วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๑๕)


เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (ส.) สถานีตำรวจภูธรอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๙ มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๙ ที่ ๑๖๖/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๒ แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีให้ไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (ส.) สถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี เนื่องจากมีผู้กลั่นแกล้งร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาชั้นสูงเพื่อให้ย้ายผู้ฟ้องคดีออกไปรับราชการนอกพื้นที่จังหวัดสงขลา ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงหลงเชื่อจึงมีคำสั่งย้ายผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นแล้ว แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมผู้ฟ้องคดีจึงร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เพื่อเพิกถอนคำสั่งตำรวจภูธรภาค ๙ ที่ ๑๖๖/๒๕๔๒ ดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาแล้วมีข้อวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีได้รับ ทราบคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๒ แต่ได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๓ อันเป็นระยะเวลาเกินกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รู้เหตุแห่งการร้องทุกข์ตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงขาดอายุความร้องทุกข์ซึ่งมาตรา ๒๐ (๗) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์รับไว้พิจารณา คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จึงมีมติไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณาและได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว ต่อมาผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ ถึงคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ชี้แจงสาเหตุที่ไม่ได้ยื่นคำร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาร้องทุกข์ว่าเมื่อเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายเรื่องประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนเวลาผ่านไปหลายเดือนแต่ไม่ได้รับคำตอบ อันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการร้องทุกข์ของราชการตำรวจแล้วตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงน่าจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีขอให้พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีใหม่ ซึ่งเมื่อศาลปกครองกลางเปิดทำการแล้วเรื่องนี้ได้โอนมาให้ศาลปกครองกลางพิจารณาตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

*
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในกรณีที่เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ ๘๖๐/๒๕๒๙ คดีหมายเลขแดงที่ ๘๘๘/๒๕๒๙ ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวนำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินไปขายทอดตลาด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนด ทำให้ได้รับความเสียหายเนื่องจากขายทรัพย์ที่ยึดในราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายตามท้องตลาด ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และได้รับหนังสือแจ้งยุติการสอบสวนเนื่องจากเห็นว่าศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการขายทอดตลาดชอบแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการขายทอดตลาด และลงโทษทางวินัย และได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งต่อมาได้รับหนังสือแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไม่รับพิจารณาจากการที่ถูกผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ดำเนินการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องในการขายทอดตลาดดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากถูกฟ้องขับไล่และกลายเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ดำเนินการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๒๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๔


เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้พานายทองซึ่งประกอบอาชีพธุรกิจแพขนานยนต์ไปร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่ศาลากลางจังหวัดชัยนาทและผู้สื่อข่าวมติชนประจำจังหวัดชัยนาทเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ เรื่องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำร้ายร่างกายนายวิรัตน์ซึ่งเป็นพนักงานควบคุมเครื่องยนต์ลูกจ้างของนายทอง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชัยนาทกล่าวหาผู้ฟ้องคดีว่าหมิ่นประมาท และเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีได้ถูกจับกุมตัวดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทตามหมายจับทั้ง ๆ ที่เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ (ในหมายจับระบุวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นวันเกิดเหตุ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชัยนาทปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองน่าจะมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้นายวิรัตน์ยังแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่านายทองและนางสมหมายได้รับเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อให้ถอนเรื่องที่ร้องเรียนดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ น่าจะมีความผิดทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหายและรับสินบน ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา


* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๒๕/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้เข้าจับกุมผู้ฟ้องคดีโดยไม่แสดงตนในขณะปฏิบัติหน้าที่และไม่นำผู้ฟ้องคดี มอบให้พนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุหรือส่วนกลางเพื่อทำการสอบสวน แต่ได้นำผู้ฟ้องคดีไปควบคุมกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ภายในห้องพักโรงแรมเป็น เวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ระหว่างนั้นได้กระทำทารุณโหดร้ายแก่ผู้ฟ้องคดี โดยทุบตีชกต่อย ใช้ผ้าปิดตา ใช้ไฟช๊อต เพื่อบังคับขู่เข็ญให้ผู้ฟ้องคดีรับสารภาพในข้อหาฆ่าคนตายเพื่อชิงทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ รับรองไว้ นอกจากนั้นยังได้กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายเพื่อชิงทรัพย์ซึ่งไม่เป็นความจริงการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายและถูกคุมขังระหว่างการ ดำเนินคดีอาญาที่ศาลจังหวัดนครปฐมในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙๗/๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙๗/๒๕๔๓ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดนครปฐม

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๓/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ กรณีมีพฤติกรรมชอบรังแก่ข่มเหงผู้ฟ้องคดีและประชาชน มีนิสัยโมโหร้าย เป็นหนี้ผู้ฟ้องคดี เมื่อถูกทวงถามก็บ่ายเบี่ยงแสดงความไม่พอใจและย้ายบ้านหนีเจ้าหนี้ ขอให้ดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและดำเนินคดีแก่ผู้ถูกฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้เชิญบุคคลที่ยึดครองห้องควบคุมระบบความปลอดภัยของอาคารชุดซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ออกไปจากห้องควบคุมระบบซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดสกุลไทยฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบควบคุมดูแลของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้จัดการ บุคคลที่ยึดครองห้องควบคุมระบบ ไม่ยินยอมออกไปแต่โดยดี ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ จึงได้เชิญบุคคลดังกล่าวให้ไปตกลงกันที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก แต่บุคคลเหล่านั้นกลับร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรักกล่าวหาผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป โดยมีอาวุธปืนและหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและร่วมกันปล้นทรัพย์สินโดยมีอาวุธปืนเป็นคดีอาญาที่ ๑๙๒๑/๒๕๔๓ และในข้อหาร่วมกันบุกรุกโดยเข้าไปอยู่ในเคหะสถานอาคารเก็บรักษาทรัพย์สิน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นหรือไม่ยอมออกจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อมีผู้มีสิทธิห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ทำให้เสียทรัพย์และทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพในร่างกายของผู้อื่น เป็นคดีอาญาที่ ๑๙๒๔/๒๕๔๓ เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ได้สอบสวนฝ่ายผู้กล่าวหาเพียงฝ่ายเดียวส่วนฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา (ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗) พนักงานสอบสวนให้รอเป็นเวลา ๑๖ ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่มีการสอบสวน จนกระทั่งเวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ พันตำรวจโทธนิตรองผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางรัก ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ กลับได้ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงได้เดินทางกลับหลัง จากนั้นผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ได้ติต่อกับผู้ถูกฟ้องคดีและพันตำรวจโทธนิตมาโดยตลอด เมื่อมีหมายเรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ไปพบพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเพื่อสอบปากคำในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๔ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา และ ๑๓.๓๐ นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีและพันตำรวจโทธนิตขอเลื่อนกำหนดนัดออกไปรวม ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกขอเลื่อนจากวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๔ เป็นวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และครั้งที่ ๒ ขอเลื่อนจากวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เป็นวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและมิได้ทักท้วงหรือโต้แย้งแต่อย่างใด โดยเฉพาะในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และนายจตุรงค์ได้ไปพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลบางรักตามที่ได้ขอเลื่อนนัดครั้งแรก เพื่อให้สอบปากคำในฐานะผู้ต้องหาในคดีและเพื่อขอเลื่อนการมาพบพนักงานสอบสวนในฐานะทนายความของผู้ถูกฟ้องคดีที่ หลือทั้งหมด แต่ไม่พบผู้ถูกฟ้องคดี พันตำรวจโท ธนิตหรือพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีทั้งสองแต่อย่างใด จึงได้ไปพันตำรวจโทธีระวุฒิรองผู้กำกับการฯ ฝ่ายอำนวยการและแจ้งจุดประสงค์ในการไปพบเจ้าหน้าที่ดังกล่าวให้ทราบ และในขณะเดียวกันผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ได้ติดต่อทางโทรศัพท์กับพันตำรวจโทธนิต และได้รับทราบว่าในวันดังกล่าวพนักงานสอบสวนไม่พร้อมที่จะสอบสวนผู้ฟ้องคดี และว่าจะออกหมายเรียกอีกครี้งหนึ่งโดยจะยังไม่ออกหมายจับผู้ฟ้องคดีทั้งหมด และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับหนังสือขอเลื่อนการไปพบพนักงานสอบสวนของผู้ฟ้องคดีไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ก่อนถึงกำหนดนัดที่ผู้ฟ้องคดีได้ขอเลื่อนไว้ในครั้งที่สองและโดยที่ยังมิได้ออกหมายเรียกอีกครั้งหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหมายจับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ กับพวกหลบหนีทั้งๆ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทราบอยู่แล้วว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ มิได้หลบหนีแต่อย่างใด การออกหมายจับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ดังกล่าวจึงเป็นการออกหมายจับโดยมิชอบด้วยมาตรา ๖๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ กับพวก ได้รับความเสียหาย ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาที่จะถูกจับตามหมายจับ ผู้ฟ้องคดีจึงได้นำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ กับพวกในคดีอาญาที่ ๑๙๒๑/๒๕๔๓ และ ๑๙๒๔/๒๕๔๓

