของปีคือ ๔ เดือน ๘ วัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ตัดออกไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนโดยได้บำนาญเพิ่มเดือนละ ๘๒๘.๒๐ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามจ่ายบำนาญเพิ่มโดยระบุว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๒๐,๐๒๐ บาท เวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญปกติ ๔๑ ปี ๔ เดือน ๘ วัน นับให้ ๔๑ ปี จำนวนเงินบำนาญสั่งจ่ายตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นไป และบำนาญเพิ่มเดือนละ ๘๒๘.๒๐ บาท รวมเป็นบำนาญเดือนละ ๑๖,๔๑๖.๔๐ บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คำนวณบำนาญตามความเป็นจริงโดยไม่ตัดเศษของปีคือ ๔ เดือน ๘ วันออกไป ผู้ฟ้องคดีจะได้รับบำ นาญเดือนละ ๑๖,๙๙๐.๙๗ บาท วิธีการคำนวณบำนาญของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายและเสียสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายไปจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๒๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ ๒) ได้ถูกร้องเรียน สถานีตำรวจที่สังกัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีคำสั่งลงโทษกักยามผู้ฟ้องคดีมีกำหนด ๓ วัน ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ และถูกลงโทษกักยามตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๙ เวลา ๑๕.๐๕ นาฬิกาถึงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๙ เวลา ๑๖.๑๐ นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงโทษกักยามผู้ฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่มีการแจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียนให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และมิได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และผู้ฟ้องคดีถูกกักยามเป็นเวลา ๔ วัน ซึ่งเกินกว่าคำสั่งที่ผู้ฟ้องคดีถูกลงโทษ ภายหลังจากพ้นโทษแล้วผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผลจากคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ลงโทษกักยามผู้ฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ไม่ได้รับการเลื่อนยศ เสียโอกาสในการขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่ได้รับการพิจารณาย้ายกลับภูมิลำเนาและเสียหายต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๓๐๑/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลถูกกล่าวหาว่าได้พิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหามียาเสพติดในแบบพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาปะปนกับลายนิ้วมือของผู้ต้องหาคนอื่นเพื่อช่วยเหลือให้ได้รับโทษน้อยลงโดยพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ได้รับโทษน้อยลง ซึ่งในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีอาญาดังกล่าวผู้บังคับบัญชาได้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีจากปลดออกจากราชการเป็นไล่ออกจากราชการและมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถอดยศผู้ฟ้องคดี ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว ทำให้คำสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีตกเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเพื่อขอกลับเข้ารับราชการซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพื่อให้แจ้งผู้ฟ้องคดีว่ากรณีของผู้ฟ้องคดีอยู่ในหลักการให้ระงับการบรรจุกลับเข้ารับราชการตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้กำหนดไว้ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าไม่อาจแก้ไขคำสั่งและสั่งบรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการได้เนื่องจากผู้ฟ้องคดีถูกไล่ออกจากราชการตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และการจะบรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการได้จะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงได้มีบันทึกส่งเรื่องขอกลับเข้ารับราชการตำรวจและเรื่องอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการของผู้ฟ้องคดีไปให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจพิจารณา ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทราบว่า กรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ลงโทษปลดออกจากราชการ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้พิจารณามีมติให้เพิ่มโทษเป็นลงโทษไล่ออกจากราชการและรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจจึงถือได้ว่าการพิจารณาอุทธรณ์ได้ถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคนละกรณีกับที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กรณีสั่งไม่รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองที่ ๔๑๘/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหาฆ่าผู้อื่นและได้มีการดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีจนคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากษาจำคุกผู้ฟ้องคดีตลอดชีวิต ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับพระราชทานอภัยโทษปัจจุบันเหลือโทษจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในคดีดังกล่าวข้างต้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าได้มีหนังสือขออายัดตัวผู้ฟ้องคดีต่อผู้บัญชาการเรือนจำดังกล่าวในคดีอื่น โดยคดีของสถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งเป็นคดีเดียวกันกับคดีของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี ๒ ปี และผู้ฟ้องคดีได้รับโทษและพ้นโทษแล้ว คดีของสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางศาลพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี ๖ ปี และผู้ฟ้องคดีได้รับโทษและพ้นโทษแล้วเช่นกัน คดีของสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาศาลพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี ๒๐ ปี และผู้ฟ้องคดีได้รับพระราชทานอภัยโทษ ๔ ครั้งปัจจุบันเหลือโทษจำคุก ๓ ปี ๘ เดือน ส่วนคดีของสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีศาลพิพากษาลงโทษถึงที่สุดจำคุกผู้ฟ้องคดี ๑๘ ปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือผ่านเรือนจำกลางบางขวางขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าดำเนินการถอนหนังสือขออายัดตัวผู้ฟ้องคดีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ามิได้ชี้แจงหรือแจ้งถอนอายัดตัวผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีได้ขอย้ายมารับโทษต่อที่เรือนจำกลางนครราชสีมาและได้ขอให้ทางเรือนจำมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเพื่อขอทราบอายัดค้างรายผู้ฟ้องคดี ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มิได้มีหนังสือแจ้งถอนอายัดตัวผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด มีเพียงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เท่านั้นที่ได้แจ้งถอนการอายัดตัวผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงขอถอนฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ นั้นผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้ละเลยต่อหน้าที่ในการแจ้งถอนอายัดตัวผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิที่พึงมีพึงได้จากเรือนจำและบั่นทอนสุขภาพจิตของผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดำเนินการแจ้งถอนอายัดตัวผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น