วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒๑)

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดตรวจพะวอ ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ทำการตรวจค้นและยึดรถบรรทุกสิบแปดล้อพ่วงจำนวน ๒ คันซึ่งบรรทุกไม้สักคิ้วบัวของผู้ฟ้องคดีที่นำเข้ามาจากประเทศพม่าไว้ตรวจสอบ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งมีตำแหน่งสารวัตรสถานีตำรวจภูธรตำบลพะวอได้ร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจป่าไม้ทำการตรวจสอบไม้สักคิ้วบัวดังกล่าวแล้วเห็นว่าเป็นไม้แปรรูปจึงทำการจับกุมผู้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าของไม้และคนขับรถบรรทุกจำนวน ๒ คนพร้อมทั้งยึดรถบรรทุกและไม้ของกลางไว้ดำเนินคดีในข้อหามีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม้ดังกล่าวเป็นไม้จากประเทศพม่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเสียภาษีศุลกากรถูกต้อง รวมทั้งได้ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายคือเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรแม่สอด เจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอแม่สอด ป่าไม้ชุดเฉพาะกิจ และเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ ร ๑๓ ในการตรวจค้นและจับกุมผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงและแสดงใบเสร็จรับเงินค่าภาษีอากรปากระวางของด่านศุลกากรแม่สอดแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ก็ไม่ยอมรับฟังแต่อย่างใด ประกอบกับไม้ดังกล่าวได้ผ่านการไสชิดอันพ้นจากสภาพการเป็นไม้แปรรูปแล้วขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๒๓/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สังกัดแผนก ๑๕ กองกำกับการ ๓ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว (ตำรวจท่องเที่ยวหาดใหญ่) เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจกองปราบปราม จำกัด เลขที่ ๒๑๘๙ ได้ค้ำประกันจ่าสิบตำรวจชเนศสังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวในการกู้เงิน ต่อมาจ่าสิบตำรวจชเนศได้ขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนถูกหักเงินเดือนชำระหนี้เงินกู้แทนจ่าสิบตำรวจชเนศเพราะจ่าสิบตำรวจประวิทย์ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจกองปราบปรามจำกัดมิได้อายัดเงินบำเหน็จของจ่าสิบตำรวจชเนศเพื่อใช้หนี้สหกรณ์ อีกทั้งยินยอมให้จ่าสิบตำรวจชเนศผ่อนชำระเงินกู้ต่อไปทั้งที่ออกจากราชการไปแล้ว ต่อมาเมื่อจ่าสิบตำรวจชเนศผิดนัดการผ่อนชำระเงินกู้ ผู้ถูกฟ้องคดีก็ดำเนินการหักเงินเดือนของผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้ค้ำประกันโดย อ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือน ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าหนังสือยินยอมดังกล่าวเป็นเอกสารเท็จที่จ่าสิบตำรวจชเนศหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นเองโดยลงนามเอง ส่อไปในทางทุจริต ตามพฤติกรรมดังกล่าวผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจกองปราบปราม จำกัด และผู้เกี่ยวข้องประพฤติมิชอบ นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีเห็นว่านายดาบตำรวจอำพันธ์ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ แผนก ๑ กองกำกับการ ๓ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการทำเรื่องขอรับบำเหน็จของจ่าสิบตำรวจชเนศ ไม่ดำเนินการแจ้งให้กองการเงินสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจกองปราบปราม จำกัด ทราบกรณีที่จ่าสิบตำรวจชเนศยินยอมให้หักเงินบำเหน็จเพื่อชำระหนี้ ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้คืนเงินที่หักจากเงินเดือนของผู้ฟ้องคดีไปชำระหนี้แทนผู้กู้ในฐานะผู้ค้ำประกันอันเป็นการไม่ชอบจำนวน ๔๒,๙๔๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย