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจในตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่ตู้ยาม) ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ตั้งกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดีกรณีผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ต้องหาในการกระทำความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ส่วนคดีที่ผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ต้องหาในการกระทำความผิดทางอาญานั้นพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดี ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๑๕๐๓/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๓ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการฐานเป็นผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือที่ มท ๐๕๒๒.๐๔/๔๘ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๕ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติยกอุทธรณ์และรองนายกรัฐมนตรี (นายเกษม สุวรรณกุล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี จึงฟ้องเป็นคดีต่อศาลขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๕๐๓/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๓ และให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๙/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔

เรื่อง :
คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๗๒/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๕๖๙/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๓ เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยรถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีขับขี่มานั้นได้ถูกรถบรรทุกสิบล้อแล่นตัดหน้ารถโดยไม่มีสัญญาณไฟและให้สัญญาณไฟเลี้ยว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถยนต์ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีได้ไปแจ้งความต่อผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งทำหน้าที่ร้อยเวรรับแจ้งความในขณะนั้นแต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการใด ๆ ตามที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งความกล่าวโทษ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ไปร้องเรียนที่กองกำกับเขต ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเรียกผู้ฟ้องคดีและคู่กรณีไปให้ถ้อยคำต่อผู้ถูกฟ้องคดี แต่จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ผู้ถูกฟ้องคดีก็มิได้ดำเนินการใด ๆ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๑๕/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๗๒๘/๒๕๔๔ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ความว่าขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ นั้น นายกมลชัยได้ร้องเรียนใส่ร้ายผู้ฟ้องคดีว่าผู้ฟ้องคดีเป็นชู้กับนางอำนวยซึ่งเป็นภรรยาผู้กล่าวหา และสืบเนื่องจากการร้องเรียนดังกล่าวผู้ฟ้องคดีได้ถูกลงโทษกักขังมีกำหนด ๓๐ วัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๕๘๑/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และได้ไปแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) หลังจากดำเนินการดังกล่าวต่อมาอีก ๑ ปี คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้มีมติยกอุทธรณ์ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีฟ้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕๘๑/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีถูกสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการโดยคำสั่งที่ ๕๘๑/๒๕๓๕ สั่ง ณ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ภายในกำหนด ๓๐ วัน ต่อมาอีก ๑ ปี ผู้ฟ้องคดีก็ได้รับแจ้งว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติยกอุทธรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นประมาณปี ๒๕๓๖ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีน่าจะได้รับทราบเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว และโดยที่ผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอยู่ในขณะนั้นหรือยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ แต่ผู้ฟ้องคดีได้มายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ (ยื่นต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์) (ที่ถูกคือวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔) จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว และมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๔ ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น