รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจเฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีวันนี้เสนอเป็นตอนที่ ๕ ครับ
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๐๗/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของนายสว่างและนางประจวบอาศัยอยู่บ้านเลขที่... หมู่ที่ ๗ ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มาขอรื้อรั้วบ้านบิดาของผู้ฟ้องคดีเพื่อใช้เป็นทางสัญจร แต่ผู้ฟ้องคดีกับบิดาไม่อนุญาต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงได้กล่าวดูหมิ่นผู้ฟ้องคดี ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และนายคำนึง ฤทธิจักร ได้มาขอรื้อรั้วบ้านบิดาของผู้ฟ้องคดีอีกครั้ง แต่มารดาของผู้ฟ้องคดีไม่ยินยอม นายคำนึงจึงได้พูดจาข่มขู่พร้อมกันนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ทำร้ายผู้ฟ้องคดี หลังจากนั้นประมาณสองวันพันตำรวจโทสมเชิญ ทองใหญ่ กับพวก ได้มาแจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจะดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกายผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พร้อมกับขอรื้อรั้วบ้านอีก ในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มอบหมายให้บิดาและมารดาไปร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อให้ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท ข้อหาบุกรุกกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวก แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งต่อบิดาของผู้ฟ้องคดีว่าให้ร้องทุกข์เฉพาะข้อหาหมิ่นประมาทผู้ฟ้องคดีเพียงข้อหาเดียวเพราะจะไกล่เกลี่ยไม่ได้ บิดาของผู้ฟ้องคดีรับทราบและได้ตกลงตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แนะนำโดยได้ลงนามในบันทึกแจ้งความ แต่เวลาล่วงเลยมาจนปัจจุบัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ดำเนินการเรียกผู้เสียหาย พยาน มาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ผู้ฟ้องคดีจึงร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรท่าศาลาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ยังละเลยเพิกเฉย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๑๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๑
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่(งานสอบสวน) สถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากต้องหาคดีอาญาข้อหามีและขายหรือนำออกแสดงเพื่อขายสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ และนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของผู้อื่นมาติดทับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของตนเองเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ ๕๘๘/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติให้ยกอุทธรณ์และ ได้มีหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่ ตช ๐๐๓๙.๔/๔๕๗ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบผู้ฟ้องคดีเห็นว่าในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๗๐ ก ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยแต่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้นำมาประกอบ การพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีถูกคุมขังเป็นนักโทษประหารชีวิตแดน ๒ เรือนจำกลางบางขวาง ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.๓๔๔๑/๒๕๔๘ ของศาลอาญากรุงเทพฯ ฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษคดีอยู่ระหว่างฎีกา เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เจ้าหน้าที่ได้นำหมายศาลจังหวัดเชียงรายค้นบ้านเลขที่ ๙๖/๔ หมู่ที่ ๙ ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายพบสิ่งผิดกฎหมายซึ่งนายอิ่นคำกับพวกให้การว่าเป็นของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลเกาะช้าง จังหวัดเชียงราย ได้มีบันทึกลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๙ แจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีถูกจับกุมในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนกฎหมายและร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ได้ดำเนินการในทางด้านกฎหมายด้วยการส่งตัวผู้ฟ้องคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลหรือส่งสำนวนให้กับอัยการเพื่อทำการยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงราย เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ร้องเรียนขอความเป็นธรรมในคดีและขอให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายเร่งรัดฟ้องคดีในข้อหาดังกล่าว และได้รับแจ้งว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลเกาะช้างได้มีการดำเนินคดีในความผิดที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาไปตามระเบียบและกฎหมายแล้วโดยมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายและได้ประสานไปยังพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายซึ่งมีความเห็นว่าคดีอยู่นอกเขตอำนาจศาลจังหวัดเชียงราย จึงได้เก็บรวมเรื่องไว้รอคดีในอำนาจศาลอาญากรุงเทพฯ สิ้นสุดลง เพื่อขอรับตัวมาดำเนินคดีต่อในอำนาจศาลจังหวัดเชียงรายต่อไปตามหนังสือที่ ชร ๐๐๒๙.๑/๕๖๑๔ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการเข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรม ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทราบถึงที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามก็สามารถที่จะร้องขอให้โอนคดีไปชำระในเขตอำนาจศาลที่ผู้ฟ้องคดีถูกควบคุมตัวอยู่ก็ได้ การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนคดีและให้ความเห็นสั่งฟ้องต่ออัยการจังหวัดเชียงราย และให้อัยการจังหวัดเชียงรายยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงรายและให้โอนคดีไปพิจารณาในเขตอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรีที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่เพื่อเป็นการสะดวกในการพิจารณาคดี
* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๒๒๘-๒๒๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๓
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ร้องทุกข์ (ฟ้อง) ว่าขณะที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรธุรการ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ปรากฏว่าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมได้มีหนังสือที่ นฐ ๐๑๒๐ (ธร)/๕๗๗๕ ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๑ รายงานไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่ามีของหลวงขาดบัญชีหลายรายการโดยไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด ขาดบัญชีมาตั้งแต่เมื่อใด และอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดผลปรากฏว่ามีพัสดุขาดบัญชีในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ พ.ศ. ๒๕๓๙ และ พ.ศ. ๒๕๔๑ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๒๑๗,๙๔๘ บาท โดยมีผู้ต้องรับผิดกรณีพัสดุสูญหายในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้แก่พันตำรวจโททองหยด สวนทอง และจ่าสิบตำรวจพิชัย ทรัพย์จุล รับผิดชอบคนละ ๑๓,๕๕๐ บาท เนื่องจากยืมวิทยุสื่อสารชนิดมือถือแล้วไม่ส่งคืน ส่วนที่เหลือไม่ต้องมีผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากพัสดุที่ขาดบัญชีมิได้เกิดขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่พัสดุ แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือจังหวัดนครปฐมที่ นฐ ๐๐๒๐.๔/๒๗๕๔ เรื่อง การสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับ ผิดทางละเมิดไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เพื่อตรวจสอบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีพัสดุขาดบัญชีโดยไม่ปรากฏหลักฐานการยืมไปใช้ในราชการและผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการพัสดุต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจึงได้แจ้งผลการพิจารณาตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนมาก ที่ กค ๐๕๒๖.๖/๓๙๔๕ เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการโดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองสารวัตรธุรการและสารวัตรธุรการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมในขณะนั้นร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีพัสดุสูญหายปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นเงินจำนวน ๕๕,๔๕๑ บาท และให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และพันตำรวจโทสุรสิทธิ์ เยี่ยมสมร ตำแหน่งสารวัตรธุรการ รับผิดชดใช้คนละกึ่งหนึ่งของจำนวนเงิน ๘๒,๑๐๙ บาท เป็นเงินจำนวนคนละ ๔๑,๐๕๔.๕๐ บาท กรณีพัสดุสูญหายปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ สั่งตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายกรณีพัสดุของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมขาดบัญชีหลายรายการในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และ พ.ศ. ๒๕๔๑ ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายดัง กล่าวแต่ขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายนั้น อธิบดีกรมตำรวจได้มีคำสั่งกรมตำรวจ ที่ ๙๕๑/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๐ แต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรธุรการ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปทุมธานี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมจึงได้มีหนังสือที่ นฐ ๐๐๒๐.๔/๙๒๗๗ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ แจ้งไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีเพื่อแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี เล่ม ๑ ประเภทบุคคล ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๑ ข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๗ กำหนดไว้ว่าการรับและการส่งมอบหน้าที่เมื่อมีการพ้นจากหน้าที่ราชการโดยแจ้งชัดของหัวหน้าหน่วยงานชั้นหัวหน้าสถานีตำรวจ สารวัตร ผู้กำกับการ ผู้บังคับการ และผู้บัญชาการ หรือเทียบเท่าตำแหน่งที่กล่าวนั้น ไม่ว่าจะเป็นโดยการออกจากราชการ หรือแต่งตั้งย้ายสังกัด หรือถูกพักราชการหรือโดยประการอื่น ซึ่งหมดอำนาจหน้าที่ในสถานที่นั้นต้องทำการมอบหน้าที่ให้แก่ผู้รับหน้าที่ใหม่ทุกครั้งก่อนพ้นหน้าที่โดยด่วน แต่ถ้าทางราชการยังมิได้แต่งตั้งผู้ใดมารับมอบตำแหน่งหรือผู้รับมอบตำแหน่งยังไม่มารับหน้าที่ก็ให้ส่งมอบหน้าที่แก่นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรหรือชั้น ประทวนแล้วแต่กรณีที่มีอาวุโสกว่าผู้อื่นในหน้าที่นั้นรับมอบไปพลางก่อนได้ ต่อเมื่อผู้มีหน้าที่มารับราชการก็ให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายแทนนั้นมอบหน้าที่แก่ผู้มีหน้าที่นั้นต่อไปการมอบหน้าที่ประการสำคัญที่จะต้องส่งมอบแก่กันนั้นได้แก่ของหลวง ของกลาง และการเงิน ให้ผู้รับมอบรายงานพร้อมหลักฐานการรับมอบหน้าที่และบัญชีเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับมอบเสร็จ โดยการปฏิบัติหน้าที่ในงานพัสดุการเบิกจ่ายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวิทยุสื่อสารนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถือเป็นเรื่องสำคัญมากจะต้องให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติเกี่ยวกับคลังพัสดุเป็นผู้ถือกุญแจคลังอาวุธแต่ เพียงผู้เดียว และควบคุมสมุดการเบิกจ่ายไม่ให้สูญหายเมื่อมีการทำเรื่องขอเบิกจ่าย สารวัตรธุรการจะเป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจเพื่ออนุมัติในสมุดการเบิกจ่ายทุกครั้ง โดยในกรณีพัสดุสูญหายปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และพันตำรวจโทสุรสิทธิ์ เยี่ยมสมร ไม่ถือปฏิบัติตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี เล่ม ๑ ประเภทบุคคล ลักษณะที่ ๑๕ บทที่ ๑ บทที่ ๒ และบทที่ ๗ (ที่ถูกคือบทที่ ๑ ข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๗) ซึ่งไม่มีการรับมอบของหลวงแต่อย่างใด