* คำสั่ืงศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ งานสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ถูกลงโทษให้ออกจากราชการเนื่องจากมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ ๕๘๖/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๒ ซึ่งลงนามโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งได้พิจารณาแล้วรายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อพิจารณาสั่งการ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องทุกข์ตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพียงเพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นคำสั่งที่ขัดต่อมาตรา ๖ และมาตรา ๓๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ฟ้องคดีทราบคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ เมื่อผู้ฟ้องคดีกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมเนื่องจากคำสั่งดังกล่าวถูกส่งไปยังภูมิลำเนาเดิมของผู้ฟ้องคดีที่ตำบลชุมพร อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด แต่ผู้ฟ้องคดีได้มาประกอบอาชีพที่กรุงเทพมหานคร ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ ๕๘๖/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๒ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามหนังสือที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๑๒๐๒ ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๕และสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๕๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๖

รื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๑ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีไปติดต่อราชการที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดังกล่าวได้ขอให้ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาให้นางสาวเฉลาราษฎรซึ่งมาติดตามคดีจราจรกู้ยืมเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การรับรองด้วยวาจาว่าจะรับผิดชอบหากนางสาวเฉลาไม่ชำระเงินคืน ผู้ฟ้องคดีจึงทำสัญญาให้นางสาวเฉลากู้เงินจำนวนดังกล่าว เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญากู้เงินนางสาวเฉลาไม่ชำระหนี้ให้ผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่านำเงินไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นค่าใช้จ่ายคดีในการติดตามคู่กรณี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อผู้ถูกฟ้องคดี ๑ ข้อหาเรียกรับเงินในคดี ต่อมาสถานีตำรวจนครบาลบางชันซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในปัจจุบันได้มีหนังสือที่ ตช.๐๐๑๑.(บก.๔)๐๖/๙๕๖๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบผลการสอบข้อเท็จจริงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช ๒๔๗๗ จึงให้ยุติเรื่อง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งเห็นว่าการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีความล่าช้าโดยมิได้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบในเวลาอันสมควร จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนผลการสอบข้อเท็จจริงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญานับแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๑ จนถึงวันฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๕๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๖

เรื่อง
: คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาล ปกครองรวมสองกรณี กรณีแรกฟ้องว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้ฟ้องคดีกับนางสังเวียนภรรยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสได้เลิกร้างกันโดยนางสังเวียนได้หนีไปจดทะเบียนสมรสกับผู้อื่น ต่อมาประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีกับนางสังเวียนตกลงแบ่งทรัพย์สินกันโดยผู้ฟ้องคดีได้กรรมสิทธิ์บ้านพักอาศัย แต่ผู้ฟ้องคดีต้องการได้สิทธิในที่ดิน ๓ แปลง คือที่ทำกินเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ที่ดินจำนวน ๑ ไร่ และที่ดินปลูกบ้าน ๑ งาน ซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าซับลังกา ตำบลกุดตาเพชร กิ่งอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ที่ดินแปลงดังกล่าวนายสว่างบิดานางสังเวียนซึ่งได้จับจองที่ดินไว้ได้แบ่งให้ผู้ฟ้องคดีกับนางสังเวียนทำกินขณะที่ยังอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน และต่อมาประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๓๒ ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการครอบครองเป็นชื่อของผู้ฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้กับสำนักงานโครงการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติป่าซับลังกา แต่นางสังเวียนไม่ยินยอมให้เป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดี และไม่สามารถตกลงแบ่งทรัพย์สินกันได้ นายสว่างบิดาของนางสังเวียนจึงได้พาพวกมารื้อรั้วที่กั้นที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของนายสว่างและปิดกั้นมิให้ผู้ฟ้องคดีเข้าบ้านพักได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมาร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอลำสนธิให้ดำเนินคดีกับนายสว่างกับพวกในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าเป็นเรื่องโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินจึงเพียงสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไปถ่ายภาพรั้วที่ถูกรื้อไว้เป็นหลักฐานและแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีไปใช้สิทธิทางศาลในเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทกันต่อไป ผู้ฟ้องคดีจึงไปร้องทุกข์เกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอลำสนธิ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินแล้วเห็นว่าฝ่ายนายสว่างมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งออกให้โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นใหญ่บ้าน ส่วนผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีรื้อบ้านออกจากที่ดินแปลงพิพาท แต่ผู้ฟ้องคดีก็ไม่รื้อบ้านดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๐ นางสังเวียนได้แจ้งผู้ฟ้องคดีให้รื้อบ้านออกจากที่ดินพิพาทภายในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๐ แต่เมื่อครบกำหนดแล้วผู้ฟ้องคดีก็ยังไม่รื้อบ้าน นางสังเวียนและนายสว่างกับพวกจึงรื้อบ้านของผู้ฟ้องคดีออกจากที่ดินพิพาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอลำสนธิเป็นผู้อนุญาต วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอลำสนธิให้ดำเนินคดีกับนางสังเวียนในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องนางสังเวียนตามข้อกล่าวหา แต่อัยการจังหวัดลพบุรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนางสังเวียนเมื่อ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องนายสว่างกับพวกเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดลพบุรี ต่อมาวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๔ ศาลพิพากษายกฟ้องทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการชดใช้ความเสียหายของบ้านที่ถูกรื้อออกจากที่ดิน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๕ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนางสังเวียนทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึง ที่ ๕ กับขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๕ รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๖๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่ง ผบ.หมู่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ถูกคำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ ๔๖/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๓ ลงโทษไล่ออกจากราชการกรณีช่วยเหลือผู้ต้องหาหลบหนี โดยผู้ฟ้องคดีดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจตามหนังสือลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๓ ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๐๙.๕/๑๙๙ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๕ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่าคณะกรรมการฯ มีมติยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองตามคำฟ้องลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และได้แนบคำร้องฉบับลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โดยชี้แจงว่าผู้ฟ้องคดีไม่อาจยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองภายในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดี เนื่องจากในช่วงเวลาที่คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผู้ฟ้องคดีเดินทางไปต่างจังหวัดและเกิดอุบัติเหตุจนล้มป่วยกลายเป็นอัมพาตไม่สามารถติดต่อกับญาติที่อยู่ ณ สถานที่รับแจ้งได้ จึงขออนุญาตยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๔/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ :
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จ่าสิบตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่งาน ๔ กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค ๕ ผู้อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดียักยอกและเบียดบังเงินของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๗๕๑,๔๑๖ บาทที่ได้จากการขายสินค้าให้ผู้ฟ้องคดีไปเป็นของตน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๓ ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดี ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่จ่าสิบตำรวจตามคำสั่งกองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค ๕ ที่ ๕๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม๒๕๔๔ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีล่าช้าจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองช่วยเหลือติดตามเรื่องให้ได้รับความเป็นธรรม

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๖

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม ที่ ๒๕๑/๒๕๔๔ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้บังคับบัญชาได้โทรศัพท์ติดต่อผู้ฟ้องคดีเนื่องจากมีราชการด่วนที่จะต้องประสานงาน แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้โทรศัพท์กลับไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมที่ ๓๐๙/๒๕๔๕ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๕ กรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์การกระทำผิดวินัยเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีราชการเร่งด่วนสั่งให้ผู้ฟ้องคดีโทรศัพท์กลับไปยังผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อมีการสอบสวนในกรณีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีไม่ให้ความสะดวกต่อกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในการสอบปากคำนางอมรรัตน์ภรรยาของผู้ฟ้องคดีที่บ้านพักและไล่คณะกรรมการออกจากบ้านพัก รวมทั้งผู้ฟ้องคดีไม่สนใจที่จะให้การต่อคณะกรรมการดังกล่าวและไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ ผู้ฟ้องคดีรับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๕ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๕ ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอนาแกโดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากไม่เคยปรากฏว่ามีการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย หรือถ้ามีการสอบสวนข้อเท็จจริงก็เป็นการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งกระทำผิดต่อกฎหมาย แต่จนถึงวันฟ้องคดีผู้ฟ้องคดียังไม่ทราบผลการพิจารณาร้องทุกข์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามที่ ๒๕๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ และคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมที่ ๓๐๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๕ ออกโดยไม่ชอบตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ ๑ บทที่ ๑๖ เรื่อง การสอบสวนข้อเท็จจริง และระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๑ ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนเลื่อนตำแหน่งและเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังกล่าว รวมทั้งขอทุเลาการบังคับคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมที่ ๓๐๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๕ ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น