โดยนายตำรวจทั้งสองไม่มีเหตุขัดข้องที่จะไม่รับและส่งมอบหน้าที่ ซึ่งสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบของหลวง โดยมีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นกรรมการร่วมด้วย และได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นแล้ว และในการปฏิบัติงานพัสดุในแต่ละปีงบประมาณจะต้องตรวจสอบสิ่งของหลวงที่ขาด เหลือของทุกปีให้เป็นปัจจุบัน และรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ก็ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตรวจสอบสิ่งของหลวงแล้วรายงานเป็นประจำเสมอมา ส่วนกรณีพัสดุสูญหายปี พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไม่มีส่วนรับผิดชอบกรณีพัสดุสูญหายในปีดังกล่าว เนื่องจากได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองสารวัตรธุรการ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปทุมธานีตามคำสั่งกรมตำรวจ ที่ ๙๕๑/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๐ และได้เดินทางไปรับตำแหน่งตามคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๐ แล้ว ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำโดยไม่ถูกต้องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ นำเงินมาชดใช้ตามผลการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์
* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๓
เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาด ปัจจุบันถูกขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดพะเยา และเป็นบิดาของพลฯ สำรองพิเศษ สมบัติ เสมอ เจ้าหน้าที่สายตรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบครั้งที่ ๖/๒๕๒๙ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๙ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นควรเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษให้พลฯ สำรองพิเศษ สมบัติ จำนวน ๘ ขั้น จากอัตราเงินเดือนขั้น ๑,๖๒๐ บาทเป็นอัตราเงินเดือนขั้น ๒,๔๘๕ บาท โดยให้ตั้งแต่วันที่ถึงแก่ความตาย ต่อมากรมบัญชีกลางได้มีหนังสือที่ กค ๐๕๓๒/๕๖๖๗๖ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๙ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาแจ้งว่าขอให้สั่งผู้กำกับการตำรวจภูธรเบิกบำนาญ พิเศษและบำเหน็จตกทอดไปจ่ายให้แก่ทายาทของพลฯ สำรองพิเศษ สมบัติ และสั่งให้คลังจังหวัดจ่ายเงินงบกลางรายการเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญเป็นเงินบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอด ให้แก่นางศรีทอง เสมอ มารดาของพลฯ สำรองพิเศษ สมบัติ โดยบำนาญพิเศษให้ได้รับเป็นเงินเดือนละ ๔๐๕ บาทตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต บำเหน็จตกทอดให้ได้รับเป็นเงิน ๑,๕๐๐ บาท ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีถูกขังอยู่ที่เรือนจำกลางพิษณุโลก ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะยื่นฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ จึงได้มีหนังสือถึงตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของบุตรชายของผู้ฟ้องคดี เพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองประวัติความดีความชอบของบุตรชายเพื่อนำมาประกอบการยื่นฎีกาทูลเกล้าฯขอพระราชทานอภัยโทษ จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอด ต่อมาในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางผ่านเรือนจำกลางพิษณุโลกขอให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบและประสานงานกับต้นสังกัดของบุตรชายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสั่งจ่ายบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค ๐๕๓๒/๕๖๖๗๖ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๙ เนื่องจากตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๔๓ จนถึงปัจจุบัน ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดแต่อย่างใด ต่อมากรมบัญชีกลางได้มีหนังสือที่ กค ๐๔๓๐.๒/๑๐๓๓ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๘ แจ้งผู้ฟ้องคดีโดยผ่านทางเรือนจำกลางพิษณุโลกว่า การสั่งการจ่ายบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทของพลฯ สำรองพิเศษ สมบัติตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค ๐๕๓๒/๕๖๖๗๖ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๙ ให้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยาเป็นส่วนราชการผู้เบิก จึงขอให้ผู้ฟ้องคดีติดต่อขอรับเงินดังกล่าวกับส่วนราชการผู้เบิก ซึ่งต่อมาตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ได้ดำเนินการเบิกจ่ายบำนาญพิเศษและ บำเหน็จตกทอดให้แก่ผู้ฟ้องคดีและภรรยาโดยตั้งงบเบิกจ่ายตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา ๔ ปีเศษ โดยได้รับบำนาญพิเศษเดือนละ ๔๐๕ บาท เท่านั้น และมิได้ดำเนินการเบิกจ่ายบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดให้แก่ผู้ฟ้องคดีและภรรยาย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่บุตรชายของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิต ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีและภรรยาสมควรได้รับบำเหน็จตกทอดเป็นเงิน ๒,๔๘๕ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๒พฤษภาคม ๒๕๒๙ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๘ รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๙ ปี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีและ ภรรยาย้อนหลังไปจนถึงวันที่บุตรชายของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิของข้าราชการและบุคคลในครอบครัวจึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๓๕ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเบิกจ่ายบำเหน็จตกทอดให้ผู้ฟ้องคดีและภรรยาตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๘ รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๙ ปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น